31.สมมติ วิมุตติ กลมกลืน

 

ตอนที่ 1 มนุษย์ประเสริฐที่ “ใจ”

ผมเคยบอกหลายครั้งว่า เราอย่าประมาท อย่าคิดว่าชาตินี้เราปฏิบัติธรรมนิดหน่อยพอสมควร หรือคิดว่าแค่อยากปฏิบัติธรรมเฉยๆ แล้วถ้าเราตายไป เราก็จะไปดี…อย่าคิดแบบนั้นเด็ดขาด

ไม่มีอะไรแน่ ชาติหน้าเราจะไปเป็นหมาก็ได้ เราจะลงนรกก็ได้ คนที่ไม่ลงนรกมีแต่พระโสดาบันขึ้นไปเท่านั้น นอกจากนั้น จะให้ดีแค่ไหน หรือจะปฏิบัติธรรมแค่ไหน ก็ยังลงนรกได้อยู่

สังเกตว่า เราอยู่ในห้องนี้ข้างใต้พื้นมีสัตว์เล็กๆ เยอะแยะ เช่น มด ปลวก ไม่รู้ว่ามันมีชีวิตกี่ร้อยล้าน พันล้านตัวอยู่ข้างใต้พื้นนี้  แล้วมนุษย์นี้มีเท่าไหร่?  ทั้งโลกนี้มี 6,000 ล้านคน…นับว่ามีน้อยมากเมื่อเทียบกับบริเวณตรงนี้ซึ่งอาจจะมีสัตว์ตัวเล็กๆ 6,000 ล้านตัวแล้ว

เพราะฉะนั้น การเกิดเป็นมนุษย์เป็นสิ่งที่ยากจนไม่รู้จะยากยังไงแล้ว ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า เต่าตาบอดมีพายุพัดจากตะวันตกไปตะวันออก พายุพัดจากเหนือไปใต้ ทะเลนี้ก็คลื่นลมพัดตลอดเวลา  มีแอกอันเล็กๆ สี่เหลี่ยมขนาด 1”x 1” แล้วมีเต่าตาบอด 100 ปีโผล่หัวขึ้นมาเหนือน้ำทีนึงเพื่อมาหายใจแล้วเสียบกับแอกอันนี้พอดี นี่คือ โอกาสของการเกิดมาเป็นมนุษย์

ถ้าเราคิดว่า ชิลๆ เราเป็นคนดีอยู่แล้ว และปฏิบัติธรรมพอสมควร แล้วจะเกิดมาเป็นมนุษย์  อันนี้…ฝันเอา…คิดเอาเอง

เขาบอกว่า มนุษย์นี้เป็นผู้ประเสริฐ เพราะมันเกิดยากมากๆ  แต่จริงๆ ยังไม่ประเสริฐหรอกถ้าเราใช้ชีวิตหลงโลก เราก็ไม่ต่างจากสัตว์เหมือนกัน  เรา “กิน..ขี้..ปี้..นอน” เหมือนกัน สัตว์ก็ทำเหมือนกัน เราหนีความทุกข์หาความสุข สัตว์ก็ทำเป็นเหมือนกัน  แต่เรามีความสามารถมากกว่า เราหาได้เยอะกว่ามัน เช่น เราไปเที่ยวเมืองนอกได้ สัตว์ไปไม่ได้

เพราะฉะนั้น การที่จะทำให้เราเป็นมนุษย์ผู้ประเสริฐนั้น เราต้องประเสริฐจริงๆ

มนุษย์ประเสริฐที่ไหน? ประเสริฐที่ใจ  ใจเราเป็น “พระ” ถึงจะเป็นประเสริฐขึ้นมาได้

ถ้าใจเรายังเต็มไปด้วยความทุกข์ กิเลส โลภ โกรธ หลง อิจฉาริษยา ขุ่นเคืองสาระพัด กิเลสเล็กกิเลสน้อย…เราประเสริฐไม่ได้  เราก็ไม่ต่างจากสัตว์  สัตว์มันก็รักตัวเอง  ใครมาบุกรุกที่มัน มันก็กัด มันก็ฆ่า มันก็ทำร้าย

เราไปคิดดูดีๆ ว่า ถ้าเราไม่ปฏิบัติธรรมเราจะต่างอะไรกับมัน  เราคล้ายๆ มัน แต่เราดูมีวัฒนธรรมมากกว่ามันนิดหน่อย  เราด่าแบบผู้ดีได้ มันทำไม่เป็น

