35.พอดี…ไม่ใช่ดี

 

ตอนที่ 1 การปฏิบัติธรรมคือทั้งชีวิต

 

องค์ประกอบสำคัญของการที่เราจะเป็นนักปฏิบัติธรรม เราต้องรู้ว่ามีหลายอย่าง ไม่ใช่แค่เรื่องที่เราคิดว่า เรารู้หลักปฏิบัติธรรมแล้วนี้ พอแล้ว…ไม่ใช่แค่นั้น

 

 

ผมเห็นคนเยอะแยะฟังเทศน์ฟังธรรม อ่านหนังสือ รู้หลัก

แล้วก็ปฏิบัติเอง คิดว่ารู้แหละ ทำได้ โอเคแค่นี้แหละ

“รู้สึกตัว…รู้สึกตัว” ทำอยู่อย่างนั้น

แต่เจริญไม่ได้ !!

 

ทำไมเจริญไม่ได้?

เพราะว่าชีวิตของการปฏิบัติธรรมนั้นไม่ใช่แค่เรารู้หลัก แล้วก็ปฏิบัติเหมือนแปรงฟัน หรืออาบน้ำวันละครั้ง สองครั้งแค่นั้น…ไม่ใช่แบบนั้น

 

การปฏิบัติธรรม ไม่ใช่การที่เราแบ่งเวลาทำ

แต่การปฏิบัติธรรมมันคือ  การทำทั้งชีวิตของเรา

ตั้งแต่เราตื่นจนเราหลับ

การกระทำอย่างอื่นต่างหากที่เป็นสิ่งที่ถ้าจำเป็นต้องทำก็ไปทำหน่อย

 

แต่การปฏิบัติธรรม คือ ชีวิตของเราทุกคน

 

 

ถ้าทุกลมหายใจของเรา

รู้ว่าชีวิตเรามีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติธรรม

เราจะไม่มีวันลืมความรู้สึกตัว

เราจะไม่มีวันหลงไปในโลกของความคิดปรุงแต่ง

เราจะไม่โง่แบบนั้น

 

 

ตอนที่ 2  อิสระจากทุกสิ่ง

 

การหลงระเริงไปในความคิด ความปรุงแต่ง ดีใจ เสียใจ สุข ทุกข์ เหล่านี้นี่หลอกเรา หลอกให้ทุกคนต้องทุกข์ เราก็นึกว่าสุขด้วยบางที

 

เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่า การที่เราดิ้นรนหาความสุขนี่มันทุกข์ขนาดไหน

 

พอเราหิวข้าว เราก็นึกถึงว่าอยากจะไปกินข้าวร้านนี้ แล้วเราก็รีบออกไป หิวก็หิว แต่ก็อยากกินร้านนั้น รถก็ติดอีก

 

พอไปถึงต้องสั่งแล้ว ก็นั่งรอนานอีก ก็ร้านมันอร่อยก็เลยต้องรอนานเพราะเค้าขายดี ทุกข์ตั้งเยอะเลยกว่าเราจะได้กิน

 

พอได้กินจริงๆ ก็อร่อยคำแรก คำที่สองต้องเติมเครื่องปรุงเพิ่ม เพิ่มน้ำปลาหน่อย รสชาติมันเริ่มไม่เท่ากับที่เราคาดคิดว่า เราจะได้ความสุขจากการที่อุตส่าห์มาขนาดนี้

 

ชีวิตเรามีแต่ความคาดหวังตลอดว่าจะได้ความสุข

 

 

จริงๆ เรามีความสุข

เพราะมันสำเร็จตามที่เราหวังไว้เฉยๆ

แต่มันไม่ใช่ความสุข

 

มันไม่ใช่ความสุข

เพราะมันอยู่ในความดิ้นรนตลอดเวลา

จากการที่เราจะได้ความสุขแบบนั้น

 

 

เหมือนที่เคยอธิบาย เราวิ่งอยู่บนกะทะทองแดง แล้วเราร้อน เราก็เลยยกขาขึ้น ยกขาขึ้นเราก็นึกว่าเรามีความสุขเพราะไม่ร้อน แต่เดี๋ยวสักพักเราต้องเอาขาลงไปใหม่

 

 

เพราะฉะนั้น มันจะเป็นสุขไม่ได้

มันเป็นแค่การหนีความทุกข์เฉยๆ

 

