43. ส่ง “เทียน” จากรุ่นสู่รุ่น

ตอนที่ 1 วิเวก สันโดษ

เราจะมีชีวิตที่เหมาะสมยังไงที่มันเกื้อกูลต่อการปฏิบัติธรรม?

จริงๆ พระพุทธเจ้าก็บอกเราอยู่แล้ว… “วิเวก สันโดษ” เป็นสิ่งที่เป็นกรอบใหญ่ๆ ที่ให้เราเลือกเส้นทางชีวิตเราว่า เราจะมีชีวิตที่วิเวกสันโดษได้ยังไง

“วิเวกสันโดษ” พระพุทธเจ้าก็แบ่งความวิเวกอีกเป็น….กายวิเวก และจิตวิเวก

พวกเราทุกคนตอนนี้มี “กายวิเวก”…แปลว่าอะไร? ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ สบาย แข็งแรงดี ไม่มีเวทนา ความทุกข์ทางร่างกาย ถ้าเราแก่ไปๆ ปวดเมื่อย นั่งหลับ เพลียง่าย เดินไม่ค่อยไหว ปวดเข่าอะไรก็ว่าไป…นี่! กายไม่วิเวกแล้ว มีความทุกข์เยอะ

“จิตวิเวก” คือหมายความว่า ผัสสะที่มันเข้ามาหาเรา ถ้าเรายังอยู่ชีวิตแบบเดิม เจอผัสสะแบบเดิม จิตเราวิเวกได้มั้ย?…ไม่ได้ จิตเราผิดปกติทั้งวัน เจอเรื่องปัญหาธุรกิจเข้ามา จิตก็ผิดปกติเลย…เนี่ย! มันจะวิเวกได้ยังไง?…มันวิเวกไม่ได้

เพราะฉะนั้น กายวิเวก จิตวิเวก แล้วก็สันโดษ…”สันโดษ”  คืออะไร? พอใจกับสิ่งที่มีอยู่แล้ว พอใจกับสภาพ อัตภาพที่เป็นอยู่นี้…พอแล้ว ไม่ต้องเอาดีกว่านี้ เอาแค่นี้ก็พอแล้ว…นี่เขาเรียกว่า “วิเวกสันโดษ”

ถ้าเรามีความพอใจกับอัตภาพ สถานภาพ สิ่งแวดล้อมที่เราอยู่…มันจะเป็นยังไง? ก็ปกติ เราไม่เกิดความดิ้นรน ไม่เกิดความต้องการ ไม่เกิดตัณหาที่จะต้องเอาดีกว่านี้ เอามากกว่านี้…มันจะไม่มีอาการแบบนั้น มันก็กลับสู่ความเป็นปกติ

พอเรามีกายวิเวก จิตวิเวก มีความสันโดษในจิตใจนี้…“ความเป็นปกติ” นี้ก็เริ่มเบ่งบานขึ้นมาในจิตใจเรา…เราก็มีหน้าที่แค่นั้นเอง

แต่ละคนมีชีวิตที่ไม่เหมือนกัน คนนั้นทำงานอย่างนี้ คนนี้ทำงานอย่างนั้น คนนี้ยังไม่ได้ทำงาน เพราะฉะนั้นแต่ละคนต้องไปปรับให้มันเข้ากับเส้นทางของความวิเวกสันโดษนี้จนได้ ทุกคนต้องปรับเองว่าจะทำยังไงให้มันเกิดความวิเวกสันโดษในความสามารถที่เราทำได้  แต่ที่สำคัญคือ “อย่าไปหาอะไรทำเพิ่ม”

ผมเคยบอกตลอดว่า คนไม่มีแฟน ไม่ต้องไปหาแฟน คนมีแฟนแล้ว ไม่ต้องไปหาเพิ่ม…นี่! เขาเรียกว่า หาเรื่องใส่ตัว เหมือนเราทำธุรกิจ เรามักจะรอว่า เดี๋ยวรอทุกอย่างลงตัว (settle) ก่อน เราจะได้ออกไปปฏิบัติธรรม…ไม่มีวันนั้น มันเป็นไปไม่ได้ ธุรกิจ คือ การแข่งขัน ถ้าเราหยุด คือ ถอยหลัง ถ้าเราไม่มีการตลาดที่ทันถ่วงทีกับสถานการณ์ เราก็จะโดนแย่งส่วนแบ่งตลาด (market share) ไป เราต้องคอยคิดการส่งเสริมการขาย (promotion) เพราะฉะนั้น เรารอความราบรื่น (smooth) ไม่ได้…เวลามันไม่เคยคอยใคร

