28.รับผิดชอบต่อตัวเอง

 

ตอนที่ 1  รู้ทันสภาวะปัจจุบัน

ถ้าเรารู้ทันสภาวะปัจจุบันว่า ตอนนี้จิตใจกระเพื่อมแล้ว เราก็ไม่ต้องไปคิดหาเหตุผลว่า เพราะไอ้นั่น เพราะไอ้นี่ เพราะไอ้โน่น หรือไปคิดต่อว่า เอ๊ะ!.. เราติดสงบหรือเปล่า เราถึงไม่ชอบสภาวะแบบนี้ ไม่ต้องไปคิดอะไรแบบนั้นเลย

การคิดจะพาให้เราตกไปสู่ข้างทาง เราหลุดเข้าไปในโลกของความคิดแล้ว เราตกจากความเป็นปกติ ตกจากสภาวะที่มันพ้นจากความคิดไป

พอเราเห็นจิตใจที่มันกระเพื่อมขึ้นมาปุ๊บ เราเห็นมัน..อ้อ..ตอนนี้เป็นแบบนี้กระเพื่อมแล้ว อย่างที่ผมบอกมันเหมือนผู้ชายมาจีบเรา ไม่ต้องสนใจมัน ความกระเพื่อมเกิดขึ้นเราก็เห็น อ้าว…มันกระเพื่อมแล้ว…แค่นั้น

แล้วจะทำอะไรต่อ? เราคิดว่าเราจะไปเดินจงกรมตรงโน้นแทน เราก็ไปเดิน ระหว่างเราเดินไปที่ใหม่เราก็รู้สึกตัวไป เดี๋ยวความกระเพื่อมนี้ก็ค่อยๆ ลดลง เราก็เห็นมันใช่มั้ย? อ้อ..ความกระเพื่อมที่เกิดขึ้นเมื่อกี้นี้ค่อยๆ ลดลง ค่อยๆ คลี่คลายออก ค่อยๆ จางลง ก็กลับมาเป็นปกติเหมือนเดิมแล้วเราก็เดินต่อ

ในขณะที่เราเดิน เดี๋ยวเราไปคิดเรื่องเมื่อกี้นี้อีกแหละ เราก็รู้ทัน อ้อ..มันไปคิดอดีตอีกแล้ว

เราก็รู้ทัน อย่าเข้าไปในความคิด อย่าตามมันไป อย่าตามไปวิเคราะห์เจาะลึกอะไรมัน….ไม่ต้อง

เราแค่รู้ว่าไปคิดอีกแล้ว แล้วก็เดินของเราไป พอจิตใจมันเป็นปกติ เราก็รู้ว่าตอนนี้ปกติ เนี่ย!!…มันก็กลับเข้าสู่ทางจงกรมที่เราได้ฝึกมา

เราเดิน…หยุด เรารู้อะไร เรารู้ทันอะไรบ้าง เราก็อยู่ในแนวทางแล้วเรียบร้อย…ก็ปกติ…แค่นั้นเอง เราก็เริ่มอยู่ในทางของการปฏิบัติธรรมเหมือนเดิม

 

ตอนที่ 2 ทบทวนหลักการ

อย่ากลัวว่าเราจะไปติดอะไรมั้ย สำคัญที่สุด คือ ต้องทบทวนสิ่งที่ผมบอกว่า หลักการหรือไฮเวย์ (Highway) ที่เราจะพ้นทุกข์ได้มันมีปัจจัยไม่กี่อย่างหรอก คือ

1) รู้สึกตัว

2) พ้นไปจากโลกของความคิด

3) ไม่ตามความคิดไป

4) เมื่อมันปกติอยู่ก็หันกลับมาดูหรือเช็คอารมณ์บ่อยๆ ว่าตอนนี้เป็นยังไง ดูใจเราว่าเป็นยังไง มันปกติมั้ย เช็คมันบ่อยๆ

เนี่ย!!…ก็ 3-4 อย่างแค่นี้แหละ แต่เนื่องจากความกลัวของตัวเองและเราอาจจะสับสนทำให้เราฟุ้งซ่านในการปฏิบัติธรรม ให้กลับมาอยู่กับหลักที่ผมบอก 3-4 ข้อนี้ว่ายังอยู่ในหลักนี้มั้ย ถ้ายังอยู่ในหลักนี้ถือว่าโอเค