 

ตอนที่ 2 ทำงานไป ปฏิบัติธรรมไป

ถ้าเราฟังเทศน์ครูบาอาจารย์  เราจะเจอหลายองค์พูดว่า เราทำงานไปด้วย ปฏิบัติธรรมไปด้วยก็ได้

ทำแบบนั้นก็ได้  แต่ต้องถามตัวเองว่า ทำได้จริงหรือเปล่า…อันนี้คืออย่างแรก  อย่างที่ 2 ก็คือ ถ้าทำอย่างนั้นได้จริงๆ ทำไมองค์ที่พูดถึงไปบวช  เราต้องคิดด้วยว่าคนที่พูดแบบนี้ทำไมไม่อยู่ทำงานในโลก  ไปบวชทำไม?

เราฟังอะไร…เราต้องรู้จักที่จะมาพิจารณาว่าแล้วคนที่พูดเค้าทำอย่างนั้นรึเปล่า?

เพราะการที่เขาสอนว่าทำงานไปด้วยปฏิบัติธรรมไปด้วยก็ได้นั้น  ความเห็นผมก็คือว่า “ให้กำลังใจ” ให้กำลังใจกับคนที่ยังมีภาระหน้าที่จริงๆ ยังปลีกวิเวกออกมาไม่ได้  คล้ายๆ ว่า เออ…ทำงานไปด้วยปฏิบัติไปด้วยควบคู่กันไป เป็นการให้กำลังใจ ไม่ให้เสียกำลังใจที่เลิกปฏิบัติธรรม…แบบนั้น

แต่ถ้าคนมันมีทางแล้ว อย่างที่เคยบอก เช่น หลวงพ่อคำเขียนเจอทางแล้วก็บวชเลย  ไม่มีใครบ้าอยู่ที่เดิม

เราก็มีตัวอย่างทั้ง 2 แบบในการปฏิบัติธรรม

แต่ตัวอย่างที่แท้จริงคือแบบนี้…เค้าไป  ครูบาอาจารย์ที่พูดในแบบที่ให้เราทำงาน  เค้าก็ไม่ได้ทำงานเหมือนกัน  จริงๆ มีแบบเดียว คือ เค้าไปกันหมด  แต่อยู่ที่เค้าจะพูดแบบไหนเท่านั้นเอง

แต่จริงๆแล้ว สถานการณ์แต่ละคนไม่เหมือนกัน  บางคนอยากปฏิบัติธรรมมาก  แต่เค้ายังไม่พร้อมขนาดนั้นที่จะเลิกทำอะไรทุกอย่าง ถ้าจะแนะนำให้ออกมาปฏิบัติธรรมเลยแต่เรารู้ว่าจิตใจคนนี้ยังไม่พร้อม  เราก็จะบอกว่า อย่างเพิ่ง

เพราะฉะนั้น การแนะนำนั้นมันเป็นเฉพาะคนเฉยๆ  ไม่ใช่ทุกคนนะ

มันเป็นสภาวะของจิตใจคนนั้นว่าพร้อมหรือยัง  ถ้าออกมาเลยอาจจะกลายเป็นว่าแทนที่จะได้ปฏิบัติธรรม  กลับฟุ้งซ่านหนักกว่าเดิม  อย่างงี้ก็อย่าเพิ่งออกมา  มันยังไม่พร้อมขนาดนั้น….แค่นั้นเอง  แต่หลักๆ นี้ส่วนใหญ่ไม่มีใครอยู่หรอก

 

ตอนที่ 3 ไม่แน่

ชีวิตทุกคนมันไม่แน่  เดี๋ยววันดีคืนดี เดินข้ามถนนอยู่ดีๆ คนชนตกไปบนถนนปุ๊บ…รถเมล์เหยียบหัวทับตายเลย  อย่างนี้..อยู่ดีๆ ตาย  โอ้โห…มันจะมีเรื่องบังเอิญขนาดนั้น  ซึ่งอาจจะเกิดกับชีวิตเราก็ได้  ตอนนี้บอกให้พวกเราทุกคนคิดว่า เราจะตาย  เราคิดไม่ได้เลย เราไม่เคยคิดว่าเราจะตาย