 

ตอนที่ 2  ไม่เริ่มตั้งแต่วันนี้…เราประมาท

ถ้าเราไม่เริ่มปฏิบัติธรรมตั้งแต่วันนี้…เราประมาท  “ความประมาท” นี้คำง่ายๆ นะ แต่คนเราไม่ค่อยตระหนัก คิดไม่ได้ คิดยังไงก็ไม่ตาย เราจะต้องอยู่เหมือนพ่อแม่เราแน่ๆ 60 -70 ปี โอ้! 80 ปี อยู่ได้…ก็อยู่ได้แต่เป็นซอมบี้

คนที่ไม่มีความรู้สึกตัว วันๆ อยู่แต่ในโลกของความคิดเนี่ย…เป็นซอมบี้ ไม่มีชีวิตเลย เหมือนผีดิบ เดินแบบไม่มีชีวิต เดินในห้างสรรพสินค้า ไปเห็นคนในห้างฯ เดินหลงกัน มีแต่ความทุกข์ ไปนั่งกินก๋วยเตี๋ยวข้างนอก เห็นคนแต่ละคน  โอ้โห!…ดูแล้วสงสาร  ทุกคนมีแต่ความทุกข์ จิตใจนี่หลงอยู่ในความกังวล หลงอยู่ในอดีตอนาคตตลอด กินก๋วยเตี๋ยวไม่มีความสุขสักคน

ถ้าเราปฏิบัติธรรมมากๆ เราจะเห็นคนน่าสงสาร แต่เราไม่ทุกข์นะ มันก็เรื่องของเค้า เราจะเห็นแบบนั้นว่า คนแต่ละคนนี่น่าสงสารมาก ทุกข์โดยที่ไม่รู้ตัวว่า ทุกข์อยู่

คือ ธรรมะ เป็นสิ่งอัศจรรย์…อัศจรรย์มาก นี่! ไม่รู้จะพูดกระตุ้นเร้ายังไงให้มาทางนี้เถิด…ถ้าวันนึงเรามีธรรมในใจ เราก็จะเข้าใจว่าคนในโลกนี้เป็นทุกข์จริงๆ…ทุกข์เยอะ ถ้าเรายังอยู่ในสภาพเดียวกับคนเหล่านั้น เราก็ไม่ต่างจากเค้าหรอก

พวกเราทุกคนไม่เคยตาย เลยไม่รู้ว่า พอเราใกล้จะตาย สิ่งทั้งหลายที่เราทำอยู่ในโลกนี้ โดยเฉพาะถ้าเป็นสิ่งไม่ดี มันจะกลับมาหาเรา และถ้าเราเคยทำอะไรไม่ดีไว้เยอะๆ เยอะๆๆ…ไม่ดีไม่ใช่ต้องไปฆ่าคนนะ ทำไม่ดีกับคนที่เรารักอย่างนี้ ทำให้อีกคนเป็นทุกข์ รู้ทั้งรู้ว่าไม่ดี แต่ก็ทำ…อย่างนี้ มันห้ามตัวเองไม่ได้

ถึงวันนึงที่เราจะต้องจากคนที่เรารักอย่างนั้นไป เราจะรู้สึกผิดเลย ความรู้สึกผิด (guilty) มันเกิดขึ้นในใจ แล้วถ้าเราไม่มีความเป็นปกติอยู่เนี่ย…ความรู้สึกผิด (guilty) นี้มันจะเข้าไปในจิตใจเรา ถ้าเราตายไปตอนนั้นจะทำยังไง? ผิดปกติอย่างแรงเลย

ความรู้สึกผิด (guilty) แบบนั้น เป็นโทสะเล็กๆ เหมือนกัน เป็นโทสะทำให้เราเศร้าใจ เสียใจ กังวลใจ เคยมั้ยล่ะ? อยากจะกลับไปแก้ไขอดีต…แต่ทำไม่ได้…รู้สึกผิด ไม่น่าทำแบบนั้นเลย ทำไปแล้ว ถ้าเราเลือกได้ เราจะไม่ทำแบบนั้น เราจะเป็นคนใหม่ เราจะทำให้ดีขึ้น แต่จะตายแล้ว ทำไม่ได้แล้ว

