46.ทิ้งหมด…ได้หมด

ตอนที่ 1 ทำถูก และต้องทำให้พอ

 

จริงๆ หลักสำคัญที่สุดของการปฏิบัติธรรมคือ “การพ้นออกจากโลกของความคิดปรุงแต่งให้ได้มากที่สุด

 

ถ้าเราพ้นออกจากโลกของความคิดปรุงแต่งได้ จะมีความก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อยๆ  ถ้าเราไม่มีความคิดปรุงแต่ง มันไม่มีทุกข์…มันจะสบาย

 

เราต้องใช้ชีวิตให้มันเข้มข้นที่จะปฏิบัติธรรมให้มากกว่านี้ เราต้อง “มีวินัย” มากกว่านี้ ถ้าไม่อย่างนั้นมันจะหลงง่าย สังเกตมั้ยล่ะ? เดี๋ยวก็เพลิน เดี๋ยวก็เพลิน…ใช่มั้ย?

เพราะฉะนั้น ปฏิบัติในรูปแบบเป็นสิ่งจำเป็น เหมือนเราจะทำงานชิ้นนึง เราก็ตั้งใจไว้แล้วว่า เราจะทำงานชิ้นนี้ มันก็มีสมาธิดี การทำในรูปแบบก็เหมือนกัน คือ เราก็มีความตั้งใจว่าเดี๋ยวเราจะทำงานตรงนี้ อันนี้เป็นงานเดินจงกรม

 

ความระลึกของเรามันจะแน่นหนาขึ้นว่า ช่วงนี้นะ เราจะรู้สึกตัว ช่วงนี้นะ เราจะไม่ตามความคิดไป แล้วเราจะลองหันกลับมาดูใจเราบ่อยๆ ว่าเป็นยังไง มันก็จะทำให้เราโฟกัสมากขึ้น เพราะฉะนั้น ปฏิบัติในรูปแบบมันเลยจำเป็น

 

ถ้าเราไม่ทำในรูปแบบ เราก็รู้สึกว่าสบายดีใช่มั้ย? ที่ผมเคยบอกว่า เราหลงมาทั้งชีวิต แต่ว่าเราจะเอารู้สึกตัวไม่กี่ทีต่อวัน แล้วเราบอกว่าเราจะบรรลุธรรม…ขี้โกงธรรมชาติมากเกินไป

 

เราดูพระพุทธเจ้า ท่านต้องมีวิริยะมาก มีความเพียรมาก ที่จะเดินในทางนี้ ครูบาอาจารย์ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา ก็ออกบวชกัน เข้าป่า ธุดงค์ ก็เพื่อแสวงหา แล้ววันนี้เราจะบอกว่า เราก็รู้สึกตัวไม่กี่ทีแล้วเราก็จะบรรลุธรรม…มันไม่ง่ายแบบนั้น

 

เราทำถูกเนี่ย…มันต้องทำให้พอด้วย”  ไม่ใช่ว่าทำถูกอย่างเดียว เราต้องทำให้พอด้วย

 

 

ตอนที่ 2 ให้กำลังกับชีวิต

 

ในการปฏิบัติธรรมก็มีเหตุปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เจริญก้าวหน้าขึ้น

 

 

พวกเราไม่เคยคิดเรื่องพันธะ (Bonding) ซึ่งเรื่องนี้มีผลที่จะช่วยให้เจริญขึ้น ถ้าเราค่อยๆ ลดละพันธะ (Bonding) ต่างๆ รอบตัวเรานี้ มันจะเป็นบารมีขึ้นมา จริงๆ คือ เราจะมีกำลังใจที่มันหนักแน่นขึ้น เราจะรู้สึกว่าเราผ่อนคลายลงจากพันธะต่างๆ  พอเราผ่อนคลายได้ เราทำสิ่งที่มันทำได้ยากได้…อันนี้จิตใจเราก็สูงขึ้นทันที

 

สมมติว่าเรากำหนดเวลาเดินจงกรมไว้ตอนเช้ากับก่อนนอน  แล้วเราทำตามเวลาเป๊ะๆ ที่เรากำหนดไว้ได้  เช่น ตี 4 หรือ ตี 4.30 ก็ได้ แล้วก็เดินจงกรมชั่วโมงนึง ต่อมาก่อนนอน 3 ทุ่ม เราจะทำอีกรอบ แล้วเราต้องทำเวลานั้นทุกวัน ห้ามบิดพริ้ว 5 นาที 10 นาทีก็ไม่ได้ ต้องเวลานี้…แบบนี้

 

พี่จะเห็นความเปลี่ยนแปลงว่า เราจะรู้สึกเองเลยว่าจิตใจเรานี่สูงขึ้น  จริงๆ มันคือ มันมีน้ำหนัก หรือมันมีกำลังมากขึ้น เราจะรู้สึกว่า โอ้โห…มันแน่นหนาขึ้น “แค่มีวินัย” แค่นี้แหละ

 

“แค่มีวินัย” เราก็รู้สึกยากใช่มั้ย? โหห…เวลาเป๊ะๆ เลย เดี๋ยวอาบน้ำ ต้องรีบอาบ เราต้องมาปฏิบัติในรูปแบบ…อะไรอย่างนี้

 

ชีวิตคนเราถ้ามีวินัย มันจะมีชีวิต ชีวิตมันถึงจะเกิดขึ้น

 

ถ้าเราไม่มีวินัยเลย…ชีวิตเราเป็นยังไง? ลอย ล่องลอย ฟูฟ่อง ชีวิตเหมือนปลาตาย ลอยไปตามกระแสน้ำ มันก็เหมือนไม่มีชีวิต

 

แต่ถ้าเรามีวินัย ชีวิตจะเกิดขึ้น

กำลังของชีวิตจะเกิดขึ้น เพราะกำลังของจิตใจมันเพิ่มขึ้น

 

