44.ไม่มีก้าวแรก…ก็ไม่มีก้าวต่อไป

ตอนที่ 1 มนุษย์ทุกคนต้องการพ้นทุกข์

ความสุขที่พึ่งพิงสิ่งอื่น…เป็นความสุขจอมปลอมทั้งนั้น…ไม่ใช่สุข แต่เป็นเพราะเราอ่อนแอ…เราจึงต้องพึ่งพิงคนอื่น พึ่งพิงสิ่งอื่น พึ่งพิงลูก พึ่งพิงหลาน พึ่งพิงแฟน เราสุขด้วยตัวเองไม่ได้

ถือว่าเราเป็นคนอ่อนแอ จิตใจนี้มันอ่อนแอ มันถึงไม่เป็นผู้ใหญ่ มันถึงเติบโตไม่ได้ เมื่อก่อนพึ่งแม่ เดี๋ยวนี้พึ่งแฟน อนาคตพึ่งลูก ต้องพึ่งคนอื่นเหมือนเดิม…โตไม่ได้ซักที

คนทุกคน สัตว์ทุกตัว ต้องการพ้นทุกข์ เค้าต้องหาทาง…จะหาทางไหนก็ได้ วันนึงต้องเจอทางนี้ ไม่ชาตินี้ก็ไปชาติโน้น แต่ต้องเจอ มันต้องเจอสักวันนึง เพราะพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนต้องการความสุข แต่ละคนก็จะไปทางนี้ ไปทางโน้น ไปทางนั้น ไปเรื่อย…บุญกรรมไม่เท่ากัน ไปผิดก่อน

แต่จนวันนึง จิตวิญญานทุกดวงที่ต้องการจะพ้นทุกข์ จะต้องเจอทางนี้ในที่สุด ไม่มีใครจะไม่เจอ ต้องเจอ…แต่ต้องลงนรกกี่กัปป์กี่กัลป์ จะต้องเกิดมาลำบากเท่าไหร่ อีกกี่ภพกี่ชาติเป็นอีกเรื่องนึง

เราเกิดใหม่ก็ไม่ใช่เราตอนนี้หรอก เราจำไม่ได้แล้ว ก็เป็นคนใหม่แล้ว แต่ก็ทุกข์เหมือนกัน ไม่ใช่ไม่ทุกข์…พูดถึงนรก หรืออะไรพวกนี้ ไม่ต้องไปคิดเยอะ…สมมติแค่เปลี่ยนเราไปเกิดในเอธิโอเปียก็พอ ไม่ต้องเป็นนรกจริงๆ ก็ได้ เราเคยเห็นเด็กเอธิโอเปียใช่มั้ย? กินน้ำในกองอึวัวเพราะไม่มีน้ำกิน  หรือเกิดในซีเรียที่มีแต่สงครามอย่างนี้…ก็นรกสุดๆ แล้ว ไม่ต้องเอานรกที่ไหน

เราจะเห็นว่า..ทำไมถึงมีความแตกต่างของชาติพันธุ์ ความสงบ ความสบาย ของถิ่นที่เราอยู่ ประเทศที่เราอยู่?…เพราะว่าสิ่งที่เราสั่งสมมา บุญกรรมต่างๆ ที่มันผลักดันชีวิตเรา ผลักดันจิตเราให้มันเป็นอย่างนี้ มันพาเรามาถึงตรงนี้

แต่ถ้าเรายังไม่พ้นการเกิด ไม่มีหลักประกันอะไรเลยว่าเราจะไม่ไปเกิดที่โน่น…องคุลีมารเป็นแบบนั้น โชคดีพระพุทธเจ้าไปช่วย ไม่งั้นต้องฆ่าคนไปมากเท่าไหร่ไม่รู้จนตาย

 

ตอนที่ 2 ประจักษ์แจ้งสภาวะด้วยตัวเอง

เราต้องเข้าใจว่า ภาษาทั้งหลายเป็นสมมติ บางทีครูบาอาจารย์แต่ละองค์พูดไม่เหมือนกันด้วย ภาษามันถูกนิยามไว้อีกทีนึง เราไม่รู้ใครเป็นคนเริ่มต้นนิยามคำนี้ เค้าต้องถูกรึเปล่าก็ไม่รู้…นึกออกมั้ย?

เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมต้องเอาสภาวะที่เราเห็นได้ด้วยตัวเอง อย่างที่ผมบอกว่า เราต้องเข้าไป “ประจักษ์แจ้งสภาวะ” เช่น ความเป็นปกตินี้ ด้วยตัวเอง ด้วยใจของเราเอง

การฝึกปฏิบัติธรรมทั้งหมดในศาสนาพุทธ…สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน คือ “การเข้าไปเห็นความจริง

การเข้าไปเห็นความจริงนี้ มีแต่ “กิริยา” เฉยๆ เราไม่เรียกมันเป็นบุญเป็นบาป แต่พระพุทธเจ้าก็ใช้คำว่า “เป็นกุศล” เป็นกุศลเฉยๆ แต่ก็เป็นคำพูดอีก เพราะจริงๆ ความจริงสูงสุด คือ “มหาสุญญตา” คือ ทะเลแห่งความว่าง ในความว่างไม่มีอะไร ไม่มีอะไรเลย บุญกุศลอะไรก็ไม่มี บุญบาปอะไรในนั้นก็ไม่มี…ว่างเฉยๆ

อย่างที่ผมพูดอยู่อย่างนี้…ข้างในนี้ไม่มีอะไร ไม่มีเมตตาด้วย บางทีเราคิดว่ามีเมตตา…ไม่มีเหมือนกัน ทำหน้าที่เฉยๆ แสดงออกแบบนี้เฉยๆ เป็นหน้าที่ของปัญญา

อย่าง “ปัญญา” ก็เป็นคำพูดเหมือนกัน แต่เพื่อที่จะสื่อสารให้คนเข้าใจว่า มันไม่ใช่ความคิด ไม่ใช่ความปรุงแต่ง เพื่อจะแยกออกให้คนฟังเข้าใจเฉยๆ

แต่ถ้าถามจริงๆ คือ ไม่มีอะไร เราแค่ใช้ขันธ์ 5 ซึ่งขันธ์ 5 มี สัญญา คือ ความจำได้หมายรู้ สังขาร คือ ความคิด เพื่อจะปะติดปะต่อพูดเป็นภาษาคนให้ฟังเข้าใจได้อย่างนี้ เราใช้เครื่องมือที่เรามีตอนนี้เฉยๆ ถ้าเครื่องมือนี้มันตายไป มันก็ไม่ต้องใช้  มันก็กลับสู่ความว่าง ก็คือ ไม่มีอะไร…ไม่มีอะไรแล้ว แค่นั้นเอง

 

ตอนที่ 3 มีธรรมนำชีวิต

การที่เราไปผูกอยู่กับใคร เราจะต้องทุกข์แน่นอน ผูกกับสิ่งของ ผูกกับคน ผูกกับวัตถุอะไรก็ตาม…ต้องทุกข์ ไม่มีทางไม่ทุกข์

การที่เราจะอิสระจากทุกข์นี้ ไม่ใช่การที่คอยป้องกันอะไร ไม่มีทางป้องกันได้ เราต้องเป็นอิสระจากมัน เป็นทางออกเดียว บานเล็กๆ แคบๆ…ออกมาทางนี้

พระพุทธเจ้าก็สอนว่า ให้เรามีกัลยาณมิตร และในการปฏิบัติธรรมนี้ เราต้อง “วิเวกสันโดษ” แต่เรามีเพื่อนได้ เพื่อนไว้ช่วยกันยามยาก อย่างพระ…ทำไมเป็นสังฆะ?…เพื่อช่วยกัน เจ็บป่วยช่วยกันได้ ไปอยู่คนเดียวใครจะช่วย…ใช่มั้ย? แต่เวลาปฏิบัติธรรม ต่างคนต่างทำ ไม่ได้ยุ่งกัน

ชีวิตส่วนใหญ่ก็เป็นวิเวกสันโดษ แต่อยู่ด้วยกันก็ช่วยกัน มีอะไรส่วนรวมต้องช่วยกัน…ก็ช่วย เช่น สร้างกุฏิ หาบน้ำ(ในสมัยก่อน) บิณฑบาตร เจ็บไข้ได้ป่วย ดูแลกันได้ เราจะมีความสัมพันธ์แบบนั้นแทน

แต่ถ้าเป็นคู่กันไม่ปฏิบัติธรรม กิจกรรมร่วมกันเป็นอะไร?…เรื่องของกิเลสตัณหา พากันไปดำดิ่ง

เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่มีธรรมนำชีวิตเนี่ย…เป็นชีวิตที่น่ากลัวมาก เราจะผิดพลาดเมื่อไหร่ก็ได้ ความทุกข์ ความผิดพลาดในชีวิตที่เราเลือกผิด เราก้าวผิดครั้งเดียว อันนี้จะมีผลที่ตามมายาวเลย  และต้องรับกรรมนั้นด้วยในที่สุด

เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่มีธรรมนำชีวิต เหมือนกับเราไม่มีแสงสว่าง ไม่มีประทีป…ถ้าเราไม่มีดวงประทีปนี่เป็นไฟฉายส่องนำทางเรา…ชีวิตเราก็น่ากลัว อันตราย

 

ตอนที่ 4 ต้องพ้นทุกข์ตั้งแต่เริ่มปฏิบัติ

จริงๆ พระพุทธเจ้าก็สอนไว้แล้วว่าต้องมี “โยนิโสมนสิการ” คือ การพิจารณาอย่างแหยบคายที่จะรู้ว่า การปฏิบัติธรรมของเรานี่มันก้าวหน้ามั้ย?

ความก้าวหน้าที่แท้จริงก็คือ ความพ้นทุกข์นี่แหละ ปฏิบัติธรรมต้องพ้นทุกข์ตั้งแต่เริ่มปฏิบัติ…นี่เป็นหัวใจสำคัญ

ไม่ใช่บอกว่า ปฏิบัติธรรมไปเหอะ ปฏิบัติไปก่อน เห็นอย่างนี้ไปอีก 10 ปี 20 ปี ค่อยมาคุยกัน หรือจะค่อยดีขึ้น นี่มั่วเลย สอนมั่วเลยแบบนั้น…ไม่ใช่เลย

ธรรมะพระพุทธเจ้าไม่ได้ห่วยขนาดนั้น ต้องพ้นทุกข์เดี๋ยวนี้เลย ปฏิบัติแบบนี้ต้องพ้นทุกข์เดี๋ยวนี้…นี่คือการปฏิบัติที่แท้จริง

แต่ว่าเราไม่เชื่อกัน เราชอบไปคิดว่าการปฏิบัติธรรมมันยาก ต้องปฏิบัติอย่างนี้ ต้องทำอย่างนั้น ต้องอย่างนี้ ต้องอย่างโน้น สะสมนี่ สะสมนั่น

สะสมอะไร? เค้ามีแต่เอาออก การปฏิบัติธรรมเป็นการเอาออกไม่ใช่เอาเข้า…สะสมโน่น สะสมนี่แล้วใครสะสม? ก็เราสะสมทั้งนั้น จะเอาบารมี 10 อย่าง จะเอาบารมีให้เต็มอย่างนี้ แล้วใครมันสะสมล่ะ? ก็ “เรา” นี่แหละมันสะสม….ทำทานใหญ่เลย กลัวทานบารมีไม่เต็มซักที หมดตัวพอดี

พระพุทธเจ้าพูดตลอดว่า “จงมาลองดูเถิด” แปลว่าอะไร? …ประสบการณ์ตรงของตัวเองนี่แหละที่จะสอนตัวเองได้ ต้องก้าวเข้ามาที่จะเริ่มลองทำดู แล้วประสบการณ์ตรงของเราเอง มันจะบอกเราว่า โอ้โห!…มันใช่ มันจะใช่ได้ยังไง?…มันต้องพ้นทุกข์เลยมันถึงจะใช่ ถ้าเราปฏิบัติถูกมันต้องดีขึ้นเลย แต่โอเค…มันจะยังไม่ดี 100% แต่เราจะรู้ตัวเองว่า เราดีขึ้น เราไม่ใช่เท่าเดิม หรือว่าแย่ลง

ถ้าเราปฏิบัติถูกต้อง…อย่างที่บอกว่า เรารู้ทุกสิ่งตามที่มันเป็น เราพ้นคน เราพ้นทุกข์ แต่ถ้าเราไปปฏิบัติในแบบที่ส่งเสริมอัตตาตัวเอง…มีแต่ “เรา” ตลอดทาง ต้องทุกข์อย่างเดียว เพราะมันมีคนนี่เข้าไปรองรับทุกข์ตลอดเวลา

 

ตอนที่ 5 ไม่มีก้าวแรก ก็ไม่มีก้าวต่อไป

พระพุทธเจ้าบอกผลลัพธ์มาแล้วว่า ทุกสิ่งเป็นไปตามเหตุปัจจัย มันไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน คำจริงๆ คือ “ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน” ไม่ใช่ ไม่มีตัวไม่มีตน