 

ความสุขที่แท้จริงนี้ จะต้อง “อิสระจากทุกสิ่ง

เป็นความสุขที่ไม่ต้องพึ่งพิงสิ่งภายนอก

ไม่ต้องพึ่งพิงคนอื่น

ไม่ต้องพึ่งพิงสิ่งอื่น

ไม่ต้องพึ่งไลน์ ไม่ต้องพึ่งเฟสบุ๊ค

 

มีความสุขด้วยตัวเอง” อันนี้เป็นหัวใจสำคัญ

 

เมื่อเราเป็นอิสระพ้นจากพันธนาการทั้งหลาย

จิตใจเราจะเป็น “ปกติ

ที่เค้าว่า “ไม่มีไป ไม่มีมา

เพราะมันปกติ มันไม่มีความดิ้นรนอะไรเลย

 

 

ตอนที่ 3 “นิพพาน” รู้ได้ที่เดี๋ยวนี้

 

บางคนไปคิดว่าการปฏิบัติธรรมต้องรอบรรลุธรรมก่อนเราถึงจะมีความสุขได้…ไม่ใช่

 

เรามีความสุขได้ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ที่เราปกติอยู่

 

 

เมื่อเราปกติอยู่ เค้าเรียกว่า “นิพพานชิมลอง

มันชิมลองเพราะว่ามันรู้รสไม่ชัด

มันรู้รสไม่ชัด เพราะว่าจิตใจเรานี้มันยังไม่บริสุทธิ์เพียงพอ 

มันก็สัมผัสความเป็นปกตินั้นได้ไม่เต็มที่

 

 

เปรียบเทียบว่า

มือของเราที่ใส่ถุงมือเข้าไป 10 ชั้น คือ คนปุถุชนซึ่งมีสังโยชน์ 10

โต๊ะไม้ คือ ความเป็นปกติ และ

ความเรียบของโต๊ะ คือ นิพพาน

 

แล้วเราก็เอามือลูบ…ลูบ…ลูบ ถามว่าเราพอรู้มั้ยว่ามันเรียบ?

เราก็พอรู้ใช่มั้ยว่ามันเรียบ

 

แต่ถ้าเราเริ่มถอดถุงมือออกทีละชั้น ทีละชั้น จนหมด แล้วเราก็ใช้มือเราสัมผัสใหม่ เราจะรู้แน่นอนว่ามันเรียบขนาดไหน

เพราะฉะนั้น การที่เราจะรู้จักความปกติ นิพพาน

เรารู้ได้ที่เดี๋ยวนี้ ที่ขณะนี้

เราปฏิบัติธรรมเราต้องพ้นทุกข์ตั้งแต่เดี๋ยวนี้

แต่แค่ความเข้มข้นลึกซึ้งอันนี้

มันแล้วแต่จิตใจที่เราได้ฝึกมาว่ามันอยู่ขนาดไหน

 

 

หลายคนก็คิดว่า เราต้องปฏิบัติธรรมมากๆ เราต้องทำเยอะๆ เราถึงจะเริ่มมีความสุขได้จากการปฏิบัติธรรม อันนี้คิดผิดเลย ไม่ใช่แบบนั้น

 

ถ้าใครปฏิบัติธรรมมานาน ความทุกข์ยังเหมือนเดิม ไม่มีอะไรดีขึ้นเลย จิตใจเนี่ยเหมือนเดิม ไม่รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลง ไม่รู้สึกถึงความโปร่งโล่งเบาสบายมากขึ้น…อันนี้เป็นปฏิบัติผิด 100%

 

พระพุทธเจ้าสอนเราข้อนึงว่า สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนเส้นทางไปสู่ความพ้นทุกข์ องค์ประกอบสำคัญอย่างนึง คือ “มันต้องไม่เนิ่นช้า”

 

ไม่เนิ่นช้า หมายความว่า ไม่ใช่รอปฏิบัติไปเป็นปี 2 ปี 3 ปี หลายเดือนก็ยังเหมือนเดิม ไม่ใช่แบบนั้น

 

เพราะฉะนั้น ทุกคนที่เริ่มปฏิบัติธรรม หรือปฏิบัติมานานแล้ว เราต้องพิจารณาตัวเองว่า…

 

ปฏิบัติแล้วมันเหมือนเดิมมั้ย?

