41.ชีวิตที่ปราศจากส่วนเกิน

 

ตอนที่ 1 การปฏิบัติธรรมคือ ชีวิตของเรา

 

พวกเราเป็นคนจำนวนน้อยมากที่พร้อมจะสละทุกอย่างเพื่อความพ้นทุกข์ เพื่อปฏิบัติจิตปฏิบัติใจเราให้ไปถึงความพ้นทุกข์

 

การปฏิบัติธรรมเป็นสิ่งที่เราต้องรู้ระลึกเข้าไปในเส้นเลือดในไขกระดูกเราว่า “มันคือชีวิตของเรา” อย่างอื่นนี้เป็นเครื่องสนับสนุนให้การใช้ชีวิตในทางนี้มีประสิทธิภาพ มีประสิทธิผลที่สุด

 

ถ้าชีวิต คือ การปฏิบัติธรรม

เราจะต้องเลือกใช้ชีวิตให้เหมาะสมกับการปฏิบัติธรรมมากที่สุด

บางคนบอกว่า ทำงานไปก็ปฏิบัติธรรมก็ได้ เราก็รู้สึกตัวได้นะ ฝึกแบบไม่ตามความคิดไปได้เหมือนกัน แล้วเราก็หันมาดูใจเราเป็นยังไง? ปกติ…เราก็มีปกติบ้าง ได้เหมือนกัน

 

เค้าบอกผมว่าปฏิบัติธรรมได้ ผมบอกว่า ได้…ถ้าเอาแค่ปฏิบัติธรรมได้…ก็ได้ แต่ถ้าเราอยากจะปฏิบัติธรรมจนพ้นทุกข์ พ้นการเกิดไป เราต้องลงทุนหน่อย…ไม่ใช่แค่นั้น

ท่านเขมานันทะพูดประโยคนึงดีมาก ท่านพูดว่า ปัญหาของนักปฏิบัติธรรมทุกวันนี้ ก็คือว่า

 

“เราอยากจะอยู่ในโลกด้วย แล้วเราก็อยากพ้นทุกข์ด้วย”

 

เราอยากได้ความสุขในโลกด้วย แล้วก็อยากพ้นทุกข์ด้วย เรากำลังเอาของที่ตรงกันข้าม…มันเป็นไปไม่ได้

 

ตราบใดที่เรายังเข้าใจว่า โลกมีความสุข…อันนี้เป็นความเข้าใจผิด โลกนี้ไม่มีความสุข โลกนี้มีแต่ความทุกข์อย่างเดียว

 

ความสุขที่แท้จริง” เกิดจาก “จิตใจที่เป็นปกติแล้ว

 

ภาษาไทยนี่ดีที่พูดว่า “ขอให้มีความเป็นปกติสุข”  มันปกติก่อนมันถึงจะสุข แต่ถ้าเราดิ้นรนพราดๆๆๆ จะไปหาความสุข…สุขไม่ได้ เราสุขอยู่บนกองเพลิง กองไฟ…สุขไม่ได้

 

 

ตอนที่ 2 ชีวิตที่ปราศจากส่วนเกิน

 

หลายคนในที่นี้ก็ลาออก กำลังจะลาออก มุ่งหน้าสู่การปฏิบัติธรรม

 

สู่การปฏิบัติธรรม” ที่ผมพูดอันนี้ ผมหมายถึงว่า สู่การมีชีวิตที่เหมาะสมในการปฏิบัติธรรม

 

ปฏิบัติยังไง?

ใช้ชีวิตอยู่ในธรรมชาติอย่างพอดี

ใช้ชีวิตที่ปราศจากส่วนเกิน คือ ตัณหา

ใช้ชีวิตที่ปราศจากส่วนเกินในเรื่องการทำงานที่ไม่จำเป็นออกไป

 

ทำไมเราต้องทำงานที่เป็นส่วนเกินของชีวิต? ทำไมเราต้องทุ่มเทมากเกินไปใน (Overload) ชีวิตตัวเองกับการทำงานมากขนาดนั้น?

