37.สมดุลชีวิตที่แท้จริง

 

ตอนที่ 1 สมดุลที่จิตใจ

 

มีหลายคนพูดเรื่อง “ความสมดุล” และพวกเราก็ฟังเรื่องพวกนี้บ่อย

 

หลายคนชอบแนะนำชีวิตที่สมดุลโดยเอาคำพระพุทธเจ้าไปอ้างถึง “ทางสายกลาง

 

ทางสายกลางคืออย่างไร?

ต้องแบ่งเวลา ไปเที่ยวบ้าง ทำงานด้วย เข้าวัดเข้าวาบ้าง ให้มันสมดุล…มันเป็นความสมดุลทางความคิดของคนเฉยๆ

 

สังเกตมั้ยว่าความสมดุลของกูรูแต่ละคนไม่เหมือนกัน ความสมดุลของบางคนบอกว่า เราต้องกินอาหารตามกรุ๊ปเลือดนะถึงจะถูกต้อง อีกคนบอกว่าเราเป็นสัตว์กินพืช  แล้วอย่างนี้เราจะเชื่อใครดี? เพราะเราอยากจะรักษากายใจให้สมดุลใช่มั้ย?

ทฤษฎีมันมีเยอะในโลกนี้ ขึ้นกับใครจะเจออะไรที่มันดีที่สุดสำหรับร่างกายและจิตใจเรา

เพราะฉะนั้น ข้อมูลทั้งหลายในโลกนี้เป็นสิ่งที่เราฟังได้ แต่มันจะใช่ มันจะเหมาะกับเรามั้ย? เราต้องพิสูจน์เอง

 

ความสมดุลที่แท้จริงไม่ใช่เรื่องของการที่ใช้ความคิดในทางโลก โดยการคิดเอาเองว่าแบบนี้เรียกสมดุล

 

 

จริงๆ แล้ว “ความสมดุลที่แท้จริง” ก็คือ

ทางสายกลางของพระพุทธเจ้า

 

เราจะสมดุลหรือเข้าทางสายกลางที่แท้จริงได้ ก็คือ

เราต้องพ้นจากตัวตนไปให้ได้

 

 

เมื่อไหร่ที่เราพ้นจากตัวตน เราจะเป็นปกติอยู่ จิตใจนี้เป็นปกติอยู่ ไม่ว่าในสภาพแวดล้อมไหน เราก็ไม่ทุกข์กับมัน

 

เรามีความไม่ทุกข์เพราะอะไร? เพราะเราพอเพียงกับอัตภาพ กับสิ่งแวดล้อม กับเงื่อนไขที่เราได้รับในตอนนี้

 

 

เมื่อเรามีความพอเพียง กับสิ่งที่เราเป็นอยู่ตอนนี้

นั่นเรียกว่า สมดุลแล้ว…เรียกว่า เราอยู่ตรงกลางแล้ว

 

 

พระพุทธเจ้าเป็นถึงเจ้าชาย มีเงินมากมาย พ่อจะสร้างวัดให้ใกล้ๆ วัง แต่พระพุทธเจ้าไม่เอา…จะอยู่ในป่า ป่าก็ลำบาก ไม่ได้สะดวกสบาย แต่พระพุทธเจ้าเลือกจะอยู่อย่างนั้น เพราะพระพุทธเจ้ารู้ว่าเป็นสิ่งแวดล้อมที่จะเอื้อต่อพระรูปอื่นๆ ที่จะได้ปฏิบัติธรรม พระพุทธเจ้าก็ยอมมาอยู่ด้วย

 

การที่พระพุทธเจ้าไปอยู่แบบนั้น พระพุทธเจ้าไม่มีทุกข์กับสภาพแบบนั้น เพราะว่าจิตใจพระพุทธเจ้านี้มันสมดุลแล้ว…มันสมดุลอยู่ที่ไหน?  “สมดุลที่จิตใจ” ของแต่ละคน

 

ไม่ใช่ทุกคนจะได้เงื่อนไขที่ดีที่สุดต่อชีวิตตัวเอง ไม่ใช่ทุกคนจะได้อาหาร อากาศ สิ่งแวดล้อม เพื่อนบ้าน เพื่อน หรือมีแต่คนดีๆ ที่ Perfect…มันไม่มี

