42.เริ่มให้ถูก

YouTube: https://youtu.be/cqEpYi9AWjg

 

ตอนที่ 1 อ้อ…ตอนนี้เป็นแบบนี้

 

ในความเป็นจริง หลวงพ่อเทียนจะสอนเราว่า

 

“รู้ โดยที่ไม่ต้องรู้อะไร” รู้แต่อาการ เขาเรียกว่า รู้ปรมัตถ์เฉยๆ

 

การที่เรารู้ปุ๊บ…มีชื่อขึ้นมาทันที มันมีได้ตามสัญญา แต่สัญญามันต้องไม่วิปลาศแล้ว

 

แต่พวกเราสัญญามันวิปลาศ พอมีชื่อปุ๊บ…มันปรุงแต่งต่อ ทั้งยวงมันเลยกลายเป็นส่วนเกิน แต่ถ้าเรารู้เฉยๆ รู้เฉยๆ ได้…ก็จบแค่นั้น

 

“รู้มันเป็นอย่างนี้”

 

เวลาปฏิบัติธรรมเนี่ย…จิตใจเรามันเป็นยังไง?

 

ผมแนะนำให้เราบริกรรมไว้ว่า “อ้อ..ตอนนี้เป็นแบบนี้” แต่จริงๆ แล้วมันก็แค่บอกตัวเองเฉยๆ

 

เวลาปฏิบัติธรรมพวกเราทุกคนชอบที่จะเข้าไปจัดการ เข้าไปแก้ไข เข้าไปสงสัย กับอาการที่มันเกิดขึ้นทางใจ สมมติเช่น ทำไมเป็นแบบนี้? ทำไมตอนนี้เป็นแบบนี้? ทำยังไงให้มันปกติ? เนี่ย! มันจะเป็นอย่างนี้

 

จริงๆ เรามีหน้าที่ที่ผมจะพูดคำศัพท์ว่า “Witness” เรามีหน้าที่เป็นพยานต่อสถานการณ์ต่างๆ ที่มันเกิดขึ้นในกายในใจเรานี้เฉยๆ

 

คำสอนแบบนี้พูดบ่อย แต่มันทะลวงเข้าไปในใจคนไม่ค่อยได้ มันจะมีหัวเชื้อของการอยากจะจัดการ อยากจะสงสัย อยากจะได้คำตอบ ก็เลยบอกว่า ให้ท่องเอาไว้ว่า อะไรจะเกิดขึ้นก็บอกตัวเองว่า

 

“อ้อ…ตอนนี้เป็นแบบนี้”

 

พอคำว่า “อ้อ…ตอนนี้เป็นแบบนี้”  เราจะหมด เราจะไม่ต้องทำอะไร เราแค่รู้เฉยๆ ว่า “อ๋อ…ตอนนี้เป็นแบบนี้ ไม่มีการทำอะไร

 

 

ตอนที่ 2 ต้องเป็นปกติก่อน

 

ผมพูดตลอดว่า การปฏิบัติธรรม คือ

Completely don’t do anything”

“ไม่มีการทำอะไรทั้งสิ้น แม้แต่นิดเดียว”

เราเพียงแต่รู้อย่างที่มันเป็นเฉยๆ แต่เรารู้อย่างที่มันเป็นได้

“จิตใจนี้…ต้องเป็นปกติก่อน”

 

 

จิตใจนี้ต้องมีความเป็นปกตินี้เป็นพื้นฐานก่อน พอมีความเป็นปกติเป็นพื้นฐานปุ๊บ…อย่างที่บอกจะพูดบาลีให้มันยากก็คือว่า “สัมมาสมาธิ” นี่เกิดแล้ว

 

 

สัมมาสมาธิเกิดแล้ว

เราถึงเห็นสิ่งต่างๆ ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลางได้

 

 

แต่คนยุคนี้ลำบาก อยากจะเจริญวิปัสสนาเลย ก็รีบไปเห็น “ไตรลักษณ์”  รีบไปเห็นอะไรให้เป็นไตรลักษณ์ให้หมด แต่ไม่ฝึกให้จิตใจนี้มีสัมมาสมาธิก่อน พอมันเห็น มันเลยเห็นเฉยๆ ไม่ได้

 

สมมติเราบอกว่า เราจะปฏิบัติธรรม อ้าว! โกรธก็ดูมันนะ เวลาโกรธแล้วเนี่ย…มันเป็นไตรลักษณ์เห็นมั้ย? อย่างนี้ไปรู้อะไรเข้าก็จะติดกับอันนั้นเลย ถามว่าเราหายโกรธเหรอ? ไม่หาย เราโกรธหนักเลย เราติดกับมันทันทีเลย

 

พอรู้ว่าโกรธปุ๊บ…ก็ยิ่งติดเลย โกรธกับมันเลย ต่อให้เราเห็นว่า ความโกรธในใจนี้มันขึ้นลงๆๆ เห็นเป็นไม่เที่ยง…แต่เรากำลังติดกับมันอยู่ เราไม่ใช่เห็นเฉยๆ ได้

 

แต่การที่เราเห็นเฉยๆ หมายความว่าอะไร?

