34.นำสมาธิภาวนา

 

ตอนที่ 1 ตกทางตั้งแต่พิจารณา

เวลานั่งสมาธิ…เราก็นั่งรู้สึกตัวไป…รู้สึกตัว รู้สึกใจของเรา ดูอารมณ์เราเป็นยังไง…ปกติมั้ย? ปกติก็รู้ว่าปกติ ไม่ปกติก็รู้ว่าไม่ปกติ

ได้ยินเสียงคนมา…ก็ได้ยินเป็นเสียงเฉยๆ ไม่ต้องไปพิจารณาอะไรต่อ  พอได้ยินเสียงแล้วจิตฟุ้งซ่านไป ก็เห็นว่ามันฟุ้งซ่านไปเฉยๆ…เห็นอาการของมัน เป็นแค่อาการของจิตที่มันซ่านไป ไม่ต้องไปให้ชื่อ ให้ความหมาย ให้ค่า…ไม่ต้องไปเรียกมันว่ามันเป็นอะไร ไม่ต้องไปนั่งพูดว่า มันไม่มีตัวตน ไม่ใช่ตัวตน….เป็นการคิดทั้งนั้น!!

ความรู้สึกครั้งแรกที่เรารู้สึกได้ ถึงกายถึงใจเรา ถึงอาการต่างๆ นั้น จบแค่นั้น…จบแล้ว

การที่เราจะพิจารณาเป็นความรู้ความเข้าใจขึ้นมาว่า…เหมือนที่เราเรียนมา เหมือนในหนังสือที่เราอ่านมา เหมือนที่เราฟังมา…นี่!! เป็นความคิดทั้งนั้น

เรามีตัวตนไปแล้ว เราอยากจะได้ความรู้นั้น เราอยากจะได้ข้อสรุปแบบนั้น เราเลยต้องคิด เพื่อที่จะให้มันสอดคล้องกับหนังสือ เรามีตัณหาโดยที่เราไม่รู้ตัว เรานึกว่าเรากำลังปฎิบัติธรรมอยู่…..เราตกทางตั้งแต่เราพิจารณา

ทางของการปฎิบัติธรรม…มันมีง่ายๆ ที่ทุกคนต้องจำเอาไว้ก็คือ “การพ้นไปจากความปรุงแต่งทั้งปวง

เมื่อไหร่ที่เราเข้าไปปรุงแต่ง…เมื่อนั้นเราตกทางทันที ไม่ว่าการพิจารณาสิ่งเหล่านั้นมันจะดีแค่ไหนก็ตาม…“มันเป็นความปรุงแต่ง

ชีวิตเราปรุงแต่งมาทั้งชีวิต…ตลอดชีวิต เราก็หาความสุขไม่ได้  พอเรามาปฎิบัติธรรม เราก็จะปรุงแต่งอีก

ปรุงแต่งฝ่ายดี ปรุงแต่งบนทฤษฎีของพระพุทธเจ้า แล้วเราก็บอกว่าเราปฎิบัติธรรม….เราไม่ได้ปฎิบัติธรรม!!

เราแค่เปลี่ยนโลกจากคนหลงโลก มาเป็นคนหลงปฎิบัติธรรมเฉยๆ…นี่! เรียกว่าเปลี่ยนโลกใหม่

ยิ่งปฎิบัติยิ่งแบ่งแยกคน เห็นคนอื่นเป็นมิจฉาทิฏฐิ เราเป็นสัมมาทิฏฐิ…อันนี้เป็นความสุดโต่ง 2 ด้านเหมือนกัน

 

ตอนที่ 2 จิตใจนี้ต้องเป็นปกติก่อน

ความมีตัวตน ความไม่มีตัวตน…เป็นสิ่งที่จิตใจนี้จะสรุปเอง จากการที่เรารู้เห็นสภาพสภาวะตามเป็นจริง

เราจะรู้เห็นสภาพสภาวะตามเป็นจริงได้ ไม่ใช่ว่าเราไปตามรู้ ตามดูสภาวะ มันเกิด มันดับ มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มันไม่มีตัวตน….มันเป็นความจริงเหมือนกัน แต่การที่เราไปตามรู้ ตามดู โดยที่เรายังไม่ได้เตรียมจิตใจของเราให้มันพร้อมที่จะไปเห็นแบบนั้น…เราจะตกอยู่ภายใต้ความคิดทั้งหมด

เพราะฉะนั้น ก่อนจะตามรู้ตามดูสภาวะแบบนั้นได้ “เราต้องมีจิตใจที่ตั้งมั่น เป็นปกติอยู่” จิตใจที่เป็นปกติอยู่…เห็นอะไรนี่! มันเห็นชัด…เห็นอะไรนี่! มันเห็นจริง…ทำไมมันเห็นจริงได้? เพราะการเห็นนั้นเป็นการเห็นล้วนๆ ในขณะที่เราปกติอยู่ จิตใจนี้เป็นปกติอยู่  ในขณะนั้นไม่มีตัวตน

