27.ธรรมบรรยาย 13-05-59 2/2

 

ตอนที่ 1 อย่าตัดสินผลการปฏิบัติ

ความไม่ทุกข์มันเป็นสภาพของขณะจิตเดียวที่มันไม่ทุกข์ แต่ถ้าขณะจิตนั้นหลงไปมันก็จะพาเราไหลไปด้วยความรวดเร็วไปทุกข์ทันที

เพราะฉะนั้น เวลาที่เราอยู่ในการปฎิบัติธรรมเป็นประจำทุกวันนี้ ผมอยากจะบอกว่าเราไม่ต้องไปกะเกณฑ์ว่าเมื่อวานดีกว่าวันนี้ วันนี้ดีกว่าเมื่อวาน เรื่องนี้เคยไม่โกรธแต่โกรธอีกแล้ว ทำไมวันนี้เราเป็นขนาดนี้

เราไม่ต้องไปตัดสินให้ค่าอะไรว่าวันนี้เราแย่ลง หรือเราดีขึ้น เพราะว่าสิ่งต่างๆที่มันเป็นกิเลส หรือที่เกิดทุกข์ขึ้นมาแล้วนั้น มันเป็นเพราะว่าจิตใจเรานี้มันมีแต่โมหะ มันยังมีเชื้อที่จะก่อให้เกิดกิเลส ก่อให้เกิดทุกข์ได้ มันยังมีอยู่

มันเกิดขึ้นจะเข้มข้นขนาดไหนก็ตาม ขอให้เรารู้ว่า “ตอนนี้มันเป็นแบบนี้” นั่นคือรากเหง้าของกิเลสที่มันยังไม่โดนชำระ หรือเรียกว่าสังโยชน์มันยังไม่ขาด มันก็ยังจะต้องมีอยู่ เราไม่ต้องไปโทษตัวเอง หรือว่าติเตียนตัวเอง

เราจะติเตียนก็ต่อเมื่อเราหลงเข้าในมัน หลงเข้าไปคิด หลงเข้าไปต่อเติมปรุงแต่ง เราค่อยว่าตัวเอง ว่าเราพลาดอีกแล้ว

แต่อะไรที่มันเกิดขึ้นมาแล้วไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับของเก่า กับของที่เราคาดหวังว่าควรจะเป็น

ตอนที่ 2 ความไม่ทุกข์เลย

ความไม่ทุกข์ คือความไม่ทุกข์เลย มันไม่ใช่ว่าเมื่อก่อนเราปฎิบัติแล้วเราโกรธเท่านี้ พอปฎิบัติไปเราจะต้องลดความโกรธเหลือ 50% หรือว่าค่อยๆลดลง…มันก็จะว่าไม่ใช่ก็ไม่ใช่ จะว่าใช่มันก็ไม่ใช่อีก โอเค มันก็มีบ้างที่มันเป็นทยอยลดลง แต่ไม่ใช่ 100% บางทีมันก็เพี้ยนไปโกรธหนักกว่าเดิมก็มี เรียกว่าอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงเป็น Wave ขึ้นๆลงๆอยู่

แต่ที่ผมบอกว่าความไม่ทุกข์ หมายความว่า มันขณะเดียวคือไม่ทุกข์ คือไม่ทุกข์เลย ไม่เกี่ยวกับว่าไปแล้วทุกข์หน่อยนึงแล้วก็ อ้อ ปกติแล้ว…ไม่ทุกข์ ไม่ใช่แบบนั้น

ความไม่ทุกข์ คือ ไม่ทุกข์เลย ไม่ใช่ว่ามีนิดหน่อยแล้วหายเร็ว หรือว่ามีเยอะแล้วหายเร็ว ไม่ใช่แบบนั้น

เพราะฉะนั้น สุดท้าย “เราไปสู่ความไม่ทุกข์เลย ความไม่ทุกข์เลยโดยสิ้นเชิง

เราไม่ต้องไปคิดว่าเมื่อก่อนดูเราจิตดีกว่านี้นะ ตอนนี้จิตไม่ค่อยดี จิตตก จิตเสีย ไม่ต้องไปคิดอย่างนั้นเลย มันเป็น Wave มันกำลังขึ้นๆลงๆของมันอยู่ มันอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลง Transform อยู่

เพราะฉะนั้น ไม่ต้องตัดสินอะไรทั้งนั้น มีแค่หน้าที่ “รู้สึกตัว ไม่ตามความคิดไป พอมันปกติแล้วก็เห็นมัน” หน้าที่มีแค่นี้ ไม่ต้องตัดสินตัวเอง

ในขณะที่มันเกิดความมืดขึ้นมาแล้วไม่ว่ามันจะมืดน้อยหรือมืดมาก ไม่ว่ามันจะมืดดำหรือมืดเทาๆ มันมืดเหมือนกัน มันเท่ากัน คือมันมืดอยู่

ผลการปฎิบัติรายวันไม่ต้องไปซีเรียส สิ่งที่เราต้องซีเรียส ก็คือว่า เราทำหน้าที่เรา 3 อย่างที่บอก ไปสมบูรณ์รึยัง แค่นั้น เราทำได้ดีพอรึยัง

ส่วนผลรายวันเป็นเรื่องที่ไม่ต้องไปเทียบขนาดนั้น รอเทียบตอนไม่ทุกข์เลยทีเดียว

ตอนที่ 3 ตัววัดการปฏิบัติ

สิ่งที่ผมให้เป็นตัววัดอยู่ประจำอยู่แล้วก็คือ สังเกตว่าถ้าเราฎิบัติแบบนี้ ความคิดฟุ้งซ่านมันจะน้อยลง เราจะอยู่กับเนื้อกับตัวมากขึ้น ความรู้สึกเราจะไม่ค่อยออกไปข้างนอก มันจะอยู่กับเนื้อกับตัวเยอะขึ้น จนเรารู้สึกเองเลยว่าเดี๋ยวนี้เราอยู่กับเนื้อกับตัวเยอะขึ้น

