26.ธรรมบรรยาย 13-05-59 1/2

 

ตอนที่ 1 เดินบนเส้นด้ายเล็กๆบางๆ

พระพุทธเจ้าสอนให้เรามีโยนิโสมนสิการ ถ้ารู้ว่าเราปฎิบัติไปแล้วมันไม่ก้าวหน้า หรือทำไมมันเหมือนเดิม ทำไมมันฟุ้งซ่านเหมือนเดิม ทำไมมันหลับเหมือนเดิม เราต้องมีโยนิโสมนสิการที่จะกลับมาพิจารณาตัวเองว่าเราเจริญขึ้นมั๊ย ทุกข์น้อยลงมั๊ย

คำว่าเจริญก็คือ ทุกข์น้อยลงนี่แหละ หรือเรามีความคิดฟุ้งซ่านน้อยลงมั๊ย หรือมันก็คิดเหมือนเดิม ถ้าความฟุ้งซ่านยังมีเหมือนเดิมอย่างนั้นอยู่เราก็ต้องเสาะแสวงหาทางต่อไป ว่ามันจะมีอย่างอื่นมั๊ย?

ธรรมะนี้มันละเอียดอ่อนมาก มันเหมือนเราเดินบนเส้นด้ายเล็กๆบางๆ แล้วเราก็เฉียดไปเฉียดมา เฉียดไปเฉียดมาแทบจะเหยียบมันไม่โดน
 บางทีเราปฎิบัติธรรมมีสภาวะอะไรขึ้นมานิดหน่อย แล้วเราก็ไปอ่านหนังสือ อ่านเสร็จเราก็ปะติดปะต่อกับสภาวะที่เกิดขึ้น สมมติเราเพิ่งเคยเจอสภาวะแค่ 1%ใน100% เราก็เอา1%นั้นไปเชื่อมกับหนังสือทั้งเล่มจะได้ภาพภาพนึงขึ้นมาว่า อ้อ…ต้องเป็นแบบนี้

แต่พอเรามีสภาวะอะไรมากขึ้น ที่เรารู้มากขึ้น เราก็เอาเปอร์เซนต์ที่เพิ่มขึ้นไปวางลงในหนังสือ มันก็เปลี่ยนภาพทั้งหมดอีก อันนี้พูดเห็นภาพชัดๆ

 

ตอนที่ 2 โยนิโสมนสิการ

ท่านพุทธทาสบอกว่า “ทุกวันนี้อาตมาไม่กลัวขาดคนบรรยายธรรมะ เพราะคนบรรยายธรรมะมันมีเยอะเหลือเกิน” คนปฎิบัติเป็นหน่อยก็อยากบรรยายแล้วใช่มั๊ย คนรู้อะไรหน่อยก็อยากสอนคนอื่นแล้วใช่มั๊ย

เพราะฉะนั้น ท่านพุทธทาสบอกว่าเราไม่ต้องกลัวว่าจะขาดคนบรรยายธรรม แต่สิ่งที่ท่านกลัวก็คือว่า “กลัวว่าไม่มีคนรู้จริงบรรยายธรรม เพราะว่ามันหาได้น้อยมาก

ความเชื่อ ความศรัทธานี้มันเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จได้ แต่มันก็เป็นดาบสองคม

หลวงพ่อเทียนเคยพูดว่า “ถ้าเราเชื่อผู้นำที่ผิด ผู้นำที่ผิดก็จะบังเราไว้จนวินาทีสุดท้าย แต่ถ้าเราเชื่อผู้นำที่ถูก ผู้นำนั้นก็จะพาเราไปสู่ความสำเร็จได้

ดังนั้น ความเชื่อนี้เป็นสิ่งที่มีทั้งคุณและโทษ

เพราะฉะนั้น พวกเราทุกคนต้องมีโยนิโสมนสิการว่าเราฟังอะไรมา เราไปลองทำตามดู แล้วมันเป็นยังไง ชีวิตเราดีขึ้นมั๊ย ทุกข์น้อยลงมั๊ย อันนี้เป็นประเด็นสำคัญ
ไม่ใช่ว่าถ้าเราปฎิบัติแล้วเรายิ่งรู้สึกว่า โอ้…เราเป็นนักปฎิบัติ เห็นคนในบ้านแย่หมด คนในบ้านโง่จริงๆ ไม่รู้จักปฎิบัติธรรม…เราต้องไม่เป็นแบบนั้น ทำไมถึงไม่เป็นแบบนั้น? เพราะว่าเราไม่ได้คิด