เพราะฉะนั้น เราจะเห็นอะไรก็ตาม มันต้องเห็นบนพื้นฐานของความที่เราไม่มีตัวตน

แต่พื้นฐานของความไม่มีตัวตน ไม่ใช่สิ่งที่เราไปนั่งคิดเอา มันเกิดจากจิตใจที่มีความเป็นปกติแล้ว “บนความปกตินั้นไม่มีความกระเพื่อมหวั่นไหว” เหมือนน้ำที่มันนิ่ง มันไม่กระเพื่อมหวั่นไหว เราเห็นอะไรก็เห็นชัด เรามองลงไปได้ถึงก้นสระ

พอพูดแบบนี้บางคนก็จะไปทำสมาธิ เพราะอยากให้มันนิ่ง…ความนิ่งของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่นิ่งอยู่กับที่เพ่ง อะไรเอาไว้ จนมันนิ่ง…ไม่ใช่แบบนั้น

ความนิ่ง” ก็เป็นผลลัพธ์ของการที่จิตใจนี้ “มันเป็นปกติอยู่ อย่างต่อเนื่อง อย่างหนาแน่น อย่างเป็นนิสัย” จิตใจนี้มันก็เลยหนักแน่น มันหนักแน่นมันก็เลยมั่นคง มันมั่นคงมันก็เลยนิ่ง ไม่กระเพื่อมหวั่นไหวง่ายๆ

เพราะฉะนั้น เราอยากจะเข้าถึงสัจธรรม อยากจะเห็นสัจธรรม เราต้องฝึกจิตใจของเราทุกคนให้มันเป็นปกติ

ความเป็นปกติ” นี้พูดเป็นภาษาว่า…ฝึก จริงๆก็ไม่ได้ฝึกเหมือนกัน “มันเป็นสภาพที่มีอยู่แล้ว” มันเป็นสภาพที่เราทุกคนมีอยู่ตั้งแต่เราเกิดมา แต่เราโตมาในสังคมที่อุดมปัญญา…อุดมความคิด  เราก็นึกว่า…นี่! เรียกปัญญา เราก็เลยอุดมความคิดตลอดเวลา

เราอุดมด้วยความคิด เราก็ถูกหลอกตลอด ตัวตนก็เกิดขึ้นตลอดเวลา ความเป็นปกติที่เราเคยมีอยู่แล้วในชีวิตของเราที่เรียกว่า “จิต คือ พุทธะ” ทุกคนมีจิตคือพุทธะอยู่แล้ว…มันก็เลยเลือนหายไป แล้วก็ลืมสิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิตเรา แล้วก็เอาความคิดนี้มาบดบังเอาไว้จนหมดสิ้น

 

ตอนที่ 3 เส้นทางแห่งการพ้นทุกข์

เส้นทางของความทุกข์ที่พระพุทธเจ้าพูดถึง “ปฏิจจสมุปบาท” เอาไว้…ที่เริ่มจากอวิชชา จนไปสู่ความทุกข์ในที่สุด การที่เราจะพ้นทุกข์ได้ พระพุทธเจ้าพูดถึงปฏิจจสมุปบาทฝ่ายดับ สุดท้ายจนมาดับอวิชชาในที่สุด

การที่ปฏิจจสมุปบาทดับได้ ไม่ใช่เพราะเราไปนั่งดูมัน ไปนั่งพิจารณามัน ไปนั่งทำความเข้าใจ ไปอ่านมันหรืออะไรก็ตาม แต่มันเกิดจาก “จิตใจที่มันเป็นปกตินี้อยู่” จิตใจที่ปกติอยู่…จนมีผลให้ความปรุงแต่งนี้มันลดลง ความฟุ้งซ่านมันลดลง การตัดสินแบ่งแยกลดลง เมื่อมันลดลงปุ๊บ…ปฏิจจสมุปบาทฝ่ายดับมันถึงจะเกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น เราไม่ต้องไปคิดว่าเราจะต้องเข้าใจปฏิจจสมุปบาทอย่างลึกซึ้ง เราถึงจะถึงธรรมได้…อันนั้นเป็นความคิด พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว เลยสอนปฏิจจสมุปบาทว่าคนเราทุกข์เพราะอะไร…พอเรารู้แล้ว เราก็ต้องเริ่มที่จะดำเนินทางไปสู่ความพ้นทุกข์ นั่นคือ “อริยสัจ 4” รู้อะไรเป็นทุกข์แล้ว ก็ละเหตุแห่งทุกข์นั้น

อะไรคือเหตุแห่งทุกข์?…คือ ความปรุงแต่งนั่นแหละ

เราจะละความปรุงแต่งได้ยังไง?…เราต้องไปรู้จักสภาพที่มันพ้นจากความปรุงแต่งทั้งปวงไป

สภาพที่พ้นจากความปรุงแต่งทั้งปวงก็คือ “สภาพที่มันปกติอยู่

เราจะเข้าถึงความปกติได้ยังไง?…เราต้อง “รู้สึกตัว

 

