29.เพราะไม่เชื่อ…ว่าเราทำได้

 

ตอนที่ 1 บ้านที่แท้จริง

เราไม่ได้มีหน้าที่ไปทำอะไร  ที่ผมบอกว่า เรามานั่งเฉยๆ จิตใจนี้มันก็สงบระงับลงเป็นปกติขึ้น

เราก็รู้สึกได้แห่งความปกตินั้น  ถึงจิตใจที่มันปกติ….รู้สึกได้

แล้วบังเอิญมีความคิดมา เราก็เห็น…อ๋อ  เหมือนคนเดินผ่านหน้าบ้านเรา เราก็เห็นว่ามันผ่านหน้าบ้านไป แต่เราไม่มีความตั้งใจตั้งแต่แรกว่าเราต้องเห็นมันนะ เราจะได้คะแนน….ไม่ใช่แบบนั้น

จริงๆ แล้ว “ความปกติ” เราจะเรียกว่าเป็นคะแนนก็ได้ แต่ว่าเราก็ไม่ได้ตั้งใจทำความปกติ  ตั้งใจทำมันไม่ได้ด้วย  ถ้าตั้งใจมันจะไม่ปกติแล้ว  มันอยากจะได้ความปกติ

แต่ความปกตินี้มันเกิดขึ้นจาก เรานั่งเฉยๆ ไม่คาดหวังอะไร ไม่ทำอะไร ไม่มีความมุ่งหมายอะไรเลย เรานั่งสบายๆ ผ่อนคลาย รู้สึกตัวอยู่

แล้วผลลัพธ์คือ ความเป็นปกตินี้มันเผยตัวออกมา  อย่างที่ผมบอก เมฆหมอกที่มันปิดบังดวงจันทร์   พอเราอยู่เฉยๆ สบายๆ รู้สึกตัวอยู่ เมฆหมอกคลายออกๆ  ดวงจันทร์ก็จะเปิดเผยตัวออกมา

มันไม่ใช่ว่าเราไปสร้างดวงจันทร์ขึ้นมา มันมีอยู่แล้ว  เราแค่ให้โอกาสมันเปิดเผยตัวออกมา แล้วเราก็รู้สึก

ถ้าพูด “ดวงจันทร์” ก็เห็นดวงจันทร์ได้  แต่ถ้าเป็น “ความปกติ” เราก็รู้สึกถึงมันได้ว่าตอนนี้มันปกติ มันเฉยๆ ไม่มีอะไร

แล้วพอพื้นฐานจิตเราเป็นปกติ เฉยๆ ไม่มีอะไร อะไรผ่านมาผ่านไป เราก็เห็นได้  เห็นได้ชัดเจน  มันเป็นการเห็นที่ผมบอกว่า “เหมือนเราอยู่บนบก เราไม่ได้อยู่ในน้ำ

จิตใจที่มันปกติ มันหนักแน่น มันเข้มแข็ง  พอเห็น…มันก็ไม่กระโจนเข้าไปจับอารมณ์ ไม่เข้าไปยุ่งกับมัน  เราจะเห็นมันว่า อ้อ…มันเป็นสิ่งที่กำลังผ่านมาแล้วเดี๋ยวก็ผ่านไป

แต่เราต้องอยู่บนบก คือ อยู่กับ “ความเป็นปกติ” นี้  อันนี้เป็นบ้านเรา  “บ้านที่แท้จริง” ของเรา  แต่อย่างอื่นนี้มันผ่านมาเฉยๆ

 

ตอนที่ 2 เห็นตัวเอง

คนที่ไม่ได้สนใจปฏิบัติธรรม เขาก็อยู่ในโลก  พออะไรกระทบปุ๊บ…เขาก็เข้าไปจับมันเลย

อารมณ์อะไรเกิดขึ้นปุ๊บ ก็เข้าไปอยู่กับมันเลย  เข้าไปยุ่งกับมัน เข้าไปสานต่อกับมันจนเป็นเรื่องเป็นราว เป็นทุกข์เป็นสุข  แล้วก็มีเรื่องกับคนโน้น คนนี้ คนนั้นไปเรื่อย  หาเรื่องคนโน้น คนนี้ไปเรื่อย