 

ความโกรธนี้เกิดขึ้นปุ๊บ…นี่เห็นมันเป็นสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น

“อ๋อ…ตอนนี้เป็นแบบนี้” จบแล้ว

 

อย่างที่ท่านเขมานันทะบอก ถ้าเราเข้าไปพิจารณาไตรลักษณ์เมื่อไหร่ล่ะก็เสร็จเลย

 

เพราะอะไร? เพราะขบวนการพิจารณาไตรลักษณ์คือ “ความคิด” อาการโกรธเกิดขึ้นมาได้ยังไง? เกิดขึ้นเพราะความคิดเหมือนกัน

เรากำลังอยู่ในกระแสธารแห่งความเชี่ยวกราดของกิเลส แล้วเราจะไปเห็นมันได้ยังไง? เห็นไม่ได้

 

ผมเลยบอกว่า “เราต้องขึ้นอยู่บนฝั่งก่อนให้ได้”  

 

พอเราขึ้นบนฝั่งได้ปุ๊บ…เราจะเห็นอะไร เห็นเฉยๆ ได้ เป็นคนดูเฉยๆ ได้จริงๆ

 

เพราะฉะนั้น นักปฏิบัติจำนวนมากก็เลยพลาด ผมว่าพลาดเยอะที่จะเข้าไปดูกิเลสว่ามันเป็นไตรลักษณ์

 

สิ่งที่ผมพูดนี้สลับกันนะ

 

“เราต้องรู้จักธรรมชาติเดิมแท้ของจิตใจอันนี้ก่อน”

 

พอรู้จักสภาพเดิมแท้ของจิตใจเราได้ เราถึงจะเห็นสภาพในโลกว่าเป็นไตรลักษณ์ ลำดับขั้นตอนไม่เหมือนกัน

 

Step แรกนี่ถ้าเรายังทำไม่ได้ การเห็นนั้นจะเป็นการเห็นไม่จริง “มันมีพื้นฐานของความอยากได้ความรู้” นั่นแหละ อันนี้เป็นปัญหาใหญ่

 

เราอยากได้ปัญญา เราอยากได้เจริญวิปัสสนา การที่เราอยากได้แบบนั้น มันทำให้เราพลาด ที่ท่านเขมานันทะพูดว่า “พลาดสิ่งตื้นๆ”

 

เราพลาดสิ่งตื้นๆ ไป แต่สิ่งตื้นๆ นั่นแหละคือ สิ่งที่ลึกซึ้งที่สุด มันจะพาเราไปรู้จักสิ่งที่ลึกซึ้งที่สุด แต่เรารีบเข้าไปส่วนลึกก่อน พลาดตื้นไป

 

 

ตอนที่ 3 เปิดโอกาสให้ตัวเอง

 

ผมจะบอกทุกคนว่า เราต้องเป็นเหมือนน้ำครึ่งแก้ว เราต้องรู้จักเปิดโอกาสให้กับตัวเอง อย่าปิดโอกาสตัวเอง

 

พระพุทธเจ้าสอนเราเสมอว่า “ให้ลองทำดู ไม่ใช่ให้เราเชื่อ” ถ้าเรายังไม่ค้นพบทาง เราจำเป็นที่เราจะต้องเปิดใจลองทำอะไรใหม่ๆ ดูในที่เราไม่เคยทำ ที่เราคิดว่ามันอาจจะใช่ก็ได้  มันไม่มีอะไรเสียหาย พอเราลองทำได้แล้วเราจะได้มั่นใจว่า…มันไม่ใช่ หรือมันใช่

 

แต่คนส่วนใหญ่ทุกวันนี้ใช้ความเชื่อ  อย่างหนังสือผมที่เอาไปให้ บางคนถามก่อนเลยว่า คนเขียนเป็นพระหรือเป็นอะไร พอบอกเป็นโยม อื้มมม โยม…ไม่เอา นี่! อย่างนี้ คนนี้เค้าปิดเลย เค้าปิดตัวเองเท่ากับเค้าปิดชีวิตของเค้า

 

หลายคนที่ฟังผมอันนี้เพราะตัวเองมีบุญ มีบุญของตัวเอง เพราะเราเปิดโอกาสให้กับตัวเองนั่นแหละ ไม่ใช่บุญของใคร

 

ธรรมะเป็นสิ่งที่ไม่ใช่เราไปหยิบยื่นให้ใคร แต่หมายถึงคนๆ นั้นเข้าหาธรรมะ เราถึงจะพร้อมที่จะบอกเค้า ที่จะสอนเค้า เพราะธรรมะนี่ไม่ใช่เรื่องของการยัดเยียด

 

ธรรมะนี่เป็นสิ่งที่ไม่มีบุคลิกของการที่เราจะไปให้ใคร ธรรมะที่แท้จริงไม่มีบุคลิกแบบนั้น

 

“ธรรมะที่แท้จริงเป็นบุคลิกของคนที่กำลังค้นหาชีวิต

ต้องการพบสัจจะของชีวิต อันนี้จะเข้าหาค้นหาธรรมะด้วยตัวเอง

 

มีคนพร้อมจะบอกเค้าอยู่แล้ว เพียงแต่เค้าจะค้นหาหรือเปล่า…แค่นั้น

 

แต่ตราบใดที่เค้ายังไม่ค้นหา เค้ายังไม่เข้าใจชีวิต เค้ายังไม่รู้ว่าเค้าเกิดมาทำไม ต่อให้มีพระอรหันต์ล้อมรอบตัวเค้าก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะความเชื่อนั้นเอง…ความคิดนั่นเองครอบเค้าอยู่ ปิดบังเค้าอยู่ เค้าฟังอะไรไม่ได้ เพราะเค้า “เชื่อความคิดตัวเอง”

 

