39.หวังแค่ไหนกัน

ตอนที่ 1 มีหน้าที่

 

การปฏิบัติธรรมนี้ทุกคนต้องเข้าใจเลยว่า “ความคิดต้องน้อยลง” ถึงจะเป็นทางแห่งความเจริญขึ้นมาได้ ถ้าเราปฏิบัติ…เดินแล้วฟุ้งซ่านตลอดทาง นี่ไม่ได้อะไรเลย ไม่เจริญด้วย

 

มีหน้าที่” คือ ไม่เกี่ยวกับเราต้องการหรือไม่ต้องการ เราชอบหรือไม่ชอบ ต้องการหายใจหรือไม่ต้องการหายใจ ชอบหายใจหรือไม่ชอบหายใจ มีมั้ย?…ไม่มี มันต้องหายใจ ร่างกายมีหน้าที่ต้องหายใจ ไม่เกี่ยวกับเราชอบหรือไม่ชอบมัน

มันหายใจได้ทั้งวัน แล้วไม่เหนื่อยเลยเห็นมั้ย? เพราะมันไม่เกี่ยวกับชอบไม่ชอบ “มันเป็นหน้าที่” ร่างกายมีหน้าที่ ตับไตไส้พุงต้องทำงานใช่มั้ย?…ไม่เกี่ยวกับว่าเราจะชอบไม่ชอบ มันจะชอบไม่ชอบ…มันต้องทำ มันต้องทำงานตลอดเวลาแล้วก็ไม่เหนื่อยด้วย

 

ถ้าเราต้องการ เราจะมีไม่ต้องการ

ถ้าเราอยากจะเดิน เราจะมีไม่อยากจะเดิน

แต่ถ้าเราทำเป็นหน้าที่จะไม่มีอย่างที่สอง

ต้องทำเป็นหน้าที่

 

 

เรามีหน้าที่ต้องทำต้องเดิน อันนี้เป็นหน้าที่ของมนุษย์ หน้าที่ของการเกิดมา เรามีหน้าที่ต้องเดินเฉยๆ

 

เหมือนเรามีหน้าที่ต้องกินข้าว บางทีเราไม่หิวเราก็ต้องกินใช่มั้ย? ไม่ใช่ว่าเราไม่อยากทำตอนนี้เราก็ไม่ทำ เรามีหน้าที่ต้องทำ จะชอบไม่ชอบอันนี้ไม่เกี่ยว…ต้องทำ !

 

ผมจะพูดตลอดว่า “หน้าที่ กับ วินัย” นี้เป็นคำศักดิ์สิทธิ์ คนเราถ้าไม่มีหน้าที่ ไม่มีวินัย เราเป็นคนไม่ได้

 

ชีวิตเราจะไหลไปตามกิเลสอย่างเดียว เราอยากปฏิบัติธรรมเราก็ไปปฏิบัติธรรม เราอยู่ภายใต้ “ความอยาก” อีกทีนึง

 

 

เพราะฉะนั้น หน้าที่กับวินัย

เป็นสิ่งที่อยู่เหนือความต้องการทั้ง 2 อย่างคือ “มีหน้าที่

จะต้องการหรือไม่ต้องการ ก็ต้องทำเป็นหน้าที่

การปฏิบัติธรรมก็เป็นหน้าที่แบบนั้น

ทุกคนมีหน้าที่แบบนั้น

 

 

ตอนที่ 2 เข้าไปในใจ…ไม่ใช่สมอง

 

เราต้องเข้าใจว่า เรื่องการปฏิบัติธรรมในศาสนาพุทธนี่ไม่ใช่เรื่องของการทำดี ไม่ใช่เรื่องของการที่เรากำลังจะต้องทำดี

 

ศาสนาพุทธเป็นเรื่องของการอยู่เหนือดีอีกทีนึง

 

สิ่งที่พวกเรากำลังทำกันอยู่นี้เรียกว่า เหนือดีเหนือชั่ว เหนือบุญเหนือบาป” เหนือของคู่ทั้งหลายที่เราชอบลงความเห็นตัดสินตลอด ดี-ไม่ดี กุศล-อกุศล อะไรพวกนี้ เราไปพ้นมันอีกทีนึง

 

ถ้าเราไปคิดว่าเราปฏิบัติธรรม แล้วเรากำลังทำดีอยู่ เราต้องการทำดี เราเลยปฏิบัติธรรม…อันนี้ไม่ใช่