ตอนที่ 4 หน้าที่ คือ รู้สึกตัว ไม่หลงเข้าไปในความคิด

เมื่อเรารู้สึกตัว เราจะออกมาจากโลกของความคิด…ในขณะนั้นจิตใจนี้ได้สัมผัสความเป็นปกติขณะหนึ่งแล้ว…เล็กๆ เรานี่ยังไม่รู้เรื่องหรอก แต่จิตใจมันรู้เรื่องแล้ว

เรามีหน้าที่ ที่จะฝึกให้จิตใจนี้ รู้สึกตัว รู้จักความรู้สึกตัวบ่อยๆ…บ่อยๆ อย่างเป็นธรรมชาติ หมายความว่า เรามาฟังธรรม ฟังวิธีการปฎิบัติธรรม แล้วเราจำได้…จำได้ว่า การปฏิบัติธรรมเนี่ยะ!…เราควรที่จะ “รู้สึกตัว

เพราะฉะนั้น ชีวิตของเราที่เรารู้เส้นทางของการที่จะพ้นไปจากความปรุงแต่งทั้งปวงได้คือ “เราต้องรู้สึกตัว”…สัญญานี้จะคอยเตือนเรา และคุณธรรมหลายอย่างที่มันมีขึ้นมาในชีวิตเรา เช่น เรามีฉันทะที่จะไปทางนี้… “ฉันทะ” คือความพอใจ ที่เราจะใช้ชีวิตทางนี้ ดำเนินทางนี้ ปฎิบัติแบบนี้…ร่วมกับสัญญาที่เราเรียนรู้มาว่าเราต้องทำยังไง…มันจะคอยปลุกเรา จะคอยเตือนเราว่า “หน้าที่ที่แท้จริงของเรา คือ “รู้สึกตัว ไม่หลงเข้าไปในความคิด ไม่ตามความคิดไป

เพราะฉะนั้น การรู้สึกตัวเราจะเป็นธรรมชาติ ไม่ได้เกิดจากการที่เราบังคับว่าเราจะรู้สึกตัว ไม่ได้เกิดจากการที่เราไปคิดว่าเรารู้สึกตัวอยู่

ในการปฎิบัติธรรม…เราต้องเข้าใจหลักการ (concept) ให้แม่นยำว่า “การปฎิบัติธรรมไม่ใช่การทำอะไรทั้งนั้น” ถ้ามีการทำขึ้นมาเมื่อไหร่….อันนี้! ไม่ใช่การปฎิบัติธรรม  ถ้ามีการกระทำ มันมีเรา มันมีเรากระทำ  เราคิดว่าเราต้องทำแบบนี้ เราต้องทำแบบนี้…ทำไมเราต้องทำแบบนี้? เพราะเราอยากจะได้ผลจากการที่เรากระทำแบบนี้

 

ตอนที่ 5  ทำเป็นหน้าที่

เราต้องรู้ว่าการปฎิบัติธรรมนี้เป็นหน้าที่เฉยๆ … “เราต้องทำเป็นหน้าที่” เป็นหน้าที่ของชีวิต ไม่ได้หวังว่าจะได้อะไรจากการปฎิบัติธรรม  แต่เรารู้แล้วคนเราเกิดมามีหน้าที่…หน้าที่ที่จะพ้นทุกข์

วิธีการที่จะทำหน้าที่นั้น ก็คือ

“รู้สึกตัว

ไม่ตามความคิดไป ไม่หลงเข้าไปในความคิด

เห็นจิตใจนี่มันปกติอยู่

พาจิตใจนี้มารู้จักความเป็นปกติที่เราทุกคนมีอยู่แล้ว การเรียนรู้กายและใจแบบนี้ ถึงจะพาเราไปสู่ความพ้นทุกข์ได้

การปฎิธรรมนี้เป็นหน้าที่ของทุกคน “เราต้องมีหน้าที่ เราต้องมีวินัย” ชีวิตถึงจะเจริญได้ เหมือนเราหายใจ เราต้องหวังมั้ยว่าเราจะต้องได้ออกซิเจน เพื่อจะมีชีวิตอยู่ต่อไป เพื่อ…เพื่อ…มันไม่มี มันหายใจเอง มันเป็นธรรมชาติของร่างกายที่มันรู้หน้าที่ว่า มันต้องหายใจ…แล้วเราก็ปล่อยให้มันทำหน้าที่ของมันไปอย่างนั้น…หายใจ เราไม่ได้คาดหวังอะไรจากมันเหมือนกัน

เพราะฉะนั้น คำว่า “หน้าที่” นักปฎิบัติมีหน้าที่ เป็นสิ่งที่ต้องท่องเอาไว้ มันเป็นหน้าที่

 

Camouflage

20-Jun-2016

 

YouTube: https://youtu.be/ujYkCYgNL6s

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของคุณ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c