เราทุกข์เหมือนเดิมมั้ย?

เรามีความเป็นปกติกับเค้าบ้างหรือยัง?

หรือวันๆ เรามีแต่ความฟุ้งซ่าน ปรุงแต่ง

โน้น คิดนี่ คิดนั่น พิจารณาข้อธรรมไปเรื่อย

อะไรพวกนี้เราอยู่ในความคิดตลอด

เจริญไม่ได้เลย หรือไม่มีทางเจริญเลย

 

“ความคิด ไม่สามารถพาเราไปสู่ความพ้นทุกข์ได้”

 

เพราะฉะนั้น นักปฏิบัติทุกคนต้องคอยตรวจสอบตัวเอง ซื่อสัตย์กับตัวเอง  แม้กระทั่งคนที่เริ่มปฏิบัติตามสิ่งที่ผมบอก ก็ต้องซื่อสัตย์กับตัวเองด้วยว่า

 

ชีวิตของเรานี้…เราทำเต็มที่จริงๆ หรือยัง?

เราสร้างสิ่งแวดล้อม องค์ประกอบของชีวิตที่จะส่งเสริมการปฏิบัติธรรมแล้วหรือยัง?

 

 

ตอนที่ 4 วิเวกสันโดษ

 

องค์ประกอบสำคัญมากที่ผมจะพูดตลอดของนักปฏิบัติธรรมก็คือ

เราต้องมีสิ่งแวดล้อมที่ “วิเวก สันโดษ

 

 

ความปกติ” เป็นความวิเวกและสันโดษ “ทางใจ

แต่ความวิเวกและสันโดษ “ทางกาย” ต้องมีด้วย

 

 

บางคนคิดว่าวันนี้ปฏิบัติแล้ว 1 ชั่วโมง เดี๋ยวไปดูหนังดีกว่า ผ่อนคลาย โดยการดูซีรี่ส์ อย่างนี้เราเรียกว่าเราไม่ซื่อสัตย์กับตัวเอง เพราะจริงๆ แล้วเราทำได้ดีกว่านี้

 

บางคนก็เคยวิเวกสันโดษอยู่ แต่ก็หาเรื่องให้ไม่วิเวกสันโดษก็มีเหมือนกัน พระพุทธเจ้าพูดถึงสิ่งนี้เรียกว่า “ติด

 

 

ติดมนุษย์ ติดอมนุษย์

เน่าใน…ก็ตัวเองเน่าเองนั่นแหละ

 

 

องค์ประกอบของทางเดินที่จะไปสู่ความพ้นทุกข์นี้มีอยู่ นอกจากวิเวกสันโดษแล้วยังต้อง “สนทนาธรรมกับครูบาอาจารย์

มีครูบาอาจารย์ที่ศรัทธา หมั่นเข้าหา หมั่นสนทนาธรรม เหล่านี้จะช่วยเราให้ “อยู่ในแวดวงของกัลยาณมิตร

 

อย่างที่เราอยู่กันแบบนี้ แวดวงของกัลยาณมิตรอันนี้จะไม่พาเราไปสู่ที่ต่ำ เพราะแวดวงของกัลยาณมิตรของนักปฏิบัติธรรมจริงๆ  เขาจะให้ความสำคัญของการปฏิบัติธรรมของการไปสู่ความพ้นทุกข์ ไม่ใช่ให้ความสำคัญของความสนุกสนานเพลิดเพลินไปวันๆ

 

ถ้าเราไปทำอะไรแบบนั้น มันก็เป็นที่แปลกแยกออกจากกลุ่ม กับสังคมของผู้ที่ต้องการไปสู่ความพ้นทุกข์

 

เพราะฉะนั้น เราต้องมีองค์ประกอบหลายๆ อย่างที่พูดถึงทั้งหมดนี้ มันถึงจะสมบูรณ์ มันถึงจะช่วยเราได้

 

แต่ทางเดินทางนี้ เป็นทางที่เราต้องไปคนเดียว

 

ไปคนเดียวไม่ใช่หมายความว่า เราจะต้องไม่มีเพื่อนไป ไม่ใช่แบบนั้น

 

ทางๆ นี้เป็นทางที่เดินคนเดียว เราเดินคนเดียว แต่เรามีกัลยาณมิตรได้ แต่การเดินต้องเดินไปเอง ต้องเดินคนเดียว