 

 

ความ Perfect มันไม่มี 

ความไม่ Perfect คือ ความ Perfect

 

 

ความไม่ Perfect” ก็คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นี่แหละคือ ความ Perfect

 

แต่มนุษย์ต้องการให้มันเที่ยง ให้มันไม่ทุกข์มีแต่ความสุข ให้มันคุมได้ มนุษย์คิดว่าอย่างนี้เรียก Perfect

 

เราฝึกจนวันนึงจิตใจเราอยู่ได้ในความไม่ Perfect ของธรรมชาติที่มันเป็นแบบนี้ ถึงวันนั้นเราจะเข้าถึง “ชีวิตสมดุลที่แท้จริง” หรือที่เค้าเรียกว่า “สันโดษ

 

สันโดษนี้ไม่ใช่ว่าโดดเดี่ยว

 

สันโดษ” ก็คือ เราพอใจกับอัตภาพที่เราพึงจะหาได้…ได้แค่นี้ เราก็โอเคว่าได้แค่นี้ ถึงรู้ว่าจะมีสิ่งที่ดีกว่าที่จะช่วยเรามากกว่านี้

 

แต่ด้วยอัตภาพถ้าเราไม่มีปัจจัยพอ เราไม่มีความสามารถพอที่จะได้สิ่งๆ นั้น…เราก็ไม่ทุกข์อย่างมากก็ตายเร็วขึ้นอีกหน่อย

 

 

ตอนที่ 2 ไม่ใช่สมดุลแบบคิดเอาเอง

 

พวกเราต้องเข้าใจให้ชัดว่า ความสมดุลที่แท้จริงนั้นไม่ใช่สิ่งที่เราจะไปนั่งหาเงื่อนไขดีๆ ให้กับชีวิตอยู่ตลอดเวลา นั่นไม่ใช่ความสมดุล…นั่นคือ “ความทุกข์

 

 

เมื่อไหร่ที่จิตใจเราปกติอยู่

เราพ้นไปจากตัณหา ความคาดหวัง ความต้องการชีวิตที่ Perfect

เมื่อนั้นเราจะมีชีวิตที่สมดุลที่แท้จริง

จะเป็นทางสายกลางที่แท้จริง

 

 

ไม่ใช่สายกลางหรือสมดุลแบบคิดเอาเองตามทฤษฎีที่เราสั่งสมมา เช่น เราเคยเป็นหมอเราก็คิดว่าแบบนี้เรียกสมดุล เคยเป็นนักกีฬาต้องแบบนี้ถึงสมดุล มีเงื่อนไขที่เค้าเรียนรู้มา แล้วเค้าค่อยประมวลผลออกมา ว่าแบบนี้ถึงจะสมดุล

 

ถ้ามันมีสมดุลจริงๆ มันคงจะมีข้อกำหนดให้มนุษย์ซักอย่างนึงซักทีนึงใช่มั้ย? ตั้งหลายพันปีมาดูเหมือนมันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ มันไม่ค่อยมีอะไรที่มันจะ…เป๊ะ! ซักทีนึง

 

 

แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนเลย 2,000 กว่าปีคืออะไร?

คือคำสอนของพระพุทธเจ้า

ที่จะพาเรากลับไปสู่ความสมดุลที่แท้จริงในที่สุดของชีวิต

ก็คือ ความไม่ทุกข์

 

 

ความที่เราดำรงอยู่ (Being) ได้ในธรรมชาติอย่างแท้จริง โดยที่เราไม่ต้องไปมุ่งแสวงหาอะไรมาเพิ่มเติมให้กับชีวิตเพื่อจะให้สมดุล หาได้เท่าที่สถานการณ์พอดีๆ

 

มันมีอย่างนี้ก็อย่างนี้ มันไม่มีอย่างงี้ก็ต้องตายก็อย่างงี้…จบ ไม่เป็นทุกข์กับอะไรเลย อันนี้เรียกว่า “มีชีวิตที่สมดุล จิตใจนี้สมดุลแล้ว ไม่กระเพื่อมหวั่นไหวแล้ว” เป็นแบบนั้น

 

 