แค่เราจะไม่สบาย เราคิดไม่ได้เลยว่าเราจะไม่หาย  เราคิดอย่างเดียวว่าเดี๋ยวเราจะหาย  หายแน่ๆ มันหายมาตลอด  มันต้องหาย เรายังคิดไม่ได้ด้วยซ้ำว่า เราจะไม่หาย  ดังนั้นเราจะประมาทในชีวิตไม่ได้

คือ…มันหายากไง…คนที่มีพร้อมทุกอย่าง ทั้งปัจจัยพร้อม  ศรัทธาพร้อม  รู้ว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่สูงสุดที่เราต้องไปให้ถึง  เรารู้สิ่งที่เป็น target ที่ใหญ่มากสำคัญมากสำหรับเรา  แต่เราไปติดกับก้อนเล็กๆ อันเดียว  ปล่อยไม่ได้ แค่เขี่ยออกก็หลุดแล้ว แต่ปล่อยไม่ได้…ผมไม่อยากให้เสียโอกาสแบบนั้น

อะไรๆ ก็ตามที่เราคิดว่าเราปล่อยไม่ได้ แต่ถ้าเราลองปล่อย มันจะปล่อยได้  อย่างไปเมืองนอก เพื่อนชวนลองเหล้า ลองเบียร์ ลองบุหรี่ ลองยาเสพติด อะไรอย่างงนี้ นึกออกมั้ย?…ถ้าเป็นวัยรุ่นเด็กๆ เพื่อนท้าทาย บางทีมันเสียหน้า สุดท้ายมันก็ลอง  แต่ถ้าเราไม่เอาซะอย่าง ไม่มีใครบังคับเราได้…นี่ง่ายๆ แบบนั้น  ถ้าเราจะทำซะอย่าง อะไรก็หยุดเราไว้ไม่ได้เหมือนกัน

เพราะฉะนั้น ปัญหาอยู่ที่เรา…เราต้องมี “ความมุ่งมั่น” ที่จะทำ เหมือนกับที่เราเคยทำสิ่งอื่นๆ ในโลกลำบากกว่าอีก   ถ้าเรามุ่งมั่นเท่ากันนะ…สบาย  ทำอะไรก็สำเร็จ

 

ตอนที่ 4 หลักประกันที่ดีที่สุด คือ การปฏิบัติธรรม

พระพุทธเจ้าพูดว่า เราเป็นทายาทของกรรม  กรรมนี่เป็นนายเหนือเรา  มีชีวิตไปตามกรรม  แล้วเราคิดว่า เราจะเอาอำนาจจากไหนที่จะไปชนะกรรมได้  คนเราหนีกรรมไม่ได้

เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราหนีได้อย่างเดียวก็คือ หนีสังสารวัฏนี้ให้ได้ เพื่อจะได้ไม่ต้องมาดิ้นรนแบบนี้เหมือนเดิมอีก เช่น ดิ้นรนทำบุญใช่มั๊ย?…เราถูกสอนมาว่าถ้าเราทำทาน เราจะได้ร่ำรวย มีโชคมีลาภอะไรก็ว่าไป  เราไม่ต้องดิ้นรนที่จะไปหาเงินมาทำบุญเพื่อเราจะรวย  เพื่อเราจะสุขสบาย  เพื่อเราจะอะไรๆต่างๆ

เราใช้เวลาออกจากมันไปเลยดีกว่า ไม่ใช้เวลาจะไปหาสิ่งเหล่านี้  ต่อให้วันนึงมันจะต้องไม่มีอะไรเหลือเลย  แต่ว่าถ้าจิตใจเราเข้มแข็งแล้ว  จิตใจเราอยู่เหนือโลกไปแล้ว  ต่อให้ไม่มีเราก็ไม่เป็นไร

ในทางกลับกัน สมมติมีทุกสิ่งพร้อมแต่จิตใจเรายังเหมือนเดิม มีไปก็ไลฟ์บอย เพราะเรายังทุกข์เหมือนเดิม  มันก็ไม่ได้ช่วยอะไรเรา  มันช่วยให้เรามีความสุขนิดหน่อย  จากความรู้สึกว่าปลอดภัยดีที่ทุกอย่าง สามารถควบคุมได้พอสมควร  ในอนาคตก็มีเงินเพียงพอที่จะเข้าโรงพยาบาล เสียบสายนี้ เสียบสายนั้น เสียบโน่น เสียบนี่ เสียบนั่น เต็มไปหมด