ความคิดเลยเป็นอุปสรรคใหญ่ของมนุษย์

 

 

แต่ความคิดก็มีข้อดีเหมือนกัน ทุกคนบอกว่าช่วยทำให้โลกเจริญ ผมไม่รู้เหมือนกันว่าเจริญยังไง มีแต่อาชญากรรม ฆาตกรรมเพิ่มขึ้น ทุกคนเห็นแก่ตัวเพิ่มขึ้น โลภ โกรธ หลง มากขึ้น คนในโลกเข้าใจแบบนั้นว่าโลกเรากำลังเจริญขึ้น

 

 

ตอนที่ 4 พอดี ไม่ใช่ดีที่สุด

 

ผมอยากให้ทุกคนทำสิ่งที่ “พอดี” ไม่ใช่ดีที่สุดนะ พอดี…แค่นั้น

 

เราทำพอดีแค่นี้ อันนี้พอแล้ว ไม่ต้องเอาดีที่สุด เมื่อไหร่เราเอาดีที่สุด…เราจะทุกข์

 

คำว่า “เต็มที่” ของเราคือ “พอดี” ตอนนี้เรารู้สึกว่า ตอนนี้ทำแค่นี้พอดี..ก็พอดี

 

 

“เมื่อไหร่ที่เราทำไปด้วยความดิ้นรน

ไปด้วยความอยาก ด้วยตัณหา

เรากำลังจะออกนอกเส้นทาง เรากำลังจะไปผิดทาง

 

 

เพราะฉะนั้น เราจะมีชีวิตอยู่กับปัจจุบัน  คำว่า “ปัจจุบัน” ไม่ใช่เวลานะ คือ มันไม่ไปอดีต ไม่ไปอนาคต นี่เรียกปัจจุบัน บางคนก็เล่นคำบอกว่าอยู่กับปัจจุบันก็ไม่ได้…เพราะมันมีเวลา  มันเป็นคำพูดเฉยๆ

 

ที่ผมบอกว่ามันเป็นการ Flow อยู่ในธรรมชาติ มันเลื่อนไหล…เลื่อนไหลนะ ไม่มีอะไรอยู่นิ่ง คำว่า “ไม่เที่ยง” คือ มันเลื่อนไหลตลอด มันเปลี่ยนตลอด คำว่า “เลื่อนไหล” นี่แหละคือ ไม่เที่ยง

 

มันทุกข์ คือ มันทนอยู่สภาพเดิมไม่ได้ ก็เพราะมันเลื่อนไหลตลอด ควบคุมไม่ได้เพราะทุกสิ่งเป็นไปตามเหตุปัจจัย มันก็คือ เลื่อนไหลตลอด

 

เพราะฉะนั้น ทุกสิ่งมันเลื่อนไหลตลอด เราอยู่กับความเลื่อนไหลนั้น เห็นความเลื่อนไหลนั้น

 

แล้วพอทุกคนปกติดี ไอเดียจะเกิด ไอเดียดีๆ จะเกิดขึ้น…เป็นความพอดี แล้วเราทำอะไร มันจะเกิดความพอดีขึ้นมาในสิ่งที่เรากำลังจะทำอยู่

 

ไม่ต้องมีคำว่า “ดีที่สุด” ผมไม่อยากให้มีว่า ต้องดีที่สุดในใจเรา มันจะทำให้เราทุกข์ แล้วความที่เรา “ต้องดีที่สุด” มันจะมีทิฏฐิเข้ามาว่าอย่างนี้ดีที่สุด

 

 

ตอนที่ 5 รู้จักตัวเอง

 

ทุกคนมีกรรมเป็นของส่วนตัว เราแค่ดำรงหรือ “Being” อยู่ในธรรมชาติเฉยๆ กรรมที่เรามีในแต่ละคน มันจะเข้ามาหาเรา มันจะถาโถมเข้ามาหาเราเรื่อยๆ เหมือนลักษณะคำที่เรียกว่า “หน้าที่” เหมือนผมมีหน้าที่กับครูบาอาจารย์ของผม ผมก็มีหน้าที่เหมือนกัน

 

แต่หน้าที่สูงสุดของทุกคนที่ผมให้ทำหน้าที่คืออะไร?

 

ให้อยู่กับตัวเอง

ให้รู้จักความเป็นปกตินี้ไว้

 

จนวันนึงปัญญาเกิดแล้ว “ให้ปัญญาพาชีวิตไป” ที่จะต้องทำอะไรๆ อันนี้เป็นหน้าที่สูงสุดของทุกคน

 

 

ผมอยากจะให้มุมอีกมุมนึง เช่น หลวงปู่มั่นเป็นอาจารย์ใหญ่ของพวกเรานักปฏิบัติธรรม ของครูบาอาจารย์ทั้งหมด ลูกศิษย์รองลงมาของหลวงปู่มั่นที่ดังๆ ที่มรณะไปแล้วก็เยอะแยะ แต่เราไม่รู้จัก มีแค่บางองค์เท่านั้นที่เรารู้จัก

 

ผมอยากให้เรามองในมุมนี้ว่า แม้กระทั่งครูบาอาจารย์ก็อยู่ภายใต้อนิจจังเหมือนกัน จะอยู่ต่อไปตลอดไม่ได้

 

ศาสนาพุทธอยู่ภายใต้อนิจจังเหมือนกัน อยู่ตลอดไม่ได้เหมือนกัน จะต้องมีเสื่อม-มีเจริญ มีเสื่อม-มีเจริญ เราอย่าฝืนธรรมชาตินั้น

 

ท่านเขมานันทะสอนยังไง?