ตอนที่ 3 อยู่กับมันอย่างกลมกลืน

 

ไม่ใช่ว่าเราจะละเลยสมดุลทางโลกนะ เราก็ต้องมีอยู่ เราต้องรู้จักตัวเอง ร่างกายเรา จิตใจเรา ที่จะทำให้มันบรรเทาทุกข์ ให้มันไม่ทุกข์มากเกินไป

 

เพื่อจะมีแรง มีกำลังใจที่จะปฏิบัติธรรมได้ เพื่อจะไปสู่ความสมดุลที่แท้จริง ก็คือ “การพ้นจากตัวตน หมดมิจฉาทิฐิ

 

 

เพราะฉะนั้น คนที่เข้าใจธรรมะแล้ว เข้าถึงธรรมแล้ว

เค้าไม่ปฏิเสธโลก

เค้าเข้าใจโลก และก็เข้าใจธรรม

มันเป็นความกลมกลืน

เราอยู่กับมันอย่างกลมกลืน

 

 

เราอยู่กับมันอย่างกลมกลืนได้ เพราะว่าเราเข้าใจมัน…เข้าใจมันอย่างชัดเจน สิ่งเหล่านี้เป็นอัตโนมัติ เราจะเป็นเองแบบนั้น

 

การขัดเกลากิเลสจะเป็นอัตโนมัติเองเหมือนกัน เราจะเห็นอกเห็นใจคนอื่นมากขึ้น เราไม่อยากเห็นใครทุกข์ เราไม่อยากทำให้ใครต้องทุกข์ด้วย เราจะเห็นแก่ตัวน้อยลง

 

เพราะเราจะเข้าใจว่า ในชีวิตทุกคนก็มีความทุกข์เยอะอยู่แล้ว แต่บางคนไม่เห็นว่าตัวเองทุกข์ คิดว่ากำลังมีความสุขอยู่ แต่คนที่เข้าใจแล้ว เค้าก็เห็นว่ามันทุกข์เยอะ เค้าเลยไม่อยากจะไปทำให้มันทุกข์กว่านี้

 

 

ตอนที่ 4 จิตใจพัฒนายังไง?

 

ธรรมชาติของจิตใจเราทุกคนที่ยังไม่ปกตินี้ มันดิ้นรน…ดิ้นรนเยอะ ในทางละเอียดความดิ้นรนนี้เป็นสิ่งที่เราเห็นไม่ได้ มันเหมือนไฟ เป็นไฟเผาล้นเราตลอดเวลา

 

แต่เราไม่เห็นเรานึกว่าเป็นไฟเย็น สว่างไสว เล่นดอกไม้ไฟ แต่ความจริงมันเป็นทุกข์มาก

 

ตอนนี้เราเห็น “ความดิ้นรน” ได้นิดๆ หน่อยๆ เช่น เราอยากจะไปเที่ยว เราอยากจะไปกินข้าว เราอยากจะออกจากบ้าน เราอยากจะเล่นไลน์ เราอยากจะเล่นเฟสบุ๊ค เราอยากจะคุยกับคนโน้น เราอยากจะคุยกับคนนี้ อันนี้เป็นความดิ้นรนเล็กๆ น้อยๆ ที่เราพอจะเห็นได้ ก็ให้เห็นก่อนจะได้รู้ว่า “ชีวิตมันทุกข์

 

จนวันนึงถ้าเราเข้าใจความจริง เข้าใจธรรมะ เราจะเข้าใจโลก เข้าใจคนอื่น ไปให้ถึงจุดๆ นั้น เราก็จะไม่ต้องทุกข์ เพราะในที่สุดเราจะเข้าใจ “ความเป็นเช่นนั้นเอง

 

ความเป็นเช่นนั้นเอง” นั้น ตอนนี้พวกเราลองคิดเองก็ได้  สมมติเราเห็นอะไรๆๆ อืม…ก็อย่างงั้นๆ มันก็อย่างงั้นๆ

 

คำว่า “อย่างงั้นๆ” สังเกตมั้ย?