 

เพราะเรามี “ตัณหา”

 

เพราะฉะนั้น ตัณหาของตัวเอง สร้างความทุกข์ให้คนอื่นไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ ยันลูก ยันหลาน ยันเมีย ยันญาติ สร้างกรรมเยอะ นึกว่าทำดีอยู่ สิ่งเหล่านี้จึงเป็น “ส่วนเกินของความพอดีในชีวิต

 

แม้กระทั่งบางคนที่รวยแล้วบอกว่าเลิกทำงานจะไปทำอะไร?

เพราะเค้าไม่เข้าใจชีวิต เค้าบอกเดี๋ยวเบื่อ…ก็เบื่อแน่นอนเพราะว่า เป็นทาสของตัณหาอยู่ แต่ถ้าคนเราเข้าใจชีวิต เราจะรู้ว่า โอเค เราพอแล้ว

 

ชีวิตของเราเกิดขึ้นมาประเสริฐกว่าที่จะไปทำเรื่องไร้สาระแบบนั้น

เรามีศักยภาพที่จะเป็นพระอรหันต์คนหนึ่งได้

 

แต่เราจะเป็นแค่ไปหาเงิน ทำงาน เลี้ยงลูกค้า อยู่ในสังคม ไปงานศพ ไปงานแต่ง คุยโม้กันไป คุยโม้กันมา คุยทับกันไป คุยทับกันมา มันเป็นเรื่องมีประโยชน์ตรงไหน ไม่มีประโยชน์อะไรเลย

 

สำหรับนักธุรกิจ เราก็พยายามอยู่ในสังคม เราพยายามจะมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจ (Connection) เรารู้จักคนนี้ คนโน้น คนนั้น ชีวิตเราจะได้ปลอดภัย ชีวิตการงานเราจะได้ปลอดภัย เราจะได้ปลอดภัย

 

ทุกอย่างที่เราทำไปเพราะ เรารักตัวเอง

เราทำไปอยู่บนพื้นฐานของความกลัวทั้งชีวิต

 

การอยู่บนพื้นฐานชีวิตแบบนั้น…ไม่ใช่ชีวิต อันนี้มีแต่ความดิ้นรน มีแต่ความกลัวทั้งชีวิต เราไม่เคยได้มีชีวิตจริงๆ

 

ที่ผมบอกว่า “ชีวิตคือ การปฏิบัติธรรม” คือ เราได้ออกมาใช้ชีวิตจริงๆ…ชีวิตที่ไม่ใช่ชีวิตในเมืองแบบนี้ ในบ้านแบบนี้ พอเราได้กลับเข้าสู่ธรรมชาติ เราจะรู้ว่า ถ้าเรายังเกิดอยู่ เราจะพ้นไปจากการทำบาปไม่ได้ เพราะชีวิตทุกชีวิตเบียดเบียนกันตลอด มดกินไส้เดือน มันกินกันไปกินกันมา กินกันไปกินกันมา ธรรมชาติของมันเป็นแบบนี้ ยุงต้องมากินเลือดเรา มันเป็นธรรมชาติของมันเหมือนกัน ปลวกต้องกินบ้าน มันเป็นหน้าที่ของมันเหมือนกัน

 

เพราะฉะนั้น มันพ้นไปจากการเบียดเบียนไม่ได้ เราจะอยู่กับธรรมชาติ เราจะเข้าใจธรรมชาติ เราจะเข้าใจชีวิตมากขึ้นว่า ชีวิตเป็นแบบนี้ ตราบใดที่เรายังเกิดอยู่ เราจะต้องเบียดเบียน เบียดเบียนในรูปแบบทั้งทางตรงและทางอ้อม

 

ชีวิตที่ปลอดภัยเกินไป มันทำให้เรามีแต่ความกลัว

แล้วความกลัวนี่แหละ เป็นเบื้องหลังของการกระทำของเราทุกอย่าง

 

แต่ถ้าปฏิบัติธรรม เราจะเริ่มเข้าใจการใช้ชีวิตจริงๆ ที่ปราศจากส่วนเกิน ใช้ชีวิตที่มันพอดีๆ กับเรา

 

พอดี” คือ ไม่ใช่สุขสบายเกินไป ไม่ใช่ทุกข์เกินไป พอดีเฉยๆ คำว่า “พอเพียง” ของในหลวง คือ “พอดี

 

พอดีของแต่ละคนไม่เท่ากัน เพราะร่างกายแต่ละคนมีกรรมไม่เหมือนกัน จิตใจแต่ละคนมีกรรมไม่เหมือนกัน

