40.ได้ความรู้…แต่ไม่พบความจริง

YouTube: https://youtu.be/eWNH2P8iHzc

 

ตอนที่ 1 ได้ความรู้…แต่ไม่พบความจริง

 

จริงๆ ผมไม่เคยรู้จักท่านเขมานันทะเป็นการส่วนตัว…ยุคผมไม่ทัน หลวงพ่อเทียนผมก็ไม่รู้จักเป็นการส่วนตัว

สมัยก่อนผมเข้าร้านหนังสือทุกวันเพื่อจะไปหาหนังสือธรรมะ  ก็ได้เจอหนังสือของท่านเขมานันทะ

เล่มแรกเป็นชื่อเรื่อง “ปรีชาญาณของผู้ไม่รู้หนังสือ” ก็ประทับใจมาก แล้วก็ไปเจอหนังสือ “รุ่งอรุณแห่งความรู้สึกตัว” ก็ประทับใจมากอีกเหมือนกัน สุดท้ายก็ไปเจอหนังสือเรื่อง “ดวงตาแห่งชีวิต” เป็นเล่มที่ผมประทับใจที่สุด เนื้อหาสำนวนทุกอย่างก็สละสลวย เป็นศิลปินมาก

พอเจอใครที่สนใจปฏิบัติธรรม ผมก็จะให้หนังสือดวงตาแห่งชีวิต เพราะหนังสือเล่มนี้ เป็นหนังสือที่ผมรู้สึกว่า “มันครบถ้วนทุกอย่างเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม” แล้วการปฏิบัติธรรมที่ท่านเขมานันทะเขียนในหนังสือนี้ มันเป็นการพูดในเรื่องๆ เดียว ก็คือ

“ความรู้สึกตัว”

ท่านเขมานันทะเคยพูดทำนองว่า

“เรื่องลึกมันเป็นเรื่องตื้น เรื่องตื้นมันกลับกลายเป็นเรื่องลึก”

หมายความว่า เรื่อง “ความรู้สึกตัว” ที่มันตื้นๆ เนี่ย…มันดูเหมือนจะไม่มีอะไรเลย แต่มันกลับกลาย “เป็นพลังที่ยิ่งใหญ่” ที่ทำให้คนๆ นึง “บรรลุธรรมขึ้นมาได้

แต่เรื่องลึกๆ หมายความว่าอะไร? เราชอบคิด ชอบพิจารณา…เราชอบ

ทุกวันนี้ที่เป็นปัญหาคือ “คิดพิจารณาไตรลักษณ์” นี่แหละ เห็นอะไร ก็รีบไปดูว่ามันเป็นไตรลักษณ์ รีบไป “พยายาม” เข้าใจว่า อ้อ…นี่เป็นไตรลักษณ์แบบนี้แบบนั้น เราคิดว่านั่นเป็น “วิปัสสนา”  แต่เราไม่เห็นก่อนที่เราจะไปคิดว่า…เรากำลังคิดอยู่

 

ความคิด” อันนี้ พาเราไปสู่ความพ้นทุกข์ไม่ได้

พาเราไปเข้าใจ “ความจริง” ไม่ได้

 

เพราะฉะนั้น “ความคิด” อันนี้เลยเป็นกับดัก

เหมือนเป็นกับดักที่เรานึกว่า เราเจริญปัญญาอยู่ แต่จริงๆ เราไม่ได้เจริญปัญญา เราเจริญความรู้ในโลกเฉยๆ ว่าโลกนี้เป็นแบบนี้ อยู่ภายใต้ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา “ความคิด” อันนี้นำเราไปสู่ “ความพ้นทุกข์” ไม่ได้

ทำไมเราต้องพยายามที่จะเข้าไปเห็นไตรลักษณ์ด้วย?