อันนี้ยากแค่นี้เองนะ วันละ 1 ชั่วโมง ในตอนเช้ากับเย็น แล้วถ้าเราทำสิ่งที่ยากกว่านั้นได้  มันจะเป็นกำลังขนาดไหน…นึกออกมั้ย? นี่เปรียบเทียบง่ายๆ แบบนี้

 

เพราะฉะนั้น เราต้องเริ่มให้กำลังกับชีวิตตัวเอง การที่เราบอกว่าไม่ต้องทำในรูปแบบหรอก หรือว่าเราทำ 10-20 นาทีก็พอ แล้วชีวิตประจำวัน เราก็รู้สึกตัว รู้สึกตัวอย่างนี้ จริงๆแล้ว เราไม่เคยรู้เลยว่าเรากำลังทำตามกิเลสตัวเองอยู่ เรากำลังพอใจกับการที่เรารู้สึกตัวในชีวิตประจำวันได้ว่า  เออ นี่เราก็รู้สึกตัวได้ มีความเป็นปกติ มีความสุขดี มีความสุขดีนี่แหละ ตัวอันตราย เราไม่รู้ว่า ตอนนี้เรากำลังพอใจในความสุขนี้อยู่

 

แต่ถ้าเรามีวินัย เราจะรู้ว่า เรากำลังทำหน้าที่ที่ไม่เกี่ยวกับเราจะชอบหรือไม่ชอบ เราพอใจหรือไม่พอใจ…แต่ต้องทำ ถึงเวลานี้เราต้องทำ เพราะฉะนั้น มันจะปราศจากความพอใจ ไม่พอใจ ไม่พอใจก็ต้องทำ พอใจก็ทำไป

 

เราจะทำไปด้วย “หน้าที่และวินัย”

เพราะชีวิตเรามีหน้าที่และวินัย ชีวิตจะเจริญขึ้น

 

 

ตอนที่ 3 สร้างทางใหม่

 

เราไม่ต้องคิดว่า เราอยู่ในระดับอนุบาล สิ่งที่ผมสอนทุกคนก็คือว่า

“การปฏิบัติธรรมไม่มีขั้นมีตอน เข้าถึงนี่ถึงเลย”

เราเพียงแต่อยู่ในกิริยาแบบนั้นให้มันบ่อยๆ ให้มันต่อเนื่อง…แค่นั้นเอง

 

ทุกคนต้องเริ่มเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นเพิ่งเริ่มต้น ปฏิบัติมาแล้วดีแล้ว ทุกคนต้องทำสิ่งเดียวกัน คือ “ต้องทำในรูปแบบ” โดยเฉพาะถ้าพี่ไม่ทำงานแล้ว พี่ต้องทำ 4 เวลา แล้วความคิดที่พี่มีปัญหาว่า พี่จะหยุดความคิด เราจะรู้ว่า

 

เราไม่มีหน้าที่หยุดความคิด ความคิดมีหน้าที่คิดของมัน

แต่เราต้องใช้ธรรมชาติของร่างกายนี้ ช่วยให้การคิดนี้มันหยุดเอง

 

เวลาเดินจงกรม ผมบอกให้ทุกคนต้องหยุด เรายืนทางเดินจงกรม เรายืนสบายๆ ยืนหยุดสบายๆ หายใจเข้า-หายใจออก สบายๆ แล้วเราก็รู้สึก…รู้สึกถึงความมีอยู่ของร่างกายนี้

 

ดูใจเราเป็นยังไง? ใจเราปกติหรือยัง? ใจเราผ่อนคลาย สบาย ปกติ สงบระงับลง แล้วเราก็ค่อยเดิน

 

ถ้าพี่ฟุ้งซ่านมาก เวลาเดินให้รู้สึกเท้ากระทบพื้นไว้…รู้สึกเฉยๆ นะ ไม่ใช่ไปเพ่งมัน

 

เวลาเราเริ่มทางหัวจงกรม…เรายืน แล้วเราก็คล้ายๆ พูดกับตัวเองว่า เดี๋ยวเดินจงกรมเราจะรู้สึกถึงเท้ากระทบพื้น บอกตัวเองเฉยๆ แล้วพอออกเดิน…มันจะรู้เอง ไม่ต้องไปดู ไม่ต้องไปเพ่งไปจ้องอะไร มันจะรู้เอง

 

คล้ายๆ เราเตือนตัวเองไว้แล้วตั้งแต่แรก เดี๋ยวเดินมาปุ๊บ…มันจะรู้สึกกระทบไปเลย แต่เราไม่ลืมเนื้อลืมตัว ยังอยู่กับเนื้อกับตัวเหมือนเดิม ไม่ใช่ไปอยู่ที่เท้าอย่างเดียว มันจะรู้สึกเอง

 

พอเท้ากระทบสักพัก…เดี๋ยวมันจะไปคิดแหละ เท้ากระทบพื้นมาอีกปึ๊บ…มันก็กลับมารู้สึกเท้ากระทบพื้น มันไปคิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น อันนี้จะช่วยเรา

 

ถ้าคิดมาก ถึงตรงกลางทางเดินนี่…ให้หยุด! หยุด ยืนหายใจเข้า-หายใจออก สบายๆ รู้สึกตัว ดูใจเป็นยังไง? ปกติก็รู้ว่าปกติอยู่ ไม่ปกติก็รู้ว่าไม่ปกติ…แค่นั้น ไม่ต้องทำอะไร แล้วก็ออกเดินต่อ

 

ไปถึงปลายทาง หยุดเหมือนเดิม เหมือนที่เราหยุดเมื้อกี้นี้ หายใจเข้า-ออก สบายๆ รู้สึกตัว แล้วก็ดูใจเราเป็นยังไง? จิตใจเราปกติก็รู้ ไม่ปกติก็รู้ ไม่ต้องทำอะไร รู้อย่างที่มันเป็นเฉยๆ

 

ทุกครั้งที่ร่างกายเราหยุด…ความคิดมันจะหยุด

 