 

วันนี้ตรงนี้พอดีกับเรา วันหน้าเราฝึกปฏิบัติไปมากๆ ความพอดีที่เราคิดว่าพอดี เราจะรู้สึกว่ามากไปแล้ว จะรู้สึกว่าแค่นี้ก็พอ อันนี้แหละพอดีแล้ว

 

ตอนที่ 3 เบื้องหลังความกลัว คือ “ความมีตัวตน”

 

เราเคยกินชอบกินอาหารอร่อย ตั้งใจไปร้านนี้เลย ต้องเบิ้ลแน่นอน นานๆ ได้กินที เราจะเห็นว่า ทุกวันเราอยู่บน “ตัณหา” ตลอด แค่กินเรายังมีตัณหาเลย เรากินชามแรก เราไม่อยู่กับชามแรกแล้วเราไปชามสอง คิดว่าเราจะเอาอะไรดี? บะหมี่หรือเส้นเล็ก เราไม่อยู่กับชามแรก เราไปชามสองตลอด

 

เพราะเราอยู่กับอนาคตตลอด เราไม่ค่อยอยู่กับตอนนี้

 

ถ้าตอนนี้พวกเราลองฝึกการกินใหม่นะ เราไปกินแล้ว เราอยู่กับชามนี้ อยู่กับอันนี้ ไม่ใช่ไปเพ่งเอาไว้นะ แค่ว่าอย่าไปคิดถึงชามต่อไป แค่กินเฉยๆ มีให้กินก็กินเฉยๆ กินไปเรื่อยๆ

 

เราอยู่กับตัวเรา” นี่แหละ มันก็อิ่มแล้ว เราจะรู้ว่าร่างกายนี่อิ่มแล้ว ชามสองนี่เป็นความตะกละของเราเฉยๆ เราอยากกิน เราอยากจะได้ความอร่อยอันนั้นเฉยๆ แต่จริงๆ ร่างกายนี้ ถ้าเรากินชามสองเข้าไปนี่เป็นพิษแล้ว เราไม่รู้จักร่างกายเรา ร่างกายนี้มันไม่เอาแล้ว แต่เพราะตัณหาของตัวเองก็ยัดลงไป ยัดเข้าไปอีก อยากจะได้ความอร่อย ในขณะนั้นเป็นพิษแล้ว ร่างกายจะต้องรับโทษจากอาหารสิ่งที่เป็นส่วนเกิน

 

เพราะฉะนั้น การที่เราฝึกปฏิบัติธรรม นอกจากเราจะไม่ทุกข์ เราจะรู้สึกถึงร่างกายเรามากขึ้น เราจะรู้ว่าร่างกายเราต้องการอะไร

 

“ร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเรา” หมายถึงว่า  ไม่มีเราเป็นเจ้าของมัน

 

มันเหมือนเป็นเพื่อนเราอีกคนเฉยๆ เราต้องอยู่กับมันตลอด มันเหมือนแฝดอินกับจัน เราต้องอยู่กับมันตลอด เราต้องรู้ว่า ร่างกายมันต้องการอะไร มันไม่ต้องการอะไร แต่มันจะรู้เอง

 

ถ้าเราฝึกที่จะไม่อยู่ในโลกของความคิด ไม่หลงไปอยู่ในโลกของความปรุงแต่ง เราอยู่กับกายกับใจนี่แหละ สังเกตมัน เราจะรู้จักว่ามันเป็นยังไง?

 

เราเคยกิน 3 มื้อ บางคน 4 มื้อ 5 มื้อ ของว่าง ของหวาน ของเล็กของน้อย ของจุกของจิก เราอยู่กับ “ความเชื่อ” เหมือนกัน อยู่กับ “ความกลัว” เหมือนกัน สมมติไม่ให้กินมื้อเย็น เราจะรีบบอกเลยว่าไม่ได้เดี๋ยวกลางคืนหิว…นี่! คิดไปก่อนแล้ว เรากลัวไปก่อนแล้ว จริงๆ ถ้าเราหิว เรากินน้ำสักแก้วหนึ่งเราก็หายหิวแล้ว แต่เราก็กลัวไปก่อน