 

 

ศาสนาพุทธเป็นศาสนาของการฝึกให้คนเห็นความจริง

ตื่นขึ้นมา…ตื่นขึ้นมาเห็นความจริงของโลกใบนี้

เห็นความจริงของสัจธรรม

เข้าใจสภาพเหนือโลกหรือ ปรมัตถ์” 

แล้วก็เข้าใจ “สมมติ” ด้วย

 

 

เพราะฉะนั้น ศาสนาพุทธนี้ไม่ใช่เรื่องของทฤษฎี หรือของที่เราชอบเรียนรู้กันว่ามีตัวตน ไม่มีตัวตน อะไรพวกนั้น

 

การเรียนรู้ทฤษฎีเหล่านั้นทั้งหมด เราเรียนรู้โดยอาศัยความคิดว่า มันไม่มีตัวตน สัจธรรมที่แท้จริงมันไม่มีตัวตน แล้วเราก็ไปตำหนิ (Blame) คนที่ไม่ปฏิบัติธรรมว่า มันมีตัวตน

 

การทำแบบนี้คล้ายๆ ว่า เราเลือกข้างเฉยๆ ทฤษฎีเหล่านี้มันเข้าไปในสมองเรา แล้วเราก็เลือกข้างว่า สิ่งที่พระพุทธเจ้าพูดนี่ถูก…มันไม่มีตัวตน มันต้องไม่มีตัวตน ถ้ามีตัวตนนี่ไม่ถูก…นี่! แบ่งแยกแล้วใช่มั้ย?  แยกถูกแยกผิดอีกแล้ว ว่ามีตัวตนเป็นผิด ไม่มีตัวตนเป็นถูกอีก

สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนเหนือกว่านั้นมหาศาล พระพุทธเจ้าสอนให้อยู่เหนือสิ่งทั้งสอง และก็เข้าใจมันด้วยว่าทำไมมันเป็นแบบนี้

 

เราจะเข้าใจว่าทำไมเค้าถึงยังมีความเห็นผิดอยู่ เราเข้าใจได้ว่า อ้อ…ก็เค้ายังไม่รู้แบบนี้ เค้ายังไม่เข้าใจแบบนี้

 

 

เราเข้าใจถึงสัจธรรมได้ เพราะอะไร?

เพราะมีคนบอกเรา คนสอนเรา แล้วเราลงมือปฏิบัติธรรม

พอเราเข้าใจสัจธรรมแล้ว เราเข้าใจตัวเองได้ เข้าใจคนอื่นได้

ถ้าเราปฏิบัติธรรมแล้วเข้าใจตัวเอง ไม่เข้าใจคนอื่น…อันนั้นไม่ใช่แล้ว

 

มันจะอยู่เหนือขึ้นมา…

พอมันอยู่เหนือขึ้นมา…มันจะเกิดความเข้าใจทุกคนได้

 

 

มันจะไม่ไปเจออะไรแล้วก็ตัดสินเค้าว่าเป็นอย่างนี้ เป็นอย่างนั้น มันไม่ถูกอย่างโน้น ไม่ถูกอย่างนี้ มันจะไม่มีตัณหา ไม่มีทิฏฐิ ไม่มีอคติที่จะไปว่าไปพูดไม่ดี

 

เพราะฉะนั้น ทุกคนต้องเข้าใจศาสนาพุทธให้ถูกว่า มันเป็นเรื่องของ “ความเข้าใจ

ความเข้าใจตัวนี้สำคัญมาก เข้าใจนี้คือ เข้าไปในใจเรา..ไม่ใช่เข้าสมองเรา

 

ถ้าเมื่อไหร่ธรรมะทั้งหลาย ที่พวกเราเรียนรู้กันมา มันเข้าสมองเรา มันไม่ใช่ธรรมะ มันเป็นทฤษฎีเฉยๆ แล้วเราก็แค่เลือกข้างหย่อนบัตร เราเอาทฤษฎีนี้ถูก

 

ไปให้พ้นทฤษฎีเหล่านั้นอีกทีนึงด้วยการปฏิบัติธรรม ด้วยการเข้าไป “ประจักษ์แจ้งด้วยใจตัวเอง

 

ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่พระพุทธเจ้าบอกว่า “ท่านจงมาลองดูเถิด