ความคิดหยุด วัฏฏะหยุด สังสารวัฏหยุด สังสารวัฏพังทลายลง ทุกสิ่งหยุด แล้วเราก็ได้สัมผัสความเป็นปกติของจิตใจที่มันราบเรียบ เงียบเชียบ มันไม่มีอะไร ความรู้สึกแบบนั้น เป็นสิ่งที่เราต้องรู้จักมันบ่อยๆ

 

พอเรารู้จักมันบ่อยๆ เหมือนที่ผมเคยบอกว่า เมื่อเราพาจิตใจให้มันรู้จักสิ่งที่ดีกว่า มันจะไม่หลงไปคิดเหมือนเดิมอีกแล้ว เพราะเมื่อไหร่ที่เราไปคิด…จะทุกข์เลย เวลาเราไปคิดปุ๊บ…มันจะเบลอเลย มันเป็นเหมือนเมฆหมอกอยู่บนหัวเรา เหมือนเรารู้จักที่สะอาดกว่าแล้ว เราจะไม่กลับไปที่สลัม เราจะไม่กลับไปที่สกปรก เพราะเรารู้จักแล้วว่านี่สะอาดกว่า

 

จิตใจก็เหมือนกัน

ถ้าเราพามันมารู้จักสภาพที่มันดีกว่า สภาพที่มันไม่ทุกข์

มันจะละทิ้งสภาพที่มันทุกข์เอง…เราไม่ได้ทำอะไร

 

เพราะฉะนั้น จิตใจมันจะหยุดคิดได้ พี่ต้องพาให้มันรู้จักแบบนี้…ไม่ใช่ว่าเราจะทำยังไงมันถึงจะหยุดคิด เราเพียงแต่ว่า

สร้างทางใหม่ ให้มันรู้จักสิ่งใหม่ มันก็ไม่เอาสิ่งนั้นเองอัตโนมัติ”

 

แต่เราอย่าไปหยุดคิด เราอย่าไปทำอะไร

เราเพียงแต่สร้างสิ่งแวดล้อมให้มันเหมาะสม

รู้จักว่าอะไรเป็นทาง อะไรไม่ใช่ทาง

แล้วจิตใจนี้มันดำเนินของมันเอง

 

เหมือนเราสอนเด็กให้ไปทางนี้ ไปทางโน้น เค้าก็ไปตาม เค้าไปเอง เราไม่ใช่ว่าต้องไปจัดการอะไรมัน จิตใจก็แบบนั้น เราก็แค่สร้างสิ่งแวดล้อม  แค่นี้…จบ

 

 

ตอนที่ 4 รู้หน้าที่

 

ตอนเช้าตื่นได้มั้ย? เดินจงกรมตอนเช้าตี 4 แล้วก็ 10 โมง, บ่าย 3 และก็ก่อนนอน  ครั้งละ 1 ชั่วโมง ให้ทำอย่างนี้ ฟังคลิปผมไปด้วย ใส่หูฟังนี่แหละ…แล้วก็เดิน ฟังแบบไม่ต้องฟังก็ได้

 

ถ้าเรามีเสียงของธรรมะอยู่ เสียงนี้มันจะไม่พาเราไปฟุ้งซ่าน จิตใจเราจะเป็นปกติอยู่ อย่างมากเราก็จะคิดแค่เรื่องธรรมะ แต่ไม่นานเสียงธรรมะนี้จะตบเรากลับมา เพื่อให้เรากลับมารู้สึกตัว ว่าเราหลงไปคิดแล้ว เพราะมันจะช่วยเรา อย่าไปคิดว่าการฟังธรรมไปด้วยขณะเดินจงกรมเป็นอุปสรรค แท้จริงนั้นมันจะช่วยเรา แต่ถ้าเราไม่ฟังเลย มันจะฟุ้งซ่านหนักเลย

 

ให้ทำอย่างนี้ไป 2 อาทิตย์ ก็จะดีขึ้น และจะเข้าใจได้ แต่ต้องมีวินัย ก็แค่นี้แหละ

 

จริงๆ การปฏิบัติธรรมมันไม่ได้ยากอะไร ขอให้พวกเรา “มีวินัย มีหน้าที่” รู้หน้าที่ของเรา แล้วเดี๋ยวเราจะรู้จัก…เราพามันมารู้จักสิ่งที่ดีกว่า สิ่งต่างๆ เหล่านี้ จิตใจที่เรียนรู้แล้ว มันจะหล่อหลอมเข้ามาในชีวิตประจำวันเราเอง มันจะค่อยๆ หล่อหลอมเข้ามาเอง แล้วในที่สุดเราจะไม่ลืม

 

 

ตอนที่ 5 คิดเห็น

 

ขณะที่เราเป็น “ปกติ” อยู่ เราจะเห็นสภาพอะไรต่างๆ ผ่านมาผ่านไปโดยเป็นการเห็นจริงๆ เป็นการเห็นที่ไม่เข้าไปเป็นกับอารมณ์นั้นด้วย เพราะจิตใจมีพื้นฐานปกติอยู่ เราจะเห็นสิ่งต่างๆ ผ่านมาผ่านไป เห็นมันตกอยู่ภายใต้กฏไตรลักษณ์ได้จริง…ไม่ใช่คิด

 

ทุกวันนี้คนไปตามดูสภาวะ มันอยากรู้สภาวะ ไปตามดู เห็นมันเป็นไตรลักษณ์ เห็นมันเป็นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แล้วก็บอกว่าเราเห็น….อันนั้นแหละเรียกว่า “เป็นการคิดเห็น” เราคิดตลอดว่าเรากำลังเห็น มันมี “เรา” อยากจะเห็นตลอดเวลา

 

แต่ถ้าเราแค่ “รู้สึกตัว รู้จักใจที่เป็นปกติ” สภาพอะไรที่มันผ่านมาผ่านไป มันเป็นการเห็นเอง เห็นเฉยๆ เพราะฉะนั้น การเห็นไตรลักษณ์มันเลยเป็นการเห็นจริงได้

 

 

ตอนที่ 6 สะสมแต้ม “ตื่นรู้”

 