ลองไปสังเกตดูว่า เราจะไปทำสิ่งนี้เพราะอะไร?  ลองคิดดูซักหน่อยว่าเพราะอะไร? เพราะเรากลัวว่ามันจะเป็นแบบนั้นเลยต้องไปทำแบบนี้ แล้วเราจะเห็นชีวิตเรามากขึ้นว่า ชีวิตเราถูกผลักดันด้วยความกลัวตลอด เราเป็นทาสของมัน เราเป็นทาสของความกลัวที่เป็นเบื้องหลังอันใหญ่

 

แต่เบื้องหลังที่ใหญ่กว่าความกลัวคือ “ความมีตัวตน

เรารักตัวเอง

 

เราไม่อยากให้ตัวเองทุกข์ ไม่อยากให้ตัวเองผิดหวัง ไม่อยากให้ตัวเองเศร้าใจ ยิ่งไปทำโน่นทำนี่ทำนั่นป้องกันทุกอย่างให้อยู่ในการควบคุม ของเรานี่คือ “ชีวิตของมนุษย์” มันเป็นแบบนั้น เราไม่เคยดำรงอยู่และเลื่อนไหลไปเฉยๆ อยู่ในธรรมชาติ…ให้เรารู้จักความ “พอดี

 

 

ตอนที่ 4 สัมมาสมาธิจะเกิดเอง

 

เมื่อไหร่ก็ตามที่เรากำลังจะวิ่งไปทำอะไรด้วย “ตัณหา” อย่าทำ!!

 

อย่าทำตามความคิด อย่าทำตามความอยาก…จะผิดหมด ถ้าเรามีชีวิต Flow ไปกับมิจฉาทิฎฐิ…ผิดแน่นอน

เมื่อไหร่ก็ตามที่จิตใจเราปกติอยู่ ความเป็นปกตินี่แหละ มันคือ สัมมาสมาธิ

 

สิ่งที่พวกเราฝึกกันทุกวันนี้ เราอยากจะมีสัมมาสมาธิ  ความปกตินี่แหละ คือ “สัมมาสมาธิ” ถ้าเราเป็นปกติอย่างต่อเนื่อง มันจะเป็นสัมมาสมาธิ แล้วมันก็เลยกลายเป็นนำไปสู่การบรรลุธรรม บรรลุมรรคผลนิพพาน

 

แต่ “สัมมาสมาธิ” ที่ผมบอก…ไม่ใช่สิ่งที่เราไปทำ มันเพียงแค่เราเข้าไปรู้ไปเห็นสิ่งเป็นจริงที่มันมีอยู่แล้วในใจของเราทุกคน รู้เห็นมันบ่อยๆ รู้จักมันบ่อยๆ…สัมมาสมาธิก็จะเกิดขึ้นเอง

 

เราไม่มีหน้าที่ไปทำสมาธิ

เมื่อไหร่ที่เราเริ่มจะทำสมาธิ อันนั้นมี “เรา” เกิดขึ้น

เมื่อไหร่ที่เราเริ่มจะเอาอะไร เราตกทางแล้ว

การปฏิบัติธรรม คือ “การใช้ชีวิต รู้จักชีวิตในธรรมชาติ” นี้เฉยๆ

 

 

ตอนที่ 5 “วิเวก สันโดษ” เป็นสิ่งจำเป็นในชีวิต

 

คนที่ยังอยู่ในโลกของการทำงาน ปฏิบัติธรรมได้มั้ย?..ปฏิบัติธรรมได้ ปกติได้มั้ย?..ไม่ค่อยได้ จิตใจเป็นปกติได้บ่อยแค่ไหน?..นับครั้งได้ เดี๋ยวก็มีเรื่องเข้ามาแล้ว เดี๋ยวก็งานเข้ามาแล้ว เดี๋ยวคนโน้นโทรมา คนนี้โทรมา ลูกค้าโทรมาบ่น เจ้านายโทรมาด่า เพื่อนร่วมงานโทรมาเม้าส์ ต้องฟังเรื่องดราม่าอีก ฟังคนโน้นนินทาคนนี้ คนนี้นินทาคนนั้น…เอาเวลาที่ไหนปกติ

 