มันเป็นไตรลักษณ์ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อันนี้คือผลทั้งหมดที่พระพุทธเจ้าบอกมา และเราอยากจะเข้าใจ เกิดอะไรขึ้น?…เราก็ไปคิดตามกระบวนการแบบนั้น คิดตามๆ….ใช่ เข้าใจ เข้าไปในสมอง มันเข้าใจไม่ได้

เพราะอะไร? เพราะ “มันมีเรา” อยากจะเข้าใจสิ่งๆ นั้นตลอดเวลา เค้าบอกว่าเราต้องเข้าใจให้แจ่มแจ้ง เลยอยากจะเข้าใจบ่อย ก็คิดตลอด เราเข้าใจบ่อยๆ ก็เข้าไปคิดบ่อยๆ เข้าไปคิดบ่อยๆ ก็นึกว่าจะเข้าใจแจ่มแจ้ง

การปฏิบัติธรรม คือ การออกมาจากโลกของความคิด ออกมาจากโลกของความปรุงแต่งให้ได้…นี่คือ ทาง นี่คือ ก้าวแรก…ที่เราจะต้องเดินเข้าไปให้ได้

แต่การสอนที่ผิดพลาด คือ ไม่พาคนออกมา พาคนเข้าไปในความคิดตลอด มันก็เลยไม่มีก้าวแรกซักทีนึง…“ไม่มีก้าวแรก ก็ไม่มีก้าวต่อไป” ไปไม่ได้ มันก็วนอยู่อย่างนั้น…วนอยู่อย่างนั้น

 

ตอนที่ 6 ต้องรู้ตัวเอง

คำสอนในการปฏิบัติธรรมที่ดี จะต้องเป็นสิ่งที่เราเอาไปปฏิบัติได้ด้วยตัวเอง สิ่งที่ง่ายๆ ไม่ซับซ้อน เอาไปทำได้ด้วยตัวเอง จนไม่เกิดการติดครูบาอาจารย์ จนไม่เกิดการต้องคอยไปถาม….”ตอนนี้จิตดีขึ้นรึยังค่ะ?”… “ตอนนี้จิตเป็นยังไง?”…ต้องรู้ตัวเอง ตัวเองไม่รู้ตัวเอง แปลว่าไม่ได้ปฏิบัติธรรม

ปฎิบัติธรรม คือ การเรียนรู้กายใจตามความเป็นจริง อุตส่าห์ไปเรียนรู้เป็นเดือนเป็นปี ยังไม่รู้กายใจตัวเองตื่นหรือยัง?…อย่างนี้เป็นไปได้ยังไง?  อย่างนี้เรียกว่า ไปติดครูบาอาจารย์ ไปติดว่าจะต้องให้เค้าบอกถึงจะเชื่อมั่น…อันนี้แปลว่า เราไม่เชื่อประสบการณ์ตัวเอง แปลว่า เรายังลังเลสงสัยอยู่

การปฏิบัติธรรมนี้ …ไม่ติดกับอะไรทั้งนั้น  “ทำหน้าที่…ทำหน้าที่…ทำหน้าที่” อย่างเดียว ประสบการณ์นี้จะค่อยๆ เฉลยคำตอบออกมาเรื่อยๆ เรื่อยๆ เรื่อยๆ แต่ไม่ใช่บอกไม่ให้มีครูบาอาจารย์นะ…ต้องมี ต้องสนทนาธรรม ต้องคุยกัน อะไรเป็นยังไง แต่ไม่ใช่ไปยึดติด

เหมือนหลวงพ่อเวลาเทศน์ ท่านเคยบอกว่า ใครเป็นโสดาบันแล้ว ยังมาถามว่าตัวเองเป็นโสดาบันรึยัง? แปลว่า ยังไม่เป็นโสดาบัน ตัวเองยังไม่รู้ตัวเองเลย…ตัวเองต้องรู้ตัวเอง

หลวงพ่อเทียนในสมัยนั้น ท่านเป็นพระที่แบบ…โอ้โห! คำพูดแต่ละอันนี่ทะลุทะลวงเลย  ท่านเคยพูดว่า… “ใครว่าผมไม่ใช่ ผมไม่สน ผมว่าผมใช่” อย่างนี้…ไม่สน “ใครจะว่าหรือครูบาอาจารย์จะว่าผมไม่ใช่ ผมไม่สน…แต่ผมว่าผมใช่”…นี่! ต้องมั่นใจในตัวเองแบบนั้น แต่หมายความว่าเราต้องซื่อสัตย์กับตัวเองด้วยนะว่า เราไม่เหลือแล้วอะไรอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ตัวเองเนี่ย..เป็นคนบอกตัวเอง