 

วิเวก สันโดษ” นี้เป็นสิ่งที่ผมพูดบ่อย ทุกคนต้องเอาไปพิจารณา เอาไปลองปรับใช้กับชีวิตดูว่าเราทำได้ขนาดไหน

 

 

ตอนที่ 5 พอดี ไม่ใช่ดี

 

วันนี้อยากจะพูดเรื่องอีกเรื่องนึง ก็คือ เรื่อง “ดี กับ ไม่ดี” อันนี้เป็นสิ่งที่ยากหน่อย อธิบายยาก มันค่อนข้างจะซับซ้อนลึกซึ้ง แต่ก็อยากให้พวกเราฟังๆ ไว้ก่อนแล้วกัน

 

ทุกวันนี้เราเชื่อว่า เราจะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพราะเห็นว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ดี เราจะไม่ทำสิ่งไม่ดี ซึ่งถูกเหมือนกันนะ ไม่ใช่ไม่ถูก

 

แต่ศาสนาพุทธสอนสิ่งที่สูงกว่านั้น คือ พอเรายึดว่าเราทำดี ใครมาพูดอะไรเราจะไม่ยอม ถ้าเราเชื่อมั่นและให้ค่าว่าสิ่งนี้มันดี ถ้าใครมาบอกว่าไม่ดี…นี่ไม่ได้ เรากำลังทำสิ่งที่ดีอยู่

 

 

แต่คำถามคือว่า

สิ่งที่เราคิดว่ากำลังทำดีอยู่นี้มันดีจริงหรือเปล่า?

มันดีกับทุกคนจริงหรือเปล่า?

มันไม่มีผลเสียอะไรเลยรึเปล่า?

ยกตัวอย่างง่ายๆ เหมือนกับพ่อแม่มีลูก พ่อแม่รักลูกก็ตามใจลูก แต่ถามว่าตามใจระดับไหนที่เรียกว่า “พอดี”

 

พ่อแม่คิดว่า ก็กำลังทำดีอยู่ รักลูกแต่ก็อยากให้ลูกมีความสุข แต่ในอีกมุมนึง มีคนใช้คำศัพท์ว่า สปอย (Spoil) ปล่อยลูกจนเสียคน

 

เมื่อก่อนคนไทยนี่ใจบุญใช่มั้ย? เห็นขอทานแขนขาดขาขาดนั่งอยู่ เราก็ช่วยบาท 2 บาท 5 บาท 10 บาท บางทีเห็นน่าสงสารมากเอาไป 20 บาท จนเราเริ่มมารู้ข่าวว่า มีการจับเด็กไปตัดขา ตัดแขน เพื่อทำธุรกิจขอทาน…นี่!! เรากำลังคิดว่าเราทำดีอยู่

 

เพราะฉะนั้น อยากจะให้เราเข้าใจว่า สิ่งที่เราทำทั้งหมดนั้น อย่าไปเชื่อมั่นว่าเรากำลังทำสิ่งที่ดี หรือไม่ดี 100% แต่ไม่ใช่ว่าเราไม่รู้นะว่าอะไรดี หรือไม่ดี เรารู้ไม่ดีเราก็ไม่ทำหรอก ดีเราก็ทำนั่นแหละ

 

 

แต่เบื้องลึกความเข้าใจในจิตใจเรา อยากจะให้เข้าใจว่า

เราอย่าไปยึดมั่น เชื่อมั่นกับสิ่งที่เรากำลังทำ

ว่ามันดีจนไม่มีข้อเสียเลย มันไม่ใช่แบบนั้น

 

 

“Butterfly effect” อันนี้เป็นตัวอย่างที่ดี ผีเสื้อกระพือปีกทีนึง เขาบอกว่าเกิดเอลนินโญ (El Nino) ได้ เกิดสึนามิ (tsunami) ได้ เขาเรียกเป็น Consequence เป็นผลที่มันต่อเนื่อง

 

เพราะฉะนั้น การทำอะไรก็ตาม ในระยะสั้นเนี่ย…เราทำบนพื้นฐานที่เรารู้ว่าสิ่งนี้มันเป็นสิ่งดี ไม่เป็นไร…ก็โอเค อันนี้ดีแล้ว

 

 