พื้นฐานสำคัญที่สุด คือ

เราต้องรู้สึกตัว

พ้นออกจากโลกของความคิดปรุงแต่งให้ได้

แล้วก็รู้สึกใจที่มันเป็นปกตินี้

 

3 อย่างนี้ก็จะทำให้ทุกอย่างพัฒนาไปได้เอง เราแค่อย่าลืมหลัก 3 อย่างนี้…แค่นั้น แล้วก็ทำไปเรื่อยๆ แล้วเราก็จะเริ่มตื่นขึ้น แต่เดี๋ยวเราก็จะเผลอหลับบ้าง…ก็ไม่เป็นไร ก็ต้องผิดก่อนบ้าง มันถึงจะเข้าใจ

 

ตื่นอยู่ มันไม่ตัดสินอะไร

ตื่นอยู่ มันรู้ว่าอะไรเป็นอะไร แต่มันไม่เป็นอะไรกับมัน

มันจะดีไม่ดี มันจะเป็นอะไร เราก็ตื่นรู้อยู่เฉยๆ มันไม่มีอะไร

เพราะฉะนั้น พวกเราทุกคนก็รู้จักสภาพแบบนี้แล้ว แต่มันรู้จักได้บ่อยขนาดไหน เรามีเวลารู้จักมันได้บ่อยขนาดไหน? วันๆ นึงเรามีเวลาที่จะอยู่ในสภาพที่พ้นจากความคิดปรุงแต่งมากขนาดไหน?  อันนี้เป็นระยะทางที่เราจะต้องสะสมแต้ม เรารู้จักของดีแล้ว แต่เรามีโอกาสกินได้บ่อยขนาดไหน

 

มันเลยจำเป็นว่าทำไมเราต้องมีชีวิตที่ “วิเวก สันโดษ” เราอยากจะพ้นทุกข์ เราอยากจะบรรลุธรรม เราต้องทุ่มเท เราต้องให้เวลากับมัน ในวันนึงเราจะรู้จักแบบนี้กี่ที ถ้ารู้จักได้แค่ 1 ชั่วโมงใน 24 ชั่วโมง แล้วเราก็บอกเราจะบรรลุธรรมหรอ?

 

ถ้าเราไปดูยูทูป (YouTube) หลวงพ่อเทียนสมัยก่อน เราจะเห็นหลวงพ่อเทียนให้พลิกมือตั้งแต่ตื่นจนหลับ ทุกอิริยาบถที่เปลี่ยนแปลง ตื่นนอนพลิก…ลุกขึ้น หรือตอนจะไปแปรงฟันพวกเราก็ลุกพรวดจะไปแปรงฟันใช่มั้ย? หลวงพ่อเทียนก็พลิกมือก่อน 2 รอบ แล้วค่อยลุกยืนขึ้นมา พอยืนขึ้น…พวกเราก็ไปเลยใช่มั้ย? หลวงพ่อก็ให้ยืนแล้วพลิกมือก่อน 2 รอบ…อย่างนี้ไปตลอด สมมติตั้งแต่ตี 3 ไปจนถึง 3 ทุ่ม เป็นเวลาทั้งหมดกี่ชั่วโมง? วันๆ นึงเป็นสิบกว่าชั่วโมงที่ปฏิบัติ

 

แต่ทุกวันนี้ พวกเราบอกว่าเราปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน เราจะรู้สึกตัวในชีวิตประจำวัน เราปฏิบัติในรูปแบบนิดหน่อยวันละ 1 ชั่วโมงแล้วเราก็จะบรรลุธรรม

เพราะฉะนั้น มันจำเป็นว่าเราต้องมีเวลาให้กับสิ่งนี้ ให้มันเติบโตขึ้น ให้ ภายในของเราให้มันขยายตัวขึ้น

 

ให้ความเป็นปกตินี้เป็นพื้นฐานที่มันหนักแน่น

 

ถ้า “ความตื่นรู้” นี้เป็นกิริยาที่เราไม่ลืมเลย มันหนีไม่พ้น มันต้องบรรลุธรรม มันจะเป็นอย่างอื่นไม่ได้

 

ธรรมชาติมันต้องไปตามเหตุตามปัจจัย การบรรลุธรรมเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยเหมือนกัน มันไม่มีใครห้ามการบรรลุธรรมได้ถ้าเราทำถึงแก่นของมัน

 

ตอนที่ 7 ปัญญาพาชีวิตไป

 

เรื่องของ “ดี” นี่มันสอนง่าย

แต่เรื่องที่ “พ้นจากดีไป” นี่มันเข้าใจยาก

 

เรื่องของบุญสอนง่าย ทำบุญสอนง่าย

แต่เรื่องของทำจิตใจให้บริสุทธิ์สอนยาก

 

เพราะอะไร? ทำบุญแล้วเราได้ มันเลยสอนง่าย คนมันก็รับ ทำจิตใจให้บริสุทธิ์เฉยๆ ไม่ได้อะไร…สอนยาก เราไม่ได้อะไร

เรื่องของดีสอนง่าย เพราะมันมีตรงข้ามกับไม่ดี มันชัด มันรับได้ แต่ให้มันเหนือดีเหนือชั่วนี่…มันสอนเข้าใจยาก

 

จะให้ผมพูดเรื่องให้ทุกคนเป็นแค่คนดี…ผมพูดไม่ได้  

ผมต้องการให้คนพ้นทุกข์ ไม่ใช่ต้องการให้คนเป็นคนดี

ถ้าเราเป็นคนพ้นทุกข์ เราจะเป็นคนดีด้วย

อันนี้เป็นดีจริงๆ เพราะมันเป็นดีที่มีปัญญาแล้ว

 

แต่ “ดีในโลก” เป็นดีที่แปรปรวน คนโน้นว่าดี คนนี้ว่าไม่ดี เราว่าดี แต่อีกคนก็บอกไม่ดี นี่แหละมันเป็นความแปรปรวน ไม่ใช่เรื่องจริง

 

ความดีแบบในโลกไม่ใช่เรื่องจริง

เป็นเรื่องของ “ความคิด” ของคนเฉยๆ

 