พระพุทธเจ้าเลยพูดว่า ธรรมะพระพุทธเจ้าเป็นปัจจัตตัง คือ รู้ได้เฉพาะตน ไม่ใช่คนอื่นมารู้เรา คนอื่นรู้เราไม่เท่าเรารู้ตัวเอง คนอื่นบางทีก็บอกเราเป็นพระอรหันต์ แล้วเราก็จะเชื่อตามเค้าเหรอ? เรายังไม่ได้เป็นซะหน่อย…ใช่มั้ย? เราต้องซื่อสัตย์กับตัวเอง

 

ตอนที่ 7 อะไรทำให้คนเปลี่ยนได้?

มีคนถามหลวงพ่อเทียนขึ้นมาว่า เรื่องที่พระพุทธเจ้าเป็นพระเวสสันดร แล้วยกลูก ยกภรรยาให้กับชูชก  ตามหนังสือเค้าก็บอกว่า การยกลูกยกภรรยาให้เนี่ย เขาเรียกว่า บำเพ็ญบารมี ให้ทานบารมีไป…จะได้มีบารมีถึงจะเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมาได้ในอนาคตนั้น  เราต้องทำแบบนั้นมั้ย?

หลวงพ่อเทียนบอกว่า คุณทำได้มั้ยล่ะ? ยกลูกยกภรรยาตัวเองให้กับคนงานที่บ้าน..ทำได้มั้ย? คนถามตอบว่า ทำไม่ได้

หลวงพ่อเทียนก็บอกว่า เออ!..งั้นเราเปลี่ยนเป็นแบบนี้  สมมติว่าพระพุทธเจ้ากำลังสอนเราว่า ให้เราสละสิ่งที่เรารักที่สุดออกไป…เราทำได้มั้ย? สิ่งที่เราสละไม่ค่อยได้คืออะไร? ความโลภ ความโกรธ ความหลง…สละได้มั้ย? ไม่โกรธได้มั้ย? ไม่โลภได้มั้ย? ไม่มีตัณหาราคะได้มั้ย? สละแบบนี้ให้ได้ดีกว่าสละลูกสละภรรยา เพราะเราติดกับมันมาก

เวลาโกรธคน บอกว่าอย่าโกรธ ทำได้มั้ย?… “ไม่ได้ ต้องโกรธ มันทำแบบนี้ไม่ถูก”… “ไม่โกรธไม่ได้ เดี๋ยววันหลังมันไม่จำว่าไม่ควรทำ”

ลองไปคิดดู โกรธมาเท่าไหร่แล้วในชีวิตแล้วจะบอกให้อีกคนนึงไม่ทำ…มันก็ทำเหมือนเดิม เพราะเราพยายามจะเปลี่ยนคนอื่น ซึ่งเปลี่ยนไม่ได้ ตัวเราเองยังเปลี่ยนไม่ได้เลย เค้าเรียกว่า เป็นสันดาน ปลูกฝังอยู่ในจิตใจเราตั้งแต่เกิดมาแล้ว…มันเปลี่ยนไม่ได้

สิ่งเดียวที่จะเปลี่ยนคนๆ นึงได้ เปลี่ยนจิตใจคนๆ นึงได้ คือ การปฏิบัติธรรมอย่างเดียว คือ การชำระจิตใจนี้ให้มันขาวรอบ ให้มันบริสุทธิ์…มันก็หมดทุกอย่าง เพราะมันอะไร? เพราะมันทำลายความเห็นผิดว่า มีเราจริงๆ ทำลายความมี “เรา” ทิ้งไป…ก็ไม่มีอะไร

 

ตอนที่ 8 ไม่มีไป ไม่มีมา

สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหลายทุกวันนี้ที่ทำให้เราทุกข์ จากตัณหา ราคะ กิเลส โลภ โกรธ หลงทั้งหลาย มันเกิดขึ้นเพราะมี “ตัวเรา” เรานี้ไปรองรับมันเอาไว้ เราเลยมีทุกอย่างเกิดขึ้น

วันนึงมันไม่มีเราแล้ว จิตใจนี้มันเต็มไปด้วยความปกติ มันไปไหนไม่ได้ ที่เค้าพูดคำศํพท์ว่า  “ไม่มีไป ไม่มีมา” ก็เป็นแบบนี้แหละ มันไม่ไป ไม่มา…มันไม่ต้องการ มันไม่มีตัณหาขับดัน มันเต็มอิ่มอยู่แล้ว