ผมเลยบอกว่า ทำงานปฏิบัติธรรมได้มั้ย?…ได้ แต่ได้แค่นั้น เพราะอะไร?…เพราะมันไม่มีเวลาปกติ จะเอาเวลาที่ไหนปกติ? เวลาที่มันจะปกติได้คือ “อยู่กับตัวเอง” เราต้องอยู่กับตัวเอง

 

สมัยก่อนหลวงปู่มั่น ท่านออกไปเนี่ย…ท่านไม่มีวัดนะ ท่านเข้าป่าไป ธุดงค์ไป ท่านก็อยู่คนเดียวของท่านนั่นแหละ ลูกศิษย์ลูกหามาตามหาหลวงปู่มั่น…เจอปุ๊บ! อยู่กันอาทิตย์นึง สองอาทิตย์ เดือนนึง…ก็ไปล่ะ “ลาหลวงปู่ไปล่ะครับ” ไปอยู่คนเดียวเหมือนกัน

 

ทุกคนต้องมีชีวิตที่ “วิเวก สันโดษ มักน้อย”…มันถึงจะเข้าถึงความเป็น “ปกติ” ของจิตใจนี้ได้

 

หลวงปู่มั่น มาสร้างวัดตอนไหน?…แก่แล้ว ก็เลยมีวัดขึ้นมา แต่ครูบาอาจารย์สมัยก่อนที่ท่านยังไม่แก่ ท่านก็เดินทางไปเรื่อย ไม่ต้องมาดูแลอะไร เดี๋ยวก็ไปอยู่ต้นไม้ต้นนี้ เดี๋ยวก็ไปอยู่ถ้ำนั้น เดี๋ยวก็ไปอยู่ตรงนี้…อ้าว! ตรงนี้อยู่ไม่ได้ล่ะน้ำหลากก็เข้าไปอยู่ที่โน้นแทน…ท่านไปเรื่อยๆ ไม่มีภาระอะไรเลย ไม่ต้องห่วงอะไรเลย…นี่! มันเป็นแบบนั้น แต่พวกเราอึดไม่เท่าแบบนั้นหรอก พวกเราไปธุดงค์ไม่ได้…เราอึดไม่เท่า เราก็พยายามใช้ชีวิตให้มันวิเวก สันโดษที่สุดเท่าที่เราจะทำได้…ก็อยู่ในทางที่ใกล้เคียงที่จะมีโอกาสที่สุด

 

หลวงพ่อเทียน…ทะเลาะกับเมียเก็บกระเป๋าออกจากบ้านเฉยเลยใช่มั้ย? ไปเลย…ท่านพูดว่า “ถ้าละความโกรธไม่ได้จะไม่กลับมาเจอหน้าเมียอีก”  ท่านก็ไปอยู่คนเดียว เพื่อนสนิทกันมาพูดด้วย ท่านก็ไม่พูดด้วย จนเพื่อนโกรธ “อะไรเนี่ย..เพื่อนกันมาชวนคุย ไม่คุยด้วย เดินหนี ทั้งวันพูดด้วยไม่พูดด้วย” เพื่อนโกรธไปเลย

 

ทำไมท่านต้องทำอย่างนั้น? เพราะว่ามันเป็นแบบนี้ … “วิเวก สันโดษ” นี่มันเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตของพวกเราทุกคน เพราะ “ความวิเวกสันโดษ” มันนำไปสู่ความเป็น “ปกติทางจิตใจ” สิ่งรบกวนต่างๆ มันก็ลดลง เหมือนเราอยู่บ้าน เดี๋ยวก็ห่วงไอ้นี่ เดี๋ยวก็ห่วงไอ้นั่น เดี๋ยวก็ห่วงโน่น

 

ถ้าเราได้ไปอยู่ที่ “วิเวก สันโดษ” ของเรา…เราลองดูก็ได้ เมื่อไหร่ที่เราเห็น “คุณค่าความเป็นปกติ” ที่มันลึกซึ้งขึ้น ที่มันแน่นหนาขึ้น ที่มันอะไรมากขึ้นเรื่อยๆ เราจะรู้เลยว่า “ชีวิตในโลกนี้เป็นนรก”

 