แต่ถ้าหลุดออกไป เช่น ผมบอกว่าให้พ้นไปจากโลกของความคิด อย่าตามความคิดไป แล้วเราเข้าไปอยู่ในความคิด เราก็ต้องรู้แล้ว “เอ้ย…อันนี้ตกข้างทางไปแล้ว” ก็ต้องรู้สึกตัวขึ้นมา “อุ้ยไม่ได้…ฉันต้องรู้สึกตัว ไม่ตามความคิดไป” และลองเช็คใจสิว่าปกติอยู่มั้ย นี่…ก็เข้าหลักพอดี

สมมติว่าลองเรียงหลัก 3 ข้อนี้ดู ปุ๊บ..ปุ๊บ..ปึ๊บ ว่ามันใช่มั้ย ถ้ามันใช่…ก็เข้าทางแล้ว ก็ต้องทิ้งสิ่งที่กำลังสงสัย สิ่งที่กำลังกังวลไปเลยเพราะตอนนี้อยู่ในทางแล้ว อย่าตกลงไปอีก

 

ตอนที่ 3 วิเวก สันโดษ

ตอนนี้รู้สึกยังไง รู้สึกเบาสบายขึ้นมั้ย ทุกข์น้อยลงมั้ย โปร่งโล่งขึ้นมั้ย ปกติมากขึ้นมั้ย นี่ต้องเช็คตัวเองด้วยว่า พอเราเริ่มปฏิบัติธรรมแล้ว ชีวิตทั้งชีวิตของเรารู้สึกเป็นยังไง มันดีขึ้นมั้ย สบายขึ้นมั้ย

เมื่อไรที่จิตใจเรามีความเป็นปกติ มันเหมือนเราเป็นผ้าขาว จุดดำๆ เกิดขึ้นมามันเห็นทันที แต่เนื่องจากความเป็นปกตินี้หรือกำลังของสมาธิมันยังไม่เพียงพอ พอมันถูกเติมเชื้อเข้าไปมากๆ ปุ๊บ…มันก็เข้าไปเป็นกับมันเลย มันก็เลยขึ้นเลยทันที

นักปฏิบัติทุกคนอย่าไปคิดว่า เราปฏิบัติอยู่ในชีวิตประจำวันแล้ว เราจะสู้กิเลสได้ทุกอย่าง…มันไม่ใช่แบบนั้น

ที่ผมบอกตั้งแต่แรกว่า ทุกคนต้องรู้จัก “ความวิเวก สันโดษ” ให้โอกาสตัวเองที่จะได้วิเวกสันโดษเพื่อจะเกื้อกูลส่งเสริมการปฏิบัติธรรม ถ้าความวิเวกสันโดษมันไม่มีความสำคัญมากพระพุทธเจ้าไม่บอกให้ทำหรอก

ทำไมพระพุทธเจ้าถึงต้องออกไปเข้าป่าไปปฏิบัติหรือไปหาทางพ้นทุกข์ ทำไมพระพุทธเจ้าไม่ปฏิบัติธรรมในวัง นึกออกมั้ย? เพราะมันจำเป็นที่ทุกคนจะต้องไปฝึกให้รู้จักสิ่งๆ นี้ก่อน ให้รู้จักจนมันเป็นฐานก่อน

แต่พอเรารู้จักนิดหน่อย เราก็เลิกแล้ว เราไปอยู่ในชีวิตประจำวันแล้วก็นึกว่าเราต้องสู้ได้ แหม…หลงมานานตั้งเท่าไหร่ คลุกคลีกับกิเลสมาตั้งเท่าไหร่…ใช่มั้ย? เพิ่งมาปฏิบัติสองเดือนสามเดือนแล้วบอกว่าจะต้องอยู่ในชีวิตประจำวันได้ พูดเป็นเหมือนหนังการ์ตูน

 