ชีวิตของเราทุกคนมีกับดักเยอะมากมายที่เรายังไม่รู้ เรายังไม่เคยเห็น เรายังไม่เคยรู้ว่ามันจะเกิดขึ้นกับเราในอนาคตในที่สุด ถ้าเรายังเลือกวิถีชีวิตแบบเดิมๆ อยู่

เพราะฉะนั้น….เราต้องเริ่มปฏิบัติธรรม

 

ตอนที่ 3 อยู่เฉยๆ แต่ไม่เบื่อ

การปฏิบัติธรรมเป็น “อกรรม”  มันไม่ใช่สร้างกรรมแล้ว มันบริสุทธิ์ มันเป็น “กิริยาเฉยๆ”  รู้อย่างที่มันเป็น  รู้บนพื้นฐานของจิตที่ว่างจากตัวตน สภาพจิตที่ว่างจากตัวตน  สิ่งที่แสดงออกมาให้เรารู้ได้ คือ “ความเป็นปกติ”

เราต้องฝึกที่จะพ้นออกจากโลกของความคิดให้บ่อย ไม่ตามเข้าไปในโลกของความคิด ความปรุงแต่ง แล้วความปกติที่มันเกิดขึ้นนี้…มันจะเกิดขึ้นจริงๆ

ฝึกจนวันนึงเราใช้ความคิดได้ เพราะมันไม่มีตัวเราเข้าไปคิดแล้ว…นั่นแหละ! มันจะปกติ แล้วเราก็ใช้ความคิดได้ เราจะไม่หวั่นไหวกับความคิดทั้งหลายที่เรากำลังคิดอยู่ ที่เราต้องใช้ความคิด…แต่รอให้ถึงวันนั้นก่อน ความคิดจะเป็นมิตรกับเรา

แต่ตอนนี้ความคิดมันจะหลอกเรามากกว่า เพราะฉะนั้นอย่าเชื่อความคิด จิตใจของพวกเราตอนนี้มันมีอวิชชา เต็มไปด้วยความมืด สิ่งทั้งหลายที่ออกมาส่วนใหญ่มันเลยเป็นสิ่งที่หลอกเรา

เพราะฉะนั้น ฝึกที่จะอยู่กับความเป็นปกติ ความเป็นปกติมันจะชะล้าง ซักฟอก อวิชชาในจิตใจเรา…ซักฟอกจนวันนึงมันขาวสะอาด เขาเรียกว่า ทำลายสังโยชน์ พอมันทำลายสังโยชน์ไปแล้ว…วันๆ จิตใจเราจะไม่ค่อยมีความคิดหรอก อยู่อย่างว่างๆ

สังเกตมั้ยว่าพวกเราอยู่ว่างๆ ไม่ได้?…เบื่อ ต้องหาอะไรทำ

“being” เป็นอยู่ในธรรมชาติเฉยๆ  เราจะเป็นยังไง? โคตรเบื่อเลยใช่มั้ยที่ไม่ได้ทำอะไรเลย? แต่ว่าวันนึงเราปฏิบัติธรรมไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ  มันไม่เบื่อ อยู่อย่างว่างๆ ก็ไม่เบื่อ กินก็น้อยด้วย เราจะใช้ทรัพยากรในโลกนี้น้อยลง ทุกอย่างจะกลับตาลปัตร อยู่ในโลกเบื่อแสนเบื่อ ต้องทำโน่น ทำนี่ ทำนั่นตลอด…

ลองนึกดูว่า วันนึงถ้าเราไม่ทำอะไรเลย แล้วเราก็ไม่เบื่อด้วย นี่!…จะอธิบายความอัศจรรย์ของธรรมะนี่ไม่รู้จะอธิบายยังไง? เราลองคิดแบบนี้แล้วกัน…อยู่เฉยๆ แต่ไม่เบื่อ ไม่ดิ้นรน ไม่รู้สึกอยากจะต้องไปทำนี่ ไปทำนั่น ไม่มีความอยากจะได้อะไร