ตอนที่ 6 ทุกคนเลือกเส้นทางของชีวิตได้อยู่แล้ว

“ทุกคนเลือกเส้นทางของชีวิตได้อยู่แล้ว” …เราทิ้งอะไรไม่ค่อยได้…ผมบอกว่าให้ทำอย่างนี้ ให้ทำอย่างนั้น ให้ไปที่นี่ ให้ไปที่นั่น จะมีข้ออ้างสารพัดมากมายที่…โอ้! ฟังดูก็ดูจำเป็นทุกอย่างที่ต้องเป็นแบบนั้น จำเป็นมากที่ต้องเป็นแบบนั้นสำหรับคนในโลก

 

ผมเข้าใจว่าเป็นเรื่องยาก แต่มันทำให้ผมเข้าใจอย่างนึงขึ้นมาว่า

ทำไมคนเราปฏิบัติธรรมแล้วบรรลุธรรมไม่ได้?

เพราะเค้าทิ้งไม่ได้แม้กระทั่งสิ่งภายนอก แล้วเค้าจะทิ้งสิ่งภายในได้ยังไง?

 

ต่อให้เค้าปฏิบัติธรรมอยู่ในชีวิตประจำวันได้ก็เถอะ แต่ใจเค้ายังผูกพันอยู่กับสิ่งรอบตัวทั้งหลายที่เค้าทิ้งไม่ได้ เค้าบอกว่าเค้าไม่เป็นไร…ไม่เป็นไร เค้าอยู่ได้ แต่ในความเป็นจริงพันธะ (Bonding) ทั้งหลาย ที่มันเหมือนโซ่ตรวนที่ผูกๆ แต่เป็นพันธะที่มองไม่เห็น (Invisible bonding) ใจลึกๆ เราทิ้งไม่ได้ เราปล่อยอะไรไม่ได้เลย

 

จะมีคนอีกกลุ่มนึงบอกว่า ไม่ต้องทิ้ง ไม่ต้องทิ้ง…เราปฏิบัติธรรมได้ ปฏิบัติธรรมได้…ผมเลยบอกว่า ใช่! เราปฏิบัติธรรมได้ แต่เราไปไม่ถึงความพ้นทุกข์

 

เราไม่ต้องดูใคร!…พระพุทธเจ้าเป็นคนที่มีบารมีสูงสุดกับมนุษยชาติทั้งหมด ท่านยังไม่ยอมปฏิบัติธรรมในวังเลย ท่านออกไปเข้าป่า แม้ว่าท่านจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาแล้ว พ่อของท่านบอกว่า มาอยู่ใกล้ๆ แล้วกัน เดี๋ยวจะให้ป่าอันนี้ จะให้สร้างวัด สร้างอะไรก็สร้าง แต่มาอยู่ใกล้ๆ กัน แต่พระพุทธเจ้าไม่เอา

 

นี่! พระพุทธเจ้าทำให้เราดูเป็นตัวอย่างทั้งหมดแล้วว่า พระพุทธเจ้าทำอะไรบ้าง ไม่มีใครเค้ากลับมาในโลก เพราะว่าโลกนี้ไม่มีคุณค่าพอกับคนที่อยู่ในเส้นทางของธรรมที่จะกลับมายุ่งกับเรื่องในโลก ยุ่งกับเรื่องของกิเลสของคน

 

 

ตอนที่ 7 รางวัลสูงสุดของชีวิต

 

พระพุทธเจ้าพูดว่า “พระพุทธเจ้าเป็นสมบัติของโลก” หมายความว่า พระพุทธเจ้ามีหน้าที่ที่จะช่วยคนทั้งโลก แต่ไม่ได้เข้าไปยุ่งกับโลก พระพุทธเจ้าจะช่วยคนที่พร้อมที่จะเป็นบัวพ้นน้ำแล้ว

 

เราฟังประวัติพระพุทธเจ้า…ท่านก็ใช้ญาณทัศนะท่านใช่มั้ย? เล็งก่อน ใครเป็นบัวที่ปริ่มน้ำ…อันนี้พร้อมจะโตขึ้นมา บานออกมา รับแสงอาทิตย์…ท่านก็จะไปสอนคนนั้น เพราะท่านมีเวลาน้อย ท่านก็เลือกสอนเฉพาะคนที่สอนได้

 