คนโบราณนี่เค้าจะขอให้พวกเด็กๆ ให้มีใจอยู่กับเนื้อกับตัว เรียกว่าเรียกขวัญ คือเรียกให้อยู่กับเนื้อกับตัว อันนี้เป็นธรรมะขั้นสูงของคนโบราณ เขาให้เราอยู่กับเนื้อกับตัว

เมื่อไหร่ที่เรารู้สึกอยู่กับเนื้อกับตัว นั่นแสดงว่าเรากำลังปฎิบัติธรรมแล้ว นั่นเรากำลังอยู่ในทางแล้ว

เพราะฉะนั้น ถ้าอยากจะวัดผลของการปฎิบัติให้วัดแบบนี้ “วัดความรู้สึกอยู่กับเนื้ออยู่กับตัวเรา มากขึ้น” สิ่งนี้เป็นผลให้ความคิดฟุ้งซ่านมันน้อยลง มันก็เนื่องกัน ก็อยู่ที่ความรู้สึกตัว แค่นั้น

จนเราทำไปเรื่อยๆเดี๋ยวมันก็อัตโนมัติ ก็กลับมารู้สึกตัวเอง กลับมาดูใจตัวเอง กลับมาเช็คอารมณ์ตัวเอง นึกขึ้นได้บ่อยๆเอง นี่แค่เป็นอัตโนมัติระดับนึง เรียกอัตโนมัติเหมือนกัน แต่อัตโนมัติก็มีหลายระดับ เหมือนที่ปกติก็มีหลายระดับเหมือนกัน

อัตโนมัติก็มีหลายระดับ อัตโนมัติจนถึงขั้นไม่ต้องทำอะไรเลย ไม่ต้องคิดว่าจะต้องทำอะไรด้วย ไม่ต้องคิดว่าจะต้องรู้สึกตัวด้วย ไม่ต้องคิดว่าจะต้องมาดูกายดูใจด้วย ไม่มีเงื่อนไขอะไรในชีวิตทั้งนั้น แต่ถามว่ารู้ตัวมั้ย?… รู้ตัวอยู่ แต่มันเป็นการ “รู้ตัวแบบลืมตัว ลืมตัวแบบรู้ตัว” คำศัพท์ท่านเขมานันทะก็ใช้แบบนั้น

ซึ่งท่านเขมานันทะพูดเรื่องนี้ แล้วก็บอกว่าอย่าเพิ่งสนใจเลย มันเป็นผลการปฎิบัติ ในขั้นนี้เราต้องรู้สึกตัวก่อน เราต้องรู้สึกตัวก่อน อย่าเพิ่งรีบไปเอาความลืมตัว เพราะนั่นเป็นผล มันก็เป็นเองจาก 2-3 อย่างที่บอกไป เราก็ทำแค่นั้นเอง ไม่ได้ทำอะไรมากกว่านั้น

ถ้าเราไม่ได้ฝึกความปกติ ความรู้สึกตัวเอาไว้ มันก็จะมีความคิดแทน ก็จะมีคำถามเยอะ

แต่คำถามก็ไม่ใช่เรื่องไม่ดีเป็นเรื่องดีเหมือนกัน เค้าเรียกว่า “จินตามยปัญญา” ก็คือการคิดวิเคราะห์

เราทุกคนก็ต้องผ่านการคิดวิเคราะห์มาก่อนแล้ว เราถึงมาเป็นคนบ้าปฎิบัติธรรม เราต้องคิดวิเคราะห์พอสมควรแล้วว่า อันนี้มันก็ถูกต้อง อันนี้มันก็ใช้ได้ มันก็เกิดจากประสบการณ์ชีวิตทั้งหลายมันสอนเรา ให้เรารู้จักหาทาง แล้วเราก็พิจารณาทาง แล้วเราก็ต้องไปทางนี้แหละ

เราก็ผ่านการคิดวิเคราะห์มาก่อนแล้ว มันก็ไม่ผิดอะไร

 

ตอนที่ 4 ความคิด และ ความปรุงแต่ง

ตอนนี้มีกระแสของการพูดถึงเรื่องของความคิด จนความคิดเหมือนเป็นสิ่งที่เป็นมารร้ายของนักปฏิบัติธรรม เป็นสิ่งชั่วร้ายของนักปฏิบัติธรรม

จริงๆเราต้องแยกว่า “ความคิด” กับ “ความปรุงแต่ง” นี้เป็นคนละอันกัน

เพราะว่าพอเราเข้าใจว่าความคิดมันเป็นสิ่งที่ไม่ดีตลอด มันจะมีคำถามตลอดว่า แล้วพระอรหันต์ไม่คิดเหรอ? พระอรหันต์ไม่คิดแล้วจะมีชีวิตอยู่อย่างไร?

เพราะฉะนั้น “ความคิดอันนี้เป็นสังขารในขันธ์ ” “ความปรุงแต่งนี้เป็นสังขารในปฏิจจสมุปบาท” มันไม่เหมือนกัน

สังขารในปฏิจจสมุปบาท เริ่มจากมันมีอวิชชาก่อน แล้วก็สังขาร สังขารนั้นคือ ความปรุงแต่งภายใต้กิเลส โมหะ โลภะ โทสะ ที่มันขับดันให้เกิดการปรุงแต่งขึ้นมา แล้วก็ยาวไปเรื่อย จนในสุดท้ายเราก็ทุกข์ เพราะความปรุงแต่งนั้น

เมื่อไหร่ก็ตามที่จิตใจเรามีอวิชชาอยู่ อวิชชานี้มันก็ส่งผลให้สัญญาที่เรามีอยู่นี้มันวิปลาส เมื่อมีสัญญาวิปลาส เลยส่งผลให้เกิดการปรุงแต่งบนพื้นฐานของกิเลส และก็ขับดันให้เกิดทุกข์ในที่สุด

แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่จิตใจเราสว่างไสว จิตใจเราปกติอยู่ ปกติอยู่นี่เปรียบเทียบมันกับสว่างไสว ไม่มีความมืด ถ้าไม่มีความมืดแล้วอวิชชาเกิดไม่ได้ อวิชชาไม่มี

ถ้าอวิชชาไม่มี สังขารกิเลสก็ไม่มี ก็เกิดการปรุงแต่งไม่ได้ เราก็เลยเหลือแต่ขันธ์ ๕ ที่มันบริสุทธิ์ตามธรรมชาติ