 

ตอนที่ 3 สิ่งที่ถ่ายทอดยาก

วิธีการปฎิบัติธรรมก็คือ “การพ้นจากโลกของความปรุงแต่งทั้งปวง มีสภาวะที่เราเป็นปกติอยู่

ความเป็นปกตินี้เป็นกลาง เราเจออะไร เราก็เฉยๆ แต่ไม่ได้เฉยๆเป็นหุ่นยนต์นะ คือหมายถึง ภายในเรามันเฉยๆ แต่เรารู้หมดทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะเรายังมีสัญญาที่มันยังทำงาน มันไม่จำเป็นต้องเป็นหุ่นยนต์ หรือว่าเป็นทื่อๆ หรือว่าเป็นอะไรแบบนี้ บางคนก็ไปวาดภาพพระอรหันต์เป็นหุ่นยนต์ต้องไม่รู้สึกอะไร

มันต้องถ่ายทอดสิ่งที่ถ่ายทอดยาก…เหมือนพระพุทธเจ้าตรัสรู้ครั้งแรกตามหนังสือเค้าว่า พระพุทธเจ้าท้อเลยใช่มะ…ท้อใจเลย ต้องให้พระอินทร์มาขอ

ถ้าจะให้พูดถึงธรรมะ มันพูดสั้นมากเลย ธรรมะ ก็คือ “ว่าง ไม่มีอะไร” หรือ “ไม่พูดอะไรเลย” แบบเซน

พอพูด ว่าง ต้องพูดอีก “ว่าง แต่ไม่ใช่ว่างเปล่า” ไม่เข้าใจอีก ต้องบอกอีกว่า “มันว่างจากความเป็นตัวเป็นตน” “ว่างจากความสำคัญมั่นหมาย

คือมันต้องพูดเยอะ ถ้าพูดเยอะมันจะผิดอีก ก็ต้องขยายความปิดอีกเพื่อให้มันครบให้ได้ แต่มันครบไม่ได้

เพราะฉะนั้น เซน ก็เลยพูดว่า “คนที่เข้าถึงธรรมะแล้วมันก็ไม่รู้จะพูดอะไร” คือมันไม่มีอะไรจะพูด ยิ่งพูดมันจะยิ่งเลอะ ก็เป็นคำที่เค้าพูดกัน

แต่ว่ามันก็มีหน้าที่ที่ต้องบอกคน ต้องอธิบายคน ก็ต้องพยายามสื่อสาร ถ่ายทอดออกมา เพราะฉะนั้นภาษาการถ่ายทอดธรรมะมันก็เลยมักจะสร้างปัญหาให้กับนักปฎิบัติพอสมควร

 

ตอนที่ 4 หลักการ หลักยึด

ล่าสุดที่เขียนบทความเรื่องหลักการหลักยึด คือหลักการหลักยึดมันทำให้เราทุกข์ เรามีหลักอะไรอยู่เราก็ต้องทุกข์ เพราะสิ่งๆนั้น เราจะมีหลักว่าเราจะเป็นคนแบบนี้ เราจะต้องช่วยแบบนี้ เราจะต้องทำแบบนี้ในชีวิตถึงจะเป็นเรา มีความเป็นเรา…เราต้องเป็นแบบนี้

พอเราต้องเป็นแบบนี้ มันก็สร้างตัวตนขึ้นมา พอมันมีตัวตน มันก็มองในมุมตัวตนก็ทุกข์อยู่แล้ว มองในมุมว่าเรายึดอะไรอยู่ก็ต้องทุกข์เหมือนกัน ไม่ว่าหลักจะดีแค่ไหนก็ตาม ก็ต้องทุกข์อยู่ดี

เพราะฉะนั้นพวกเราชาวพุทธ บางทีเราก็ยึดพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง แต่เราอย่ายึด เรามีเป็นที่พึ่งเฉยๆ ถ้าเรายึดนี้เราจะต้องทุกข์

พวกเราชาวพุทธ เราต้องเข้าใจว่าศาสนาพุทธเป็นความจริงสูงสุด ความจริงสูงสุดอันนี้เป็นสากล เป็นสากลหมายความว่าไม่มีศาสนาพุทธ มันก็มีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าพระพุทธเจ้าเป็นคนค้นพบ