 

สอนให้เรากลับมาที่ “ตัวเอง”

สอนให้เรารู้จักตัวเอง

สอนให้เรารู้จักสภาพเดิมแท้ที่ทุกคนมีอยู่แล้ว คือ

“สภาพที่มันปกติอยู่”

 

 

ผมยังรู้สึกถึงความรู้สึกของท่านเขมานันทะว่า ท่านอยากให้ทุกคนภาวนา “ทำตัวเองให้พ้นทุกข์” นี่เป็นหัวใจหลักที่ท่านพยายามสอนทุกคน

 

สมมติว่าเราจะทำงานโปรเจคนี้ เราทำได้แค่นี้…อันนี้จบแค่นั้น ไม่ต้องคิดอย่างอื่น ก็ทำแค่นี้พอ จบงานแบบพอดีกับเรา ผลจะได้ขนาดไหน อันนี้เป็นเรื่องของที่พระพุทธเจ้าพูดเรื่อง “สันโดษ” คือ พอใจกับสิ่งที่เราได้ทำเต็มที่แล้ว อันนี้พอแล้ว เราพร้อมจะทำ ตั้งใจจะทำ มีศักยภาพเท่านี้…แค่นั้นจบ

 

ผมเชื่อว่า ถ้าลูกศิษย์ของท่านเขมานันทะปฏิบัติตามที่ท่านสอน จนวันนึงตัวเองเป็นแสงสว่างขึ้นมา อันนี้คือการโฆษณาท่านดีที่สุด ดังกว่าอย่างอื่นแน่นอน เหมือนที่ท่านเขมานันทะพูดถึงหลวงพ่อเทียน หลวงพ่อเทียนก็กระจายเป็นที่รู้จักของคนกรุงเทพฯ รวมถึงผมด้วย

 

เพราะฉะนั้น ต้องให้คนๆ นึงนี้เป็นแสงสว่างขึ้นมา ถ้าทุกคนเป็นแสงสว่างขึ้นมาได้เพราะท่านเขมานันทะ ผลงานของท่านจะต้องออกมาในที่สุด เป็นธรรมชาติเหมือนกัน ไม่มีอะไรฉุดรั้งได้

 

“งานทางใจเราสำคัญกว่า” ทำงานทางใจเราต้องใช้ทั้งชีวิตของเราทำ ใช้เวลากับมันเป็นหลัก งานอื่นๆ เป็นงานเสริม ทำบ้างไม่เป็นไร ทำบ้างนิดหน่อย…โอเค

 

 

การอยู่ในโลกต้องมีศิลปะการใช้ชีวิต เราต้องรู้ว่าอันนี้เข้า อันนี้ออกยังไง? อันนี้ทางหนีทีไล่

 

ก่อนอื่นเราต้องรู้เป้าหมายชีวิตเราก่อนว่าเราต้องการอะไร? เราจะทำยังไงไม่ให้หลุดจากเส้นทางนี้? มันต้องเป็น “ศิลปะ”

 

แต่เราติด “กับดักของความดี” เป็นกับดักอันใหญ่หลวงของมนุษยชาติที่พ้นทุกข์ไม่ได้

 

อย่าให้ความดีฉุดรั้งเราไว้

 

วันนึงพอเราอยู่เหนือมัน เราจะเข้าใจดี ไม่ดี เป็นยังไง? แล้วเราจะใช้มันได้ แต่เราใช้มันเฉยๆ ไม่เกี่ยวกับมัน

 

ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจเรื่องนี้ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่คนเข้าใจยาก เพราะว่า เราข้ามความดีไม่ได้ อันนี้เป็นสิ่งสำคัญ

 

 

ตอนที่ 6 เริ่มให้ถูก

 

“สัมมาทิฏฐิ” ที่พระพุทธเจ้าสอน เป็นสัมมาทิฏฐิโลกุตตระ คือ

 

การเข้ามาเห็นสภาพเดิมแท้นี้

เข้ามารู้จักสภาพเดิมแท้ที่แต่ละคนมีอยู่เป็นของตัวเองแล้ว

เป็นสิ่งที่ไม่มีใครจะพาเราไปเห็นได้

เป็นสิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา

เป็นสิ่งที่ไม่ขึ้นกับเหตุปัจจัย

ท่านบอกให้รู้จักสิ่งๆ นั้น นั่นคือ สัมมาทิฏฐิที่ท่านสอน

 

 

 

กลับมารู้จักสภาพเดิมแท้ สภาพปกติของเรานี่แหละ อยู่กับมันในทุกกิจการงานทั้งหมด

 

คิด พูด ทำอยู่บนความว่าง อยู่บนความเป็นปกติ อยู่บนความไม่มีตัวตน มันก็เป็นสัมมาตลอดสาย

 

 

ผมเลยบอกว่า ชีวิตของเราที่เหลือคือ การปฏิบัติธรรมอยู่แล้ว

เราไม่ได้ปฏิบัติอะไรเลย

เราแค่รู้จักใช้ชีวิตให้มันถูกต้อง ก็คือ อยู่บนสัมมาทิฐินี่แหละ

แล้วชีวิตของเราที่เหลือก็คือ การดำเนินอยู่บนมรรคอยู่แล้วอัตโนมัติเลย

 

 