เพราะฉะนั้น สัญญาที่เรามีมันก็ไม่วิปลาสแล้วในขณะที่เราปกติอยู่ สังขารหรือความคิดอันนี้ก็เป็นความคิดบนความที่มันไม่วิปลาสแล้ว มันก็คิดงานคิดการได้ปกติไม่มีอะไร คิดเหตุ คิดผล คิดทุกอย่าง คิดอะไรได้หมด เพราะมันมีสัญญาไม่วิปลาสแล้ว

เพราะฉะนั้น เราจะใช้สัญญากับสังขารในขันธ์ ๕ ได้อย่างเป็นคนธรรมดาจริงๆ ธรรมดายังไง ก็ไม่ใช่คนบ้า คือไม่วิปลาสแล้ว

แต่คนในโลก จิตใจก็เต็มไปด้วยอวิชชา สัญญามันก็วิปลาส มันวิปลาส เค้าเลยบอกว่าทำไมคนในโลกถึงเป็นบ้า ก็เพราะมันวิปลาส มันเป็นแบบนั้น

เพราะฉะนั้น เวลาเราฟังธรรมะเรื่องความคิด ความปรุงแต่งเราต้องรู้ว่าคิดกับปรุงแต่ง มันแยกกัน ความคิดไม่ใช่สิ่งชั่วร้าย ถ้าไม่มีความคิด ไม่มีสัญญา เราจะถ่ายทอดความรู้ไม่ได้ โลกนี้ก็จะพัฒนาไม่ได้

ดังนั้น เวลาเราฟังเทศน์ ฟังธรรม เราจะรู้ว่าตอนเทศน์ต้นๆก็ดีเหมือนกัน พอเราฟังไปเยอะๆ เค้าพูดถึงตอนปลายๆเริ่มเพี้ยน เพราะว่าเค้าไม่รู้สิ่งที่เค้าพูด เค้าจิกซอร์เอาเองเหมือนกัน จากหนังสือ รู้เท่านี้แต่จิกซอร์ต่อจากในหนังสือเท่านี้ก็เกิดภาพหนึ่งขึ้นมาแล้วก็พูดตามนั้น เราฟังแล้วเราก็รู้เลยว่า แปลว่าเค้ายังไม่รู้

ถึงบอกว่าถ้าเราจะสอนธรรมะใครให้สอนเท่าที่รู้พอ ถ้าไม่รู้จริงๆก็อย่าเพิ่งสอน หรือถ้าต้องพูดจริงๆก็บอกว่าเราต้องอ้างคนนี้เค้าบอกมาแบบนี้ เราก็ฟังเค้ามาอีกที เค้าพูดแบบนี้

ตอนที่ 5 องค์กร ๒,๐๐๐ ปี

วินัยของพระเป็นสิ่งที่ทำให้สถานบันสงฆ์อยู่ได้ อยู่ได้คือหมายความว่ามีคนอุปถัมภ์ อุปฐาก

สังเกตมั๊ย สมมุติว่าเป็นพระอรหันต์แล้ว แล้วก็เดินถือถังตามพระไปบิณฑบาตร เค้าจะไหว้ใคร… ไหว้พระใช่มั๊ย? เพราะอะไร? เพราะคนเค้าใช้ตาเห็นสิ่งที่เค้าเชื่อว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งดี ทำไมเค้าถึงว่าพระเป็นสิ่งดี เพราะว่าอะไร? เพราะว่าพระเรียบร้อย พระสำรวม พระอยู่ในระเบียบวินัยที่อยู่ได้ยาก

เค้าเลยรู้สึกว่าเป็นบุคคลที่น่ายกย่อง น่ากราบไหว้ รวมทั้งองค์ความรู้ต่างๆ เราอยู่ในประเทศไทยรู้ว่าศาสนาพุทธ พระพุทธเจ้ามีความเป็นมายังไง ทำบุญกับพระได้บุญเท่าไหร่ เราก็เคยรู้แบบนั้นด้วย มันก็ประกอบกันหมด

แต่ทั้งหมดทั้งสิ้น ทำไมเราถึงรู้สึกว่าพระน่าเคารพ? เพราะว่าพระมีวินัย เค้าใช้ชีวิตดำเนินอยู่ภายใต้วินัย เลยดูน่ากราบไหว้ ถ้าลองพระไม่มีวินัยอย่างเช่นเป็นแบบพวกเรานี้ ใครจะกราบไหว้ ใช่มั้ย?

ศาสนาจะตั้งอยู่ได้เพราะมีกฎ ระเบียบ วินัย ที่พระพุทธเจ้าตั้งขึ้นนี่แหละ ศาสนานี้ถึงตั้งอยู่ได้ สองพันกว่าปี คิดดูองค์กรสองพันกว่าปี ถ้าไม่ใช่ระเบียบวินัยนี่ศาสนาอยู่ไม่ได้ ไม่มีทางอยู่ได้

เพราะด้วยระเบียบวินัยของพระพุทธเจ้านี่แหละ ศาสนาเลยอยู่มาได้ อันนี้คือในแง่ว่าวินัยจำเป็นแบบนี้

ตอนที่ 6 เห็นทุกข์เพื่อพ้นทุกข์

ส่วนในแง่ ในมุมว่าเป็นการกดข่มกิเลสมั๊ย? อันนี้คล้ายๆว่าพระมีวินัยที่บังคับเราหลายอย่าง พอเราโดนบังคับเยอะๆ เราเป็นไง? ทุกข์ใช่มั๊ยพอโดนบีบบังคับหลายอย่าง

อยู่ในโลกเราโดนแม่กับพ่อห้ามนิดห้ามหน่อย เราก็ทุกข์จะแย่แล้ว นี่โดนบีบทุกอย่าง เราก็ทุกข์ เราทุกข์แต่เราต้องอยู่ในนั้น เช่นเราบอกว่า เราจะบวช ๓ เดือน หรือเราจะบวชตลอดชีวิต หรือเราจะบวช ๑ ปี แล้วเราก็ตั้งสัจจะไว้แล้ว สึกไม่ได้ แต่ต้องอยู่ แต่ก็ทุกข์แสนทุกข์