พุทธะเป็นตัวแสดงเฉยๆว่า บุคคลคนนี้ตื่นแล้ว ตื่นแล้วถึงเห็นความจริงได้ พอเห็นความจริงได้ก็รู้ว่า “โลกนี้มันว่าง” ถ้ามันว่าง มันก็ไม่มีอะไร

พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ก็เป็นสมมติเหมือนกัน เป็นสมมติที่ใช้สอนคน ช่วยคน จนพาไปตื่นขึ้นมา แล้วก็เห็น “สัจจะ

ก็รู้ว่ามีอยู่ แต่มันไม่มีอะไร มีอยู่คือทุกสิ่งทุกอย่างก็มีอยู่ คนก็เห็นเป็นคนนั่นแหละ นี่ก็คน ไม่ใช่เห็นเป็นอะไร…ไม่ใช่คน ไม่ใช่แบบนั้น

แต่มันไม่มีความเป็นคนอยู่ในจิตที่จะให้ค่า ให้ความหมายในจิตในใจ มันไม่เป็นแบบนั้น

มันก็เห็นเป็นแค่วัตถุก้อนธาตุ ขันธ์ ๕ นี่มันก็เป็นคำพูดทั้งนั้นนะ จริงๆแล้วตาก็ยังเห็นเหมือนเดิม ไม่ได้มีอะไรพิสดารมากมาย แต่สำคัญคือ “ใจ

 

ตอนที่ 5 เพื่อนที่ดีที่สุด

การปฏิบัติธรรมในศาสนาพุทธนี้เป็นการกระทำทางใจ

มีคนถามว่า ถ้าเราฝึกรู้สึกตัว เวลาเราตายมันจะไปกับเรามั๊ย คำตอบคือ มันต้องไปกับเรา

การปฏิบัติธรรม ไม่ใช่เราสะสมอะไรเข้า ไม่ใช่เอาอะไรออก แต่เรากำลังเปลี่ยนสถานภาพมันเลย มันกำลัง Transform อยู่

มันคล้ายๆเราค่อยๆฝึกจิตใจ เปลี่ยนนิสัย มันก็จะเปลี่ยนจากดำก็ค่อยๆขาวๆๆๆ นี่เปรียบเทียบเป็นสีเฉยๆ

อันนี้แหละที่มันถูกเปลี่ยน กำลัง Transform อยู่แล้ว มันก็ต้องไปด้วย เพราะมันหายไม่ได้ มันไม่ใช่การสะสมเข้า ไม่ใช่เหมือนเราสะสมสมบัติของเรา มันไม่ใช่แบบนั้น

เพราะฉะนั้นก็เลยบอกว่า เพื่อนที่ดีที่สุดของพวกเราก็คือ “ความรู้สึกตัว” อันนี้เป็นกัลยาณมิตรสูงสุด มันจะไปกับเราด้วย ตอนเราตาย คนข้างๆนี้ไม่ได้ไปด้วย

ถ้าเราไม่รักความรู้สึกตัวมากกว่าแฟนเรา เราจะต้องทุกข์ เพราะเราจะเสียดายแฟนเรา

ตอนเราตาย เราไม่อยากพลัดพราก แต่ถ้าเรารักความรู้สึกตัวมากกว่าแฟนเรา ก็สบาย มีที่รักที่สุดไปแล้ว ไปด้วยกัน เราก็ไม่ต้องเสียดายอะไร

เมื่อจิตมันใจมันรู้จักความปกตินี่แหละ ความปกตินี้มันจะทำให้เรารู้ว่ามันดีที่สุด มันไม่เคยทำให้เราทุกข์เลย

 

ตอนที่ 6 ความคิดเกิด คนเกิด

ความปกตินี้มันมีแต่ให้คุณกับเรา ความปกตินี้เป็นบ่อเกิดของหลายอย่าง บ่อเกิดของปัญญา บางคนใช้คำว่า “ปรีชาญาณ

ปรีชาญาณ หมายความว่า ความคิดที่เคยเกิดขึ้นบนพื้นฐานของโมหะ โทสะ ความกังวล กิเลสต่างๆ ความคิดนี้ถูกเปลี่ยนชื่อไป เพราะว่าจิตใจเรานั้นปกติ หรือว่าจิตมันว่าง พอต้นกำเนิดของความคิดขึ้นมาถูกเปลี่ยนไป จากน้ำดำเป็นน้ำสะอาด ปัญญาเราก็จะเฉียบคมขึ้น ที่เค้าบอกว่าคิดจากความว่าง นี่คือว่าง คือปกตินี่แหละ ความคิดนั้นจะเป็นปัญญา