ที่ทุกคนฟังในคลิปว่า “เราเห็น…แต่เห็นไม่จริง” เรามี “ตัวตน” เข้าไปเห็น เราอยากจะเห็นไตรลักษณ์ เราอยากเจริญวิปัสสนา เราฟังว่าเค้าว่าแบบนี้ เราก็ต้องทำแบบนี้

แต่ “ความรู้สึกตัวล้วนๆ ถ้วนๆ” อันนี้…ท่านเขมานันทะพูดแบบนั้น… “จบแค่ตรงนั้น

เมื่อไหร่ที่เรา “รู้สึกตัวล้วนๆ ถ้วนๆ ไม่มีความคิด ไม่มีอะไร” เราจะได้ค้นพบสิ่งที่มีอยู่แล้ว คือ “ความเป็นปกติอยู่” ที่มันมีอยู่แล้วในจิตใจของพวกเราทุกคน

ซึ่ง “ความเป็นปกติ” อันนี้เลยสำคัญมาก…

เราได้กลับไปสู่ “ความจริง” กลับไปสู่ “สัจจะ

ที่มันอยู่ในตัวเราทุกคนอยู่แล้ว

ท่านไม่พูดถึงการเจริญวิปัสสนา คือการเห็นไตรลักษณ์เลย

 

ท่านเขมานันทะจะพูดว่า การคิดพิจารณาไตรลักษณ์อันนี้…พูดง่ายๆ เป็นการเข้าไปในโลกของความคิด คำพูดของท่านจำไม่ได้พอดีเป๊ะๆ (เดี๋ยวนี้จำอะไรไม่ค่อยได้แล้ว) ทุกอย่างที่พูดก็เป็นเค้าลางที่เคยอยู่ในความทรงจำ แต่ท่านจะพูดชัดว่า

การเข้าไปคิดพิจารณาไตรลักษณ์

จะทำให้เราตกอยู่ภายใต้โลกของ “ความคิด

ทำให้เราได้ความรู้ แต่เราไม่พบ “ความจริง

 

ตอนที่ 2 เป็นคนธรรมดา

ผมพูดในทุกคลิปตลอดว่า ทางของการปฏิบัติธรรมคือ ทางที่เราต้องไปสู่ “การพ้นจากความปรุงแต่งทั้งปวง” ให้ได้ มีทางง่ายๆ แค่นั้นเอง

แต่พวกเรามีความรู้เยอะ…มีความรู้จากครูบาอาจารย์ จากคำสอน จากพระไตรปิฎก จากอะไรมากมาย ที่เราเก็บข้อมูลมาว่า เราต้องเป็นอย่างนี้ ต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างโน้น

เรารู้สึกว่าการปฏิบัติธรรมนี่มันย๊ากยาก มันต้องรู้เยอะเหลือเกิน มันต้อง….สักวันนึงจะรู้แบบนี้ เราจะเห็นเกิดดับ เราจะเห็นเกิดปุ๊บ-ดับปั๊บ เห็นคนไม่ใช่คน

เรานึกว่ามีอะไรพิเศษมากมายในการที่เราปฏิบัติธรรมจนวันนึงเราพ้นทุกข์

จริงๆ ไม่มีอะไร “เราแค่พ้นทุกข์เฉยๆ” เรายังเป็นคนธรรมดา จริงๆ เรากลับกลาย “เป็นคนธรรมดาจากที่เราไม่ธรรมดา

ในชีวิตเรามีหัวโขนมากมาย สารพัดหัวโขนที่เราเคยเป็น ถ้าเราได้ไปอยู่วัด เราจะรู้ว่า หัวโขนนั้นไม่มีความหมายเลย หรือถ้าเราได้ไปบวช เราจะรู้เลยว่า เงินที่เรามี ตำแหน่งที่เรามี อำนาจหน้าที่ในโลกที่เรามี “ไม่มีค่าอะไรเลย

เราต้องไปกราบพระอายุ 20 ปีที่เค้าบวชก่อนเรา ถ้าเราอายุ 40, 50 ปีเราต้องไปกราบเด็กกว่า…อันนี้เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าตั้งเป็นวินัยไว้ เพื่อให้คนเรานี่ ลด “อัตตา” ตัวตน ลด “ทิฏฐิมานะ” ลงไป

ตอนที่ 3 เหนือสติ

ท่านเขมานันทะเขียนหนังสือ “ดวงตาแห่งชีวิต” ผมอยากให้ทุกคนกลับไปอ่านทีนึง หรือใครที่ไม่เคยอ่าน ให้ลองไปอ่านดู เราจะได้ “ความสดใหม่” อีกครั้งนึงของหนังสือเล่มนั้น