 

มาลองดู” นี้หมายความว่า ต้องประจักษ์แจ้งด้วยใจตัวเอง ต้องทำด้วยตัวเอง

 

 

ตอนที่ 3 ความรู้สึกตัวเป็นรากฐานสำคัญ

 

ความคิดจะพาเราคิดโน้น คิดนี่ คิดนั่น ทฤษฎีว่ามาแบบนี้ เราก็คิดๆๆ คิดอย่างเดียว คิดแล้วไม่มีวันจบ คิดแล้วไม่มีวันได้คำตอบทั้งหมด “เพราะความคิดนี้เป็นมายา

 

มายา” ก็คือ “ปฏิจจสมุปบาท” นั่นแหละ

 

จากอวิชชาก็ปรุง…ปรุงเป็นอะไรก็ได้ ปรุงจนเห็นนรก เห็นสวรรค์ เห็นผี เห็นเทวดา…ปรุงจนน่ากลัว

 

“ความรู้สึกตัว” นี้เป็นรากฐานสำคัญ

 

ถ้าเรานั่งสมาธิแล้วเราไม่มีความรู้สึกตัว เราจะหลงไปในมายาแบบนั้น จนถอนตัวไม่ขึ้น ใครพูดก็ไม่เชื่อ

 

นิมิต” เป็นสิ่งที่เชื่อไม่ได้ มันอาจจะจริงก็ได้ แต่ให้เราเชื่อไว้ก่อนว่า อย่าเพิ่งเชื่อ สังเกตว่า ความปรุงแต่งนี้ ปรุงอะไรก็ได้ ปรุงได้…โอ้โฮ! เหมือนจริงน่าเชื่อถือจนเราหลงเข้าไปวนเวียนกับอารมณ์แบบนั้น

 

เพราะฉะนั้น เราต้องเข้าใจว่า “ความรู้สึกตัว” เป็นสิ่งที่เป็นของจริง เป็นของที่เรารู้สึกได้ด้วยตัวเอง การจะทำกรรมฐานแบบใดก็ตาม ถ้าเราขาดความรู้สึกตัวแล้วเนี่ย…ผิดแน่นอน

 

ท่านเขมานันทะเล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนหลวงพ่อเทียนมีลูกศิษย์คนนึงชื่อ รอนนี่ รอนนี่เดินจงกรมทั้งวันทั้งคืนไม่หลับไม่นอนเลย วันนึงรอนนี่ก็ตาลอย ท่านเขมานันทะเห็นก็เลยไปเรียกหลวงพ่อเทียนซึ่งตอนนั้นเป็นมะเร็งกำลังนอนอยู่ หลวงพ่อเทียนทราบก็ลุกขึ้นมาทันทีเหมือนคนไม่ป่วยเลย แล้วก็รีบไปหารอนนี่ ไปจูงมือรอนนี่ ไปบีบมือแล้วพูดว่า “รู้สึกมั้ย? รู้สึกมั้ย?” จนรอนนี่กลับมา…ความรู้สึกตัวนั้นมันกลับมา ชีวิตมันกลับมา

 

อย่างที่ผมบอก ถ้าเราไม่มีความรู้สึกตัวก็เหมือนเราเป็นซอมบี้ เราเดินได้แต่เราเป็นซอมบี้ หลวงพ่อเทียนเรียกความรู้สึกตัวรอนนี่กลับมา รอนนี่กลับเป็นปกติได้

 

ท่านเขมานันทะถามหลวงพ่อเทียนตอนนั้นว่า ถ้าเราช่วยเค้าไม่ทันจะเป็นยังไง? หลวงพ่อเทียนบอกว่า “ถ้าช่วยเค้าไม่ทัน เค้าก็จะเป็นของคนอื่น” เป็นของมิจฉาทิฏฐินั่นแหละ

 

เป็นของคนอื่น” คืออะไร?