ไม่มีการตัดสินอะไรเลยว่ามันดีหรือไม่ดี ถูกหรือผิด…ไม่มี

มันก็อย่างงั้นๆ

 

เพราะฉะนั้น ธรรมะของพระพุทธเจ้านี้มันเหนือสิ่งพวกนั้น

พอมันเหนือการตัดสินแบ่งแยก เราก็ไม่ต้องทุกข์

ให้จิตใจมันถูกพัฒนาไปถึงจุดนั้น

 

 

พัฒนาได้ยังไง?

ปกติ

 

ปกติย่ำอยู่กับที่…ย่ำอยู่กับความเป็นปกตินี้ ไม่ได้ไปไหน ไม่ได้ทำอะไรเป็นขั้นเป็นตอน ไม่ต้องบรรลุธรรมก็ได้ ปกติได้อย่างสมบูรณ์ก็พอแล้ว ไม่ทุกข์แล้ว

 

 

ตอนที่ 5 เลิกเลี้ยงมาร

 

ถ้าเมื่อไหร่ที่เราได้พบความไม่ทุกข์

เราก็ได้พบพระพุทธเจ้าตัวจริง

 

เพราะฉะนั้น เวลาที่เราปกติอยู่

เรากำลังได้พบพระพุทธเจ้าแล้ว..พบบ่อยๆ

 

 

พบบ่อยๆ ยังไง?

รู้สึกตัว

กลับมาดูจิตใจตัวเอง เป็นยังไงปกติมั้ย?

 

ถ้าไม่ปกติ เราพบอะไร?…พบมาร

แล้วถ้าเป็นคนบ้า พบมารแล้วยังรักษามารเอาไว้อยู่

นี่! ถือว่าเป็นบ้าเต็มขั้น

 

ถ้าพบมารแล้วเราต้องรีบอะไร?

รู้สึกตัวไม่ตามความคิดไป เป็นปกติเอาไว้

นี่คือไปหาพระพุทธเจ้า

 

ถ้าเราไม่ปกติเท่ากับเราพบมาร และถ้าเรายังเลี้ยงมารไว้อยู่…เราเป็นคนบ้า เราเป็นคนโง่ เราเป็นคนมืดบอด และถ้ายังไม่เลิกเลี้ยงมาร สุดท้ายเราก็จะเป็นคนที่สอนไม่ได้ เรียนรู้อะไรไม่ได้ เพราะการเดินทางนี้มันเป็นสิ่งที่เราต้องเดินด้วยตัวเองไม่มีใครเดินแทนให้เราได้

 

ถ้าเรามาฟังๆ อ่านๆ กันอย่างนี้ กลับบ้านก็ทำเหมือนเดิม ใช้ชีวิตเหมือนเดิม หลงโลกเหมือนเดิม ถ้าอย่างนั้นอยู่บ้านดีกว่าจะมาฟังทำไม ถ้าฟังแล้วไม่เอาไปประพฤติปฏิบัติให้มีความเปลี่ยนแปลงในชีวิต ไปหาความสุขเหมือนเดิมดีกว่า ไม่ต้องเสียเวลามาฟัง เสียเวลาอ่าน !

 

ถ้าเราฟังแล้วเราไม่ไปทำ มันไม่มีใครอยากสอน มันขี้เกียจสอน

 

ยุคสมัยนี้ครูบาอาจารย์ดังๆ เราก็เข้าหาได้หมด…นึกออกมั้ย? คือ พระรุ่นนี้คล้ายๆ ตั้งเงื่อนไขเยอะไม่ได้ เดี๋ยวโดนโซเชียลเฟสบุ๊คด่า..ลำบากมากเลยหาว่าเล่นตัวอีก

 

แต่ถ้าในอดีต เราไปดูสมัยหลวงปู่มั่น พระป่าสมัยก่อน คือ ถ้าเข้าไปแล้วไม่ได้เรื่องนี่ ท่านไล่ตะเพิดกลับไปเลยไม่ต้องมาอยู่ที่นี่ หรือแม้กระทั่งไม่ต้องดูถึงขนาดรุ่นหลวงปู่มั่น ดูหลวงพ่อสมบูรณ์นี่ก็พอ ใครไม่ได้เรื่องเข้าไปทำเหลาะๆ แหละๆ ไม่ปฏิบัติธรรมหลวงพ่อไล่ออกไปไม่สนใจเลย ไม่เกรงใจด้วย…เคยฟังว่าหลวงพ่อเทียนนี่ดุว่าหลวงพ่อสมบูรณ์อีก ใครยิ่งเหลาะแหละนี่ยิ่งตายเลย

 

 

ตอนที่ 6 ตั้งใจปฏิบัติ

 

อะไรสำคัญที่สุดในชีวิต?