คือ คนเรานี่นิสัยไม่ดี  ถ้าเราปฏิบัติธรรมไปเรื่อยๆ  เราจะรู้จักความนิสัยไม่ดีของตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าเรานี้นิสัยไม่ดีมาก

สมมติว่าเกิดเรื่องอะไรขึ้นมากับชีวิตเรา  เราก็ไม่พอใจ  เราโกรธ  เราอยากจะระบายอารมณ์  เราจะหาคนด่า  เป็นความรู้สึกของการที่เราจะได้เห็นว่าตัวเองนี้มันแย่แค่ไหน

ถ้าเราปฏิบัติธรรมมากๆ เราจะรู้ว่า บางเรื่องมันเกิดขึ้นมา มันไม่ได้เกี่ยวอะไรกับคนอีกคนนึงเท่าไหร่

แต่จริงๆ มันเกี่ยวกับเราเอง เรารับไม่ได้เอง เราเข้าใจไม่ได้เองว่า เหตุที่มันต้องเป็นอย่างนี้ๆๆ เพราะอะไร ถ้าเราเข้าใจได้มันก็จะไม่ไปโทษใครหรอก มันจะไม่ไปหาเรื่องใคร….โลกก็สงบสุข

อันนี้เป็นข้อละเอียดพอสมควรว่า คนส่วนใหญ่คิดว่าพอเราปฏิบัติธรรมแล้ว เราต้องดูเหมือนกับเป็นคนที่ดีพอสมควร หรือว่า เราต้องนิ่งขึ้น

แต่จริงๆ แล้ว มันจะเป็นลักษณะของความเป็นธรรมชาติที่สุด

อย่างที่ผมบอก  สมมติเรารู้ว่า คนนี้ต้องเล่น หรือแม้กระทั่งว่าคนนี้เราต้องดุ เราก็ต้องทำ แต่มันทำเป็น Acting เฉยๆ ไม่ใช่ว่าทำอยู่บนพื้นฐานของโทสะ

มันจะมีปัญญาที่จะรู้ว่า เราจะต้องแสดงบทบาทอะไรตอนไหน เราจะต้องแสดงบทบาทความเมตตาตอนไหน  เราจะกลับสู่ความเป็นธรรมชาติที่สุด

 

ตอนที่ 3 ยึดแต่ไม่มั่น

เมื่อก่อนนี้พอเราเริ่มปฏิบัติธรรม เราก็รู้สึกว่า เฮ้ย…เราต้องรู้สึกตัว เราต้องมีสติ เราต้องถือศีล มันมี “ต้อง” เยอะ

เพราะฉะนั้น ความเป็นนักปฏิบัติธรรมมันก็ทำให้เรามีตัวตนอีกรูปแบบนึงขึ้นมา  ที่เราจะรู้สึกว่าเราต้องอยู่ในกรอบนี้ที่ควรจะเป็นแบบนั้น

ซึ่งกรอบอันนี้มันก็เป็นสิ่งที่ดี…มันเหมือนกับราวบันไดที่ต้องอาศัยจับเวลาเราขึ้นบันได

แต่เราจะไปต่อได้เราต้องปล่อย ปล่อยแล้วถึงขึ้นไปต่อได้ แล้วก็จับอีก แล้วก็ปล่อยเราถึงจะไปต่อได้อีก

ถ้าเราจับเอาไว้อย่างเดียว มันจะไปไหนไม่ได้ มันเป็นไปตามทฤษฎี ตามหนังสือตามอะไรก็ตามจริงๆ  แต่มันไปไหนไม่ได้