สิ่งที่ผมเคยเข้าใจว่า เป็นเรื่องตื้นๆ ที่ท่านเขมานันทะพยายามแสดงออกมาผ่านตัวหนังสือ ผ่านคลิปธรรมะของท่านเนี่ย…มันเป็นสิ่งลึกซึ้งมาก

จนกว่าเราจะเข้าใจ “ความจริง”

เราถึงจะรู้ว่าสิ่งที่ท่านพูดอันนี้เป็นสิ่งที่ “ลึกซื้ง” มาก  มันเป็นเรื่องตื้นๆ จริงๆ ในหนังสือ…แต่มันลึกมาก!!

ผมเลยพูดกับพวกเราหลายครั้งว่า “คลิปผมฟังอย่าเบื่อ เบื่อก็ต้องฟัง”

เพราะมันจะเป็นแบบนี้ เราเคยคิดว่าเราฟังแล้ว เรารู้เรื่องแล้ว เราเข้าใจแล้ว แต่เราไม่เข้าใจหรอก

เหมือนที่ผมอ่านหนังสือท่านเขมานันทะ ผมอ่านผมก็นึกว่า ผมเข้าใจธรรมะแล้ว ผมอ่านหลายรอบด้วย…ชอบอ่าน แต่ตราบใดที่การปฏิบัติธรรมของเรามันยังไม่ไปถึง “ความจริง” เราเข้าใจแบบนั้นไม่ได้

แต่พอเราเข้าถึง “ความจริง” แล้ว เรากลับไปอ่านแล้วเราจะรู้ว่า โอ้โหหห…เขียนดีมาก พูดดีมาก คนที่ไม่เข้าใจ “ความจริง” จะพูดแบบนั้นไม่ได้

เหมือนผมเคยพูดเรื่อง “ความรู้ตัวแบบลืมตัว” อันนี้เป็นภาษาท่านเขมานันทะ…ไม่ใช่ของผม แต่พอผมได้ยินท่านเขมานันทะพูดแบบนี้ปุ๊บ…ผมรู้เลยว่า เรารู้สึกเหมือนกัน

มันเป็นสภาพที่มันเหมือนดาวเทียมที่มันลอยอยู่บนอวกาศ มันไม่ต้องอาศัยสลิงอะไรยึดโยงให้มันลอยอยู่ มันลอยของมันอย่างนั้น “ตามธรรมชาติ” เฉยๆ

ซึ่งผมเรียกสภาพแบบนี้ว่า เป็นสภาพที่มัน “เหนือสติ” มันหมดเวลาที่จะพูดเรื่องสติแล้ว มันเป็นสภาพที่เป็นอยู่อย่างนั้นเฉยๆ มันไม่มีความรู้สึกถึงว่าเราจะเรียกว่า เรากำลังมีสติ เรากำลังมีสมาธิ เรากำลังมีปัญญา

มัน “ไม่มีเรา” เพราะฉะนั้น…ไม่มีอะไร

เรา “เพียงแค่รู้” สภาพทุกสิ่งทุกอย่าง “ตามเป็นจริง” เฉยๆ

โดยที่เราไม่รู้สึกเลยว่า เราจะต้องมีอะไร

มันเลยเป็นคำสอนที่ว่า เราจะเห็นทุกสิ่ง “เป็นเช่นนั้นเอง” เห็นเฉยๆ ที่ผมพูดว่า

เราแค่ดำรงอยู่ในธรรมชาตินี้เฉยๆ

อันนี้เป็นหน้าที่ของเรา

เราไม่มีหน้าที่เป็นปฏิปักษ์อะไรกับธรรมชาติ

แต่ไม่ใช่ซื่อบื้อนะ ถ้าเราจัดสิ่งแวดล้อมให้มันเหมาะสมได้เท่านี้กับร่างกายเรา กับชีวิตเรา…ก็แค่นั้น ถ้าไม่ได้มากกว่านั้น เราก็ไม่มีตัณหาที่จะไปทำให้มันมากกว่านั้น เพราะฉะนั้น เราเลยไม่ทุกข์ เราอยู่ได้ตามสภาพที่เรา Effort ได้ คือ มีศักยภาพพอที่จะดูแลตัวเองได้ในระดับที่พอดี