อยู่ในโลกของมายา อยู่ในโลกของมิจฉาทิฏฐิ อยู่ในโลกของความปรุงแต่ง อยู่ในโลกของความหลงไปแล้ว อย่างนี้จะกลับมาไม่ได้เลย…จนสุดท้ายเสียสติ

 

เพราะฉะนั้น “ความรู้สึกตัว” เป็นรากฐานสำคัญมากในการปฏิบัติธรรม ถ้าเรารู้สึกตัวไม่ได้ ทำอะไรก็ผิดหมด

 

 

 

ตอนที่ 4 รู้อย่างที่มันเป็น

 

ความรู้สึกตัวที่เราปฏิบัติธรรม มันต้องเป็นลักษณะของ “ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน

 

ต้องเบิกบานด้วย ถ้าเราปฏิบัติธรรมแล้วเราไม่เบิกบาน ให้รู้ไว้ว่าเราอาจจะกำลังกดข่ม บังคับ เพ่งอะไรอยู่ เรากำลังมีมาดนักฏิบัติธรรมอยู่ เรากำลังทำอะไรบางอย่างอยู่

 

ผมพูดตลอดว่า “การปฏิบัติธรรมไม่ใช่การทำ” ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบสิ้นของการปฏิบัติธรรมมีขั้นตอนเดียวคือ “ไม่ต้องทำอะไร” รู้อย่างที่มันเป็นเฉยๆ ไม่ว่าจะเป็นปุถุชน อริยชน ทำแบบเดียวกันหมด

 

 

เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมไม่มีขั้นไม่มีตอน

“รู้อย่างที่มันเป็น รู้ด้วยจิตที่มันว่าง จิตที่มันเป็นปกติ” 

จิตที่มันเป็นปกติเป็นพื้นฐานแล้ว

จะเป็นการรู้การเห็นที่ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ

 

 

พอประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ สัมมาที่เหลืออีก 7 องค์นี่เกิดขึ้นทันทีพร้อมกัน ไม่ใช่ไปนั่งทำทีละสัมมา เราไปนั่งทำทีละสัมมานี่ทำอีกแล้วใช่มั้ย? เราทำอีกแล้ว ชีวิตไม่เคยหยุดทำเลย ทำอย่างเดียว

 

เราจะปฏิบัติธรรม เราต้องทำอย่างนี้ ทำอย่างโน้น ทำอย่างนั้น เนี่ย!! ผมถึงบอกว่า เราไปเรียนรู้ธรรมะ เราเอาทฤษฎีเข้ามาใส่หัว ธรรมะกลายเป็นทฤษฎีไปแล้ว แล้วเราก็จะไปทำมัน

 

ถ้าเมื่อไหร่ที่ธรรมะเข้ามาเป็นทฤษฎีในสมอง ไม่ต่างจากคิดในเชิงบวกหรือ Positive thought เท่ากันเลย อยู่ในความคิดเหมือนเดิม

 

 

ตอนที่ 5 ตั้งเป้า ต้องพ้นทุกข์ก่อน

 

เรากำลังเดินเส้นทางใหม่…เปิดเส้นทางอริยมรรค โอ้โห…ชื่อเท่ห์ “อริยมรรค”…แต่ทำเหมือนเดิม กำลังไปสู่ความเป็นอริยบุคคลแต่ทำเหมือนเดิม…จะเป็นได้ยังไง?

 

ก็ยังคงเป็นบุคคลเหมือนเดิม ถ้าเรายังทำเหมือนเดิม…วิถีชีวิตเรายังเหมือนเดิม

 

วิถีชีวิตของพวกเราทุกคนที่สนใจปฏิบัติธรรมจะก้าวหน้าได้ เราต้องเลือกองค์ประกอบชีวิตให้มันดีที่สุด ให้มันเหมาะสมที่สุดเท่าที่เราทำได้

 

ชีวิตของทุกคนไม่ยาว เราทุกคนกว่าจะมารู้เรื่องแบบนี้ อายุตั้ง 30 40 50 60 ปี ผ่านประสบการณ์ชีวิต ผ่านความหลงโลกมาไม่รู้เท่าไหร่ แล้วพอมารู้ทางที่ถูกต้อง เราก็ยังใช้ชีวิตแบบเดิม คิดแล้วเป็นไง..โง่มั้ย?