ถามว่าจะทำยังไง? ธรรมชาติของสัตว์ดิ้นรนจะหนีความทุกข์ ดิ้นรนไม่อยากทุกข์ จะหาทางให้ได้ว่าไม่ทุกข์ทำยังไง สุดท้ายความดิ้นรนนั้นจะพาให้เราไปทางหาว่าทำยังไงดี? ต้องอยู่ที่นี่แต่แบบไม่ทุกข์

เราก็จะคิดว่าทำไงว้า??? อ๋อ…รู้สึกตัว ถ้าเราปกติอยู่ เคยฝึกมา ปกติอยู่มันก็ไม่ทุกข์ อ๋อ…ต้องปกติบ่อยๆ

เราก็จะเริ่มหาทางว่าจะปกติยังไง? ก็เลยนึกขึ้นได้อีก “ต้องรู้สึกตัว

เดี๋ยวเรารู้สึกตัวได้ไม่เท่าไหร่ เจอทุกข์มาเราก็เข้าไปทุกข์ คิดกับทุกข์นั้นอีก เราก็นึกขึ้นได้ อ๋อ นี่ทุกข์เพิ่มเพราะเข้าไปคิดนี่เอง มันก็บี้เราตลอดเวลา เพราะว่าถ้าเราไม่รีบจะรู้ว่าต้องทำยังไงให้พ้นทุกข์ เราจะต้องทุกข์หนักเลย

แต่ธรรมชาติของสัตว์ ของคนทุกประเภท มันไม่ต้องการทุกข์ แต่ในสิ่งแวดล้อมแบบนี้จะทำอะไรได้? ไปหาความสุขไม่ได้ จะไปคาราโอเกะ ไปหาแฟน หาเพื่อน กินเหล้า ไปผับ มันไปไม่ได้ มันหมดโอกาสอย่างนั้นไปเลย

มันก็เหลือทางเดียว ก็คือ “ต้องปฎิบัติธรรมมันถึงจะพ้นทุกข์ได้” มันเลยบีบบังคับเราเร็วขึ้นว่า ให้เรารู้จักว่าโอ้โหความพ้นทุกข์ นี่มันมีคุณค่าจริงๆ

ทำไมเรารู้จักว่าความพ้นทุกข์นี้มีค่า เพราะเราทุกข์เยอะ ถ้าเราทุกข์น้อยๆ เราจะเห็นความพ้นทุกข์มีคุณค่ามั๊ย?…ไม่มี เราก็ไม่ทุกข์ สบายอยู่แล้ว

แต่พอเราทุกข์ยิ่งเยอะ เหมือนเราลงอยู่ต่ำมากๆ พอได้สุขนี่ โอ้โห มีค่ามหาศาลเลย ความรู้สึกว่ามันมีคุณค่ามาก

วินัยนี้มันก็เลยไม่ใช่ไว้ให้เราไปผูกกดข่ม แต่ผลักดันให้เราหาทางที่จะพ้นทุกข์ให้ได้ มันบีบมันบี้เรา มันขยี้เรา มันขยี้เราอย่างหนักว่าจะทำยังไงให้เราจะไม่ทุกข์ดี

เพราะฉะนั้น การอยู่ในสมณะเพศก็เป็นสิ่งที่จะช่วยเยอะสำหรับคนที่ยังไม่รู้ว่าชีวิตนี้เป็นทุกข์แสนสาหัสขนาดไหน

ต่อให้เราไปอยู่วัดที่สบาย มีกุฎิ มีเตียง มีพัดลม มีทุกอย่าง อย่างมากก็ฉันมื้อเดียวที่ลำบากหน่อย แต่เราก็ยังทุกข์มหาศาล แปลกมั๊ย?

เราไม่ต้องทำงาน เราไม่ต้องทำอะไร เราไม่ต้องคิดมาก แต่เราก็ยังทุกข์มหาศาล เพราะอะไร? เพราะนี่แหละ…เหมือนเราถูกตุ๋นไปไหนไม่ได้อยู่ในหม้อ มันจะเป็นตัวช่วยเรา

แต่พวกเราอยู่อย่างปัจจุบันนี้ ทุกข์นิดหน่อยเราก็ออกไปแล้ว กินข้าวข้างนอกดีกว่า ไปดูหนังสักเรื่องก็ดี ไปหาแฟนดีกว่าจะได้หาทุกข์เพิ่ม!!!

ตอนที่ 7 ทำเรื่องสูงสุดของเราก่อน

ถ้าเรามีศักยภาพ มีสภาพแวดล้อมที่พร้อมที่เราจะใช้ชีวิตในหนึ่งวันของเรา ที่จะรู้สึกตัว ไม่ต้องมีเรื่องคิดเยอะ เป็นปกติอยู่ เราก็ควรที่จะเลือกใช้ชีวิตแบบนั้นไปเลย

เราอาจจะเสียเวลาไม่กี่ปี อยากจะทำอะไรตอนนี้เอาไว้ก่อน ไปทำเรื่องสำคัญสูงสุดของเราก่อน แล้วจะอยากกลับมาทำก็ทัน…แต่ไม่มีใครทำหรอก

ระบบความคิดในแบบเก่าๆ ที่เราอยู่ในที่ทำงาน มันจะไม่ค่อยทำงานแล้ว มันจะเปลี่ยนเป็น “ปัญญา” แทน

เราจะรู้ว่างานในโลกหลายอย่างที่เรากำลังทำอยู่ค่อนข้างไร้สาระพอสมควร คือถ้าเรามีพร้อมทุกอย่างแล้ว เราจะไม่เสียเวลาไปทำอะไรอีกแบบที่เราเคยทำอยู่ แต่ถ้าเราขาดแคลนปัจจัยต้องทำงาน เพราะจำเป็นต้องทำงาน ต้องหาเงิน

คนที่เค้าปฎิบัติธรรมส่วนใหญ่โดยเฉพาะที่เข้าถึงธรรม ถึงความจริง แล้วเค้าก็เลยไม่ค่อยอยู่ในสังคมเท่าไหร่ เพราะเค้ารู้ว่ามันไร้สาระ มันไม่มีประโยชน์อะไรเท่าไหร่

แต่ว่าถ้าตัวเราเองมันวิเวกไม่ได้ด้วยตัวเอง ด้วยภาวะอะไรก็ตามที่มันบีบคั้นเราอยู่ ที่มันเป็นเงื่อนไขของชีวิตเราอยู่ สังฆะจะเป็นพระหรือเป็นชีก็ตาม ก็เป็นสิ่งที่รอรับเราอยู่ เป็นสังคมที่รอรับเราอยู่

ตอนที่ 8 อยากกิน…ทำไงดี?