ผมเห็นตัวอย่างของคนที่ติดในทฤษฎีมากพอสมควร  ต้องมีศีลสมบูรณ์ ต้องละอกุศล ไม่ให้มีอกุศลอยู่ในจิตใจ  ซึ่งการที่เราพยายามจะทำแบบนั้นตลอดเวลา มันคล้ายๆ ว่า เรามีตัวตนที่จะเป็นแบบนั้นอยู่ตลอดเวลาที่เรากำลังจะดำเนินอยู่ในทางนี้

มันก็เหมือนเรากำลังจับราวบันไดนี่แหละ จับแล้วมันไม่ปล่อย เพราะมันพยายามจะต้องเป็นอย่างนี้ ต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอะไรตลอดเวลา

แต่วิธีอีกอันนึง คือ เราจับแล้วเราปล่อย มันหมายความว่าตัวเรามีความระลึกอยู่ว่า ในขณะที่เราอยู่ในทางนี้ เราต้องมีศีลเอาไว้  ระลึกไว้ในใจว่า เราควรจะต้องมีศีล เราควรจะต้องมีสติ ควรจะต้องรู้สึกตัว คล้ายๆ เป็นการสอนตัวเองเฉยๆ

เขาเรียกว่า “ยึดแต่ไม่มั่น”  เรามีคำศัพท์ว่า  “เรายึดมั่นถือมั่น” ใช่มั้ย?  มันเลยต้องทุกข์เพราะเรายึดมั่นถือมั่น

แต่ในขั้นนี้เรายึดไว้ก่อนแต่ไม่ต้องมั่น ยึดเฉยๆ ยึดเอาไว้เป็นหลักของทางเดินแต่ไม่ถึงกับยึดมั่น การยึดเฉยๆ มันเอาไว้เป็นการประคองไปเฉยๆ แล้วก็จะไปได้ๆ เรื่อยๆ

แล้วจนถึงวันนึง เราเองเป็นที่พึ่งของตัวเองแล้ว เราก็ไม่ต้องพึ่งราวบันได

 

ตอนที่ 4 ไม่เป็นปฏิปักษ์

เพราะฉะนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราเคยยึดเอาไว้เป็นหลักในการเดินทางมันกลายเป็นตัวเรา  เพราะเรากลายเป็นความว่าง กลายเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง เราก็เป็นหนึ่งเดียวกับทุกอย่าง มันก็ไม่ต้องพึ่งพาอะไร

มันเหมือนจิตเราขึ้นไปอยู่บนอวกาศ  ดาวเทียมขึ้นไปอยู่บนอวกาศ มันก็ลอยเท้งเต้งอยู่ มันไม่ต้องอาศัยเชือกสลิงอะไรที่มันจะต้องขึงมันไว้ให้มันลอยอยู่ท่านี้…ไม่ต้อง  ด้วยสภาพของอวกาศทำให้มันลอยอยู่แล้ว มันเป็นอย่างนั้นของมันเอง

เพราะฉะนั้น มันไม่ต้องมีหลัก ไม่ต้องมีอะไร  มันกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับทุกสิ่งทุกอย่างอัตโนมัติ  และเรากลับสู่ความเป็นธรรมชาติที่แท้จริง เรากลับสู่ความเป็นธรรมชาติอย่างที่พวกเราเป็นกันอยู่ในอดีตนี้แหละ แต่สิ่งที่ไม่เป็น คือ “เราไม่ทุกข์

จิตใจเราจะหมดความดิ้นรน ไม่มีความดิ้นรน จิตมันเป็นปกติ ไม่มีไปไม่มีมา ราบเรียบ….อะไรแบบนั้น  อะไรถูก อะไรผิด เรารู้หมดทุกอย่าง ร้อน-เย็นอะไรรู้หมด