ครูบาอาจารย์ก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน…ก็สอนเฉพาะคนที่สอนได้ เราช่วยทุกคนไม่ได้ แม้กระทั่งบางครั้งเรายังช่วยพ่อแม่เราไม่ได้เลย แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะเมื่อไหร่ที่เราเข้าถึงความจริงแล้วทุกคนเท่ากัน…เท่ากันในความเป็นกรรม ทุกคนเป็นกรรมเหมือนกัน เรามีโอกาสมาเจอกัน เรามีบุญกรรมร่วมกัน เรามีโอกาสมาฟังกัน มีโอกาสมาปฏิบัติตาม มีโอกาสมาเชื่อฟังกัน อันนี้เป็นบุญกรรมที่เราทำกันมา

 

การสอนแต่ละคนนี้…ไม่ได้เป็นไปด้วยรักชอบชังอะไร…ไม่ใช่!  เป็นการเห็นโอกาสของแต่ละคนว่า คนไหนที่จะรับได้มากที่สุด เราจะสอนให้คนนั้นเยอะที่สุด…ก็เป็นไปตามธรรมชาติๆ

 

“ธรรมชาติแบบนี้” เราจะเรียกว่า เป็น “ญาณปัญญา” ก็ได้ ศาสนาพุทธเราไม่ใช่เรื่องของฌาน ผมพูดหลายครั้งแล้ว “ไม่ใช่เราไปทำฌาน” เราไปอ่านบทสวดมาบอกว่า…มีปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน…เราก็ไปเอาว่าเราต้องฝึกฌาน…“ฌาน” เป็นเรื่องของพราหมณ์ ไม่ใช่เรื่องของพุทธ

 

พุทธ อันนี้เป็น “พุทธิปัญญา” พุทธะคือ ความตื่นรู้ รู้ตื่น… “ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน”…เป็นเรื่องของสัมมาสมาธิ เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของญาณ.. “ญาณปัญญา” ไม่ใช่เรื่องของฌาน

 

เรามัวแต่ไปนั่งทำฌาน เราจะได้แต่ความสุข ได้แต่ความสงบ และอาจจะได้ฤทธิ์ ดูใจคนโน้น ดูใจคนนี้ คนที่มีฌานแล้วเล่นสนุกแบบนั้น สุดท้ายก็จะบ้าได้ จิตจะอ่อนลงเรื่อยๆ…จิตตัวเองจะอ่อนลงเรื่อยๆ เพราะไม่ดูตัวเอง ไปดูคนอื่นแล้วสนุก ก็ดูไปเรื่อย ดูไปเรื่อย

 

“กลับมาดูตัวเอง กลับมาอยู่กับตัวเอง” อันนี้เป็นงานของพวกเราทุกคน…เรารู้จักตัวเอง เราถึงรู้จักคนอื่นได้

 

“ตัวเองเป็นพุทธะ” อยู่แล้ว และพอเราเข้าถึงตัวเอง เข้าถึงความว่าง เข้าถึงสัจจะ เราก็เลยรู้ถึงคนอื่นได้เหมือนกัน…นี่! เป็นธรรมชาติเฉยๆ เราไม่ต้องไปคิดว่า เป็นเรื่องอัศจรรย์พันลึก เรื่องปาฏิหารย์อะไร เราทุกคนก็ทำได้ มันเป็นเอง มันจะเป็นเอง เราไม่ต้องไปทำ อยู่ที่เราเคยฝึกอะไรมา เคยทำอะไรมา มันก็เป็นเอง มาเองของมัน แต่ไม่ใช่ทุกคนจะต้องเป็นเหมือนกัน

 

สิ่งที่ต้องเป็นเหมือนกัน ก็คือ “ความพ้นทุกข์” แค่นั้น ไม่ได้มีหน้าที่ไปมีฤทธิ์ ไปมีเดช มีอภิญญา มีความสามารถพิเศษอะไร ขอแค่ทุกคนพ้นทุกข์…อันนี้เป็น “รางวัลสูงสุดของชีวิต” ที่เราได้เกิดมาแล้ว…แค่นั้นเอง

#Camouflage

16-Sep-2016

 

YouTube : https://youtu.be/iNWBKZ1KyAE

 

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของคุณ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
-iOS https://itun.es/th/t6Mzdb.c
-Andriod https://goo.gl/PgOZCy