เวลามันเกิดความอยากกินขึ้นมา เราจะเห็นความอยากใช่มั๊ย? เราจะรู้ว่าอันนี้มันเหมาะสมมั๊ยกับร่างกายเรา…แค่นั้นเอง เรารู้แค่นั้นเอง

ขณะที่เรารู้ความอยากนี่จบแล้ว พอเรารู้ความอยากปุ๊บ ก็เห็นความอยากว่าจิตใจไม่ปกติแล้ว มีความทะยานอยากจะกิน อยากได้มา

พอเราเห็นปุ๊บ เราก็ดูว่าเป็นไง ต้องกินมั๊ย อันนี้เหมาะสมกับร่างกายเรามั๊ย พอดีกับร่างกายเรามั๊ย เราก็พิจารณาเพิ่ม แค่นั้นเอง

แต่ไม่ใช่ว่าอยาก แล้วต้องไม่กิน ไม่ใช่แบบนั้น

อยากแล้วเรารู้ทันก่อน แล้วก็ “อ้อ ตอนนี้มันเป็นแบบนี้” แล้วเดี๋ยวเราพิจารณาว่ากินได้มั๊ย สมควรแก่ธาตุขันธ์เรามั๊ย มันพอดีกับเรามั๊ยอะไรแบบนี้

ตอนที่ 9 รู้สึกตัว ไม่ต้องทำอะไร

ในขณะที่เรารู้สึกตัว เราเชื่ออะไรมั๊ย?….ไม่มี

เราตั้งใจจะรู้สึกตัวรึเปล่า?…เปล่า

เรานึกขึ้นได้ เราก็รู้สึกตัวใช่มั๊ย?

ตอนนึกขึ้นได้เราตั้งใจเหรอ?…ไม่ตั้งใจมันรู้สึกตัวเอง

เราแค่มีความรู้ในหัวเราเฉยๆว่า อ๋อ เค้าบอกว่าให้ทำ 3 อย่างนะ “รู้สึกตัว ไม่ตามเข้าไปในความคิด ถ้าจิตใจปกติก็เห็นมันด้วย” เราจำไว้แค่นี้

แต่เราทำอะไร?… “เราไม่ได้ทำอะไร

พอเราจำไว้และมีฉันทะ มีความพอใจจะทำสิ่งๆนี้ เดี๋ยวมันนึกขึ้นได้ รู้สึกตัว.. ปึ้ง ขณะนั้นเราพ้นจากทุกสิ่งทุกอย่าง มันเป็นการระลึกขึ้น “ได้เอง

ได้เองแปลว่าอะไร?…แปลว่าไม่มีใครทำ

ไม่มีใครทำอะไร ขณะนั้นก็เลยเป็นอริยะมรรคทันทีครบ 8 องค์ ก็ตรงนั้นนั่นแหละทีเดียว เพราะในขณะตอนที่เรารู้สึกตัวนี่ “มันว่าง มันพ้นจากความคิดทั้งหมดแล้ว”

แต่ในขณะที่ถ้าเราไปท่องอริยะมรรคเป็นข้อๆ แบบนั้น แล้วเราก็ท่องจำอยู่ในใจเลยว่า เราจะต้องละอกุศล

เหมือนที่ผมเคยบอกว่า อกุศลนี่เหมือนกับของที่มันเกิดขึ้นเฉยๆ แล้วการที่เราไปละมัน เราก็เอาผลักออก “พอเราผลัก เราก็ติดกับมันเลย” มือเราก็เลอะของสกปรกนี้ทันที

การละอกุศลที่แท้จริงก็คือ “การที่เรารู้สึกตัว” ทุกอย่างก็เกลี้ยง มันไม่มีอะไร มันก็เป็นการละโดยสมบูรณ์ อัตโนมัติ ก็จบอยู่แค่ตรงนั้นเลย

แต่เรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่อธิบายยากให้กับคนที่เค้าเชื่อว่าเค้ากำลังปฎิบัติธรรมอยู่เหมือนกัน แต่ในพลาสติกเหนียวใสนี้ มันเห็นได้ยาก…มันเห็นได้ยากมาก

จริงๆถ้าเค้าซื่อสัตย์ต่อตัวเอง เค้าจะตอบได้…เค้าจะตอบตัวเองได้ว่ารู้สึกมั๊ยว่าวันๆที่ตัวเองกำลังจะปฎิบัติธรรมอยู่นั้น รู้สึกมั๊ยว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ รู้สึกมีเราที่พยายามทำอะไรอยู่รึเปล่า

ถ้ามันรู้สึกว่ามีเรากำลังพยายามทำอะไรอยู่ นั่นมีเราแล้ว มันเหมือนเราต้องทำอะไร

คำว่า “ต้อง” นี่มันไม่มี แต่คำว่า “หน้าที่และวินัย” อันนี้ต้อง

แต่ในขณะที่เราอยู่ในการปฎิบัติธรรมนี้ไม่มีคำว่าต้อง ไม่มีคำว่าต้องทำอะไรทั้งนั้น “รู้อย่างที่มันเป็นแบบนั้น

เราต้องมีหน้าที่ เราต้องมีวินัย แต่ในการปฎิบัติธรรมไม่มีคำว่าต้อง ไม่ต้องทำอะไร

ถ้าเรามีความคิด ความจำว่าต้องทำอะไร เรามีความเป็นคนเกิดขึ้นแล้ว เรามีการเข้าไปจัดการแล้ว เข้าไปยุ่มย่ามกับอะไรบางอย่างที่ ไม่ให้เป็นอย่างธรรมชาติของมัน