 

แทนที่เราจะทุ่มเทเวลาที่เหลือทั้งหมดพาตัวเองไปสู่ความพ้นทุกข์ที่แท้จริง เราก็ไปทำเรื่องเหมือนเดิม

 

แล้วเราก็บอก โลกกับธรรมต้องทางสายกลาง แต่ทางสายกลางของพระพุทธเจ้า ไม่ได้ทำแบบนั้น

 

ทางสายกลางของพระพุทธเจ้าหมายความว่า “เราอยู่เหนือทุกสิ่งทุกอย่างได้” นั่นคือ สายกลาง

 

 

มัชฌิมาปฏิปทา” คือ ความเป็นกลางต่อสรรพสิ่ง

ความที่เราอยู่เหนือการตัดสินแบ่งแยก

นี่เรียกว่า ทางสายกลาง

 

 

เราอยู่ตรงกลางแบบนี้ไม่มีอะไรลากเราไปได้ไม่ว่าซ้ายหรือขวา ไม่มีอะไรลากเราไปได้ เพราะฉะนั้น เราทุกข์ไม่ได้

 

จิตใจนี้พ้นไปจากความปรุงแต่งทั้งปวงแล้ว มันตัดสินแบ่งแยกอะไรไม่ได้

 

แต่เราจะตัดสินก็ได้ แต่มันก็ไม่มีผลอะไร เพราะเราเข้าใจหมด ถูก-ไม่ถูก ดี-ไม่ดี…เข้าใจหมด ถ้าทำอย่างนี้แล้วเค้าไม่รอดแน่…เราก็รู้เห็นทุกอย่างหมดแต่เราก็ไม่ทุกข์ เค้าจะทำก็เรื่องของเค้า

 

เพราะฉะนั้น เราต้องเข้าใจทางสายกลางให้ถูก เราชอบเอาเรื่องของความดีในโลกเอามาบีบตัวเองว่า เราต้องทำอย่างนี้…ไม่ได้หรอกเราต้องทำอย่างนี้ก่อน

 

แต่จริงๆ แล้วให้พ้นทุกข์ก่อนแล้วค่อยไปทำ ไม่ใช่ว่าต้องทำอย่างนี้ก่อนแล้วค่อยพ้นทุกข์

 

เรามีหน้าที่สำคัญ คือ “ต้องพ้นทุกข์ก่อน”

 

แต่นี่เรายังอยู่ในทุกข์ แล้วเราก็จะพ้นทุกข์ ภาษาไทยเรียกว่า เหยียบเรือสองแคม โลกก็จะเอา ธรรมก็จะเอาด้วย เพราะฉะนั้น ขาต้องฉีกไปไหนไม่ได้ ถ่างออกๆ เรื่อยๆ…ตาย!! ขาฉีกขาด

เคยมีคนพูดบอกว่า เราปฏิบัติธรรมเราอยากพ้นทุกข์นะ แต่เราก็อยากได้ความสุขในโลกด้วย ความสุขในโลกเราก็จะเอา ความพ้นทุกข์เราก็จะเอา…นี่!! เหมือนเป็นคนบ้า เหมือนดำกับขาวจะเอาทั้งคู่

 

เพราะฉะนั้น ชีวิตทุกคนเราต้องตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนแน่วแน่ว่า “เราต้องการพ้นทุกข์” พ้นทุกข์แล้วค่อยไปทำชานมไข่มุกเพิ่มอีกร้านก็ได้…พ้นทุกข์ก่อน

 

 

ตอนที่ 6 หวังแค่ไหนกัน

 

ผมพูดตลอดว่า การปฏิบัติธรรมนี่มันไม่ยาก

แต่อยู่ที่เราอึดพอที่จะทำให้มันเป็นนิสัย

ให้มันเป็นวิถีชีวิตของเราเลยได้มั้ย?

ให้เรารู้สึกว่าชีวิตของเราคือการปฏิบัติธรรม ทำได้มั้ย?

 

 

เราต้องสร้างองค์ประกอบของชีวิตให้กับตัวเองอย่างเต็มที่ที่สุด ทำอะไรได้ต้องทำอย่างเต็มที่ที่จะให้ชีวิตตัวเองมีไลฟ์สไตล์ที่เหมาะสมเกื้อกูลต่อการปฏิบัติธรรม…เราต้องทำ

 

ที่พูดทุกครั้ง “ความวิเวก สันโดษ” อันนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก หลายคนฟังธรรมเยอะก็บอกว่า เราทำงานไปปฏิบัติธรรมไปก็ได้…ก็ได้เหมือนกันแต่ได้แค่นั้น ไม่ใช่ทำไม่ได้…ทำได้ แต่เราหวังแค่ไหนกัน !!

 

 

เราหวังอะไรกัน?