จริงๆ แล้ว พระพุทธเจ้าสอนเราแบบนี้อยู่แล้ว

เหนือดีเหนือชั่ว ไปพ้นจากของคู่

 

สิ่งที่สอนง่ายมันคือ “ความดี” คนเข้าใจหมด รับมาทำหมด ใครเถียงดีนี่…เป็นไอ้นั่นชั่วเลย แต่เราเข้าใจ เราปฏิบัติไปจนพ้นดีพ้นชั่ว เหนือดีเหนือชั่ว ไม่ใช่ว่าเราไม่รู้จักดี ไม่รู้จักชั่ว…เรารู้ทุกอย่าง แล้วเราก็ไม่ทำชั่วด้วย

 

ถ้าเราไปเหนือดีเหนือชั่ว

ชีวิตเราจะดำเนินไปบนพื้นฐานของปัญญาญาน

เราจะดำเนินชีวิตไม่ใช่บนพื้นฐานของความคิดปรุงแต่ง

ปัญญาจะเป็นคนพาชีวิตนี้ดำเนินไปเอง

 

พูดแล้วมันเป็นนามธรรมพอสมควร แต่ทุกคนต้องลองดู ลองฝึกที่จะใช้ชีวิตไปตามปัญญา ในขณะที่เราปฏิบัติธรรม ทุกคนพอจะมีแสงสว่างบ้างแล้ว เราต้องเชื่อในปัญญามากกว่าความคิด ค่อยๆ ทำอะไรบนพื้นฐานของความเป็นปกติ บนพื้นฐานของปัญญาที่มันบอกเราว่า เราจะควรจะทำอะไร เราจะค่อยๆ คุ้นชินกับการใช้ชีวิตบนพื้นฐานของปัญญาญาน…บนพื้นฐานของการที่ไม่ได้คิด

 

และในที่สุด เราก็จะรู้เลยว่าการตัดสินใจอะไรๆ ของเราก็ตาม ถ้ามีความคิดเข้ามาเกี่ยวข้องนี่ มันไม่บริสุทธิ์แล้ว มันจะมีกิเลสเจือปน การตัดสินใจมันจะไม่พอดี

 

ถ้าเราปฏิบัติไปเรื่อยๆ ความคิดฟุ้งซ่านมันจะน้อยลงๆ ไปเรื่อยๆ พอมันน้อยลงไปเรื่อยๆ สิ่งที่จะเกิดขึ้นมาแทน คือ “ปัญญา

 

ปัญญาจะเกิดขึ้นมาแทน จะนำหน้าความคิด 

 

เราก็เลยจะมีสปอร์ตไลท์ส่วนตัว ที่จะรู้ว่า ตอนนี้ต้องทำอะไร ไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องดิ้นรนไปหาอะไรทำ แล้วมันจะดีทุกอย่าง เราก็แพ้อย่างเดียว…แพ้กรรมตัวเอง

 

ชีวิตที่มีปัญญา ไม่ใช่ว่าไม่มีกรรม…มีกรรมต้องรับเหมือนกัน เราเคยทำผิดอะไรไว้ เราก็ต้องรับกรรมนั้นๆ แต่แค่ว่าเราไม่ทุกข์เฉยๆ

 

คนเราถ้าฝึกปฏิบัติธรรม มันเป็นการเจริญกุศลไปในตัวอยู่แล้ว

จิตใจเต็มไปด้วยกุศล จิตใจที่ปกติ เค้าเรียกว่า “จิตใจที่มีศีล

เมื่อมีศีล มันก็เป็นกุศลอยู่แล้ว

 

จะพูดถึงสิ่งมองไม่เห็นหน่อย…ในหนังสือเค้าบอกว่า เทพเทวดาก็อยากเข้าใกล้คนมีศีลมีธรรม เคยได้ยินมีคนบอกว่า มนุษย์นี่เหม็นร้อยโยชน์พันโยชน์ เทวดาไม่อยากเข้าใกล้หรอก เพราะว่าเหม็นอะไร? คือ ไม่มีศีล แต่ถ้าจิตใจเราเป็นปกติ อันนี้คือ ศีลตัวจริง เค้าเรียกว่า “ศีลปรมัตถ์” ศีลพระอริยะ เค้าเรียกว่าเป็น “ความเป็นปกติ” ถ้าจิตใจเรามีศีล จิตใจเป็นกุศล เราก็ไม่เหม็นแล้ว

 

เราทำทุกอย่างในโลกหวังจะให้ชีวิตดี มันดีหรือยังล่ะ? มันก็ยังไม่ดีอย่างที่เราต้องการซักกะทีนึง หรือมันดีแล้วมันก็ไม่ดีอีกแล้ว แต่ถ้าเรามาฝึกปฏิบัติธรรมอย่างนี้ อันนี้ก็จะเป็นดีสมบูรณ์ ดีที่สุด ดีทุกอย่าง

 

ก็แค่ง่ายๆ คือ “รู้สึกตัว ไม่ตามความคิดไป หันมาดูใจบ่อยๆ เป็นยังไง ปกติก็รู้ ไม่ปกติก็รู้…รู้อย่างนั้น”

 

 

ตอนที่ 8 รู้เฉยๆ เห็นเฉยๆ

 

การปฏิบัติธรรมไม่มีการทำอะไรเลย ไม่มีการเข้าไปจัดการอะไรทั้งนั้น

มีแต่การ “รู้อย่างที่มันเป็นเฉยๆ”

 

ถ้าเรารู้อย่างที่มันเป็น ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น จิตใจภายในนี้มันหนักแน่น มันเป็นปกติอยู่ เราเพียงแต่รู้เฉยๆ อย่างนี้มันยากอะไร…ยากใช่มั้ย? ส่วนใหญ่เฉยไม่ค่อยได้ เข้าไปร่วมด้วย…มันยากตรงนี้แหละ

 