ประกันชีวิตที่ดีทีสุด คือ “การปฏิบัติธรรม” ฝึกให้จิตใจอันนี้พ้นจากทุกข์ไปให้ได้ อันนี้เป็นสิ่งที่เราจะอยู่ได้กับสถานการณ์ของกรรมแบบไหนก็ได้ที่มันจะเข้ามาหาเรา

ตอนนี้เรายังมีแรงอยู่  แม่ยังมีแรงอยู่ พ่อยังมีแรงอยู่  เราก็คิดว่า…เดี๋ยวเราทำอันนี้ก่อน ทำอันโน้นก่อน  เพราะเราวางสิ่งที่เป็นทุกสิ่งทุกอย่างของชีวิตไปลำดับหลังสุดเลย  ทุกสิ่งทุกอย่างของเราคืออะไร?  คือ “การปฏิบัติธรรม” เป็นทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตเรา แต่วางลำดับการทำเอาไว้ที่หลังสุด ให้เลือกทำอันนี้ก่อน

ลองเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ เอาการปฏิบัติธรรมนี้ไปไว้ข้างหน้าสุด ต้องทำอันนี้ก่อน อย่างอื่นต้องลดลงเรื่อยๆ อย่างนี้ เราจะมีแผนใหม่ของชีวิต

 

ตอนที่ 5 ฝึกนิสัยจิตใหม่

การปฏิบัติธรรม คือ การฝึกนิสัยจิต ถ้าเราขอคิดปรุงแต่งเรื่องนั้นๆต่อเท่ากับเราให้อาหารมัน  เรากำลังฝึกนิสัยใหม่อยู่ แต่ถ้าเราขอคิดต่อจนจบเท่ากับเรากำลังมีนิสัยเดิม พอเราคิดต่อจนจบมันก็ปกติ อันนี้เป็นธรรมชาติของจิตเดิมอยู่แล้วนึกออกมั้ย? มันคิดตลอดไม่ได้

แต่เรากำลังจะฝึกนิสัยใหม่ คือ พอมันไม่ปกติ เราจะไม่ยุ่งกับมัน  เราก็ไม่ใช่ไปทำอะไรมัน เราแค่ไม่ยุ่งกับมันเฉยๆ เรากลับมารู้สึกตัวไว้ ไม่เข้าไปในความคิดนั้นอีก

ถ้ามันจะมาอีกก็อดทนหน่อย อดทนหน่อย รู้สึกตัวไว้ จะบีบมือ กำมือ คลายมือ อะไรก็ได้ รู้สึกไว้ มันจะต่อสู้นิดหน่อย ต่อสู้นิดหน่อย อดทนหน่อย 2-3 นาที

พอเราฝึกนิสัยใหม่ของจิต ก็คือ ตั้งแต่เราเห็นมันเริ่มจะไม่ปกติ ก็รู้สึกตัวไว้ ไม่เข้าไปคิดต่อ  มันเหมือนเราดูละคร ดูหนัง หรือเราอินกับอะไรๆ มันก็บีบคั้นจิตใจเราเหมือนกัน แต่เราก็ชอบนึกออกมั้ย?  เหมือนอกหักต้องเปิดเพลงเศร้าซ้ำเข้าไปอีก อยากจะให้มัน deep สุดๆ รู้สึกว่ามันชอบ เนี่ย..เรากำลังชอบนรกอยู่ เรากำลังฝึกจิตให้มันชอบนรก…เราอย่าไปทำแบบนั้น

พอมันมีความกระเพื่อมหวั่นไหวเกิดขึ้น เรารู้ทันว่ามันกระเพื่อมแล้วก็ไม่เข้าไปตามมัน กลับมารู้สึกตัวไว้  พอความคิดแบบนี้มันจางคลายไป ปัญหานั้นจำต้องแก้ ค่อยแก้ไข ค่อยรู้ว่าจะทำอะไรยังไงบนพื้นฐานของจิตที่มันเป็นกลาง มันไม่มีอคติซ้ายขวา มันจะไม่ทำอะไรด้วยอารมณ์  ปัญหาจะถูกแก้ได้ง่ายๆ มันจะไม่ใช้อารมณ์