วันๆ เต็มที่จะมีอะไร? บรรเทาทุกข์ทางร่างกายเฉยๆ เพราะมันมีร่างกายนี้อยู่ มันทุกข์มาก กายนี้เป็นทุกข์ มันมีเวทนา เจ็บปวด มันเปลี่ยนแปลงตามเหตุตามปัจจัย มันต้องแก่ลง มันต้องเป็นอะไร กรรมอีก วิบากกรรมอีก ต้องรับอีก…หลายอย่าง  เพราะฉะนั้น วันๆ แค่บรรเทาทุกข์ให้ร่างกายก็เหนื่อยแล้ว…นี่! งานเยอะมาก ต้องอาบน้ำ แปรงฟัน กิน…ไม่อยากกินก็ต้องกิน เพราะว่าร่างกายต้องรับอาหารถึงจะได้อยู่ได้ ขับถ่าย…เนี่ย! ภาระทั้งนั้น เราต้องดูแลมัน มีขันธ์นี้…ก็ต้องดูแลมัน เรามีหน้าที่ต้องดูแลมัน ไม่ดูแลก็ไม่ได้

 

ตอนที่ 4 เข้าใจความจริง

ธรรมะนี่ทำไมมันน่าฟัง? สังเกตว่ามาฟังก็พูดเหมือนเดิมทุกวัน แล้วทำไมถึงอยากฟังกันอยู่…เพราะอะไร? เพราะธรรมะเป็นความจริง มันไม่ใช่เรื่องปรุงแต่ง มันปรุงแต่งเหมือนกันนิดหน่อย ผ่านสมมติบัญญัติ…อันนี้จำเป็น  แต่มันเป็นความจริง ความจริงมันจึงเป็นสิ่งน่าฟัง มันก็เลยฟังเท่าไหร่มันก็ฟังได้ ฟังเท่าไหร่ก็ไม่เบื่อ

เราอย่าไปติดกับผู้รู้ ผู้หลงนี้ด้วยนะ คำศัพท์ของ “ผู้รู้ ผู้หลง” อะไรพวกนี้…มันไม่ใช่ทั้งคู่ เราปฏิบัติไม่ใช่เพื่อจะเป็นผู้รู้ หรือเพื่อจะมีผู้รู้ เรามีแต่ “กิริยา อาการรู้เฉยๆ” ไม่มี “ผู้…” ทั้งนั้น ถ้ามี “ผู้…” ต้องเป็นคน เราไม่ได้จะสร้างอะไรขึ้นมา เราไม่ใช่จะสร้าง “ผู้รู้” ขึ้นมา

ศาสนาพุทธ คือ การเข้าใจความเป็นจริงของสรรพสิ่งเฉยๆ  ไม่มีการสร้างอะไรขึ้นมา ไม่ได้มีความรู้สึกว่าเราจะต้องเป็นผู้รู้ด้วย เพราะมันไม่มีเรา มันไม่มีเราแล้วเราจะเป็นผู้รู้ทำไม?  เราเข้าใจความเป็นจริงของสรรพสิ่งในโลกนี้ ในสามโลกก็ได้ ในมหาสูญญตานี้ว่ามันเป็นยังไงเฉยๆ

เพราะฉะนั้นศาสนาพุทธเป็นเรื่องที่ไม่ใช่ทฤษฎี ไม่ใช่ถูก ไม่ใช่ผิด…อันนี้สำคัญมาก ไม่ใช่เรื่องของการที่เราเอาทฤษฎีเข้าไปในสมอง แล้วเราก็ไปพิจารณานั่นนี่…ไตรลักษณ์ มีตัวตน ไม่มีตัวตน…เราเรียนทฤษฎีมา ก็จำเป็นเหมือนกันที่ต้องแยกแบบนั้น….แต่ไปให้เกินกว่านั้น ไปให้เหนือกว่านั้น เราจะเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่าง

ศาสนาพุทธ คือ “ความเข้าใจ” พอเราเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างได้ เราก็ไม่ทุกข์ ถ้าเรายังเข้าใจไม่หมด เราก็สงสัยอยู่ สงสัยอยู่ มันก็พ้นทุกข์ไม่ได้ แต่ถ้าจิตใจนี้เข้าใจสรรพสิ่งทุกอย่างหมดแล้ว หมดสงสัย…ไม่ต้องทุกข์ ไม่ใช่ว่าเราบรรลุธรรม แล้วเราเป็นสัพพัญญู รู้ทุกอย่าง…ไม่ใช่แบบนั้น เรารู้เท่าที่เรารู้ได้ แต่ความสำคัญที่สุด ก็คือว่า “มันพ้นทุกข์”

 

ตอนที่ 5 ฝึกตัวเองให้เป็นแสงสว่างให้ได้

“ความพ้นทุกข์” เป็นสิ่งที่พวกเราทุกคนต้องเข้าถึงด้วยตัวเอง เมื่อเราเข้าถึงความพ้นทุกข์ด้วยตัวเองได้แล้วเนี่ย เรานี้จะเป็นแสงสว่างให้กับคนอื่น คนที่เรารักต่อไปได้