ความพ้นทุกข์ของคนๆ นึง

 

 

เป็นเหมือนสปอร์ตไลท์ (spotlight) อันใหญ่ที่จะสอนคนได้อีกไม่รู้เท่าไหร่ ไม่รู้อีกกี่สิบกี่ร้อยปี ความจริงอันนี้เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามหาศาลยิ่งกว่าสมบัติพระจักรพรรดิอีกถ้าเทียบแบบนั้น…มันยิ่งใหญ่มาก

 

การค้นพบของพระพุทธเจ้ายิ่งใหญ่มาก การที่คนๆ นึงจะเดินตามพระพุทธเจ้าจนพ้นทุกข์ อันนี้ก็ยิ่งใหญ่มากเหมือนกัน

 

ไม่มีเหตุผลอะไรทั้งนั้นที่มีค่าเพียงพอที่จะทำให้คนๆ นึงหยุดเดิน แต่เพราะคนในโลกนี้ไม่เข้าใจสัจธรรม

 

 

เพราะฉะนั้น ทุกคนต้อง “ตั้งใจปฏิบัติ

ปฏิบัติเหมือนเป็นอาหารของชีวิต เหมือนเราหายใจ

ต้องตระหนักชัดในความมุ่งมั่น

ความตั้งใจที่เราจะต้องทำหน้าที่นี้ให้สมบูรณ์ที่สุด

เพราะมันเป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดในชีวิตของเรา

“ความพ้นทุกข์” เป็นหลักประกันอันยิ่งใหญ่ในชีวิตเรา

ไม่ว่าเราอยู่ในสภาพไหน เราไม่ทุกข์…อันนี้ก็สมบูรณ์ที่สุด

 

เราทำทุกอย่างเพื่อจะได้ความสุข แต่เราไม่เคยได้อย่างสมบูรณ์ซักทีนึงใช่มั้ย? 30, 40, 50, 60 ปีไม่เคยได้ความสุขที่สมบูรณ์ซักทีนึง เพราะเราไม่ได้ทำสิ่งที่มันต้องทำ เราไปทำอย่างอื่น

 

เพราะฉะนั้น ชีวิตต่อจากนี้  “ตั้งใจทำให้มันเต็มที่ ทำให้ดีที่สุด

 

 

ตอนที่ 7 ใบไม้กำมือเดียว

 

ธรรมะนี้เป็นของศักดิ์สิทธิ์ หลวงปู่มั่นเคยพูดเอาไว้ว่า อย่าไปพูดธรรมะกับใครที่ไม่สนใจฟัง เพราะว่าคนที่ไม่สนใจฟังเข้าใจไม่ได้

 

พอเข้าใจไม่ได้ ก็เอาธรรมะไปคิดผิดๆ เข้าใจผิดๆ แล้วก็เอาไปดูถูก เอาไปทำให้เสื่อมเสีย…เอาความจริงที่ควรจะเข้าใจแต่เข้าใจไม่ได้เพราะเข้าใจไม่ถูก ไปทำให้เสื่อมเสีย

 

เพราะฉะนั้น หลวงปู่มั่นเลยบอกว่า อย่าไปพูดธรรมะกับคนพวกนี้ ไม่มีประโยชน์ คนพวกนี้ก็เอาธรรมะไปตีความผิดๆ แล้วทำให้ศาสนาเรามัวหมองจากการป่าวประกาศของคนประเภทนั้นว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไรๆ

 

เดี๋ยวนี้เราก็เห็นเยอะเอาไปสอนบอกว่า พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้อย่างโน้นอย่างนั้น ไปสอนผิดๆ ทั้งนั้น…ศาสนาพุทธก็เลยมัวหมอง

 

พระพุทธเจ้าสอนเราเรื่อง “ใบไม้กำมือเดียว” อันนี้เป็นสิ่งสำคัญ

 

พระพุทธเจ้าถามว่า ใบไม้ในป่ากับใบไม้ในกำมือ อันไหนเยอะกว่ากัน  ทุกคนก็ตอบว่า ใบไม้ในป่าใช่มั้ย?