ถ้าใช้อารมณ์แก้ มันก็จะเกิดเรื่องใหม่ที่เราจะต้องทุกข์อีก เกิดกรรมก้อนใหม่ เกิดหลายอย่างเลยสาระพัด บาปกรรมอะไรต่างๆเกิดขึ้นมาหมดจากการที่เราไม่หยุดความปรุงแต่งลง

แต่เราจะหยุดได้ด้วยความรู้สึกตัว เราไม่ใช่ไปหยุดมัน เราแค่เปลี่ยนความสนใจมาที่ความรู้สึกตัวเฉยๆ แล้วเดี๋ยวสิ่งต่างๆ มันก็จางคลายไป

พอมันหายไป ไม่ใช่เราไม่เห็นว่ามันหายไป เราก็เห็นว่ามันหายไป แล้วเราเข้าใจไตรลักษณ์อัตโนมัติเลยว่า อ๋อ..อันนี้มันไม่เที่ยง แล้วมันก็มาเองไปเองเป็นอนัตตา เปลี่ยนแปลง คุมไม่ได้ ตั้งอยู่ไม่ได้ มันเป็นทุกข์ จิตใจนี้มันก็เข้าใจเองจากการที่เรากลับมารู้สึกตัว

เหมือนเราเป็นผ้าขาว ก็จะเห็นอะไรชัดๆ เห็นอะไรชัวร์ๆ แต่ถ้าเราไปดูมัน อารมณ์เกิดขึ้นตามการกระเพื่อม  อันนี้เข้าไปล่ะ…เข้าไปเป็นมันแล้ว  แล้วเราก็ไปดูไตรลักษณ์ ไม่มีประโยชน์เลย…มันคิดเอา

อันนี้สำคัญมาก เราต้อง “รู้สึกตัว” จิตใจนี้ต้องปกติอยู่ เราจะเห็นอะไรนี้ เราก็เห็นได้ชัดเจน เห็นได้จริง

ให้ฝึกนิสัยจิตใหม่ อย่าตามมันไป การตามมันไปแบบนั้น คนทั่วไปเค้าทำแบบนั้นแหละ แต่เราดีกว่าเค้าหน่อยเรารู้ว่าปกตินั้นมันดีกว่า แต่คนทั่วไปเค้าไม่รู้จักปกติเลย แต่เราดีแค่นั้นไม่พอ เราต้องดีกว่านั้น เราต้องไม่ตามไปเลยตั้งแต่แรก เปลี่ยนนิสัยจิตใหม่ ฝึกอุปนิสัยใหม่

แล้วพอมันรู้จักอุปนิสัยใหม่ “จิตใจมันจะเป็นเอง” ต่อไปมันมาปุ๊บ มันกระเพื่อมปุ๊บ มันไม่เอาเอง มันรู้ทัน มันไม่เอา มันก็รู้ทันเอง

 

ตอนที่ 6 เรียนรู้โลกภายใน

เมื่อก่อนเราฝึกที่จะเรียนรู้เรื่องโลกภายนอก แต่ทุกวันนี้เราฝึกเรียนรู้เรื่องโลกภายในของเราเอง มีให้เรียนรู้เยอะ…โลกภายใน

ทำไมเรายังทุกข์อยู่? เส้นสายปฏิจจสมุปบาทมีตั้งเยอะ เราก็ค่อยๆ เรียนรู้ ถอยกลับ ถอยกลับ ถอยกลับ..เขาเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาทฝ่ายดับ  มันจะเรียนรู้เองจากการที่เราเรียนรู้ภายในเรานี่แหละ ปฏิจจสมุปบาทจะเกิดขึ้นภายในใจเราเองไม่ต้องไปอ่าน  เราจะรู้เองว่า อ๋อ..มันเกิดขึ้นมาแบบนี้ แบบนี้ แบบนี้ อาจจะพูดภาษาบาลีไม่ได้ แต่เราก็รู้ว่ามันเป็นแบบนี้

จริงๆ มันรู้โดยไม่มีคำพูด ไม่มีความหมายอะไรหรอก มันก็รู้ รู้ รู้ มันไม่มีว่าอะไรเป็นอะไร แต่พอเราต้องพูดต้องอธิบาย ก็ต้องคิดออกมา ให้ชื่อไอ้นี่ ไอ้นี่เป็นอย่างนี้ๆๆ แต่ถามจริงๆ เราต้องรู้อะไรมั้ย?…ไม่ต้อง