เพราะฉะนั้น มันก็กลับไปที่จุดเดิมว่า ถึงแม้ว่าเราจะรักพ่อแม่ รักใคร เป็นห่วงใครก็ตาม ทั้งหมดทั้งสิ้น เราจำเป็นจะต้องมาถึงจุดนี้ก่อน แล้วความรักที่เกิดขึ้นจากเรา เมื่อเรามาถึงความพ้นทุกข์นี้แล้ว จึงจะเป็นความรักที่แท้จริง จะเป็นความกตัญญูที่แท้จริง

เหมือนเรามีลูก เป็นพ่อเป็นแม่รุ่นนี้…ก็เรียนรู้มาว่า เราต้องเป็นผู้นำครอบครัว เราจะเป็นผู้นำครอบครัวได้ยังไง? ก็เรายังมืดอยู่เลย…เพราะฉะนั้น เรา “มีหน้าที่” เหมือนกัน ที่เราจะต้องปลุกให้ตัวเอง “ตื่น” ขึ้นมา ตื่นขึ้นมาจนวันนึงตัวเราเองนี้เป็นแสงสว่างที่แท้จริง แล้วเราถึงจะนำครอบครัวได้จริงๆ ถ้าเรายังมืดอยู่ เหมือนเตี้ยอุ้มค่อม ไปกันเรื่อยๆ ไปตามประสบการณ์ของตนเองที่เราคิดว่าอาจจะถูก

“ฝึกตัวเอง” ฝึกที่จะให้ตัวเองเป็นแสงสว่างให้ได้ ต่อไปเราจะสอนลูก แนะนำลูก….โอ้! สบาย

 

ตอนที่ 6 ส่งเทียนจากรุ่นสู่รุ่น

วันก่อนที่บ้านนิมนต์พระไปทำบุญบ้าน ผมก็บอกแม่เหมือนกันว่า ฝึกทำตัวเองให้เป็น “พระ” ขึ้นมา เราไม่ต้องนิมนต์ใคร ทำไมการนิมนต์พระมาสวดมาอะไรถึงดี?  ดี..ใช่ คำพระพุทธเจ้านี้เป็นมงคล พระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบมานี้เป็นพลังของความบริสุทธิ์ เมื่อเข้าไปในบ้านหลังนั้นก็ดึงดูด…อันนี้เป็นหลักธรรมชาติเหมือนกัน  ความบริสุทธิ์ก็จะดึงดูดสิ่งที่ดีๆ มา

แต่ถ้าคนในบ้านยังผิดปกติอยู่ พลังนั้นก็หายไป มัน override เรียบร้อย มันอาจจะดีได้แค่แป๊บเดียว แล้วเราก็ต้องไปพึ่งคนอื่นอีกแหละ  ก็ต้องนิมนต์หลวงพ่อมาอีก

เพราะฉะนั้น เราอยากจะให้ที่ไหนดี ทำตัวเองให้มันดี ไม่ต้องพึ่งคนอื่น แล้วจะเป็นแบบเค้าเรียกว่า longlasting คือ ดีตลอด เพราะตัวเราเนี่ยมันดี มีความบริสุทธิ์แล้ว  สร้างพลังงานดีๆ ให้กับในบ้าน สร้างง่ายๆ ด้วยตัวเอง แต่คนเราไม่ชอบพึ่งตัวเอง

ทำไมการทำบุญในศาสนาพุทธมันถึงมีผลที่ค่อนข้างจะกว้างใหญ่ไพศาลกว่า?…เพราะมันเป็นการทำให้โลกนี้จักรวาลนี้สว่างไสวขึ้นมาได้ ถ้าเราเปรียบเทียบความคิด…อันนี้เป็นความมืด ธรรมะของพระพุทธเจ้านี้เป็นสิ่งที่ทำให้คนนี้ตื่นขึ้นมา จิตใจนี้ตื่นขึ้นมา เบิกบานขึ้นมา เป็นความสว่าง  เพราะฉะนั้นไม่มีศาสตร์สาขาไหนๆ ในโลกนี้ที่จะทำให้คนตื่นขึ้นมาจนเป็นแสงสว่างให้กับโลกนี้ได้…มีศาสนาพุทธศาสนาเดียว