แต่เราทำเป็นข้อๆ ข้อๆ เราก็ต้องไปคิดว่า เฮ้ย! อันนี้เราทำไม่ได้ สัมมาอาชีวะไม่ได้ อันนี้ไม่ได้ๆ…มีแต่ไม่ได้ มีปัญหาตลอด พอมีแต่ไม่ได้ ทำไมไม่ได้? ก็มันคิด คิดตามหนังสืออยู่ มันก็เลยไม่ได้

 

“ความคิด” มันพาเราไปสู่ธรรมะไม่ได้

 

คนปฏิบัติเหล่านี้เลยไปไหนไม่ได้ วันๆ มีแต่ความทุกข์ เพราะตัวเองมีแต่อกุศล มันต้องมีแต่อกุศลเพราะอะไร? เพราะมันมีแต่ตัวตน มันยังไม่ว่างซักทีนึง

 

“จิตไม่มีที่ตั้ง” หลวงปู่ดูลย์สอนแบบนั้น  ความรู้สึกตัวนั่นแหละเป็นกรรมฐาน แค่มันไม่ไปคิดนี่ก็กลับมาที่กรรมฐานเราแล้ว

 

กรรมฐานนี้คืออะไร?

“ความรู้เนื้อรู้ตัว” นี่แหละคือกรรมฐาน

 

ถ้านอกนั้นไม่ใช่ นอกนั้นก็ออกไปอยู่ในโลกของความคิด ถ้าเราอยู่ที่จุดเดียวก็เป็นเพ่งอีก

 

ผมเลยบอกว่า สมาธิที่เป็น “สัมมาสมาธิ” มันเป็นสมาธิที่จะมีอยู่ต่อเนื่อง ต่อเนื่องแบบไม่ตกด้วย เราจะไม่ต้องไปแบบว่า เอ้ย…วันนี้ฟุ้งซ่านเยอะต้องทำสมาธิ…ไม่ใช่ เพราะมันเป็นสมาธิแห่งปัจจุบันขณะ

 

“ความรู้สึกตัว” นี้มันเป็นปัจจุบันอยู่แล้ว เพราะเราไม่ไปอยู่ในโลกของความคิด มันไม่มีเวลา

 

ถ้ารู้สึกตัวอย่างนี้ ไม่มีเวลา เพราะมันไม่ใช้ความคิดว่าตอนนี้เวลาอะไร มัน Pure มันว่าง มันบริสุทธิ์

 

ท่านเขมานันทะพูดเรื่อง “อนันตริกสมาธิ” เป็นภาษาบาลีก็คือว่า เป็น “สมาธิที่ไม่มีระหว่าง”

 

ไม่มีระหว่างคือ มันไม่ตกเลย เพราะฉะนั้น ขณะที่เราอยู่กับปัจจุบันอยู่อย่างนี้ มันมีสมาธิตลอดอยู่แล้ว เป็นสายเลย มันตกไม่ได้ มันไม่ต้องพึ่งพิงอะไร มันลอยตัวมันอยู่อย่างนั้น เพราะว่าจิตนี้รวมเข้ากับความว่าง มันรวมเข้ากับปัจจุบันไปแล้ว มันก็เลยเท้งเต้งของมันอยู่อย่างนั้น ไม่ต้องทำอะไรมันเลย

 

ยิ่งไปทำสมาธิยิ่งผิด ยิ่งไปรู้สึกว่า เอ้ย! สมาธิไม่พอ จะไปทำเพิ่มแล้ว อันนี้ผิดเลย สุดท้ายเราจะไม่ได้สมาธิ เราได้ความทุกข์แทน เราอยากจะได้อะไรที่มันไม่พอดีแล้ว

 

ผมเลยบอกว่า “ทุกอย่างมันเป็นความเป็นเอง” ผลทั้งหลายทั้งแหล่นี้มันเป็นความเป็นเองทั้งนั้นเลย ไม่ว่าจะสติ สมาธิ ปัญญา มรรคผลนิพพาน นี่เป็นความเป็นเองหมดเลย เราแค่ “เริ่มให้มันถูก”

 

 

ตอนที่ 7 รู้ทางที่ถูก แล้วใช้เวลาเต็มที่กับมัน

 

“ทานบารมี” นี่บางคนนึกว่าให้เงิน…ไม่ใช่ให้เงิน แต่เป็นการสละโลภ โกรธ หลงออกไป สละให้ได้ อันนี้เป็นทานบารมี เราสละได้มั้ย?

เราให้เงินง่ายจะตาย เรามีเงิน เราก็ให้เงินได้ แต่สละกิเลสในใจเรา สละได้มั้ย? ถ้าสละได้ นั่นแหละเป็นทานบารมี…หลวงพ่อเทียนสอนแบบนั้น

 

“เนกขัมมะบารมี” คืออะไร? ไม่ใช่ไปลำบาก ไม่หลงเข้าไปในความคิด…ได้มั้ย? มันปรุงแต่ง…ไม่เข้าไปปรุงกับมันได้มั้ย?

 

ส่วนใหญ่เวลาเราคิด เราเลิกไม่ได้ใช่มั้ย? เราจะปรุงกับมันใช่มั้ย? โกรธคนนี้ก็จะคิดถึงคนนี้ใช่มั้ย? ชอบคนนั้นก็จะคิดถึงคนนั้นใช่มั้ย? เราเลิกปรุงแต่งไม่ได้…เนี่ยเป็นอย่างนี้

 

เนกขัมมะ คือ ออกมาจากความคิดได้มั้ย?