ตอนที่ 4 ทุกขณะสมบูรณ์แบบอยู่แล้ว

ทุกขณะสมบูรณ์แบบอยู่แล้ว ตอนนี้เป็นแบบนี้ มันก็ต้องเป็นแบบนี้ แต่เรารู้ว่าตอนนี้เป็นแบบนี้ รู้ทันมันว่ามันเป็นแบบนี้

พวกนักปฏิบัติก็ไม่ชอบกิเลสหรอก พอไม่ชอบก็เป็นทุกข์ ความทุกข์ทุกอย่างที่มันอยู่ลึกๆ ของคนดีของนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายมันบีบเราเอง ให้เรารู้ว่าเรายังปฏิบัติไม่พอ เรายังปฏิบัติไม่เต็มที่ แล้วก็ยังไม่สมบูรณ์

มันก็เร่งให้เรารีบปฏิบัติธรรม ให้เราใช้เวลาที่มีอยู่นี้ในการมาปฏิบัติธรรม เพื่อวันนึงจะได้พ้นทุกข์ไปอย่างสมบูรณ์ “ความทุกข์” มันมีประโยชน์อย่างนี้แหละ

แต่ไม่ใช่มีประโยชน์ในการทำให้ตัวเอง…เศร้าหมอง…หดหู่ อันนั้นเป็นนักปฏิบัติที่ไม่ฉลาด ทำให้ตัวเองเกิดอกุศลในจิต เกิดความเศร้าหมองในจิต…อย่าไปทำแบบนั้น

ตอนที่ 5  รับผิดชอบต่อตัวเอง

สังคมส่วนใหญ่บอกว่า เราต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม ถ้าเรารับผิดชอบต่อสังคมก็เท่ากับเรารับผิดชอบต่อตัวเองไปด้วย…ถูกมั้ย? เราเคารพกฎหมาย เราทำจารีตประเพณีต่างๆ ถ้าเราทำได้แบบนั้นก็เท่ากับว่าเรารับผิดชอบตัวเองไปในตัวด้วย สังคมก็สงบสุข

แต่ในความเป็นจริงแล้ว “เรายังไม่ได้รับผิดชอบตัวเองอย่างแท้จริง

การรับผิดชอบตัวเองอย่างแท้จริงก็คือ “การพาตัวเองให้ไปสู่ความพ้นทุกข์ให้ได้” อันนี้เป็นหน้าที่เรา เรายังไม่ได้รับผิดชอบต่อตัวเองเลยตั้งแต่เราเกิดมา เรารับผิดชอบต่อปฏิญญากฎหมายของสังคมเฉยๆ แต่เรายังไม่ได้รับผิดชอบตัวเองอย่างแท้จริง

เรามีหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบต่อตัวเอง ต้องเริ่มที่จะรับผิดชอบต่อตัวเอง

พระพุทธเจ้าให้หน้าที่นี้กับชาวพุทธทุกคนอยู่แล้ว เราทุ่มเทความรับผิดชอบให้กับสิ่งอื่นนอกตัวเรามากกว่าตัวเอง เรายังไม่เคยบาลานซ์ (Balance) เลย เราอยากจะ Balance เรานึกว่าเรา Balance อยู่ แต่จริงๆ เรายังไม่ Balance เลย เรา ให้ข้างนอก100%หมด ไม่ได้ให้ตัวเอง

คำพูดง่ายๆ ของผมเมื่อก่อนนี้คือ เรามีชีวิตเป็นของคนอื่นตลอดเวลา เราไม่เคยมีชีวิตของตัวเอง แต่การพูดแบบนั้นผมเลยต้องสำทับอีกว่า แต่การมีชีวิตของตัวเองไม่ใช่การไปตามกิเลสตัวเอง

การมีชีวิตของตัวเองถ้าเรายังตามกิเลสอยู่ เราก็ยังไม่พ้นทุกข์

เพราะฉะนั้น เรามีชีวิตของตัวเองเพื่อจะไปสู่ความพ้นทุกข์ อันนี้เป็นสิ่งที่จะช่วยเรามากที่สุด เพราะการไปสู่ความพ้นทุกข์มันไม่ตามกิเลสอยู่แล้ว

 