แต่เราไม่เป็นปฏิปักษ์กับผัสสะที่เราเจอ คือ มันเจออย่างนี้ อ้อ…เป็นอย่างนี้ มันเป็นอย่างนี้ มันก็เป็นอย่างนี้  มันจะมีความเข้าใจเกิดขึ้นว่า อะไรเป็นอะไร

 

ตอนที่ 5 เกิดความเข้าใจ

เมื่อก่อนเราเจอผัสสะปึ๊งเข้ามา  เราก็จะคิดแล้วว่า ทำไมเป็นอย่างนี้ ทำไมเป็นอย่างนั้น ทำไมมันต้องอย่างนี้ ทำไมมันไม่….พูดมาหลายทีแล้ว  หรือว่าอะไรก็ตามที่เราจะปรุงแต่งทันทีเลยว่า ผัสสะนี้มากระทบปุ๊บ เราก็คิดๆๆ  ไปเลย

แต่ถ้าจิตใจเรานี้มีกำลัง มีปัญญาขึ้นมาแล้ว  เราจะเกิดความเข้าใจ  พอมันมากระทบปุ๊บ เราก็ “เข้าใจ

ตอนแรกมันเข้าใจตัวเองก่อน เช่น สมมติมีกิเลสเกิดขึ้น มีอารมณ์เกิดขึ้น เห็นตัวเองก่อน เห็นตัวเองเสร็จปุ๊บ ก็เข้าใจ….อ้อมันเป็นอย่างนี้

มันจะเกิดความเข้าใจในขณะเดียวนั่นแหละ มันไม่ใช่ต้องไปคิดอะไรเยอะๆ แยะๆ  มันเกิดความเข้าใจปุ๊บ มันปล่อย มันก็ไม่มีอะไร   ชีวิตเราก็เลยไม่ต้องเป็นทุกข์

ผมเคยบอกว่า เหมือนกับในสังคมนี้ แม้กระทั่งญาติพี่น้องเราบางคน เราอาจจะรู้สึกว่า คนนี้นิสัยไม่ดี  หรือบางทีญาติพี่น้องเราบางคนไปเป็นโจร  แต่เราก็ยังเมตตาเขา ยังสงสารเขา ทั้งที่คนในสังคมอาจจะด่าเค้าว่า คนนี้เป็นคนเลว

เพราะอะไรเราถึงไม่ด่าญาติเราคนนี้ เพราะเราเข้าใจเขา  เช่น เขาอาจจะลำบากแบบโน้น ลำบากแบบนี้ เขาอาจจะมีเรื่องอะไรที่คนอื่นเขาไม่รู้แต่เราเข้าใจเขา  คนอื่นเขาไม่รู้ก็เลยไม่เข้าใจ

เพราะฉะนั้น เวลาเราปฏิบัติธรรมไปจนจิตนี้มันเป็นอิสระแล้ว มันมีปัญญา มันเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่าง มันก็เหมือนเราเข้าใจคนนั้นแหละ มุมมองต่อโลกของเราเลยเปลี่ยนไป

พออะไรผ่านเข้ามาในชีวิต เราก็เข้าใจได้หมด เพราะเรา “เข้าใจธรรมชาติธรรมดาของสรรพสิ่ง” ไปแล้ว  ว่ามันเป็นแบบนี้ มันก็ต้องเป็นแบบนี้

เหมือนคนเขายังเป็นอย่างนี้อยู่ เราก็จะไม่รู้สึกว่า อยากจะไปด่าว่า หรือว่า รู้สึกว่าทำไมมันทำแบบนี้  เราก็จะรู้ว่า อ้อ…ก็เขาเป็นคนแบบนี้

หลวงพ่อจะพูดตลอดเวลาจะมีคนโน้นมาว่าคนนี้ให้ฟัง คนนี้มาว่าคนโน้นให้ฟัง หลวงพ่อก็จะบอกว่า ก็เขาเป็นแบบนั้น  คำสั้นๆ “ก็เขาเป็นคนแบบนั้น”…แค่นี้เอง