อย่างที่ผมเคยบอกก็แค่เปิดไฟ แล้วทุกอย่างก็หายหมดแล้ว ความมืดก็หายหมดเพราะสว่างหมดแล้ว  พอจิตใจมันสว่างแล้ว มันก็ไม่มีนิวรณ์แล้ว บาปอกุศลก็เกิดไม่ได้…หมดสิทธิ์  แต่ถ้าเรายังมีอนุสัย มีสังโยชน์ มีอะไรที่ยังไม่หมด มันก็ยังเหลือโผล่มาบ้าง โผล่มานิดหน่อยไม่เยอะ

ขั้นแรกของพวกเราทุกคน จะต้องพ้นความดิ้นรนไปให้ได้ ถ้าเราพ้นความดิ้นรนของจิตใจไปได้ ความทุกข์เราจะหายไปตั้ง 95%  ถ้าเราตั้งใจว่าเราจะมีความทุกข์หายไป 95%โดยยอมสละเวลาสักนิดทั้งชีวิตที่เหลือของเรา…จะคุ้มเกินคุ้ม  ไม่มีอะไรคุ้มไปกว่านี้ในชีวิตที่ผ่านมาอีกแล้ว

 

ตอนที่ 7 สิ่งที่อันตราย คือ “ความปรุงแต่ง” ไม่ใช่ “ความคิด”

ในเรื่องความคิดเป็นเรื่องเข้าใจยากเหมือนกัน บางทีคนเราเข้าใจเรื่องความคิดนี้ส่วนเดียวว่า ความคิดนี้เป็นอันตราย แต่จริงๆสิ่งที่อันตรายคือ “ความปรุงแต่ง” ไม่ใช่ “ความคิด”  คือพอมันมีความคิดเกิดขึ้นแต่เราไม่เข้าไปปรุงแต่งมันต่อ…มันก็ไม่มีอะไร

แต่ปัญหาของพวกเราทุกคนที่มันทุกข์ เพราะเราเข้าไปปรุงแต่งความคิดอีกทีนึง “พอมันเกิดขึ้นก็เอามาเป็นของเราแล้วปรุงแต่งมันไป” เรื่องหลังจากนั้นมันเลยเป็นของเราหมดเลย  แล้วเราก็ต้องทุกข์ในที่สุด

บางทีเดี๋ยวนี้เราไปพูดเรื่องความคิด จนความคิดนี้มันเป็นตัวอันตรายของมนุษย์เรา แต่จริงๆ ในสุดท้ายเราจะ “ใช้ความคิดได้” ไม่ใช่เหมือนเมื่อก่อนที่เราจะถูกความคิดใช้เราอีกทีนึง

เพราะฉะนั้น ความคิดในที่สุดเราจะใช้มัน เราจะใช้มันเมื่อไหร่ก็ได้ มันไม่ใช่ตัวอันตรายอย่างนั้น แต่ที่มันอันตราย ก็คือ เราถูกมันใช้เราเป็นทาสมันอีกที

ช่วงแรกเค้าถึงบอกว่า ให้ระวังความคิด ให้เห็นว่ามันเกิดขึ้นแล้ว อย่าตามมันเข้าไป คนปฏิบัติช่วงแรกมันเลยต้องรู้สึกเหมือนความคิดเป็นสิ่งที่เราต้องระวังมากที่จะคอยรู้ทันมัน ไม่เข้าไป

แต่ว่าเราอย่าไปเผลอเข้าใจผิดขนาดว่า มันเป็นศัตรูเรา  เพราะในที่สุด พอขันธ์ 5 นี้มันบริสุทธิ์แล้ว ขันธ์ 5 นี้มันมี สัญญา สังขาร สัญญาคือความจำได้  สังขารก็คือความคิด มันยังต้องใช้ได้อยู่ แต่ความคิดนี้มันก็บริสุทธิ์ เพราะสัญญามันบริสุทธิ์  การรับรู้ก็บริสุทธิ์ คือ รับรู้เฉยๆ มันก็บริสุทธิ์

 

ตอนที่ 8 สมมติ วิมุตติ กลมกลืน

พอเราปฏิบัติธรรมไปเรื่อยๆ เราจะเป็นคนธรรมดาจริงๆ เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ เราไม่ทุกข์กับธรรมชาติ ไม่ทุกข์กับสิ่งแวดล้อม ที่เราทุกข์เพราะเราแปลกแยก เราแบ่งแยกกับธรรมชาติ เราแบ่งว่านี่เค้า นี่เรา นั่นของเค้า นี่ของเรา มันเลยต้องทุกข์ขึ้นมา