แต่ขอให้เบื้องลึก เราอย่าไปยึดติดสิ่งที่เราทำแบบนั้น

และให้เรารู้ว่าสิ่งที่เราทำ

การกระทำทั้งหลายที่ดี หรือไม่ดี

ทั้งหมดนั้นคือ “มันเป็นกรรม

 

 

ไม่ว่าเราจะทำดีหรือทำไม่ดี หรือทำอะไรก็ตามที่เราจะบัญญัติหรือให้คุณค่าว่ามันดีมากดีน้อย ไม่ดีมากไม่ดีน้อยก็ตาม สิ่งที่สูงกว่านั้นคือว่า “มันเป็นกรรม”มันส่งผลอะไรก็ได้ที่เราเห็นได้และเห็นไม่ได้

 

 

เพราะฉะนั้น สังสารวัฏนี้มันเลยน่ากลัว

เพราะจริงๆ เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสิ่งที่เราทำ

ที่เราคิดว่าดีนี้มันดีจริงรึเปล่า?

เราอาจจะเป็นหนึ่งในการสร้างอุตสาหกรรมขโมยเด็ก และตัดแขนตัดขาเด็กเป็นขอทานก็ได้

 

เพราะฉะนั้น สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนนี้สูงกว่านั้น ไม่ใช่เรื่องของแค่ดีชั่ว

 

สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนคือ พ้นไปจากสิ่งเหล่านี้ไปอีกทีนึง จนสุดท้ายถึงจุดที่เราเรียกว่า “พอดี

 

เราทำอะไรทำตามความพอดี

 

พอดี ไม่ใช่ดี

 

พอดี อาจจะไม่ใช่ดีในสายตาคนอื่นก็ได้

แต่มันพอดีในตอนนั้นต้องทำแบบนั้น

 

 

เพราะฉะนั้น เราปฏิบัติธรรมจนวันนึงจิตใจเราเข้าถึงความเป็นกลาง เข้าถึงทางสายกลางที่แท้จริง เราจะเข้าถึงความพอดี เราจะรู้จักความพอดี เราจะทำอะไรทำด้วยความที่ควรจะทำ

 

 

 

ถ้าจะพูดให้เป็นภาษาซักหน่อยก็คือว่า

ปฏิบัติธรรมจนวันนึงมี “ปัญญา

ให้ปัญญาเป็นคนที่จะนำพาชีวิตเรา

ไม่ใช่ความคิดนำพาชีวิตเรา

 

 

ความคิดจะแบ่งแยกตลอด ดีชั่ว ถูกผิด คิดว่าอย่างนี้ดีแล้ว ทำแบบนี้ช่วยคนได้ โน้นนี่นั่น มันก็พอดีเหมือนกัน แต่ให้ทุกคนระลึกไว้ในใจว่า สิ่งที่สูงกว่านั้นคือ มันเป็นกรรมทุกอย่าง…มันเป็นกรรม

 

ไม่ต้องมั่นอกมั่นใจกับสิ่งที่เราทำว่ามันดีเลิศประเสริฐที่สุดในโลกนี้ เพราะเราจะทุกข์เพราะความรู้สึกแบบนั้นด้วย

 

 

สิ่งๆ หนึ่งถ้ามันไม่พอดี มันจะเป็นโทษทันที

 

 

เหมือนกันการกระทำอะไรก็ตามที่มันไม่พอดีมันจะเป็นโทษทันที ท่านพุทธทาสพูดว่า “เมตตาไม่มีประมาณ อันธพาลจะครองเมือง

เราเมตตา เราต้องมีปัญญาด้วย

 

เหมือนเราจัดคอร์สปฏิบัติธรรมใช่มั้ย? ถ้าเราไปเชิญครูอาจารย์ที่สอนผิดมา มันก็อาจจะมีผลก็ได้ที่ทำให้คนฟังอะไรผิดๆ ไป หมายความว่าทุกสิ่งก็มี Consequence ผลสืบเนื่องว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ได้

 

ธรรมะเป็นเรื่องละเอียดลึกซื้ง เป็นเรื่องที่เข้าใจตามความคิดไม่ได้ ถ้าเข้าใจตามความคิดจะผิดหมด

 

 

ตอนที่ 6 ความไม่มีตัวตน

 