เพราะฉะนั้นการทำบุญในศาสนาพุทธมันถึงยิ่งใหญ่ เพราะมันเป็นช่องทางที่ทำให้คนนี้ตื่นขึ้นมาจริงๆ มันก็เลยไม่ใช่เรื่องของที่เราจะไปเชื่อในแนวไสยศาสตร์…ไม่ใช่แบบนั้น เพราะมันให้ผลแบบนั้น คนเราตื่นขึ้นมาคนนึงเนี่ย…เหมือนแสงเทียนในที่มืด แสงสว่างจากที่มืดก็ให้ความสว่างได้ ให้กับคนไม่รู้เท่าไหร่

เพราะฉะนั้นทุกคนก็จะต้องเป็นเทียนขึ้นมาๆ รุ่นสู่รุ่น รุ่นสู่รุ่น ไปเรื่อยๆ ต้องเป็นเทียนขึ้นมา

 

ตอนที่ 7  ฝึกตัวเองก่อน

ความอัศจรรย์ของธรรมะอย่างนึงก็คือว่า เราจะไม่ใช้ความคิดเป็นเข็มทิศให้กับชีวิต เราจะมีปัญญาที่จะนำทางชีวิต เราจะรู้ว่าต้องทำอะไร ไม่ต้องทำอะไร ทำแค่ไหน จะรู้หมด…มันไม่รู้จะพูดยังไง?  มันจะรู้หมดว่าต้องทำอะไร ต้องคุยกับใคร ต้องคุยยังไง จริงๆ เราเรียกกันว่า อัศจรรย์ แต่จริงๆ ก็เป็นธรรมดา คือ ที่พวกเราเป็นกันอยู่ทุกวันนี้มันไม่ธรรมดา

คือ เราปฏิบัติธรรมจนวันนึงเราธรรมดา สิ่งที่เราคิดว่า อัศจรรย์ มันก็เป็นธรรมดาของมันอย่างนั้นแหละ มันทำเอง มันทำเองตามธรรมชาติเลย มันไม่ใช่ว่าเราทำ

เราต้อง “ฝึกตัวเองก่อน” หน้าที่เราไม่ใช่รีบไปดูแลใคร เรายังดูแลใครไม่ได้ เรายังดูแลตัวเองไม่ได้เลย แล้วเราจะดูแลใครได้…ใช่มั้ย? เราต้องดูแลจิตใจตัวเองให้ได้ก่อน วันนึงเค้าทุกข์ขึ้นมา คนที่เค้าจะหาคนแรกคือ เรานี่แหละ

เพราะฉะนั้น ถ้าเราอยากจะกตัญญู ไปทำตัวเราให้เรียบร้อยก่อน ทำตัวเราให้เรียบร้อยแล้ว เราจะเป็นลูกกตัญญูที่แท้จริง  พระพุทธเจ้าบอกใช่มั้ยว่าเราแบกพ่อแม่ไว้บนบ่าแล้ว ขี้ เหยี่ยว ใส่…นี่! ยังทดแทนคุณไม่ได้เลย นั่นหมายความว่า เรายังไม่ได้กตัญญูเลย เค้าถึงว่าทดแทนคุณไม่ได้ เพราะเรายังไม่กตัญญู

“กตัญญูที่แท้จริง” คือ ให้พ่อแม่มีดวงตาเห็นธรรม และถ้าเรายังไม่เห็น เค้าจะไปเห็นได้ยังไง…ใช่มั้ย? เราต้องเห็นก่อน เห็นปึ๊บ…วันนึงถ้าเค้ายังมีบุญพอ เราจะช่วยเค้าได้

เราต้องเป็นผู้ใหญ่ให้เค้าเห็น…เราจะเป็นผู้ใหญ่ยังไง?  เราต้องพ้นจากความเชื่อ พ้นจากความกลัว พ้นจากพันธการทั้งหลายเราถึงจะเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาได้…ไม่ใช่ผู้ใหญ่ตามอายุ  ที่เขาเรียกว่า แก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นาน เราต้องมีความเติบโตทางจิตวิญญานขึ้นมา เราถึงจะเป็นผู้ใหญ่ที่แท้จริง เป็นผู้ใหญ่ที่แท้จริง…เค้ารู้สึกได้

เราเบิกบาน เราไม่ทุกข์ ใครๆ ก็อยากเข้าใกล้ มันก็เลยมีแต่พลังงานดีๆ ส่งออกจากตัวเราไปอย่างเดียว ต่อให้คนที่มีเรื่องกับเรา เรายังเฉยๆ เลย ไม่ได้คิดด้วย