มันมีปัญหากับเราเพราะเราไปเอามาไม่ชอบ เอามาเก็บเป็นของส่วนตัว

แต่ถ้าเราเข้าใจว่า เขาเป็นแบบนั้น  เหมือนกับพ่อกับแม่อยู่ด้วยกัน มันต้องมีเรื่องไม่ถูกใจกัน  แต่ทำไมมันอยู่กันได้ มันอยู่กันได้เพราะรู้ว่าเขาเป็นแบบนั้น เพราะมันทำใจได้ มันเข้าใจได้ว่าเขาเป็นแบบนั้น  ถ้าเข้าใจไม่ได้ มันอยู่ด้วยกันไม่ได้หรอก

คนสองคนจะอยู่ด้วยกันไม่ไช่เรื่องถูกผิด ไม่ใช่เรื่องของเหตุผล แต่มันเป็นเรื่องความเข้าใจ  พอเอาเหตุผลเป็นหลัก มันฟาดฟันกันไม่จบ เพราะต่างคนต่างมีเหตุผลของตัวเอง

เพราะฉะนั้น การอยู่ด้วยกันมันเลยต้องอาศัยความเข้าใจ ไม่ใช่อาศัยเหตุผล ไม่ใช่อาศัยถูกผิด  ถ้าอาศัยแบบนั้น…..ตาย  มีกี่ครอบครัวก็ระเบิดหมด นอกจากเป็นพระอรหันต์ทั้งคู่ก็ไม่เป็นไร

 

ตอนที่ 6 กลับสู่ธรรมชาติเดิมแท้

ศาสนาพุทธนี้เป็นศาสนาของปัญญา  ปัญญาก็คือ “ความเข้าใจโลก เข้าใจสรรพสิ่ง” เข้าใจทุกอย่าง

ศาสนาพุทธไม่ใช่เรื่องของอิทธิปาฏิหาริย์  อภินิหาร  หรือเป็นเรื่องที่เราเข้าไม่ถึง…ไม่ใช่แบบนั้น  แต่เป็นเรื่องของความเข้าใจว่าโลกเป็นแบบนี้…แค่นั้น  นี่คือ ศาสนาพุทธ  ไม่ใช่เรื่องอะไรที่เราจะเข้าใจไม่ได้…ไม่ใช่แบบนั้น

พอเราเข้าใจได้ทุกสิ่งง่ายๆ แบบที่ผมบอก  เราเข้าใจคนนี้ เราก็เห็นใจเขา สงสารเขา…มันมีแค่นั้นเอง

เพราะฉะนั้น หน้าที่ของเรา คือ มีหน้าที่ที่จะกลับสู่ธรรมชาติเดิมแท้ เราถึงจะมีโอกาสเข้าใจสรรพสิ่งได้

เพราะสรรพสิ่งนี้คือ “ธรรมชาติ”  ถ้าเรากลับสู่ธรรมชาติได้เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติได้  ความเข้าใจในธรรมชาติเดิมแท้ของสรรพสิ่งของชีวิตมันถึงจะเกิดขึ้น

ถ้าเราอาศัยแต่การคิดพิจารณา อ่านหนังสือ  คิดตาม เข้าใจตาม  ความคิดทั้งหมดนี้ เรายังไม่ได้กลับเข้าไปในธรรมชาติเลย เพราะเราอยู่ในโลกของความคิดตลอด

เราอาศัยสมองเข้าใจสิ่งต่างๆ อาศัยสมองเข้าใจเรื่องโน้นเรื่องนี้ อาศัยสมองคิดวิเคราะห์อะไรต่างต่างนานา ว่ามันมีเหตุมีผล มันควรเป็นอย่างนี้ ควรเป็นอย่างนั้น  นั่นคือ  เรากำลังอยู่ในโลกของความคิดตลอด