ทุกวันนี้เราได้ยินเรื่องคนพูด “ความไม่มีตัวตน” นี้เยอะ เดี๋ยวก็ไม่มีตัวตน ไม่มีตัวตน โลกนี้ว่างไม่มีตัวตน อะไรก็ไม่มีตัวตน

 

ความมีตัวตนอันนี้เป็นโลก ความไม่มีตัวตนอันนี้เป็นอีกข้างนึง มันเป็นสุดโต่งคนละข้างเหมือนกัน

 

พระพุทธเจ้าสอนทางสายกลาง

 

ทางสายกลาง” นี้คือ

ความเข้าใจโลกและธรรมโดยสมบูรณ์

และก็อยู่กับมัน

 

คนที่เข้าใจธรรมแล้ว จะไม่มีอากัปกิริยาที่จะไปแบ่งแยกคนว่าไอ้นี่ไม่มีตัวตน ไอ้โน่นมีแต่ตัวตน เราไม่มีตัวตน ไอ้โน่นมีมิจฉาทิฐิ เรามีสัมมาทิฐิ ไม่ใช่แบบนั้น

 

 

คนที่ไม่มีตัวตนจริงๆ แล้ว เค้าไม่ได้ไปตระหนักว่า ตัวเองไม่มีตัวตนด้วย ไม่ใช่แบบนั้น เค้าเป็นอิสระจากทุกอย่าง ถ้ามานั่งพูดว่าเราไม่มีตัวตน

ก็ เรา นั่นแหละยังอยู่เลย

 

 

ความอิสระที่แท้จริง คือ

ความหยั่งไม่ถึงสภาพที่จะ

บัญญัติ “ของคู่” แบบนั้น

ไม่มีจิตใจจะไปหยั่งสภาพแบบนั้น

 

มันมีแต่กิริยาจิตเฉยๆ

ที่ผมจะพูดว่า “Being” คือ

เราอยู่ในธรรมชาตินี้เฉยๆ

แต่เรารู้อะไรเป็นอะไร

 

เรารู้ได้ว่าคนลักษณะนี้เรียกว่ามีมิจฉาทิฐิ คนลักษณะนั้นเรียกว่ามีสัมมาทิฐิ  แต่ไม่ใช่เรื่องของเราจะต้องไปนั่งพูด ไปนั่งว่าคนนี้พูดคนนั้น

เราเข้าใจว่า อ๋อ…เค้าเป็นแบบนี้ อยู่เฉยๆ รู้ว่าเค้ายังไม่เข้าใจ เค้ายังไม่ถึงเวลา เค้ายังไม่อะไรก็ตาม แค่นั้นเอง

 

เราไม่ได้ไปดูถูกเค้าหรือไปว่าอะไร เช่นว่าเราเหนือกว่า เค้าด้อยกว่า…ไม่ใช่แบบนั้น

 

เราเข้าใจเหตุปัจจัยของแต่ละคนเฉยๆ แล้วถ้าเรามีโอกาสเราก็แนะนำเค้า ถ้าเราไม่มีโอกาสเราก็ปล่อยไปตามกรรม ก็แค่นั้น

 

ไม่ได้มีหน้าที่ต้องไปคอยตัดสินอะไรใคร

 

 

ตอนที่ 7 อะไรคือทาง?

 

 

ความไม่มีตัวตนนี้เป็นสิ่งที่เราไม่ใช่คิดเอา

แต่เกิดจากการที่จิตใจเราปกติอยู่นี่แหละ

 

 

เมื่อจิตใจเราปกติอยู่ สภาวธรรมอะไรผ่านมาผ่านไป หรือแม้กระทั่งไม่มีสภาวะอะไรผ่านมาผ่านไปก็ได้ แต่เราเห็นจิตใจนี้เป็นปกติอยู่ จิตใจที่ปกติอยู่นี่แหละไม่มีตัวตน ไม่ต้องไปนั่งหาสภาวะด้วย เพื่อจะดูว่ามันไม่มีตัวตนรึเปล่า? ไม่ใช่แบบนั้น

 

ถ้าเรามัวไปนั่งดูสภาวะเพื่อจะดูว่ามันไม่มีตัวตน อันนี้มีเราขึ้นมาเต็มๆ เลย เรากำลังหาอะไรทำ กำลังหาอะไรอยู่

 

 