ดังนั้น “ไปทำหน้าที่ตัวเองก่อน” เราไม่ต้องไปห่วงคนอื่น ห่วงตัวเองก่อน ดับไฟบนหัวตัวเองก่อน…พระพุทธเจ้าก็สอนเราแบบนั้น ให้ดับไฟบนหัวตัวเองก่อน

 

ตอนที่ 8  พ้นทุกข์ก่อน

พวกเราทุกคนต้องเข้าใจให้หนักแน่นว่า เราเกิดมาเพื่อที่จะทำหน้าที่แห่งความพ้นทุกข์นี้ให้สำเร็จ…เรามีหน้าที่เดียว

แล้วชีวิตที่ยังเหลืออยู่เป็นหน้าที่ของปัญญา ไม่ใช่หน้าที่ของอัตตา ไม่ใช่หน้าที่ของความคิด ไม่ใช่หน้าที่ของความเชื่อ ไม่ใช่หน้าที่ของจารีตประเพณี กฎหมาย กฎหมู่ กฎครอบครัว กฎอะไรก็ได้ที่มันล้อมกรอบเราไว้ แล้วเราต้องปฏิบัติตามนั้น…ไม่ใช่

เรามีหน้าที่ที่จะพ้นทุกข์ไปก่อน แล้วปล่อยให้ชีวิตที่เหลืออยู่เป็นหน้าที่ของปัญญาญาณที่จะบอกเราว่า เราต้องทำอะไร? ทำแค่ไหน?…การกระทำของเราที่เหลืออยู่ จะไม่ใช่การกระทำที่อยู่บนเงื่อนไขว่า เราจะทำดี เราทำอย่างนี้ไม่ดี ไม่มีเลย ไม่มีความคิดแบบนี้เลย เรามีหน้าที่ต้องทำแบบนี้เฉยๆ ใครจะว่าดี ไม่ดี เรื่องของเค้า เรารู้ของเรา เรารู้ว่าตอนนี้มันพอดีตรงนี้ ต้องทำแบบนี้ ทำแค่นี้

เราไม่ได้ทำด้วยความต้องการ (Demand) ของใคร ไม่ได้ทำด้วยความต้องการของใคร ไม่ได้ทำด้วยความเชื่อของใคร แต่เราทำบนพื้นฐานของปัญญาญาณเฉยๆ  ปัญญาญาณนี้มันมาจากอะไร?…มาจากความว่าง มาจากธรรมชาติของสรรพสิ่งที่เป็นเหตุปัจจัย ที่บอกเราว่าเราต้องทำอะไร แค่ไหนด้วย…มันมีแค่ไหนด้วย

 

ตอนที่ 9  “เวลา” เป็นสิ่งมีคุณค่าที่สุดในชีวิตนี้

ศาสนาพุทธพูดอีกแง่นึง…ไม่ใช่ดี ไม่ใช่ไม่ดี…“พอดี” นี่คือ ศาสนาพุทธ…พอดีตามเหตุปัจจัย ไม่ขึ้นอยู่กับอคติ ความเชื่อ ทิฏฐิใดๆ ของใครในโลกนี้ทั้งนั้น เพราะมันไม่มีใคร ถ้ามันมีใครก็ผิดแล้ว

เพราะฉะนั้นให้มันเลื่อนไหล (Flow) ไปตามธรรมชาติของความว่าง ของเหตุปัจจัยที่ไม่มีตัวเราเข้าไปเกี่ยวข้องเลย…ไม่มีเลย ให้มันไปเอง

เหมือนเราปฏิบัติธรรมเนี่ย!…เราละอกุศลทำไม? เราอยากเป็นคนดี เราเห็นอกุศลมันไม่ดี ถ้ามีอกุศล ก็เป็นคนไม่ดี เราก็จะละอกุศลอย่างนี้…ละแล้วยังไง? ละแล้วเป็นคนดี…ไม่ใช่ศาสนาพุทธ

ถ้าเราพ้นจากคนไป เราต้องรู้อย่างที่มันเป็น “กิริยารู้” อย่างที่มันเป็น…เราจะพ้นคนไป แต่ถ้าเรายังมัวไปละอยู่ แปลว่าเราไม่เอาอย่างนึง แต่จะเอาอีกอย่างนึงแทน  เรายังพ้นจากคนดีไม่ได้เลย