แต่เมื่อไรที่เราเริ่มเป็นแล้วเนี่ย…มันไม่ยาก เหมือนคนขี่จักรยาน แรกๆ ก็ล้มลุกคลุกคลานหน่อย ขี่เป็นแล้วมันก็สบาย มันก็ไม่มีอะไร มันก็ไปได้ของมัน “ถึงความเป็นเอง

 

พอถึงความเป็นเอง มันก็ไม่รู้จะทำอะไร เพราะการปฏิบัติธรรมไม่มีการทำอะไร ไม่มีการทำอะไรเพื่อจะได้อะไร ไม่มีการจัดการอะไร ไม่มีการละอะไร มี Keyword ไม่กี่คำ “ไม่มีการทำอะไร…รู้อย่างที่มันเป็น…รู้เฉยๆ…เห็นเฉยๆ

บางทีเราชอบไปคิดว่า พระพุทธเจ้าสอนพระพาหิยะ “เธอจงเห็นสักว่าเห็น ได้ยินสักว่าได้ยิน” เรานึกว่าอันนี้เป็นคำสอนที่พระอรหันต์เท่านั้นทำได้…แต่เราทำได้!!  อันนี้เป็นวิธีปฏิบัติ…ไม่ใช่เป็นผลลัพธ์

เราต้องเริ่มที่มีความเป็นปกติ แล้วอะไรผ่านมาผ่านไป เราก็เห็นเฉยๆ ได้…นี่! เรากำลังอยู่ในทาง

 

ไม่ใช่เราบอกว่าไปรอนั่งสมาธิก่อน แล้ววันนึงเราจะเห็นเฉยๆ ได้…ไม่ใช่

ก้าวแรกคือ เราต้องเห็นเฉยๆ ให้ได้

 

แต่เราจะเห็นเฉยๆ ได้ยังไง?

จิตใจเราต้อง “ปกติ

 

ปกติได้ยังไง?

เราต้อง “รู้สึกตัว” เราต้องไม่เข้าไปในโลกของความคิดปรุงแต่ง

 

วิธีการปฏิบัติที่พูดทั้งหลาย มันเป็นแค่คำแนะนำ เพื่อให้เราเข้าไปถึงจุดที่เราจะเห็นเฉยๆ ได้ คำพูดตั้งเยอะแยะนี่แต่ในขณะเดียวเราก็เห็นเฉยๆ แล้ว

 

ถ้าเรารู้สึกตัวขึ้นมา เราไม่อยู่ในโลกของความคิดปรุงแต่ง จิตใจเราปกติอยู่ เรามองอะไรไป เราก็เห็นเฉยๆ แล้ว พูดนี่เหมือนเยอะ แต่จริงๆ มันขณะเดียว…แค่นั้นเอง เพราะฉะนั้น เราถึงเลย

การปฏิบัติธรรมนี่…มันถึงเลย

เพียงแต่ว่า ถึงให้มันบ่อยๆ ถึงให้มันนานๆ ถึงให้มันต่อเนื่อง

ถึงให้มันเป็นชีวิตจิตใจของเราทุกวันทุกเวลาที่เรากำลังตื่นอยู่

 

ถ้าเราทำได้ ความพ้นทุกข์มันหนีเราไปไม่ได้ เพราะเราพ้นทุกข์ตั้งแต่เราเข้าไปแล้ว เพียงแต่ว่ามันยังไม่ขาดสะบั้นแค่นั้นเอง เรามีหน้าที่จะอยู่…รู้แบบนี้จนมันขาดสะบั้น พอมันขาดสะบั้น มันก็ไม่กลับคืน ไม่กลับคืนมันก็จบ ไม่กำเริบอีกแล้ว

 

ทุกคนก็ทำได้ ส่วนใหญ่ไม่ทำแค่นั้นเอง ส่วนใหญ่ก็มีอย่างอื่นสำคัญกว่าตลอด

 

ตอนที่ 9 พันธะ (Bonding)

 

พันธะนี่เป็นอะไร? มันเป็นเหมือนเมฆสีขาวที่มันก็ดูเหมือนดี

พันธะนี่เป็นเรื่องปกติของมนุษย์ แต่มันเบลอ มันทำให้เรารู้สึกว่ามันมืดมัว ขมุกขมัว มันไม่ชัด มันยังไงไม่รู้…เหนียวเนื้อตัวอะไรอย่างนี้

 

สังเกตมั้ย? เมื่อก่อนเรามีพันธะที่เยอะๆ มากๆ เนี่ย…เราก็ทุกข์ใช่มั้ย? เราเป็นทุกข์เยอะกับพันธะเหล่านั้น แต่พอเราปฏิบัติธรรม เราเห็นความจริงมากขึ้นๆ พันธะเราน้อยลง เราก็สบายขึ้น เราเริ่มไม่เป็นจริงเป็นจังกับพันธะเหล่านั้นใช่มั้ย? ปล่อยวางมากขึ้น เราก็สบายขึ้น เราออกไปจากที่บ้าน ไปทำงาน หรือไปทำอะไร เราก็รู้สึกสบายขึ้นอีกใช่มั้ย? อิสระขึ้น ไม่ค่อยอยากกลับบ้านเท่าไหร่ เรารู้สึกอิสระขึ้น

 

พอเราได้ไปเข้าคอร์สปฏิบัติธรรม ได้ไปอยู่กับกัลยาณมิตร ไปอยู่วัด อยู่กับครูบาอาจารย์ ปฏิบัติธรรม…ก็สบายขึ้นอีก เรารู้สึกว่าเราสบายขึ้น แต่มันมีสบายกว่านั้นอีก…มันมีอิสระ

 

เราได้สัมผัสความอิสระขึ้นเรื่อยๆ แล้วเราก็จะได้สัมผัสอิสระที่แท้จริงในที่สุด ชีวิตของทุกคนมันต้องเปลี่ยนผ่าน ต้องค่อยๆ เปลี่ยนผ่านๆ ไปเรื่อยๆ

 

ตอนที่ 10 ทิ้งหมด ได้หมด

 