เราหวังมีชีวิตดีขึ้นหน่อย

หรือเราหวังจะพ้นทุกข์ ต้องถามตัวเองให้ดี…

 

 

มีคนมาบอกว่าปฏิบัติธรรมแล้ว…ก็ดีขึ้นแล้วพี่ ดีขึ้นแล้วครับ…ใช่ แต่มันไม่พ้นทุกข์ !!

 

ชีวิตที่ยังเป็นปุถุชนอยู่ยังไม่พ้นทุกข์ มีชีวิตเป็นคลื่นที่กิเลสพร้อมจะลากเราไปตกต่ำได้ตลอดเวลา ลากเราไปผิดพลาดได้ตลอดเวลา

 

วันนี้เราอาจจะโอเคแล้ว…ทุกอย่างโอเค แต่วันนึงที่กิเลสถาโถมเข้ามาปึ๊งงง…เราน็อคเลย น็อคนี่อาจพาชีวิตตกต่ำ เป็นบ้าก็ได้

 

สมมติ ทำธุรกิจขายเสื้อผ้า โรงงานจะเลิกผลิตให้ เราอาจจะเป็นบ้าเลยก็ได้ ทั้งที่จริงๆ ยังมีเงินเหลือไม่รู้กี่ร้อยล้าน แต่ทำใจไม่ได้

 

เพราะฉะนั้น ความสุขที่แท้จริง…ที่พวกเราไขว่คว้าหากันอยู่ จะสังเกตว่ามันไม่ใช่เงิน

 

เรามีเงินแต่เราก็บ้าได้ถ้าเราเสียใจเราผิดหวังอะไรก็ตาม เราสังเกตคนรวยๆ เยอะแยะ ไม่มีความสุข เพราะความสุขไม่ใช่เงิน

 

เพราะฉะนั้น ตั้งเป้าไว้ให้ชัดเจนว่า เราจะได้ความสุขจริงๆ คือ

“ความพ้นจากทุกข์ไป”

 

 

ความพ้นจากทุกข์ไปนี่

พวกเราพ้นทุกข์ได้ที่นี่..เดี่ยวนี้..ตอนนี้

 

 

ในขณะที่จิตใจเราไม่มีความคิดปรุงแต่ง จิตใจเราปกติอยู่…ก็ถึงความพ้นทุกข์แล้ว ในความพ้นทุกข์นี้ก็เป็นความสุขแล้ว

 

 

ตอนที่ 7 ใช้ชีวิตที่เกื้อกูลต่อการปฏิบัติธรรม

 

ศาสนาพุทธจริงๆ ไม่ค่อยอยากจะพูดเรื่องความสุขเท่าไหร่ เพราะโลกนี้ไม่มีความสุข เราพูดถึงความพ้นจากทุกข์

เมื่อไหร่เราพ้นจากทุกข์ นั่นเรียกว่าสุขแล้ว

 

ความพ้นจากทุกข์…เป็นสิ่งที่พวกเราจะจินตนาการไม่ออกเลย เพราะมันเทียบไม่ได้เลยกับความสุขทั้งหลายที่เรากำลังหาอยู่ในโลกทุกวันนี้ ตามกิเลส ตัณหา ราคะทั้งหลาย เหมือนน้ำหนักกับส่วนสูงเป็นคนละมาตรวัดเลย

 

เพราะฉะนั้น ชีวิตทุกคนต้องการความสุข…ต้องไปให้มันถูกทาง ใช้เวลาที่กำลังมีอยู่ ร่างกายกำลังแข็งแรงอยู่ มีองค์ประกอบของชีวิตทุกอย่างที่พร้อมที่จะปฏิบัติธรรม…ที่พร้อมที่จะเจริญจิต เจริญใจ…แล้วทำให้มันเต็มที่

 

เราลองนึกถึงตัวเองก็ได้…ตอนนี้เรามีนักปฏิบัติธรรมในนี้ 20 ชีวิต สังเกตตัวเองว่าชีวิตเราดีขึ้นรึเปล่า?

 

 

ซื่อสัตย์กับตัวเองหน่อย..ที่บอกว่า เราเป็นนักปฏิบัติธรรม…

เราปฏิบัติหรือยัง?

เราได้สร้างองค์ประกอบของชีวิตที่มันเกื้อกูลต่อการปฏิบัติธรรมแล้วหรือยัง?