เพราะฉะนั้นการปฏิบัติธรรมมันละเอียดอ่อน ปฏิบัติผิด…ผิดตลอดชีวิต บางทีฟังแล้วน่าเศร้าใจ จะต้องบอกคนว่า ที่ปฏิบัติมาทั้งหมดเนี่ยยังไม่ได้เริ่มเดินทางเลย บากบั่นแทบตาย ทำทุกอย่าง ยังไม่พ้นจากคนเลย ยังไม่ได้เริ่มก้าวแรกเลย เพราะจิตไม่เคยปกติเลย จิตไม่เคยว่างจากการอยากจะกระทำอะไรเลย …เป็นความน่าสงสารของนักปฏิบัติจำนวนมากเป็นแบบนั้น

ไม่มีอะไรมีค่ามากกว่าที่สิ่งที่เราได้รู้แล้วในตอนนี้ในชีวิตเลย…เราเกิดมาใหม่ เราไม่รู้อะไรแบบนี้เลยจะเป็นยังไง?  เนี่ย! ทุกข์แค่ไหน ที่เคยทุกข์ในอดีต ทุกข์ต่ออีกจนตาย มันจะเป็นยังไงถ้าเราไม่รู้เลย?  และอย่าไปมั่นใจด้วยว่า ตายไปแล้ว เคยฝึกมาจำได้  อาจจะเป็นได้ แต่เราไม่รู้ทาง

สมัยก่อนผมเด็กๆ เดินไปโรงเรียน เดินนับตลอด 2..4..6..8..10..12…ไม่รู้นับทำไมนับตลอด ไม่เข้าใจตัวเองว่านับทำไม นั่งเรียนหนังสือก็กระดิกนิ้ว 5..10..15..20..นับในใจตลอด เราไม่รู้ว่าเรานับทำไม?  ตอนเด็กๆ โกรธพ่อแม่ พ่อแม่ด่าเรา วิ่งขึ้นไปห้องนอนร้องไห้  ใจมันเผลอด่าพ่อแม่ และเราก็เรียนรู้เรื่องบาปกรรมมาเยอะ สมัยนั้นชอบไปดูนรกสวรรค์ตามวัด แล้วทำให้ตัวเองยิ่งกลัว….”อุ้ย! เผลอด่าพ่อแม่”…ร้องไห้หนักเลย รู้สึกผิด เวลาเราโมโหมันชอบคิดอกุศล เราก็ยิ่งเสียใจใหญ่…ทำไมเราเป็นแบบนี้? ทำไมเราคิดแบบนี้? ต้องอยู่คนเดียว แอบอยู่คนเดียวนะแล้วพูดว่า… “เทพเทวดาฟ้าดิน เจ้าที่เจ้าทาง เป็นพยาน ผมไม่ได้คิด มันคิดเอง” ตอนนั้นไม่มีใครมาบอกเรา จิตมันคิดเอง เราไม่รู้เรื่องเลย เราก็คิดไม่ออก เราก็เสียใจคิดว่าเราคิด แต่เราก็รู้ตัวเองว่า เราไม่ได้คิด เออ!..มันคิดเอง

เนี่ย! ลักษณะแบบนี้…สมมติว่าเราเกิดมาแบบนี้ ไม่มีพระพุทธเจ้า ไม่มีครูบาอาจารย์อยู่อีกแล้ว แล้วใครจะบอกเราต่อ…ไม่มีเลย  เราก็รู้ไม่ได้ เหมือนองคุลีมาร เราก็เป็นเด็กเราก็รับข้อมูล ใครสอนเราก็รับข้อมูล สอนให้ไปฆ่าคน เราก็ไปฆ่า เราก็ต้องทำกรรมชั่วอีก…อ้าว! ไปลงนรกใหม่สมมติ…อะไรอย่างนี้

เพราะฉะนั้น “เวลา” เป็นสิ่งมีคุณค่ามหาศาลในชีวิตนี้ ถ้าเราไม่รีบทำตั้งแต่ชีวิตนี้ ไม่มีหลักประกันเลย ไม่มีหลักประกันอะไรใดๆ ทั้งสิ้น เกิดมาพอดีไม่มีใครแนะนำ…ตายอย่างเดียว ทุกข์อย่างเดียว

 

Camouflage

17-Jul-2016

 

YouTube: https://youtu.be/xbX8jKPVIZk

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของคุณ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
-iOS https://itun.es/th/t6Mzdb.c
-Andriod https://goo.gl/PgOZCy