ตอนที่ 10 ทางอ้อม

ครูบาอาจารย์ที่เจอสัจจะ เจอความจริงแล้วนี่ เค้าจะไม่สอนกระเด็นออกนอกลู่นอกทาง

ในทางละเอียด ก็คือความเป็นคนดี

แต่จะต้องสอนให้พ้นจากคนไป ไม่ใช่สอนให้เป็นคนดี เพราะว่านักปฎิบัติทั้งหลายที่มาเข้าวัดเข้าวา ฟังธรรมครูบาอาจารย์ ทุกคนเป็นคนดีอยู่แล้ว ไม่ต้องสอนให้ดีกว่านี้แล้ว ทุกคนก็เป็นคนดีมากในสังคมแล้ว ไม่เบียดเบียนใคร ไม่ทำร้ายอะไรใคร

ครูบาอาจารย์ที่เป็นศิษย์พุทธะมีหน้าที่สอนให้พ้นจากความเป็นคน เพราะฉะนั้นก็เลยมีเรื่องจะพูดอยู่เรื่องเดียว ที่จะต้องพูดมากที่สุด

ยกเว้นถ้าเจอลูกศิษย์ไม่ดีจริงๆ ก็ต้องพูดให้เป็นคนดีก่อน อันนี้เป็นไปตามสถานการณ์

การที่ลูกศิษย์ หรือว่าคนที่ฟังธรรมรับข้อมูลไปแล้วนั้น เค้าจะเก็บไปคิดหมด เพราะฉะนั้นความรู้ที่มันออกนอกทางพ้นทุกข์นี่ ไม่เกี่ยวกับว่าความรู้นั้นจะถูกหรือผิด แต่ประเด็นสำคัญคือถ้ามันไม่จำเป็นก็อาจจะไม่ต้องพูด

ยกเว้นมันอาจจำเป็น บางทีเป็นเกร็ดชีวิต เกร็ดบางอย่างที่จะต้องใช้เพื่อที่จะช่วยคนบางคน จำเป็นต้องอธิบายเพิ่มเติม ให้เข้าใจในมุมต่างๆมากขึ้น

ทางที่พาเราอ้อมก็มีหลายแบบ อย่างเช่น มีพระองค์หนึ่งบวชแล้วก็นั่งสมาธิ ไม่มีใครสอนเลย อ่านหนังสือเอา นั่งสมาธิอยู่คนเดียว ปรากฎว่าจิตก็เข้าฌาน ทีนี้มีอภิญญาเยอะแยะเลย ของวิเศษตรึม ท่านก็เลยช่วยคน เพราะคิดว่าต้องช่วยคน เจอคนมาก็ทักโน้นทักนี่ทักนั่น ให้ไปแก้นี่แก้โน้นแก้นั่น รู้หมด โอ้โห คนเต็มวัดเลย

แล้ววันหนึ่งก็มีพระเดินผ่านมา บอกว่าท่านถ้าอยากจะรู้จักพระพุทธเจ้า คืนนี้ให้มาที่กุฏิอาตมา พระองค์นี้ก็ เอ…เราก็นึกว่าเรามีคุณวิเศษแล้ว เราก็นึกว่าเราโอเคแล้ว เราไม่รู้จักพระพุทธเจ้าเหรอนี่ ก็ไปหาแล้วพระองค์ที่เรียกไปก็คงสอนปฏิบัติธรรม

ตั้งแต่นั้นมาก็เลิกทำแบบนั้นอีกเลย เข้าใจแล้วว่านี่ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ ที่ผ่านมานี่เป็นทางของฌาน ทางของสมาธิ มีของเล่นเยอะแยะ แต่ยังไม่รู้จักพระพุทธเจ้า แล้วก็ไปติดอยู่ในฌานนั้น สุดท้ายก็ต้องเลิก เลิกแล้วก็เดินทางใหม่ แล้วจะได้รู้จักพระพุทธเจ้า

ตอนที่ 11 กับดัก

ท่านเขมานันทะเมื่อก่อนนี้ก็อยู่วัดชลประทาน พูดธรรมะได้แบบแตกฉานเลย แตกฉานจนกระทั่งคิดว่าตัวเองเป็นคนหนึ่งที่พ้นทุกข์พ้นร้อนไปแล้ว

เห็นมั๊ยว่าความคิดในเพศของพระที่มีความรู้ แล้วก็สมมติว่าร่างกายก็แข็งแรงดี ทุกอย่างก็สมบูรณ์ดี ทุกข์ก็น้อยถ้าความต้องการตัวเองมีน้อย อยู่ในเพศของพระทุกคนก็กราบไหว้ ก็ไม่ค่อยมีใครมาให้ทุกข์เท่าไหร่ ก็มีความรู้ ไม่ทุกข์ เข้าใจพระไตรปิฎก ทุกอย่างก็โอเคหมด ก็นึกว่าตัวเองนี่พ้นข์ทุกแล้ว

ท่านก็เทศน์เยอะจนหลวงพ่อเทียนวันหนึ่งเดินมาถามว่า ท่านอาจารย์ที่พูดเมื่อกี้พูดดีมาก แต่อาตมาอยากจะรู้ว่า ความรู้นี้อาจารย์ได้จากไหนมา

ท่านเขมานันทะก็เอะใจ ยังไม่ได้คิดอะไร แต่คำถามว่าความรู้นี้ท่านได้แต่ใดมา มันเหมือนกระอักกระอ่วนในใจตอบไม่ถูก ว่ามันเป็นความรู้ของใครกันแน่ ก็ยังคิดไม่ออก

ตอน 4 ทุ่ม หลวงพ่อเทียนมาเคาะประตูที่ห้อง ก็ขอเส้นด้ายขอกรรไกร ปกติพระก็จะพกด้ายกับกรรไกรเป็นอัฐบริขาร ไว้เย็บจีวร ท่านเขมาเอะใจวันนี้หลวงตาจะเอาอะไร แล้วก็หาให้หลวงพ่อเทียน