ตอนที่ 4 พอดี

พอดี” นี้เป็นสิ่งสำคัญ…พอดีสบายเกินไปก็จะทำให้เราปฏิบัติไม่ได้ เราจะติดความสบาย เราจะไม่ค่อยเห็นความทุกข์ในชีวิตเท่าไหร่

ทุกข์เกินไป ปฏิบัติธรรมไม่ได้เหมือนกัน ถ้าพูดให้เห็นภาพ คือ เหมือนพวกสัตว์นรก พูดให้เห็นภาพใกล้เข้ามาอีก ก็เหมือนตอนที่เราโกรธมากๆ ก็ปฏิบัติธรรมไม่ได้ ใครจะทำให้เราหายโกรธ…ก็ไม่หาย หายไม่ได้เลยต้องโกรธ…ลักษณะแบบนี้ ทุกข์มากๆ ปฏิบัติธรรมไม่ได้

แต่มนุษย์เราโชคดี…โชคดีที่มี “ความเป็นปกติ” นี้เป็นพื้นฐานของชีวิตอยู่แล้ว แต่เราแค่หลงลืมมันไป

เรามีหน้าที่ง่ายๆ คือ ปลุก “ความเป็นปกติ” นี้กลับขึ้นมาเฉยๆ  แล้วอยู่กับมัน…อยู่กับมันให้เยอะกว่าอยู่กับแฟนเรา แล้วชีวิตเราจะเข้าถึง “ความพ้นทุกข์” ได้ทันที

และถ้าเราอยู่กับมันอย่างเต็มที่ “ความพ้นทุกข์”นั้นมันก็จะบริบูรณ์ เราจะพ้นทุกข์ตลอดไป

ตอนที่ 5 เลือกที่จะไม่ทุกข์ได้

ผมเคยไปเจอท่านเขมานันทะครั้งนึงที่หมู่บ้านบัวขาว บ้านท่านก็ซอมซ่อหน่อย ไม่ได้ดูดี…ดูน่าอยู่ จนหลวงพ่อมหาดิเรกไปเจอท่านเป็นแบบนั้น เลยบอกลูกศิษย์ว่า ปล่อยให้ครูบาอาจารย์อยู่อย่างนี้ได้ยังไง

ก็เลยเกิดการระดมทีมงานลูกศิษย์หลายสายออกไปช่วยกัน ก็เนรมิตบ้านซอมซ่อนั้นขึ้นมาเป็นบ้านที่ไม่ใช่หรูหรา แต่ก็สะอาดสะอ้านน่าอยู่…ก็ดี เพราะว่าท่านเขมานันทะเป็นผู้มีคุณูปการกับคนมากมาย จะเปรียบไปท่านก็เหมือนตัวแทนของหลวงพ่อเทียนด้วยซ้ำ คนรู้จักหลวงพ่อเทียนได้ในวงกว้างขวาง ผมคิดว่าเป็นเพราะท่านเขมานันทะ

เคยได้ยินคนพูดว่า ท่านเข้าไปในซอกกำแพงบ้าน แล้วปรากฏว่าท่านเข้าไปปั๊บ…อยู่ดีๆ สมองไม่สั่งงาน ขยับไม่ได้ คือ ไม่รู้จะไปทางไหน ก็นิ่งอึ้งไป ทำอะไรไม่ได้เลย ค้างอยู่นานเหมือนกัน ท่านก็ อืม…ต้องขยับออกทางนี้ๆ…อันนี้ก็เป็นปัญหาทางร่างกาย

แต่ถ้าเป็นพวกเรา…บางทีถ้านึกอะไรไม่ออก เราจะหงุดหงิด เหมือนเรานึก…อ้อๆๆ…คนนั้นนะ แต่จำชื่อเค้าไม่ได้ จะหงุดหงิดในใจว่า ทำไมนึกไม่ออก คนแก่ก็มีปัญหาแบบนั้นเหมือนกัน

แต่ถ้าเราปฏิบัติธรรม เราปกติดี เราจะเห็นว่ามันเป็นอย่างนั้นเฉยๆ ดังนั้น เราจะเห็นว่า คนแก่ 2 คน คนปฏิบัติธรรม กับอีกคนไม่ปฏิบัติธรรม จะมีชีวิตที่ต่างกัน