ในความจริงสูงสุดไม่มีเมตตา เป็นความว่างเฉยๆ ที่พูดตั้งแต่แรกว่า เราเข้าถึงสภาพ “รู้ ตื่น เบิกบาน” ในสภาพรู้ ตื่น เบิกบานนั้น ไม่มีอะไรมากกว่านี้

 

ทำไมเราต้องเมตตา? เรารู้สึกว่าเราต้องเป็นคนดี เรารู้สึกว่าเราอยากจะช่วยเค้า อะไรก็ตามที่เราจะคิด

 

แต่ความจริงสูงสุดเป็น “ความว่าง” เป็น “สุญญตา” ในนั้นไม่มีอะไร ในสุญญตาไม่มีคุณธรรมอะไรในนั้นทั้งนั้น จะพูดแบบนี้ก็ได้ หรือจะพูดว่าในสุญญตาก็เต็มไปด้วยคุณธรรมทั้งหมดก็ได้อีก พูดได้ 2 แบบเลย

แต่ความเต็มด้วยคุณธรรมแบบนั้น มันไม่ใช่มีใครเข้าไปมีคุณธรรมนั้น

 

เหมือนที่พูดกับทุกคน เมตตามั้ย? ในฐานะคนพูด…อันนี้ก็เป็นทำหน้าที่เฉยๆ ไม่ได้มีความเมตตาอะไร แค่รู้สึกว่าตัวเองมีหน้าที่ที่จะบอกความจริงให้ทุกคนฟัง บอกความจริงให้ทุกคนต้องรู้ความจริงสูงสุด ไม่ให้ติดกับอะไรทั้งนั้น แม้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นสิ่งที่ดีเลิศเลอแค่ไหนก็ตาม

 

ในตอนที่เราตัดสินใจ (ออกมาปฏิบัติธรรม) แบบนั้น เราอาจจะรู้สึกว่าเราเป็นคนไม่ดี ไม่มีเมตตา เพราะเรารู้สึกแบบนั้นมันเลยเป็นสิ่งที่ยาก แต่เราต้องทำเพราะว่าเมื่อเราทำ เราจะกระโดดดึ๋งไปสู่อีกจุดนึง แล้วเมื่อหันกลับมามองเราจะรู้ว่า สิ่งที่เราทำนี่ถูกแล้ว เพราะเราต้องไปในที่ที่มันดีกว่า

 

แต่การจะกระโดดข้ามจากคนดีไปสู่คนที่มีปัญญา…มันไม่ใช่เรื่องง่าย เรากำลังให้ปุถุชน คนหนากิเลสคนนึง กลายเป็นอริยชนขึ้นมา…ไม่ง่าย

 

เราจะบอกว่า เดินไป 3 ก้าวก็ถึงแล้ว มันไม่ง่ายแบบนั้น เวลาเราทำธุรกิจหรือเราทำอะไร เราต่อสู้อะไรมาตั้งแต่เด็ก เรียนหนังสือ ลำบากจะตายใช่มั้ย? กว่าเราจะประสบความสำเร็จอย่างนึงขึ้นมา กว่าเราจะได้ปริญญามา กว่าเราจะมีกิจการใหญ่โตมา เราสู้มาเลือดตาแทบกระเด็นที่จะได้มา

 

แล้ววันนี้เราบอกว่าเราจะเป็นอริยชนให้ได้…มันไม่ใช่ง่าย เราจะเอาทุกอย่างไปด้วยไม่ได้

 

เราจะเอาทุกอย่างที่เราเชื่อไปด้วยไม่ได้

เราแค่จะไปถึงความจริงเฉยๆ

เราไม่ต้องเอาความเป็นคนดีไปด้วย

เราต้องทิ้งมันเหมือนกัน เราต้องทิ้งความเป็นคนดี

 

เราคิดว่าคนที่เป็นอริยะนี่มีเมตตา แต่จริงๆ แล้ว คนที่เป็นอริยะว่างๆ อยู่เฉยๆ แล้วก็ทำหน้าที่ตามสมควรที่ต้องทำ ไม่ได้มีอะไรเลย ไม่มีอะไรมากกว่านั้น

 

เมตตา” เป็นสิ่งที่ทุกคนรับรู้เฉยๆ ทุกคนรู้สึกเฉยๆ ว่าครูบาอาจารย์มีเมตตา มันเป็นพลังงานที่เราเอาไปแปลอีกที…นึกออกมั้ย? แต่ถ้าเราลองรู้เฉยๆ เรารับรู้สภาพว่าตอนนี้เป็นอย่างนี้เฉยๆ สภาพในห้องนี้เป็นปกติดีเฉยๆ มันก็จะไม่มีอะไร

 

เพราะฉะนั้น คนในโลกจะบอกเราว่า ไม่เมตตา เราเป็นคนไม่ดี…ก็ได้ เพราะอันนั้นเป็นเรื่องในโลก เราจะไปเหนือโลก เราจะไปเหนือโลกนี้ ต้องทิ้งของในโลก

 

เหมือนยานอวกาศจะทะลุไปในอวกาศได้ มันต้องปล่อยไม่รู้กี่อย่าง ถอดโน้นทิ้ง ถอดนี่ทิ้ง ถอดนั่นทิ้ง มันถึงจะหลุดไปบนอวกาศได้ใช่มั้ย? ถ้ามันหนักอยู่ มันไปไม่ได้ มันก็แบก…แบกแล้วก็จะไปด้วยอย่างนี้ แต่วันนึงพอเราแบกจนเหนื่อย สุดท้ายเราทิ้งเหมือนกัน…ไม่เอาแล้ว

 

เหมือนเคยเห็นคนเดินทางไกลใช่มั้ย? จะเดินทางไกลเตรียมของใหญ่เลย แบกเป้ แบกของกิน แบกโน่นนี่นั่น ถึงเวลาเดินมันเหนื่อย “อื้มมม น้ำนี่ขวดใหญ่เกินไป” มันจำเป็นเหมือนกันแต่ต้องทิ้ง เดินไม่ไหวแล้วอย่างนี้