แต่พอเรากลับสู่ธรรมชาติเดิม เราจะเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างในโลก เค้าเรียกว่า เราจะรู้จัก “สมมติ” รู้จัก “วิมุตติ” และก็อยู่กับมันอย่าง “กลมกลืน” เป็นหนึ่งเดียวกัน

เมื่อก่อนเราปฏิบัติเราไม่รู้จักวิมุตติ เราไม่รู้จักสมมติ เราหลงผิดอยู่ เราเห็นอะไรเป็นจริงเป็นจังไปหมด ไม่รู้ว่ามันเป็นแค่สมมติ เค้าเรียกว่าคนไม่เคยปฏิบัติธรรมก็เป็นแบบนั้น คนแบบนั้นคนในโลกเค้าเรียกว่า คนธรรมดา แต่พระอรหันต์เรียกคนพวกนั้นว่า คนบ้า เพราะว่ามันหลงผิด มันเข้าใจผิด

แต่พอเราเริ่มปฏิบัติธรรม เราเริ่มรู้ว่าอันนี้เป็นสมมติ เหล่านี้เป็นสมมติ เหล่านี้เป็นเพียงธาตุขันธ์ เป็นเพียงสภาวธรรมที่เราเห็นมันเป็นส่วนๆ แยกเป็นส่วนๆ เราเห็นมันเป็นเหตุปัจจัย เราก็เลยรู้จักสมมติขึ้นมาว่า อ๋อ..สิ่งต่างๆ มันประกอบรวมกัน มันเลยกลายเป็นโต๊ะ เป็นแก้วเกิดจากทรายเอามาทำอะไรไม่รู้จนมากลายเป็นแก้วอะไรอย่างนี้ พอมันมีรูปร่างแบบนี้ มีหูแบบนี้ เราก็เรียกมันว่า แก้ว

เหมือนกับเราปฏิบัติธรรม เราก็เริ่มแยกออกว่า อ๋อ…บางอย่างมันก็เป็นแค่ดิน น้ำ ลม ไฟ สมมติ  เป็นแค่อะไรๆๆ ก็ตามที่เป็นเหตุปัจจัยซึ่งกันและกันสืบเนื่องกันไป

นี่เราเรียกว่า เราเริ่มรู้จักแล้วว่ามันเป็นแค่สมมติ เราเอาความเป็นตัวเป็นตน เอาชื่อไปใส่ให้มันเองทีหลัง แต่พอวันนึง วันที่เราเข้าถึงสภาพวิมุตติ เราก็จะรู้จักว่า อ๋อ…วิมุตติ ปรมัตถ์ นิพพาน สุญญตา ความว่าง…เป็นอย่างนี้

พอถึงวันนั้น เราก็เลยรู้จักทั้ง “สมมติ” รู้จักทั้ง “วิมุตติ” พอเรารู้จักทั้ง 2 อย่างปุ๊บ เราก็เข้าใจว่า สองอย่างนี้จริงๆ มันไม่แยกจากกันแบบนั้น พอเรารู้จักมันปุ๊บ…มันจะเป็นความกลมเกลียวกลมกลืน เราจะไม่แบ่งแยกเลยว่า ขณะนี้เรารู้สึกว่าไม่มีตัวตนนะ เราไม่มีตัวตน เราเป็นพระอรหันต์ เป็นพระโสดาบัน เป็นอะไรอย่างนี้ เราจะไม่รู้สึกอะไรแบบนั้นเลย

เราจะรู้จักทั้ง “สมมติ” รู้จักทั้ง “วิมุตติ” จนมันเป็นหนึ่งเดียวกัน เราก็เลยสามารถจะเห็น สัมผัส ได้ยิน ฟังอะไรก็ตาม มันก็เป็นธรรมชาติแห่งความเป็นปกติที่มันรับรู้อย่างบริสุทธิ์เฉยๆ โดยไม่มีอวิชชาเป็นบ่อเกิดให้การรับผัสสะนั้น พาไปปรุงแต่งต่อ จนเกิดอุปทานยึดมั่นขึ้นมา เกิดตัณหาอะไรไปเรื่อยจนเป็นทุกข์ในที่สุด

 