พระพุทธเจ้าก็เลยบอกว่า มนุษย์เราเนี่ย…มีแต่ความพร่อง จิตใจนี้ไม่เคยเต็ม เติมเท่าไหร่ก็ไม่เต็ม มันพร่องตลอดเวลา เพราะมันมีแต่ตัณหา มีแต่ความต้องการไม่เคยหยุดหย่อนเลย

เราปฏิบัติธรรมจนวันนึงเห็นถูก..เห็นถูกต้อง มิจฉาทิฎฐิมันก็หมดไป มีแต่สัมมาทิฎฐิ  จริงๆ มันก็ไม่มีด้วยสัมมาทิฎฐิ…ไม่รู้จะพูดยังไงดี?  คือ มันเข้าใจว่าอะไรเป็นมิจฉาทิฎฐิ? อะไรเป็นสัมมาทิฎฐิ? แต่ตัวใจจริงๆ ไม่มีอะไร…เข้าใจว่า ใจสภาพนี้ เรียก สัมมาทิฎฐิ สภาพอย่างอื่น เรียก มิจฉาทิฎฐิเฉยๆ…แต่ใจนี้ไม่มีอะไร ไม่มีอะไรทั้งนั้น ไม่มีสัมมาทิฎฐิด้วย ไม่มีอะไรเติมลงไปทั้งนั้น…มันบริสุทธิ์ ว่าง ไม่มีอะไร

จิตใจที่พ้นทุกข์นี่อยู่เหนือทุกสิ่งทุกอย่าง เหนือของคู่ทุกอย่าง เหนือดีเหนือชั่ว เหนืออะไรที่มันหรูหรา เหนือหมด

เพราะฉะนั้น “ความปกติ” อันนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก..สำคัญมากๆ  ที่ทุกคนจะต้องหมั่นที่จะกลับมาดูใจเราเองว่า ปกติมั้ย? เราเดินเหิน เราทำการทำงาน ปัดกวาด เช็ดถู ขับรถขับรา…แว๊บๆ ไป กลับมาดูใจตัวเอง…แว๊บๆ ไป กลับมาดูใจตัวเองว่า…ปกติมั้ย?.. ปกติมั้ย? ความปกตินี้จะเป็น จุด..จุด..จุด มากขึ้นๆๆ  ขยายมากขึ้นๆ

จนวันนึงมันก็ connect กับสุญญตา…สุญญตา คือ ความจริงของทุกสิ่งทุกอย่าง มันก็เรียกว่า ไม่มีไป ไม่มีมา…เราเป็นมันไปแล้ว มันก็ไม่ต้องมีการไปการมา มันก็เลยไม่พร่อง มันก็เลยเต็มอยู่ตลอด เพราะสิ่งนี้มันมีอยู่แล้ว มันเต็มอยู่แล้ว

ภาษาไทยมีคำว่า…พวกไม่เต็ม..(ผู้บรรยายชี้ไปที่ผู้ฟังธรรม) นี่! อย่างนี้แหละเราไม่เต็ม ไปทำให้มันเต็มซะ…เป็นคนเต็ม เต็มแบบนี้  ตอนนี้เราเป็นคนไม่เต็ม ฝึกให้มันเต็ม

ไม่ต้องคิดว่า มันยากหรือมันเป็นสิ่งที่เราจะเข้าถึงไม่ได้ในชีวิตนี้…ไม่ต้องคิดแบบนั้น  เข้าถึงได้ทุกคน ทุกคนเป็นพระพุทธเจ้าอยู่แล้ว แค่ปลุกมันขึ้นมาเฉยๆ แค่นั้น ปลุกให้มันตื่นขึ้นมา อย่าให้โมหะนำหน้าชีวิตเหมือนเดิม…ให้ความปกตินี้นำหน้าชีวิต ปัญญาจะเกิด…อันนี้พาชีวิตไปได้

เพราะฉะนั้น วันนี้ทุกคนต้องกลับไปเปลี่ยนวิถีชีวิต ไปคำนวณใหม่ว่าจะทำยังไงดีที่จะเอื้อประโยชน์ เกื้อกูลการปฏิบัติธรรม เพื่อวันนึงเราจะเข้าถึงความหลุดพ้นอย่างแท้จริง แล้วเราจะไม่ต้องทุกข์อีกเลย

 

Camouflage

17-Jul-2016

YouTube: https://youtu.be/dExUh_iJyYY

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของอาจารย์ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c

วิธีการติดตั้ง https://goo.gl/tBMY9S