เราจะมีชีวิตที่ทุกข์กับไม่ทุกข์ต่างกัน

ร่างกายนี่เราห้ามมันไม่ได้ มันต้องป่วย มันต้องแก่ มันต้องเจ็บ มันต้องตาย แต่ “ความไม่ทุกข์” อันนี้เป็นสิ่งที่เราเลือกที่จะไม่ทุกข์ได้ ถ้าเราเริ่มฝึกปฏิบัติธรรม

ตอนที่ 6 ไม่มีอะไรในความปกติ

ความรู้ที่เราไปฟังอะไรเยอะๆ ฟังอะไรมากๆ แล้วเราก็จับประเด็นไม่ได้  มันจะเป็นตัวขวางกั้นในที่สุด

เพราะความรู้ทั้งหลายนี้มันจะพาเราสงสัยว่า “ใช่มั้ย? ใช่มั้ย? แบบนี้เราใช่หรือยัง? แบบนั้นใช่มั้ย?” มันจะเป็นลักษณะแบบนี้ แต่ถ้าเรารู้หลักปฏิบัติ เราจะไม่ติดสงสัย หลักปฏิบัติ คือ

รู้สึกตัว

ไม่หลงเข้าไปในโลกของความคิด แล้วก็

เห็นใจที่ปกติ รู้จักใจที่มันปกติจากสภาพเดิมแท้ อันนี้บ่อยๆ

ถ้าทุกคนยอมสละความที่เราอยากจะได้ความรู้ หรือเราอยากจะได้สภาวะอะไรที่มันดูหรูหรา หรือที่เราเคยฟังว่า คนนี้มีสภาวะนั้น มีสภาวะนี้ ถ้าเรายอมสละสิ่งเหล่านั้นได้…เราจะไปเร็วมาก

แต่เนื่องจากเราไปเอาความรู้หลายอย่างมาเยอะ สิ่งเหล่านั้นกลับกลายเป็นอุปสรรคที่ทำให้เราติดอยู่ ทำให้เราสงสัย

ความสงสัย” เป็นอุปสรรคอันใหญ่ของการปฏิบัติธรรม

ทำไมเราสงสัย? เพราะเราอยากจะได้ความรู้ ทำไมเราอยากได้ความรู้ ก็เพราะมัน “มีเรา” เราไม่ยอมอยู่กับความที่เราปกติ

ใน “ความปกติอยู่” ไม่มีอะไรเลย ไม่มีอยาก ไม่มีไม่อยาก ไม่มีความรู้อะไรด้วย เพราะในขณะที่คนเรา “ปกติ” อยู่ มันไม่มีอะไร

เคยรู้จักคนที่เป็นวิปัสสนูปกิเลส ที่ชอบพูดธรรมะมั้ย? มีความรู้ทางธรรมะขึ้นมาตลอดเวลา…มีอะไรแบบนั้น คนพวกนี้อยู่ในความคิดตลอด แต่เค้าไม่รู้ เค้านึกว่าเค้า…โอ้โห! กำลัง…แหม! ความรู้ทางธรรมะเค้าเยอะมาก  เค้า…อื้อหือ! คิดอะไรเห็นอะไรเป็นธรรมะไปหมด

เนี่ย!!..เค้าพลาด “การเห็นเฉยๆ” ไป การเห็นแล้วก็เห็นเฉยๆ  เค้าพลาดไป เค้านึกว่าเค้ากำลังปฏิบัติธรรมอยู่ ได้ความรู้เยอะแยะ…มันไม่มีอะไร

พระพุทธเจ้าเคยถามพระสารีบุตรว่า ท่านอยู่กับอะไร? พระสารีบุตรตอบว่า

อ๋อ…ผมอยู่กับ “สุญญตวิหาร ก็คือ อยู่กับความว่าง

ก็คือ “มีความว่างเป็นวิหารธรรม

แล้วมันจะมีอะไรในความว่าง…มันไม่มี

 

Camouflage

16-Nov-2016

 

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของคุณ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
iOS: https://itun.es/th/t6Mzdb.c

Android : https://goo.gl/PgOZCy