เราไม่ได้เข้าสู่ธรรมชาติเดิมแท้   เราเลยต้องทุกข์กันตลอด  เพราะเราไม่ได้กลับไปแก้ที่ต้นตอ  ก็คือ การกลับไปสู่ธรรมชาติเดิมแท้

ธรรมชาติเดิมแท้ก็คือ….ความปกตินี่แหละ

 

ตอนที่ 7 มีอยู่ แต่ไม่ต้องสนใจ

พวกเราเกิดมาก็ดิ้นรนเลยทันที  ลองสังเกต เด็กๆ จะเอานี่ เอานั่น เอาโน่น  เป็นการแสดงออกอย่างเป็นธรรมชาติก็จริง

แต่มันแสดงออกแบบธรรมชาติบนพื้นฐานของความมีตัวตน มันอยากได้โน่น อย่างได้นี่  ร้องไห้ตีโพยตีพาย หนีความทุกข์ตลอด  อยากจะได้ความสุขตลอด

เขาบอกนักปฏิบัติธรรมก็ให้ทำจิตใจเหมือนเด็ก  หมายความว่าเราไม่ไปเพ่งไปบังคับเอาไว้

พอพวกเราเติบโตมา เราเรียนรู้การอยู่ในสังคม อยู่กับเพื่อน เราก็จะหักห้ามใจตัวเองเพื่อให้อยู่ในสังคมได้  เพราะสังคมมีระเบียบวินัยพอสมควร

แต่ครูบาอาจารย์ก็จะพูดว่า ให้ทำใจเหมือนเด็ก หมายความว่า อะไรเกิดขึ้นภายในใจ อย่ารีบเข้าไปกดข่มบังคับมัน  ดูมัน เห็นมันว่ามันเป็นอย่างนี้

แต่นี่เป็นทางเทคนิคนะ…คำว่าไปดูมัน เห็นมัน  แต่ผมจะบอกว่า “เรารู้ว่ามันมีอยู่ แต่เราไม่ต้องสนใจมันจะดีกว่า

ถ้าเราใช้คำว่าไปดูมันเห็นมัน เหมือนที่ผมบอกตอนแรกว่า  พอเราบอกว่าไปดูความคิด ก็จะจ้องไปดูความคิด เราคิดว่าดูความคิดแล้วดี  มันก็เลยคิดตลอด

แต่ให้เรา “รู้อยู่ แต่ไม่ต้องสนใจมัน” อันนี้ดีกว่า  อะไรๆ ผ่านมาผ่านไปเราก็รู้หมด โดยไม่ต้องสนใจมัน ไม่ต้องเข้าไป pay attention กับมัน ไม่งั้นในที่สุดเราจะเข้าไปอยู่กับมันเลย

พอเราเข้าไปอยู่กับมันปุ๊บ…อะไรเกิดขึ้น  “โลกเกิดขึ้นแล้ว”  ธรรมชาติที่แท้จริงที่เราควรจะอยู่กับมันก็หายไปแล้วเพราะเรากลืนไปกับโลก

แต่ถ้าเรารู้อยู่ มันเกิดขึ้น แต่ไม่ต้องสนใจมัน กลับมาอยู่กับความรู้สึกตัว กลับมาอยู่กับความเป็นปกติ   กลับมาอยู่กับสภาพที่แท้จริง คือ สภาพของการที่ไม่มีความดิ้นรนอะไรเลย  สภาพที่ไม่มีความร้อนรน ไม่มีความอึดอัดอะไรเลย….สบาย

นี่คือ สภาพธรรมชาติเดิมแท้ที่เราต้องกลับมาอยู่  กลับมารู้จักมัน  กลับมาสัมผัสมันเอาไว้  แล้วพอเราอยู่กับมันอย่างต่อเนื่อง อยู่กับมันอย่างเป็นนิสัย จิตใจนี้มันก็ฉลาดขึ้นๆ เรื่อยๆ