 

ใบไม้ในป่ามีจริงมั้ย? คำตอบคือ มี เปรียบเสมือนความรู้ทั้งหลายในโลกนี้มันมีจริงมั้ย?…มี แต่ความรู้ที่จะนำเราไปสู่ความพ้นทุกข์โดยสิ้นเชิง อันนี้มีแค่กำมือเดียว พระพุทธเจ้าเลือกสอนอันนี้

 

เพราะฉะนั้น เราชาวพุทธ เราต้องเลือกสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน ทำสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนคือ “ไปสู่ความพ้นทุกข์โดยสมบูรณ์” ผ่านการปฏิบัติธรรม ผ่านอริยสัจ 4 ผ่านอริยมรรคมีองค์ 8 ที่เราเรียนรู้มา ความรู้อื่นจะจริงไม่จริง เป็นเรื่องของความรู้อันนั้น ถ้ามันไม่ใช่เรื่องของใบไม้ในกำมือ ก็จะมีความรู้ก็ได้ ไม่มีความรู้ก็ได้ ไม่มีปัญหาทั้งนั้น

สมมติว่าเราจะเป็นคนมีธรรมะแล้วเราก็มีตังค์ด้วย มันก็ไม่เป็นไรนะ ไม่ใช่เราต้องจน…ก็ดีเหมือนกันจะได้เอาตังค์มาทะนุบำรุงศาสนา ใช้เงินในทางที่ถูก

 

 

ตอนที่ 8 Main Road

 

ให้พวกเราสนใจจิตใจที่ “ปกติ” นี้เอาไว้ รู้ เช็คบ่อยๆ ว่าจิตใจเป็นยังไง?  “รู้สึกตัว” แล้วนึกขึ้นได้ก็เช็คจิตใจเป็นยังไงปกติมั้ย?

 

อันนี้เป็น “Main road” สภาวะต่างๆ เหมือนของข้างทางไม่ใช่ Main road มันจะเห็นอะไร มันจะมีอะไร มันต้องเห็นอยู่แล้ว

ถ้าเราปกติอยู่เราเห็นทุกอย่างอยู่แล้ว

 

เราเห็นอยู่แต่ไม่ต้องสนใจมัน เราไม่ต้องไปตามหามันว่า มันเป็นอะไร ไม่ต้องไปสรุปความอะไรทั้งนั้น “เห็นอาการมันเฉยๆ” มันวูบมาวูบไป เกิดขึ้น หายไป มันรู้เอง จิตใจที่ปกติอยู่อันนี้เป็นการเห็นบนพื้นฐานของสัมมาทิฏฐิ

 

ถ้าเราไม่ปกติ เช่น พวกชอบเห็นสภาวะ แต่จิตใจไม่ปกติเพราะอะไร?…เพราะคิดว่าเห็นสภาวะนี้เป็นทาง มันก็อยากจะเห็นใช่มั้ย? โอ้…เห็นหลายสภาวะ โอ้…สภาวะผ่านมาเยอะ เห็นมันเกิดมันดับเห็นอะไร…ใครเห็น? ก็เราเห็นนี่แหละ แล้วพอเห็นแล้วเกิดอะไร?…ภูมิใจ เดี๋ยวนี้เห็นเยอะเห็นบ่อย เมื่อก่อนไม่ค่อยเห็น เนี่ย!…มันมีแต่อัตตา มันมองไม่เห็นตัวเองว่ามีอัตตา

 

เพราะฉะนั้น “ปกติ” ก่อน นี่เป็น main road  อย่างอื่นเป็นของข้างทาง  อันนี้จะเข้าทางจะเจริญได้จริง

 

 

ตอนที่ 9 สมดุลและพอดี

 

แต่ละคนก็มีโอกาสทีละคนๆ แล้วก็ไปบอกต่อๆ

 