 

เราไปแปลกันเป็นเรื่องอื่นไปหมด มันก็เลยรู้สึกว่า อุ้ย! การปฏิบัติธรรมมันสะเปะสะปะจังเลย  เหมือนกับ…ไอ้นี่ก็ยังไม่ได้ ไอ้นั่นเราก็ยังทำไม่ดี ไอ้โน่นเราก็ยังทำไม่ได้…เนี่ย! มันเป็นแบบนั้น “มันยากเพราะเราทำไม่ถูก” แต่ถ้าเรารู้สิ่งที่ถูก มันไม่ยาก ที่เหลือคือ “รอเวลา” เราต้องอาศัยเวลา

 

เหมือนที่ผมพูดเรื่องขอทาน ที่บอกพระพุทธเจ้าไปเจอผู้หญิงผู้ชายคู่นึง ท่านบอกว่าตอนนี้ยังเป็นพระอรหันต์ได้ เวลาผ่านไปได้พระอนาคามี เวลาผ่านไปจนสุดท้ายเป็นขอทานแล้ว อันนี้มาบวชก็ไม่ได้อะไรแล้ว

 

ทำไมเวลาถึงสำคัญ ยังไม่ตายเลย แต่หมดโอกาส โสดาบันยังไม่ได้เลยตอนนี้ เพราะว่าเวลาไม่พอ

 

เพราะฉะนั้น สิ่งที่สำคัญคือ “รู้ทางที่ถูก แล้วก็ใช้เวลาเต็มที่กับมัน” แล้วเราจะใช้ชีวิตได้คุ้มค่าที่สุด

 

 

ตอนที่ 8 ทำในรูปแบบ

 

ทำในรูปแบบ…ทำไมมันถึงดี? เพราะว่าชีวิตของพวกเราอยู่ในความเร่งรีบ อยู่ในความคิด เราอยู่ในความคิดมานาน ถ้าเราไม่ทำในรูปแบบเลย จิตใจเราไม่พร้อมที่จะปกติ

 

แต่ถ้าเดินจงกรมมันอยู่ในรูปแบบ เราจะมี Mind set ใหม่ มันจะ Set เอง เช่น ตอนนี้เราอยู่ในเวลาของการที่เราจะรู้จักความเป็นปกติ อยู่ในเวลาของการที่เราจะรู้สึกตัว มันคล้ายๆ ทำให้ Mind set ของเราเนี่ย…มันเข้ามาอยู่ในกรอบของอันนี้

 

มันจะรู้ว่าความฟุ้งซ่านเป็นสิ่งไม่ถูกต้องในเวลานี้ มันก็จะเข้าไปอยู่ในกรอบนี้มากขึ้น แล้วพอมันเข้าไปอยู่ในกรอบมากขึ้น มันก็จะง่ายต่อการที่เข้าไปถึงใจที่มันเป็นปกติ เพราะใจมันจะปกติลงได้ง่าย

 

แล้วพอเราเดินปุ๊บ…มันต้องหยุด! เหมือนที่ผมบอก

 

หยุดต้องให้รู้สึก หายใจเข้ารู้สึกตัว

หันมาดูใจเราเป็นยังไง…ปกติมั้ย?

ปกติก็รู้จัก…เป็นปกติ 

แล้วก็หมุนกลับ…หยุด!

สัมผัสความรู้สึกที่มันราบเรียบนี้ต่อ

 

แล้วก็ไปเดินต่อ เดี๋ยวฟุ้งซ่านอะไรปุ๊บ…ต้องหยุดอีกแล้ว พอหยุดปุ๊บ! ความฟุ้งซ่านต้องดับฟรึ๊บ…กลับมาที่ความรู้สึกตัว

 

แต่ถ้าเราไม่ทำในรูปแบบจะเป็นยังไง? เดินเรื่อยเปื่อยใช่มั้ย? เดินจากนี่คิดไปถึงโน่นเลยจนจบใช่มั้ย?…มันจะปกติไม่ได้

 

เพราะฉะนั้น รูปแบบจึงจำเป็นที่จะทำให้จิตใจนี้คุ้นเคยกับสภาพเดิมแท้ สภาพปกติอย่างนี้ได้บ่อย ในหนึ่งวันที่เรามี

 

พอเรารู้จักได้บ่อย ความถี่ใน 1 ชั่วโมงมันเหมือนเป็นจุดๆๆ  มันยิ่งถี่ มันจะเป็นเส้น เส้นนี้แหละคือ “สัมมาสมาธิ” มันจะเกิดขึ้นเป็นกำลังขึ้นมา

 

เหมือนเราปั่นไฟ ช่วงที่ปั่นไฟ มันเหนื่อย เราต้องเดินจงกรม เรารู้สึกว่าแหม…มันเป็นภาระจังเลย ต้องมีวินัย ต้องตื่น เหมือนเราปั่นๆๆ แต่พอจุดอีกทีฟรึ๊บ ไฟมันติด…เนี่ย! มันเป็น “Momentum” ที่มีพลังแรงมากที่จะทำให้ไฟมันติดขึ้นมาได้ ความปกติที่เรารู้จักมันบ่อยๆๆ ก็เหมือนกัน สุดท้ายมันเป็น “Momentum” ใหญ่ที่จะพาเราไปได้

 