เมื่อก่อนเวลาอะไรผ่านมาผ่านไปเราก็กระโจนเข้าไปอยู่กับมันเลย  แต่พอเราอยู่กับความเป็นปกตินี้อย่างต่อเนื่องๆ มากขึ้น  ลองสังเกตคนที่ฝึกที่จะอยู่กับความเป็นปกติเรื่อยๆ  เวลามีอะไรเข้ามา มันจะเกิดความรู้สึกว่ามันไม่เอาเอง  มันรู้สึกว่าไม่อยากจะไปโง่แบบนั้น ไม่อยากทุกข์แบบนั้น  ไม่อยากจะเข้าไปทำอะไรให้ตัวเองทุกข์แบบนั้น  มันจะไม่เอาแบบนั้นเอง  อันนี้เป็น “ความเป็นเอง” เราไม่ได้ทำอะไรเลย

 

ตอนที่ 8  ฝึกนิสัย

การปฏิบัติธรรม เป็นการฝึกนิสัยจากที่เราเคยชอบของสกปรกมาทำให้จิตมันรู้จักของที่ดีกว่า

เมื่อมันรู้จักสิ่งที่ดีกว่ามากขึ้นๆ มันก็ไม่เอาของสกปรกเอง เราไม่ต้องว่า  เฮ้ย…ไม่เอา มันเป็นกิเลส เราต้องคอยปัดคอยละ อย่างคำว่า “ละ” เรียนกันมาเยอะแล้ว “ละอกุศล” คอยปัดคอยละ…..ไม่ต้องไปทำแบบนั้น

การที่เราคอยไปละสิ่งต่างๆ เหล่านั้น   เรากำลังแก้ไขที่ปลายเหตุ  คอยจัดการ  คล้ายๆ เหมือนเราเปิดประตู  แล้วก็มีขี้ฝุ่นพัดเข้ามาได้เรื่อยๆ  เราก็กวาดๆๆๆ  เราไม่ได้ปิดประตูสักทีนึง

เราคอยแต่กวาดฝุ่นๆ แล้วก็บอกว่า ฝุ่นมันเยอะเหลือเกิน ฝุ่นมันเยอะเหลือเกิน  พอกวาดทีก็สะอาดขึ้นมาหน่อย….อ้อ..อันนี้ เรียว่า สติ เรียกว่า สมาธิ

กวาดที สะอาดที.. อ้อนี่ สติ สมาธิ,  สติ สมาธิ, สติ สมาธิ อยู่นั่นแหละไม่ไปไหน  ฝุ่นก็เต็มบ้านตลอด

เราก็นึกว่าเรากำลังปฏิบัติธรรม…ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็เป็นแบบนั้น  ไปนั่งทำของแบบนี้…กวาดฝุ่นในบ้านแต่ไม่ปิดประตู !  มันก็เลยทำกันไม่จบสักที !

มันปฏิบัติก็เหมือนจะดีเพราะว่า  อ้อ..ฉันเห็นฝุ่น ฉันเห็นกิเลส ฉันได้ละมันออกไปด้วย  นั่นคือ กวาดฝุ่นเก็บไปทิ้ง  แต่มันเป็นงานที่ไม่มีวันจบ

แค่เพียงแต่เราปิดประตูซะ  แล้วก็ปัดฝุ่น…จบ…บ้านก็สะอาดเลยทันที  มันไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็นอะไร

 

ตอนที่ 9  เพราะไม่เชื่อ…ว่าเราทำได้

การปฏิบัติธรรมไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่เราเคยเรียนรู้กันมาว่า โอ้โห…เราคงทำไม่ได้ เป็นพระอรหันต์เป็นไม่ได้หรอก  เราไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นพระอรหันต์ เราไม่ได้เกิดมามีความสามารถเพื่อที่จะเป็นคนพ้นทุกข์แบบที่พระพุทธเจ้าเป็นได้ เราไม่ได้เกิดมาเป็นพระ เราไม่ได้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติธรรม…ไม่ใช่แบบนั้น