ท่านเขมานันทะถามว่าจะตัดเลยมั๊ย พอถามปั๊บ หลวงพ่อเทียนก็ตัดฉับเลย แล้วหลวงพ่อเทียนก็บอกว่า ถ้าท่านอาจารย์ยังมาไม่ถึงตรงนี้ แปลว่าท่านอาจารย์ยังไม่เจอพระพุทธเจ้าเลย

เพราะฉะนั้น ความรู้ธรรมะเป็นความรู้ที่ออกมาจากประสบการณ์จริงจากใจตัวเอง ไม่ใช่เป็นการไปอ่านตำรามา หรือวิเคราะห์ตำราเก่งๆมาแล้วก็แตกฉานในตำรา แล้วก็นึกว่าตัวเองบรรลุธรรมแล้วด้วย นึกว่าไม่ทุกข์แล้วด้วย

จะเห็นว่าแม้ว่าคนที่อยู่ในศาสนาพุทธซึ่งอาจจะมี 70 เปอร์เซนต์ของประเทศไทยมีคนปฎิบัติอีกจำนวนหนึ่งซึ่งไม่รู้กี่เปอร์เซนต์อาจจะ10 เปอร์เซนต์ มีแนวทางการปฏิบัติเป็นสายเป็นกลุ่มอีกเท่าไหร่ไม่รู้ คนสอนที่รู้จริงมีอีกกี่เปอร์เซนต์ แล้วมีอีกกี่คนกี่เปอร์เซนต์ที่ตามคนสอนที่รู้จริง

แทบจะนับเป็นเปอร์เซนต์ไม่ได้ ว่าใครสักคนหนึ่งที่อยู่ในศาสนาพุทธจะเจอทางที่ถูกต้อง ที่เราจะทำได้ แม้กระทั่งครูบาอาจารย์ที่มีคุณูปการอย่างท่านเขมานันทะก็ต้องเคยหลงทางมาแล้ว กับความเชื่อตามความคิดแบบนั้น ว่าถ้าเราเข้าใจทฤษฎีทั้งหมดแล้ว เชื่อมโยงกันได้หมด อะไรเป็นอะไร อะไรลิงค์กับอะไร ก็หมายว่าเราพ้นทุกข์แล้ว มันไม่ใช่แบบนั้น

หลวงพ่อเคยพูดว่า ถ้าเป็นพระที่อยู่มานาน พรรษาเยอะๆ นั่งหัวแถวแล้ว จะไปถามใครเรื่องปฎิบัติธรรมนี่ยากแล้ว เพราะไม่มีใครกล้าสอน นี่คืออย่างแรก อย่างที่สองที่เป็นอันตรายมากก็คืออะไร พรรษาเยอะ ส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยมีใครบีบคั้นแล้ว…สบาย บางทีมีลูกศิษย์ด้วย ไม่ค่อยทุกข์อะไร ไม่ทุกข์ไม่ร้อนก็ไม่ต้องพ้นทุกข์ เพราะนึกว่าตัวเองไม่ทุกข์ไม่ร้อนแล้ว

มันก็เลยเป็น “กับดัก” อีกชั้นหนึ่ง…กับดักมันเยอะ กับดักมันเยอะมากๆ ที่เราจะไปติดอยู่ได้

เพราะฉะนั้น “ซื่อสัตย์กับตัวเองนี่สำคัญที่สุด” ที่เราจะวัดตัวเองได้ว่าเรายังเหลืออะไรมั๊ย กิเลสอะไรที่เรายังเหลืออยู่ เรายังต้องพากเพียรต่อไปมั๊ย

 

ตอนที่ 12 ลงทุนมุ่งมั่นพากเพียรตั้งแต่วันนี้

ความพากเพียรนี่ก็เป็นภาษาเหมือนกัน วันนี้เรายังต้องพากเพียรหน่อย วันนี้เรายังต้องฝึกที่จะรู้สึกตัว มีวินัย มีหน้าที่ที่เราจะต้องฝืนตัวเองขึ้นมา ตื่นตี 4 ขึ้นมา เวลานี้เราต้องเดิน เราไปทำอย่างอื่นไม่ได้ เรามีหน้าที่แบบนั้น เราต้องทำก่อน

เหมือนกับเราต้องพากเพียร แต่พอถึงวันนึงเราก็ไม่ต้องพากเพียร มันก็จะ Flow ไปเอง ตามธรรมชาติเอง เพราะว่าถ้าเราจะทำอะไรมากกว่านี้ มันก็ทำไม่ได้ มันเหมือนเราจะ “ทำ” มันจะกลับมาเป็นว่าเราจะทำ

อัตราเร่งเป็นได้แค่ตามธรรมชาติที่มันจะเป็น ไปมากกว่านี้ไม่ได้ มันไปได้แค่นี้

เพราะฉะนั้น ถ้าเรามีชีวิตอยู่ต่อไม่ทัน เพราะอัตราเร่งมันเร่งขึ้นไม่ได้  เราคงต้องไปเกิดใหม่อีกรอบหนึ่ง

อย่างเช่นคราวก่อนเคยพูดถึงเรื่องคนขอทาน พระพุทธเจ้าพูดว่า สามีภรรยาคู่นี้ถ้าเลือกจะไปบวช ปฎิบัติธรรมตอนนี้เลยจะได้เป็นพระอรหันต์ แต่เค้าไม่เอา

เวลาผ่านไป ผ่านไป ผ่านไป เจออีกทีก็บอกว่าเป็นพระอนาคามียังได้

ผ่านไป เจออีกยังได้ อันนี้ยังเป็นพระสกิทาคามียังได้ โสดาบันยังได้ ยังได้อยู่

เจอครั้งสุดท้าย พระลูกศิษย์ก็ถามพระพุทธเจ้าว่า อันนี้ยังได้มั๊ย เจออีกทีเป็นขอทานแล้ว พระพุทธเจ้าบอกว่าตอนนี้ไปบวชก็ไม่ได้อะไรแล้ว “เวลามันไม่พอ

ผมถึงบอกว่า ถ้าเรารีบลงทุนให้ถูกทางตั้งแต่วันนี้ เราจะคุ้มเกินคุ้ม ดีกว่ามั๊ย??