ตอนที่ 6 อย่าประมาท

ทุกคนมีเวลาไม่เยอะ ชีวิตที่ไม่ใช่มนุษย์ลำบากกว่านี้เยอะ ชีวิตมนุษย์ว่าลำบากแล้ว ถ้าไม่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ลำบากกว่านี้เยอะ

เราเป็นคนดี เป็นคนกตัญญู เป็นคนคิดถึงคนอื่น สิ่งเหล่านั้นไม่ได้บอกว่าจะช่วยเราให้เป็นมนุษย์

พระพุทธเจ้าบอกใช่มั้ยว่า มีแต่พระโสดาบันที่ปิดอบายได้ 100%ชัวร์ว่าปิดอบายได้ ดังนั้น เรามีหน้าที่ที่ไปให้ถึงความเป็นโสดาบัน ถ้ายังไม่ถึงแล้วยังไม่ทำหรือยังไม่ใช้เวลาในตอนที่ตื่นขึ้นอย่างเต็มที่ที่จะไปถึงความเป็นโสดาบันนั้น เท่ากับว่าเรากำลังประมาทอยู่

เราไม่อยากรับความทุกข์จากสังคมจากคนรอบข้าง เราก็เลยเลือกที่จะประมาท นั่นคือผมกำลังจะบอกว่า ไม่รับผิดชอบต่อตัวเอง มันต้องถึงเวลาที่จะรับผิดชอบตัวเองแล้ว

เราจะเอ้อระเหยไม่ได้ เราจะปล่อยไปไม่ได้ เราจะบอกว่า เออ…เดี๋ยวรอให้มันเป็นอย่างนี้ เป็นอย่างนั้น เป็นอย่างโน้นก่อน การรอนี้ เรียกว่า “ประมาท

พระพุทธเจ้าถามพระอานนท์ว่า อานนท์..เธอพิจารณาความตายวันละกี่ครั้ง พระอานนท์ตอบ 7 ครั้ง (ถ้าผมจำไม่ผิด) พระพุทธเจ้าบอกว่า โอ้…น้อยไป ต้องตลอดเวลา

เราไม่เคยรู้ไม่เคยคิดเลยว่าเราจะตาย เรานึกว่าเราจะอยู่ไปเรื่อยๆ จนถึงวันที่เราหวังว่า เดี๋ยวคงเป็นอิสระ เราจะได้ไปปฎิบัติธรรมตามอายุที่เราคิดเอาไว้ ทำไมเราคิดว่าเราจะอยู่นานขนาดนั้น…ประมาทเกินไป วันที่เราขาดจากความเป็นมนุษย์แล้ว วันนั้นคนที่เรากำลังเป็นห่วงอยู่ทั้งหมดนั้นช่วยเราไม่ได้

 

ตอนที่ 7  ให้ปัญญานำพาชีวิต

จิตใจเรามันเต็มไปด้วยตัวตนอยู่แล้ว เวลาที่เราไม่มีตัวตน ก็คือ ช่วงเวลาของ “นิพพานชิมลอง” ที่ผมบอกก็คือ “ปกติ” อยู่ มันไม่ได้คิดอะไร มันเงียบเชียบ มันไม่มีอะไร อันนี้คือเวลาของความที่คนหายไป

แต่ในเวลาที่เราเริ่มคิด เราจะหาคำตอบอะไรบางอย่าง ลึกๆ มันมีคนอยู่แล้ว ทำไมเราถึงคิด เพราะเราอยากจะพ้นจากสภาวะนั้น หรืออยากแก้ปัญหา แล้วทำไมอยากแก้ปัญหา ก็อยากพ้นจากสภาวะนั้น ใครอยากพ้น ก็คนนี่แหละอยากพ้น นึกออกมั้ย มันมีคนอยู่แล้ว

เพราะฉะนั้น เราไม่ต้องไปกังวลว่า เราจะแก้ปัญหา เรายังมีคนอยู่…ก็มันยังมี แต่นึกออกมั้ยว่า เราปฏิบัติธรรมจนวันนึงเราจะมีปัญญา แล้วเราจะใช้ปัญญานี่แหละนำพาชีวิตไป