 

สุดท้าย ความทุกข์มันจะบีบคั้นเราเอง

แล้วเราต้องทิ้งอยู่ดี เราถึงจะหลุดขึ้นไปได้

 

ทางสายกลางเป็นความพอดี ที่เราหยิบสามารถใช้ได้ต่างหาก บางคนมาถามธรรมะบางอย่างผมไม่ตอบก็มี บอกเค้ากลับไปว่าฟุ้งซ่าน…เนี่ย! บางทีต้องดุด้วย อันนี้ไม่เมตตาเหมือนกันแต่มันพอดีกับเค้า ไม่งั้นเค้าหยุดไม่ได้ แต่ถ้าผมคิดตามเหตุผลแล้วก็บอกว่า ผมเป็นครูบาอาจารย์ก็ต้องมีเมตตาตลอด ก็ต้องสอนทุกอย่าง พูดทุกอย่าง…อย่างนี้มันไม่ใช่ความพอดี

 

แต่ในขณะที่เราอยู่เหนือทุกสิ่งทุกอย่างในโลก จิตใจเราปกติ จิตใจมันว่างอยู่ มันจะหยิบใช้อะไรก็ได้ เช่น กับคนนี้เราต้องเมตตา เราก็หยิบความเมตตา เราไม่ได้หยิบหรอก จริงๆ แล้วมันมีเอง…มันถือว่าใช้เป็นเครื่องมือแล้วกัน มันหยิบใช้เองตามสถานการณ์แต่ละบุคคลเฉยๆ ผมเลยบอกว่า จะว่ามันมีเมตตาก็ได้ ไม่มีเมตตาก็ได้ มันพูดไม่ถูก

 

เพราะฉะนั้น พวกเราทุกคนไม่ใช่ว่าเราแบกความดี แบกคุณธรรมไป…ไม่ใช่ เราทิ้งทุกอย่างต่างหาก แล้วสุดท้ายเราจะมีทุกอย่าง สมบูรณ์…เป็นสมบูรณ์ในความพอดีด้วย

 

เราอย่าเพิ่งรีบเอา ทิ้งก่อน

ทิ้งทุกอย่าง ได้ทุกอย่าง ได้หมด สมบูรณ์ที่สุด 

แต่เราต้องกล้า…กล้าที่จะทิ้งก่อน

 

 

ตอนที่ 11 ความอยาก

 

ตัณหาความอยากของมนุษย์เราไม่เคยมีที่สิ้นสุด ไม่เคยเต็มเลย มีตัณหาตลอด เราอยากมีประสบการณ์ไปที่นี่ก่อน ไปที่นั่นก่อน ไปทำนี่ ไปทำโน่นก่อนตลอด

 

ตัณหาคืออะไร? คือ เราอยากมีประสบการณ์…เราอยาก วันนี้เราอยากอันนี้ วันหน้าเราก็อยากอันอื่นอีก วันโน้นเราก็อยากอันนี้…อยากไปเรื่อยๆ มันมีเรื่องให้เราอยากตลอดแหละ

 

เรามีประสบการณ์ แต่ว่าความอยากเราไม่มีวันหมด เราทำอันนี้ เราก็อยากอันนั้นต่อ เพราะฉะนั้นจะบอกว่าถ้าเราไม่ไปทำ แล้วเราจะติดอยู่ในใจมั้ย? คำตอบคือ เราไม่ได้ติดสิ่งที่เราไปทำ สิ่งที่เราติดนี่คือ “ความอยาก” ของตัวเอง…ทุกเรื่องเลย แล้วถึงแม้ว่าเราไปทำ และเรามีความอยากเรื่องต่อไปๆ แล้วเมื่อไหร่หละที่เราบอกว่าจะหมดสงสัย (No Doubt) หมดสิ่งที่ติดอยู่ในใจซักทีนึง

 

การไปทำแบบนั้น มันอาจจะคลายความอยากเราได้ มันก็มีดีเหมือนกัน แต่เรารู้ใช่มั้ยว่าความอยากมันไม่หมด มันจะมีอีก แต่ถ้าเราไปบวช ไปปฏิบัติธรรม มันมีวันหมด มันมีวันที่ทุกสิ่งมันจบได้ แต่ถ้าเราไปอีกทางนึง…ไม่จบ มันก็ไปเรื่อยๆ คลายอันนี้ปุ๊บ อันนั้นก็เกิดใหม่ คลายอันนั้นปุ๊บ อันโน้นนี้ก็เกิดใหม่

 

คนส่วนใหญ่ที่สนใจธรรมะได้ เป็นคนที่เค้าประสบความสำเร็จทุกอย่างในชีวิตแล้ว เค้าต้องการความสุขมากกว่านี้ ความสุขที่มีอยู่ไม่พอ มันน่าเบื่อ มันน่าจะมีอะไรดีกว่านี้ มันก็เลยเริ่มใฝ่หาทางจิตวิญญาน พอจิตวิญญานมันมาถูกทางเจอพระพุทธเจ้าก็เลยพอดี…ตอบโจทย์ ก็เลยไปทำทางนี้

 

แต่ว่าในระหว่างทำ ยังอยากมั้ย? มันก็อยากเหมือนกัน ก็ยังอยากโน้น อยากนั่น อยากนี่ แต่ด้วยหลักที่มันมั่นคงแล้วว่าชีวิตคือการปฏิบัติธรรม  มันก็ไม่ไปหรอก มันมารบกวนแต่เราไม่ไป เพราะเรารู้ว่านี่คือ ชีวิตเรา ชีวิตของเรา เราก็จะไปทางนี้

 

ความอยาก” เป็นต้นเหตุของทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำให้เราไปไหนไม่ได้ ที่ทำให้เรามีเงื่อนไขมากมายในชีวิต

 

Camouflage

19-Oct-2016

 

YouTube : https://youtu.be/_Ip5ykg92Uo

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
-iOS https://itun.es/th/t6Mzdb.c
-Andriod https://goo.gl/PgOZCy