เราได้ตั้งเข็มทิศชีวิตของเราให้มันเต็มที่แล้วหรือยัง?

ที่มันช่วยเราให้การปฏิบัติธรรมมันเจริญก้าวหน้า

หรือจริงๆ พวกเราเอ้อระเหยไปเรื่อย

 

 

“โอ้…นี่ก็ปฏิบัติอยู่เหมือนกัน เดินจงกรมเช้า-เย็น ตื่นตี 4”

แม่ค้าในตลาดเค้าตื่นตี 3 เค้าตื่นเช้าเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องที่เราอยู่ในรูปแบบ เราตื่นเช้าได้…แล้วเราก็บอกว่าเราเป็นนักปฏิบัติธรรมแล้ว

 

เราจะเป็นนักปฏิบัติธรรมก็ต่อเมื่อ…วันๆ เราคิดแต่เรื่องว่าเราจะทำยังไง? ใช้ชีวิตยังไงที่จะเกื้อกูลการปฏิบัติธรรมให้มากกว่านี้? ให้การปฏิบัติธรรมเข้าไปอยู่ในสายเลือดเรา จนคำพูดที่ว่า

 

เรารู้สึกว่า..ชีวิตหลังจากนี้ของเรา

มีหน้าที่เดียวคือ การปฏิบัติธรรม

 

มันต้องเข้าไปในเลือดเราแบบนั้น

 

พอเรามีเป้าหมายแบบนั้น ในจิตในใจเราจะทำทุกอย่าง จะหาทุกหนทางที่จะทำให้เราเจริญขึ้น ให้มันเกื้อกูลการปฏิบัติธรรมของเรามากขึ้น เราจะเลิกทำในสิ่งที่ไม่จำเป็น เราจะเลิกทำในสิ่งที่พาเราตกต่ำ เราจะเลิกทำสิ่งที่เป็นอุปสรรค

 

ตอนที่ 8 อธิศีล คือ ความเป็นปกติ

 

หลายคนอาจไม่เข้าใจเรื่องของ “กรรม” นี่มันไม่ใช่เรื่องเล่นๆ

 

กรรมเป็นสิ่งที่ต้องรับ ไม่ว่าจะกรรมดีหรือกรรมชั่ว เป็นสิ่งที่ต้องรับหมด

ถ้าเรายังอยู่ในโลกนี้ เราต้องทำกรรม ไม่ว่ากรรมนี้มันจะดีหรือจะชั่วก็ตาม จิตใจที่อยู่ในโลกด้วยความไม่ปกติ ผิดปกติ…อันนี้เป็นต้นเหตุของกรรม

 

เพราะฉะนั้น เราต้องรับกรรมที่เรียกว่า “วิบากกรรม และวิบากจิต” จากความผิดปกตินั่นแหละ เราต้องรับทุกอย่าง

 

แต่พวกเราตอนนี้…คล้ายๆ กรรมมันมาช้า ชีวิตทุกคนสบายดีไม่มีอะไร พอมันมาช้าปุ๊บ…เราเข้าใจความน่ากลัวของกรรมไม่ได้ว่า เวลามันมาแล้ว แล้วเราต้องรับมัน เช่น เกิดเวทนาทางร่างกาย ต่อให้ใจไม่ทุกข์ ร่างกายมันก็ทุกข์ เอามีดมากรีดเนื้อเรา เราก็เจ็บเหมือนกัน

 

ทุกคนมีต้นทุน…สังเกตมั้ย? เรามีต้นทุนที่ดี ไม่อย่างนั้นเรามีอัตภาพแบบนี้ไม่ได้ เป็นมนุษย์ครบ 32 ไม่พิการ ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บอะไรที่รุนแรงกับเรา

 

ทำไมเรามีอัตภาพแบบนี้ได้ พระพุทธเจ้าก็บอกว่า “เพราะเรามีศีล” ใช่มั้ย? เรามีศีลที่สมบูรณ์ดี หรือพูดลึกหน่อยเขาเรียกว่า “กุศลกรรมบถ 10 เหล่านั้น

 

 

แต่สิ่งที่ใหญ่กว่าศีล เขาเรียกว่า

อธิศีล” คือ “ความเป็นปกติ

จิตใจที่เป็นปกติเท่ากับมีศีลนี้คุ้มครองแล้ว

 

 