ตอนที่ 9 ชีวิตที่คิดไม่ถึง

เมื่อหมดอวิชชา ชีวิตเราก็เลยเป็นชีวิตที่แท้จริงขึ้นมา เป็นชีวิตที่ปกติสุขอย่างแท้จริง เป็นชีวิตที่พ้นทุกข์สิ้นเชิง แล้วเราก็มีชีวิตอยู่ในโลกนี้ มันเหมือนอยู่ไปเฉยๆ ดูเหมือนทำไมมันไม่ค่อยมีอะไรในชีวิตเท่าไหร่ แต่ในความเป็นจริง ถ้าคนที่ถึงจุดนั้นจะรู้ว่า ถ้าเรามีชีวิตเหมือนเมื่อก่อนนี้ เรามีแต่ทุกข์ ร่างกายเราทุกข์ไม่พอ จิตใจเราก็ทุกข์ด้วย

แต่ถ้าเราเข้าถึง สภาพเดิมแท้ สภาพความว่าง สภาพความเข้าใจ รู้จักวิมุตติสมมติแล้ว เราจะมีชีวิตในแบบที่หนังสือเค้ามีเขียนไว้ “ชีวิตที่คิดไม่ถึง” มันไม่รู้จะอธิบายยังไง แต่มันคิดไม่ถึงจริงๆ ว่าเราจะมีชีวิตแบบนั้นได้ เราไม่ใช่จะคิดเหมือนว่าเรามีความสุขในโลกอะไรแบบนี้…มันไม่ใช่แบบนั้น

แค่เราลองจินตนาการชีวิตที่จิตใจนี้ไม่มีความอยาก ไม่มีความดิ้นรนที่จะได้ความสุขอะไรเลย เรายังจินตนาการสภาวะแบบนั้นไม่ได้เลย มันอธิบายยาก

คำพูดที่จะพูดได้ก็คือ มันมี “ชีวิตที่แท้จริง” เราจะรู้จักการมีชีวิตที่แท้จริง เราจะรู้จักว่า เราเกิดมาแล้วเราได้หลงผิดไปนานเท่าไหร่ในอดีตเมื่อก่อน เราอยู่นรก เราเป็นคนแต่เราอยู่ในนรกมานานเท่าไหร่ ก่อนที่เราจะมีวันนี้…อะไรอย่างนี้

คนในโลกเข้าใจว่า ตัวเองมีสุขมีทุกข์ปนๆ กันไป ไม่ใช่รู้สึกถึงกับเป็นนรกอะไรแบบนี้

แต่ถ้าวันนึงเราเข้าถึงความเป็นวิมุตติ เข้าถึงสภาพจิตใจที่มันเป็นปกติพอสมควร ไม่ต้องโดยสมบูรณ์หรอก เราจะรู้ว่า ชีวิตที่ผ่านมาของเรานี้มันนรกชัดๆ เราจะเห็นว่ามันเป็นความทุกข์มาก

เพราะฉะนั้น เมื่อก่อนเราก็เลยตกเป็นทาสของความปรุงแต่ง เป็นทาสของความคิด เป็นทาสของความเชื่อของตัวเอง เราเลยไม่เคยมีชีวิตที่แท้จริงของตัวเอง…ชีวิตที่สดชื่น ชีวิตที่สิ้นความกังวล สิ้นความพะวง สิ้นความหวัง สิ้นทุกอย่าง “มีชีวิตอยู่กับขณะนี้” อย่างเดียว

แต่ไม่ใช่ว่าเราจะไม่รู้ว่าในอนาคตเราจะต้องทำอะไร ถ้าเรามีแผนจะทำอะไร เราก็ยังใช้ความคิดได้ว่าเราจะทำอะไร วางแผนจะไปนี่ ไปนั่น ทำได้เหมือนเดิม แต่มันไม่มีความกังวล ไม่มีความพะวง ไม่มีอะไรอย่างที่เราเคยเป็นเหมือนเมื่อก่อน

เรายังมีชีวิตได้เหมือนเมื่อก่อน แต่มันไม่มีทุกข์ มันอธิบายยาก แต่อยากให้ทุกคนตั้งใจมุ่งมั่น เพื่อเราจะมีชีวิตที่แท้จริงได้

 

Camouflage

15-Aug-2016

YouTube: https://youtu.be/lbECpDR1Wb0

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของคุณ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c