แต่ถ้าเราละเลย เอ่อ..วันนี้ก็พอได้นะ รู้สึกตัวบ้างเหมือนกัน เหมือนที่ผมเคยบอกก็ได้ปฏิบัติธรรมเหมือนกัน…แต่ไม่ได้อะไร มีความสุขในโลกนิดหน่อย มากกว่าคนอื่นหน่อย ที่รู้จักความเป็นปกติบ้าง รู้จักว่าปฏิบัติธรรมคืออะไร จิตใจเราก็ดีกว่าคนอื่นบ้าง แต่มันแค่ดีกว่าคนอื่น…มันไม่ใช่พ้นทุกข์

 

 

ตอนที่ 9 ใช้เวลาในทางที่ถูกต้อง

 

เราพ้นทุกข์ได้ทุกครั้งที่เรารู้จักความเป็นปกตินี้

 

แต่เราต้องการพ้นทุกข์อย่างสมบูรณ์ เราไม่ใช่ต้องการแค่พ้นทุกข์นิดหน่อย เราก็พอแล้ว เราไม่มักน้อยแบบนั้น

 

ผู้ฟังธรรมร่วมให้แสดงความเห็น : เพราะคนส่วนใหญ่คิดว่าตัวเองคงไปไม่ถึง (ความพ้นทุกข์อย่างสมบูรณ์) แต่ถ้าไปถึงได้ คนส่วนมากก็อยากทำนะ

 

Camouflage : ทุกคนไปได้ ถึงได้ในชีวิต มันไม่ใช่เรื่องยาก อยู่ที่เราทำให้มันถูก ใช้เวลากับมัน ผมเคยพูดว่า ถ้าเราได้ใช้เวลาในทางที่ถูกต้อง ใช้ชีวิตอย่างถูกต้องแล้ว ต่อให้เราไม่ได้อะไรเลย แต่อย่างน้อยเราพ้นทุกข์มาตั้งหลายสิบปีที่เราใช้ชีวิตอยู่แบบนี้แล้ว ถ้ามันจะไม่ได้อะไรเลย ให้เราคิดกลับไป เราจะไม่เสียใจเพราะเราทำดีที่สุดแล้ว….แค่นั้น

 

แต่ถ้าเราไม่ทำเลย เราจะต้องเสียใจกับวันสุดท้ายของชีวิตเราว่าเรายังทำได้ไม่ดีพอ เรายังใช้เวลาอีเหละเขะขะไปกับอย่างอื่น กับสิ่งที่เราคิดว่าเป็นความสุขในชีวิตในโลก เหมือนถ้าให้พี่ย้อนกลับไปคิดสมัยก่อนที่เราเป็นผู้ชายมีความสุขหลายอย่างใช่มั้ย? มีเงินทำได้ทุกอย่าง แต่สุขจริงหรือเปล่า? ไม่ค่อยสุขเลย ก็งั้นๆ แหละ

 

พวกเราทุกคนคิดกลับไปก็ได้ ไม่ต้องมีเงินก็ได้ เราคิดถึงความสุขในอดีต มันใช่ที่ไหน? มันไม่ใช่ สรุปเราก็ทุกข์เหมือนเดิม

 

ถ้าเราไม่ตัดสินใจใช้ชีวิตของตัวเองในทางที่ถูกต้อง แล้วเราก็มัวแต่ฟังเสียงทัดทานของคนอื่นอยู่ วันที่เราทุกข์ คนเหล่านั้นช่วยอะไรเราไม่ได้เลย เหมือนวันที่เราเจ็บป่วย เราไม่ต้องคิดวันที่เราทุกข์หรอก วันที่เราเจ็บป่วย แม่ พี่น้อง แฟน ช่วยให้เราหายอาการเจ็บป่วยได้มั้ย? มันช่วยไม่ได้เหมือนกัน เราก็เจ็บป่วยของเราอยู่ในร่างกายนี่แหละ

 

จิตใจก็เหมือนกัน วันนึงที่มันเจ็บป่วย มีแต่เราเองที่ช่วยตัวเองได้ ไม่มีใครที่ช่วยเราได้ นักปฏิบัติธรรมเราต้องเข้าใจแบบนั้น

 

 

ตอนที่ 10 อดทน…อยู่กับมันเฉยๆ

 

ถ้าเราเข้าใจชีวิตในโลกมีแต่ความทุกข์แบบนี้

 

เราจะมุ่งมั่น…เราจะมุ่งมั่นที่จะไม่เลิกพาตัวเองไปสู่ความพ้นทุกข์ให้ได้ เพื่อใช้ชีวิตในทางที่ถูกบนสัมมาทิฏฐิ

 

ชีวิตก็ปกติ มีศีล มีสมาธิ มีปัญญาพร้อม

ไม่มีอะไรเป็นขั้นๆ ตอนๆ ทำแค่นี้แหละ…ง่ายๆ

 

แต่ต้องใช้เวลา อึดหน่อย ต้องอึด

 

 

ระหว่างทางมันมีขวากหนาม คือ ความทุกข์ทางใจนี่แหละ  ความเบื่อ ความเซ็ง ความกังวล “โอ้ย! ไม่ไปไหนซักทีนึง เมื่อไหร่จะเป็นพระโสดาบัน” มันจะมารบกวนเรา แต่เราต้องอยู่กับมัน อยู่กับมันให้ได้ เข้าใจมันว่าเป็นอย่างนี้ ตอนนี้เป็นแบบนี้ เหมือนที่ผมบอก…บ่นกับตัวเองว่า “ตอนนี้เป็นแบบนี้ ทำอะไรไม่ได้”

 