เราเกิดขึ้นมามีอัตภาพแบบนี้ด้วยต้นทุนของการที่เรามีศีลมาก่อน ถามตัวเองว่าทุกวันนี้เรามีศีลขนาดไหน? ศีลในความหมายนี้ หมายถึง ความเป็นปกติ

 

บางคนบอกไม่ได้ฆ่าสัตว์ ไม่ได้ทำอะไรเลย ไม่ได้ผิดศีล 5 ข้อ อ้าว…  พระพุทธเจ้าบอกมีศีล 227 ข้อ นี่! ลำบากแล้ว

 

เพราะฉะนั้น “อธิศีล” คือ “ความเป็นปกติ”

 

ชีวิตเราตั้งแต่ปฏิบัติธรรมมา…เอาแค่นี้ก็พอ ผิดปกติขนาดไหน?…ลองดูวันๆ “ผิดปกติ” กับ “ปกติ” นี่กี่เปอร์เซ็นต์

 

ถ้าความผิดปกติ ชีวิตกำลังขาดทุน

 

ทุนที่เรากำลังได้มาในชีวิตนี้ อัตภาพนี้ เรากำลังใช้มันอยู่ แล้วเราก็ใช้ไปในทางผิดปกติ!! เท่ากับเราใช้ทุนเดิม เรากำลังขาดทุนอยู่

 

เพราะฉะนั้น ถ้าเราขาดทุนตลอดชีวิตจะเป็นยังไง? สมมติว่าชาติหน้ามีจริงต้องเกิดใหม่ คิดเหรอว่าจะได้เหมือนเดิม…ไม่มีทาง ไม่มีทาง ถึงเป็นคนดีก็เถอะ คนดีผิดปกติเยอะแยะ คนดีก็ด่าคนชั่ว

 

อยากจะให้ทุกคนตระหนักให้ชัดว่า ชีวิตของเราทุกคนกำลังขาดทุนตลอด ชีวิตที่ขาดทุนตลอดจะเกิดผลที่เหมือนเดิมไม่ได้ จะต้องแย่ลง

 

เราอาจจะรวยชาตินี้ ชาติหน้าไม่แน่ เราอาจจะครบ 32 ชาตินี้ ชาติหน้าไม่แน่

 

เรื่องชาตินี้ชาติหน้า อันนี้เป็นการเปรียบเทียบให้ฟังเฉยๆ ซึ่งมันจะมีไม่มีก็เป็นอีกเรื่องนึง แต่ว่าเป็นการเปรียบเทียบให้เห็นว่า เรากำลังใช้ชีวิตอย่างขาดทุน ถ้าเราใช้ชีวิตในทางขาดทุนอยู่ อนาคตดีไม่ได้ ไม่ต้องเรียกชาติหน้า เอาพรุ่งนี้ก็พอ

 

มีคนไปถามหลวงพ่อชาว่า “หลวงพ่อชาติหน้ามีมั้ย?” หลวงพ่อชาถามว่า “พรุ่งนี้มีมั้ย?” คนนึงตอบ “มี” หลวงพ่อชาบอก “อืม….ถ้ามีก็มี ถ้าตอบพรุ่งนี้ไม่มี ก็ไม่มีก็ได้”

 

มันเป็นเรื่องรู้เอง…ไม่ใช่เรื่องที่ต้องหาคำตอบ แต่สิ่งที่เราต้องรู้ตอนนี้ ก็คือว่า ปัจจุบันนี้ถ้าเราทำดี เป็นปกติสุขดี อนาคตดีแน่

 

สังเกตภาษาไทย “ปกติสุข

ปกติ ถึงจะสุข

ไม่ใช่ “สุขปกติ” เห็นมั้ย?

คนไทยนี่ก็เก่งเข้าใจธรรมะ

 

ขอให้มีความเป็นปกติสุข ก็คือ ปกติ…มันถึงสุข

 

เพราะฉะนั้น เราก็อย่าใช้ชีวิตให้มันขาดทุน…ขาดทุนกันมาเยอะแล้ว บางคนรู้ธรรมะก็ยังขาดทุนอยู่ ขาดทุนไม่เลิก

 

#Camouflage

17-Jul-2016

 

YouTube: https://youtu.be/C0K3-vUmRx8

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของคุณ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
-iOS https://itun.es/th/t6Mzdb.c

-Android https://goo.gl/PgOZCy