ทุกคนก็ไม่ใช่เชื่อ ไปลองทำดู ลองทำดูมันก็เห็นผล ก็เข้าใจได้ว่าเมื่อก่อนเราแบกไว้เยอะ เรามีความรู้เต็มไปหมด

 

 

ผมจะบอกตลอดว่า

เราปฏิบัติธรรมไม่ใช่การสะสมความรู้

มีแต่การปล่อยวางออกไปอย่างเดียว

 

 

ความรู้นี่มันเป็นเหมือนของที่ไม่อยู่ในสต็อคนะ มันคล้ายๆ ว่า การพูดสอนธรรมะอย่างนี้มันออกมาเอง…นึกออกมั้ย? มันออกมาเอง

 

เพราะฉะนั้น ความรู้นี้ไม่ใช่เรื่องที่เราสะสมเอาไว้ ถ้าเราสะสมเอาไว้ตอนนั้นผิดแล้ว ให้มันออกมาเอง ออกมาจากประสบการณ์ จากจิตวิญญาณที่มันขัดเกลาแล้วเอง…อันนี้ดีที่สุด

 

ความรู้นี้เหมือนเป็น Invisible  คล้ายๆ แบบมันไม่คิด เราคิดว่าเราจะพูดอะไร เราพูดไม่ได้ถ้าห้องนี้รับไม่ได้ มันไม่ออกมา มันไม่สามารถประติดประต่อเป็นเรื่องได้ ได้แต่หัวเรื่องไม่มีรายละเอียด

 

ความรู้หรือปัญญาทั้งหลาย มันคล้ายๆ เป็นเครื่องมือเฉยๆ ที่สื่อสารข้อมูลออกมาให้ทุกคนได้ยินได้ฟังแล้วมันก็หายไป

 

เพราะว่าความเป็นจริงเราอยู่กับความเป็นปกติ ความว่าง ไม่มีอะไร แต่เรารู้ว่าอะไรๆ เป็นอะไร

 

ธรรมะที่แท้จริงมันจะไม่ใช่ความสุดโต่งทั้งสองด้าน ที่ผมบอกมันไม่ใช่…มีตัวตน…ไม่มีตัวตน จริงๆ จะพูดให้ถูกมันก็ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน แต่อย่างคำว่า  “มี”  “ไม่มี” อันนี้เป็น 2 ข้าง

เพราะฉะนั้น ตรงกลางคืออะไร? มันถึงเป็นคำพูดที่คนทุกคนที่เข้าใจธรรมะแล้วจะพูดเหมือนกันก็คือ “มันมีแต่ไม่มี” มันไม่ใช่เล่นคำแต่มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ มันเป็นสภาพที่อธิบายได้แบบนั้นจริงๆ

 

 

พอมันตัดสินไปซ้ายไปขวาไม่ได้ มันเลยไม่ทุกข์

อันนี้เป็นประเด็นสำคัญ มันตัดสินไม่ได้

 

 

เหมือนที่บอกว่าเราจะตัดสินว่า ไอ้นี่ดีสุดขั้ว ไอ้โน่นชั่วสุดขีด ได้มั้ย?…มันไม่ได้เลย…มันเป็นอย่างนั้น โลกต้องเป็นอย่างนี้ให้เห็นมันเป็นเช่นนั้นเอง

 

แต่เราก็มีหน้าที่ เรามีหน้าที่ของชาวพุทธ หน้าที่ของพลเมือง หน้าที่ของลูก หน้าที่ของพ่อแม่ ก็ให้ทำหน้าที่ตามสมควร…สมควรนี้ก็ยากอีก สมควรแต่ละคนไม่เท่ากัน…อันนี้รอมีปัญญาก่อน มันจะค่อยๆ เข้าสู่ความพอดีมากขึ้นๆ เรื่อยๆ ไปสู่ความสมดุล

 

 

เมื่อสมดุลมันจะพอดี

เมื่อไหร่“สมดุลและพอดี” เราจะพบชีวิตที่แท้จริง

คือ การ Being อยู่ในธรรมชาติเฉยๆ

โดยที่ไม่มีความทุกข์อะไรในใจดวงนี้แล้ว

อิสระ…แค่นั้น

 

Camouflage

20-Jun-2016

 

YouTube: https://youtu.be/NUQEDyPlvYI

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของคุณ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c