อย่างหลวงพ่อสอนผมว่า “ให้ปัญญานี้นำพาชีวิตไป ไม่ใช่ความคิด

แต่เราจะมีปัญญานำพาชีวิตไปได้ยังไง ก็คือ “ต้องปฏิบัติธรรม” ในระหว่างการปฏิบัติธรรมนี้ ปัญญาจะค่อยๆ แสดงตัวออกมาทีละนิดทีละหน่อย ถ้าเราปฏิบัติให้มันจริงจัง มันจะค่อยๆ แสดงตัวออกมาเรื่อยๆ

แล้วปัญญานี้มันมาจากอะไร มันมาจากความว่าง ความว่างนี้มาจากอะไร ก็มาจากความไม่มีตัวตน

เพราะฉะนั้น ยิ่งเรามีความว่างมากเท่าไหร่ ความไม่มีตัวตนก็มากเท่านั้น ผลผลิตที่ออกมาจากความว่างนี้คือ “ปัญญา” มันจะบริสุทธิ์

 

ตอนที่ 8  พึ่งครูบาอาจารย์

ในขณะที่เราเองยังไม่มีปัญญา หรือพูดรวมๆ ว่ายังไม่มีความเป็นปกติ หรือความว่างเป็นพื้นฐาน

เราจำเป็นต้องอาศัยครูบาอาจารย์ เราจำเป็นต้องอาศัยคนที่เขาเป็นแสงสว่างแล้ว ให้เขานำทางเรา

ถ้าเรามีปัญหา เราต้องไปปรึกษาครูบาอาจารย์ เพราะครูบาอาจารย์ คือผู้ที่เห็นความจริงแล้ว เขาเป็นเหมือนสปอร์ตไลท์ (Spotlight)

ถ้าเรามีเรื่องอะไรที่เป็นปัญหา เราตัดสินใจไม่ได้ เราจำเป็นต้องอาศัยครูบาอาจารย์

แต่ต้องเป็นครูบาอาจารย์จริงๆนะ เป็นครูบาอาจารย์ที่เห็นความจริง เป็นแสงสว่างได้จริง ไม่ใช่ครูบาอาจารย์ที่ยังไม่เห็นความจริง

แสงสว่าง” ที่ผมพูดนี้เป็นการเปรียบเทียบเหมือนสปอร์ตไลท์

เหมือนทุกวันนี้เราก็เดินไปมืดๆ เป็นแสงหิ่งห้อยไม่เห็นทาง เราก็เดินไปมัวๆ ซั่วๆ เดี๋ยวก็โดนหนามตำ เดี๋ยวก็โดนใยแมงมุมแปะหน้า

แต่ถ้าเรามีสปอร์ตไลท์อันใหญ่ๆ เขาบอกให้เราไปทางนี้ สปอร์ตไลท์ชี้ทางให้เห็นว่าไปทางนี้ ทางนี้มีแสงไฟส่องให้เราเดินไปมันก็สะดวกหน่อย เราก็เดินไปโดยไม่ต้องกังวลมากว่ามันจะผิดมั้ย..อะไรอย่างนี้

แม้ว่าเขาจะไม่ได้ไปกับเราหรอก แต่เขาก็ชี้ไว้แล้วว่าไปทางนี้ละกัน ทางมันก็ราบเรียบราบรื่นหน่อย

ก็เป็นทางที่ถูกที่ควรกับเรา แต่อาจไม่ถึงกับราบรื่นมาก แต่ว่ามันเป็นทางที่ถูกที่ควรกับเราที่มันควรจะไป มันจะช่วยเรา มันจะเกื้อกูลเราไปในทางพ้นทุกข์

ในขณะที่เรายังไม่เป็นแสงสว่างของตัวเองเราต้องพึ่งครูบาอาจารย์…ท่านจะช่วยเรา

พึ่งจนวันนึงเราเป็นแสงสว่างเอง เราก็ไม่ต้องพึ่งใคร ถ้าจะพึ่งก็พึ่งตัวเอง เพราะพึ่งตัวเองได้แล้ว