มันน่าเสียดาย อยู่ดีๆเรารู้ทางที่ถูกต้องแล้ว เราอยู่บนเส้นด้ายเล็กๆอันนี้แล้วซึ่งแทบจะน้อยคนที่จะรู้เส้นทางนี้ แล้วเราก็..เอ้อ…เอาไว้ก่อน ไปทำอย่างอื่นก่อน

สมมติเป็นโสดาบันแล้ว ตามตำราบอกว่าเกิดไม่เกินอีก 7 ชาติ แต่ 7 ชาตินี่ไม่ใช่สบายนะ ชาตินี้เคยทุกข์แบบไหนกับร่างกาย มันจะทุกข์น้อยหรือทุกข์มากกว่านี้เราไม่รู้ เรื่องของกรรมเราไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่รับรองว่าทุกข์!! ถ้ามีร่างกายนี้อยู่…ต้องทุกข์

ทุกข์เพราะเราต้องอยู่กับมัน เป็นอสุภะใช่มั๊ย? เหมือนเราอยู่กับกองขี้…เหม็นทั้งวัน

ถ้ายังเกิดอยู่มันก็ต้องมีเวทนาเจ็บปวด ต้องผ่าตัดโน้นนี่นั่น…ต้องมีอยู่…ยังไงก็ไม่คุ้ม ถ้าเกิดเรายังเลือกที่จะปล่อยปละละเลย แลกเวลา… “แลกเวลาทิ้งไปกับของไร้สาระ

เพราะฉะนั้นอะไรจะเกิดขึ้นก็ได้ แต่ถ้าเรา “มุ่งมั่น” เลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับชีวิต ถ้าเรารู้จักเลือก โอ้โห!!! โอกาสนี่เป็นของเรา เราจะได้สัมผัสว่าในขณะที่เป็นพระอรหันต์แล้วอยู่ในโลกเป็นนี้ยังไง

 

ตอนที่ 13 เห็นล้วนๆ

สังเกตมั๊ยพอพวกเราปฎิบัติ เราก็รู้สึกตัวขึ้นมาใช่มั๊ย แต่เดี๋ยวเราก็หลงไปใช่มั๊ย มันจะเป็นเหมือนกับว่าเราก็รู้สึกตัว แล้วเราก็หลงไปใช่มั๊ย มันจะมีรู้ มีหลง มีรู้ มีหลง อย่างนี้ตลอด

แต่วันที่มันเป็นเองแล้วนี่ มันจะเปลี่ยนการรู้หลงนี้หมดเลย…จะไม่มี… “มีแต่เห็นอย่างเดียว” เรียกว่า “เห็นล้วนๆ”เลย

เห็นล้วนๆ ไม่มีหลงแล้ว เมื่อก่อนไม่กล้าพูดว่ามันหมดรู้ หมดหลง ผมไม่กล้าพูดเพราะไม่มีหนังสือเล่มไหนบอกแบบนั้น แต่ท่านเขมานันทะบอกว่ามันจะเข้าถึงสภาพเห็นล้วนๆ ก็นี่แหละเห็นล้วนๆ คือมันหมดแล้ว

รู้หลงนี่เป็นของคู่ เห็นล้วนๆนี่หมายความว่า อะไรเกิดขึ้นมา เราก็เห็นหมดแล้วจะทำอะไรอีกหละ มันทำอะไรมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว

เมื่อก่อนเราต้องคอยรู้สึกตัว เดี๋ยวนี้ไม่ต้องคอยรู้สึกตัวแล้ว อะไรเกิดมาเราก็เห็นหมดเลย เห็นอยู่ ก็ทำได้แค่นั้น

ความก้าวหน้าในทางปฎิบัติธรรม มันจะมีขั้นมีตอนให้เรา เรียกว่า “ผล

ผลนี้มันอาจเป็นขั้นเป็นตอน แต่การเดินทางไม่มีขั้นมีตอน เข้าถึงก็ถึงเลย แต่จะถึงหมดจดเลยมั๊ย มันต้องอาศัยเวลาต้องถึงบ่อยๆ ถึงให้มันเป็นอยู่ในใจเราเลย เหมือนเราต้องหายใจ เหมือนเราต้องกินข้าว ถ้าเราไม่ลืมเลยอันนี้พอแล้ว

การที่เราไม่ลืมเลยว่าเรามีหน้าที่อย่างนี้ในชีวิตนี่ ต่อให้ต้องทำงานทำการทำอะไร เดี๋ยวมันต้องกลับมา ถ้าเรามีเผลอหลงลืมไปแต่ไม่นานมันจะกลับมารู้สึกตัว

เชื้อนี้มันไม่มีทางหมดไป…มันจะอยู่กับเรา แต่มันอยู่ที่ว่าเราอยากจะเกิดอีกเท่าไหร่ ถ้าเราเด็ดขาด เราเต็มที่ มันก็จะส่งเป็นผลซึ่งกันและกัน โอกาสที่เราจะไม่ต้องเกิดก็มากขึ้น

เช่นเดียวกันกับความมุ่งมั่นของเรา ว่าเราจะเลือกมีชีวิตแบบไหน โลกเรานี่ก็มันมีทางเลือกให้เยอะมาก แต่พวกเราเงื่อนไขเยอะ วัดก็มี ชีก็มี แต่เราก็…อุ๊ย…ยังทำไม่ได้ ทำไมยังไม่ได้ เพราะมันก็มีเงื่อนไขของตัวเองอยู่ว่าต้องอย่างงี้ ต้องอย่างนั้น ต้องอย่างโน้น มันก็เยอะไง

แต่ถ้าพูดถึงความสมบูรณ์จริงๆของชีวิตเราทุกคนตอนนี้ ในประเทศนี้ ไม่อะไรสมบูรณ์ไปกว่าตอนนี้แล้ว ต่อให้ไม่มีเงินก็มีวัดมีที่ให้อยู่

 

Camouflage

13-Jul-2016

 

ถอดไฟล์เสียงจาก YouTube : https://youtu.be/jSbhmyJN–4

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของคุณ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

 

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai

www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk

https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai

https://goo.gl/in9S5v

4) Website: www.camouflagetalk.com

5) Podcast  : Camouflage – Dhamma Talk

https://itun.es/th/t6Mzdb.c