ผมเคยนั่งทุกข์ ตื่นมาก็ทุกข์เลย ไม่รู้ทุกข์อะไร ทุกข์อยู่ภายในเรานี่แหละ เศร้าหมอง ไม่ร่าเริง ไม่สบายใจ ผมอยู่กับสภาพแบบนั้นถึงเที่ยง ผมก็รู้ว่าทำอะไรไม่ได้ ผมรู้สึกว่าอันนี้เป็นกรรม…เป็นกรรมเฉยๆ กรรมทางใจเฉยๆ ที่มันมา “ผมก็อยู่กับมัน”

 

ถ้าเป็นเราเนี่ย…คนที่ปฏิบัติธรรมนี่จะคิดอะไร? เฮ้ย…ต้องไปเดินจงกรมดีกว่า เฮ้ย!…ไปนั่งสมาธิให้ระงับความฟุ้งซ่าน หรือว่าจะฟังธรรมดีให้มันสงบระงับลง

 

แต่ผมไม่ทำอะไรเลย เพราะเมื่อไหร่ที่เราตัดสินใจจะไปทำอะไรแบบนั้น ความอยากเกิดขึ้น ความคาดหวังนี้เกิดขึ้นแล้ว…เราจะทุกข์เลยทันที

 

เมื่อไหร่จะคลาย…เมื่อไรจะคลายออก ทำไมไม่สงบซักที ลองไปฟังธรรม…เคยฟังครูบาอาจารย์องค์นี้พูดแล้วหาย แต่ตอนนี้มันไม่หาย หรือว่าท่านเทศน์ไม่ดี เปลี่ยนคลิปใหม่ดีกว่า (ฮ่าๆๆๆ) เนี่ย!! “เพราะมันอยากจัดการ”

 

แต่ขอให้เราอดทนอยู่กับสภาพนั้น

มันเป็นแบบนี้ก็เป็นแบบนี้ อยู่กับมัน

อยู่กับมันไม่เข้าไปยุ่งกับมัน

 

พอดีตอนนั้นจิตก็เปลี่ยนปั๊บ…เคลียร์เลย!!  ความเข้าใจของอนิจจังจะเกิดขึ้นทันที เข้าใจเอง ไม่มีพูดว่า…นี่! อนิจจัง มีแต่…อ๋อ! เป็นอย่างนี้ มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย มันเปลี่ยนเอง เราไม่ต้องทำอะไรเลย แล้วมันก็เคลียร์

 

 

เพราะฉะนั้น สำคัญที่สุด คือ

 

อย่ามีตัณหาในการอยากจะเข้าไปจัดการอารมณ์ทางใจทั้งหลาย

ดูมัน อยู่กับมัน เหมือนอินกับจันอยู่ด้วยกัน

อยู่กับมันเฉยๆ…แค่นั้น

 

แล้วมันค่อยๆ สบายขึ้นๆๆ อะไรมา เราก็รู้…อดทน อย่างนี้เรียกว่าอะไร? “ขันติบารมี” ใช่มั้ย? เป็นอีกหนึ่งบารมีที่อยู่ใน 10 อย่างใช่มั้ย? นี่แหละขันติแบบนี้ คือ

 

ไม่เข้าไปจัดการมัน ไม่เข้าไปยุ่งกับมัน ต้องอยู่กับมันให้ได้

เป็นประสบการณ์ทางใจที่จะต้องผ่านไป

เป็นแค่คนดูเฉยๆ ไม่ไปเกี่ยวข้องกับมัน

มันก็ไม่ต้องทุกข์

 

 

 

“ความสงสัย” นี่เป็นทุกข์แล้ว เป็นทุกข์ตัวใหญ่ของมนุษย์เลย เราต้องหาคำตอบ ผมเคยเจอคนสงสัยปุ๊บ…วิ่งไปหาอาจารย์คนนี้ไม่ได้คำตอบ วิ่งไปอาจารย์อีกคนนึง เค้าไม่เห็น “ความดิ้นรนกับการวิ่งหาคำตอบ” ของเค้า

 

เพียงเค้าอยู่เฉยๆ จิตใจนี้พ้นไปจากความดิ้นรนนั้น…พอแล้ว ก็ดูมันเฉยๆ มันจะแสดงความจริงทุกอย่างออกมาให้เราเห็น เราจะได้เรียนรู้ความจริงจากความทุกข์นี่แหละ

 

พอมันสุขๆ อยู่ เราไม่ค่อยเรียนรู้อะไรหรอก เราจะเพลิน เราต้องอาศัยความทุกข์เพื่อเรียนรู้มัน แต่ถ้าเราทุกข์แล้วเรารีบหนีมัน  เราจะไม่เรียนรู้อะไรเลย เราก็เป็นแค่คนหนีทุกข์คนนึงเท่านั้น แต่วิธีหนีของเราคือ ไปนั่งสมาธิ ไปทำความสงบ

 

 

ที่ผมบอก Human being

 

Human มีหน้าที่ “being…” ดำรงอยู่ในธรรมชาตินี้เฉยๆ

 

ความดิ้นรนนี้เป็นทุกข์อันใหญ่ เป็นนรกโลกันต์เลย วันนึงถ้าเราพ้นความดิ้นรน เราจะเข้าใจว่า มันเป็นนรก

 

Camouflage

16-Sep-2016

 

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของคุณ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
-iOS https://itun.es/th/t6Mzdb.c
-Andriod https://goo.gl/PgOZCy