อย่างที่บอก เรามีหน้าที่เฉยๆ

มีหน้าที่รู้จักความเป็นปกตินี้เอาไว้

แล้วจิตใจนี้จะมีสติ

จิตใจนี้จะมีสมาธิที่ตั้งมั่นขึ้นมา

 

 

เพราะฉะนั้น เราก็ “Being” อยู่ในธรรมชาติ เป็นอยู่ในธรรมชาตินี้เฉยๆ อะไรผ่านมาผ่านไป ผ่านมาผ่านไป ผ่านมาผ่านไปทุกวัน จิตใจมันจะค่อยๆ สรุปสัจธรรมอันนี้ด้วยตัวมันเอง

 

เราไม่ต้องไปนั่งบอกมันว่า เห็นใบไม้ร่วง “อ้อ..อนิจจังไม่เที่ยง” ไม่ต้องบอกเลย อันนี้คิดทั้งนั้น เห็นหมาตาย “เอ้อ..นี่ไม่เที่ยง” ไม่ต้องไปนั่งพูด การพูดนี้เป็นการคิด

 

 

เมื่อไหร่ที่เราไปนั่งพูด นั่งให้ความหมาย นั่งให้ค่า

เพื่อจะให้มันตรงกับหนังสือ ตรงกับสิ่งที่เราเรียนมานี้

เป็นความคิดทั้งนั้น !!

ให้จิตใจนี้มันรู้จักความจริง

สรุปความจริงด้วยตัวมันเอง

 

มันจะรู้จักความจริงได้ จิตใจเราต้องปกติอยู่ ไม่ใช่เราอยากจะไปเห็น อยากจะไปรู้ อยากจะสะสมสภาวธรรมที่เราเห็นว่า เออ…เราเห็น อื้ม…เห็นบ่อยๆ จะได้เห็นไตรสักษณ์ เห็นบ่อยๆ จะได้เห็นว่ามันไม่มีตัวตน เป็นอนัตตา แล้วเราก็นั่งพูดนั่งพากย์ทั้งวัน อันนี้เป็นการสะกดจิตตัวเอง สะกดจิตตัวเองทั้งวัน จิตใจไม่ได้อยู่กับความเป็นปกติเลย

 

 

คนที่ทำแบบนี้เป็นนักปฏิบัติจริงๆ

เป็นคนปฏิบัติธรรม แต่ยังไม่ได้ปฏิบัติธรรม

 

เปลี่ยนอาชีพเฉยๆ จากเมื่อก่อนเรียนโรงเรียนในโลก

เปลี่ยนมาเป็นโรงเรียนในวัดแทน

 

 

หลวงปู่ดูลย์ก็พูดชัดเจนตลอดว่า “การพ้นออกไปจากความปรุงแต่งทั้งปวงนี้คือทาง” เป็นทางเดียว ใครจะมีลูกเล่นให้ทำอะไรเพิ่ม และถ้าไม่ใช่ทางนี้ถือว่าตกทาง เสียเวลา

 

แต่ตลอดทางของนักปฏิบัติธรรมเราต้องมี “อุบาย”  

 

อุบาย ก็คือ ใช้ช่วยในการให้เรากลับมาเป็นปกติได้ เช่น เราเจอทุกข์หนักๆ มากๆ เราไม่ไหว เราก็ต้องคิดช่วย อย่างนี้โอเค เช่น พระพุทธเจ้าสอนเรานะว่าทุกสิ่งไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เราคุมไม่ได้หรอก ไม่มีตัวตนจริงๆ นี่เรากำลังมีมิจฉาทิฐิอยู่ที่จะไปนั่งเห็นเป็นจริงเป็นจัง เออ…นี่ใช้สอนตัวเองแบบนี้ นี่เรียกเป็นอุบาย

 

พอเราสอนตัวเองได้ จิตใจเราก็ปกติลงพ้นจากความคิดปรุงแต่งทั้งปวง นี่…เข้าทางแล้ว

 

เพราะฉะนั้น เราปฏิบัติธรรมเราต้องรู้ว่าทางคืออะไร? อะไรคือทาง? อะไรไม่ใช่ทาง? แล้วเราจะได้รู้ว่า “สิ่งที่เราต้องเดิน หลักที่เราต้องเดินจริงๆ คืออะไร”

 

Camouflage

20-Jun-2016

 

YouTube: https://youtu.be/YDdBsvFu3TY

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของคุณ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c