ทุกคนเรียนหนังสือ ทำงานหาเงิน ซื้อบ้าน ซื้อรถ แต่งงานมีครอบครัว มีลูกมีหลาน  ทุกเป้าหมายของชีวิตทุกคนนั้นทำเพื่อสิ่งๆ เดียวคือ  ความสุข  เราอยากจะได้ความสุข  เราทำมาทั้งชีวิตเพราะเราอยากจะได้ความสุขเราถึงทำแบบนั้น

แต่พอมาปฏิบัติธรรม  เรากลับคิดว่าความพ้นทุกข์แล้วมีความสุขอย่างแท้จริงเป็นไปไม่ได้หรอก

เพราะเราไม่ได้สนใจเรื่องการปฏิบัติธรรม เพราะเราคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้  มันเลยไปหาความสุขในสิ่งที่ตัวเองอยากจะทำแล้วเชื่อว่าเป็นไปได้  มันก็เลยไปทำ

แต่ถ้าคนเราเปลี่ยนความเชื่อนิดเดียวเองว่า เราทุกคนนี้เป็นพระอรหันต์ได้  เราทุกคนนี้พ้นทุกข์ได้  เราทุกคนจะเจอความสุขที่แท้จริงได้   แล้วก็เริ่มที่จะทำตั้งแต่วันนี้…ทุกคนก็ทำได้

เหมือนกับที่ทุกคนเคยทำได้ไม่ว่าจากจนก็รวย  จากไม่มีอะไรเลยก็มีอะไรขึ้นมา  มีบ้านมีรถ สำเร็จความสุขทางโลกตั้งหลายอย่างที่เราไม่เคยคิดว่าจะทำได้  เรายังทำได้เลย

เพียงแค่เรามีความมั่นใจว่า เราคนนึงนี่แหละจะพ้นทุกข์ได้เหมือนกัน เราคนนึงนี่แหละจะเป็นพระอรหันต์ได้เหมือนกัน

เราลำบากในโลกขนาดไหนเรายังลำบากได้เลย  ในการปฏิบัติธรรมไม่ได้ลำบากขนาดนั้น  เรากลับไม่ทำ มันมีจุดนี้แหละนิดเดียวเลย  “เพราะเราไม่เชื่อ….ว่าเราทำได้

แต่พอเป็นทางโลก ฉันต้องทำให้ได้ ฉันต้องทำให้ได้  ฉันมีลูก ฉันต้องเลี้ยงลูกให้สำเร็จให้ได้  ลูกฉันต้องรอดชีวิตให้ได้ มันมีแรงใจไปทำ

ปฏิบัติธรรมต้องมี “แรงใจ” นี้เหมือนกัน  ต้องมีพลังงานแบบนั้นเหมือนกัน คือ “ต้องทำให้ได้

มีคนเคยถามผมว่า พี่ทำได้ยังไง  มีวันนี้ได้ยังไง ผมตอบกลับไปว่า เราจะทำอะไร เราต้องทำจริง ตั้งใจจริง  เราปฏิบัติธรรม เราก็ทำจริงๆ ตั้งใจจริงๆ เราก็ทำได้ ทุกคนก็ทำได้

เพียงแต่ขอให้มุ่งมั่นแบบนี้ เรามุ่งมั่นเรื่องในโลกได้ตั้งเยอะ  ลองคิดดูว่า แต่ละคนจะตั้งใจได้ขนาดไหน มุ่งมั่นได้ขนาดไหน

ถ้าเราตั้งใจมุ่งมั่น…ทำได้  อันนี้เป็นไปได้

 

Camouflage

30-Jul-2016

 

YouTube: https://youtu.be/TrCezsfUZyg

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของคุณ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c