เพราะฉะนั้น ทุกคนจำเป็นต้องมี “ครูบาอาจารย์” ผมถึงบอกหลายคนว่า วันเสาร์-อาทิตย์ว่างๆ ต้องมีเวลา เข้าวัด เข้าหาครูบาอาจารย์ มีอะไรก็ถามไถ่ได้

ไม่งั้นเราก็เหมือนเป็นคนที่มีกุนซือ มีที่ปรึกษา..แต่เรากลับไม่ใช้

พระพุทธเจ้าสอนชาวพุทธว่า ให้ทุกคนมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง พระรัตนตรัย ก็คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

นี่พระสงฆ์ คือครูบาอาจารย์…เป็นที่พึ่ง

 

ตอนที่ 9 ต้องใช้โอกาสให้เป็น

เราต้องใช้โอกาสให้เป็นประโยชน์ที่สุด “พระ” แปลว่า ผู้สอน ผู้สอนก็สอนหมด พระไม่ใช่คนที่เกิดมาแล้วเป็นพระเลย เขาอยู่ในทางโลกมาก่อน เพราะฉะนั้นเขาสอนได้หมดทั้งทางโลกทางธรรม สอนได้หมด ในมุ้งนอกมุ้งสอนได้หมด

โอกาสความเป็นมนุษย์อันนี้ไม่ใช่มีบ่อยๆ…ยากมาก อย่างที่บอกเหมือนเต่าตาบอดโผล่ขึ้นมาคอสวม แอกพอดี..ไม่ใช่เรื่องง่าย

สมัยก่อนอนาถบิณฑิกเศรษฐีเข้าไปถึงพระพุทธเจ้า แต่ไม่ถามอะไรเลย

จนวันนึงใกล้จะตาย พระสารีบุตรไปเทศน์ธรรมะเรื่องนึง และตามตำราเล่าว่า “โอ้…ขอให้ท่านช่วยเทศน์สั่งสอนญาติโยมเพราะยังมีคนที่มีธุลีในดวงตาน้อยสามารถจะฟังเข้าใจได้ ผมอยู่ตั้งนานทำไมไม่มีใครเทศน์ให้ฟัง…

นั่นก็เพราะตัวเองไม่เคยถาม ตัวเองแค่ไปสอดส่องดูว่าพระพุทธเจ้าขาดเหลืออะไรบ้างมั้ย วัดขาดเหลืออะไรบ้างมั้ย จะซ่อมแซมให้ ตามคำบอกเล่าเขาบอกว่า อนาถบิณฑิกเศรษฐีไม่กล้ารบกวนพระพุทธเจ้า กลัวว่าจะทำให้ท่านเหนื่อย เป็นห่วงพระพุทธเจ้า

เขาก็คิดไปอีกแนวนึง เขาเป็นลูกศิษย์ที่ดี ห่วงพระพุทธเจ้า กลัวพระพุทธเจ้าเหนื่อย เกรงใจ ก็เลยไม่กล้าถามข้อธรรม จนจะตายถึงได้ฟังแล้ว…ก็เป็นพระโสดาบันขึ้นมา

เราก็ต้องใช้โอกาสให้เป็น ในพุทธประวัติก็มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเป็นบทเรียนให้ดูว่า เราอย่าไปทำแบบนั้น เราจะเสียโอกาส อนาถบิณฑิกเศรษฐีนี่ยังโชคดี ก่อนตายมีพระสารีบุตรพูดธรรมะให้ฟัง ถ้าเราไม่มีทำไง? ถึงมีแต่เราฟังไม่เข้าใจก็ตายเหมือนกัน..ตายฟรี!! นี่…เราต้องใช้โอกาสให้เป็นประโยชน์ให้ดีที่สุด

 

Camouflage

22-Jul-2016

 

ถอดไฟล์เสียงจาก YouTube : https://youtu.be/vlAceWN9pEs

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของคุณ Camouflage :

https://goo.gl/RDZFMI

 

======================

 

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

 

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai

www.facebook.com/sookguysookjai

 

2) Line : @camouflage.talk

https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

 

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai

https://goo.gl/in9S5v

 

4) Website: www.camouflagetalk.com

 

5)Podcast  : Camouflage – Dhamma Talk

https://itun.es/th/t6Mzdb.c