แต่ถ้าเราวุ่นทั้งวัน ฟุ้งซ่าน เดี๋ยวก็ลอยมาลอยมา อันนี้มาจากจิตที่มันมีแต่โมหะ มันก็ขึ้นมาเรื่อย แล้วเรื่องที่มักขึ้นมามักจะหลอกให้เราไปคิดอีก

บางทีเรื่องผ่านมา ๒ วันแล้วนึกขึ้นได้ เราไม่น่าพูดกับเพื่อนอย่างนั้นเลย เพื่อนจะโกรธเรารึเปล่านะ เพื่อนจะคิดว่าเราไม่ดีรึเปล่า เราไม่ตั้งใจนะ อะไรแบบนี้พาเราคิดไปอีกชั่วโมง สมมติโทรไปเช็คกับเพื่อน เพื่อนจากที่ไม่คิดอะไร เล่าซะจนมันคิดเลยทีนี้ หรือมันต้องคิดไม่ดีกับเราแน่ๆ ไม่อย่างนั้นมันจะรู้สึกผิดกับเราทำไมแปลว่ามันคิด นี่จากความคิดฟุ้งซ่านนิดเดียว หลอกเราได้ขนาดนั้น มันหลอกเราขนาดเราเสียเพื่อนก็ได้

ทำไมเราถึงโดนหลอกแบบนั้น? เรารู้สึกผิดเหมือนกัน เราอาจจะทำไม่ดี ลองเช็คหน่อยเพื่อนไม่สบายใจรึเปล่า อันนี้เพราะเบื้องหลัง “ยังมีความเป็นคนดี” แต่เบื้องหลังกว่านั้นก็คือว่า “เรายังมีความเป็นคนอยู่” เราเลยเกิดตัวตนขึ้น พอเกิดตัวตนขึ้น เราเลยรักตัวเอง อันนี้เป็นเบื้องหลังสุด

เรากลัวเพื่อน มันจะว่าเรา เราไม่อยากให้ใครว่าเรา กลัวเข้าใจผิดเรา ไม่อยากให้ใครเอาเราไปพูดไม่ดี อันนี้ซ้อนลงไปอีกก็คือว่า “สุดท้ายเรารักตัวเอง

 

ตอนที่ 7 สาเหตุแห่งทุกข์

ท่านเขมานันทะพูดบอกว่า ทฤษฎีสมัยก่อนนักจิตวิทยาบอกว่า มนุษย์ทุกคนมีชีวิตที่ถูกผลักดัน (Drive) ด้วย Sex อย่างเดียว เค้าสรุปแบบนั้นท่านเขมานันทะบอกว่า อันนี้เป็นสิ่งที่นักจิตวิทยาไม่เข้าใจ ไม่เข้าใจว่าพระอนาคามีพ้นกามแล้ว มันมีสิ่งที่เหนือกว่านั้น ซึ่งคนพวกนี้เข้าใจไม่ได้

แต่ถ้าเราศึกษาศาสนาพุทธเราจะรู้ว่าทุกสิ่งที่ผลักดันเราให้เราไปทำโน่น ทำนี่ ทำนั่น ทุกอย่างไม่ใช่ Sex แต่เป็นเพราะ “ความรักตัวเอง ความเห็นแก่ตัว ความมีตัวมีตน” นั่นแหละที่มันผลักดันเราให้เราไปทำโน่น ทำนี่ ทำนั่น ตลอดเวลา

คนเรามันก็ต้องทุกข์ เพราะว่าเราเป็น “ทาสของมิจฉาทิฐิของตัวตน” นี่แหละโดยตลอด

ชีวิตเราก็ดิ้นรนใช่มั๊ย สังเกตุมั๊ยว่าเราดิ้นรนทั้งวัน ดิ้นรนไปทำนี่ ไปทำนั่น อยากจะไปนี่ อยากจะไปนั่น อยากจะไปโน่น อันนี้เป็นความทุกข์

เรานึกว่าเรากำลังจะไปได้ความสุข แต่เราไม่เห็นความดิ้นรนของเราที่เรากำลังจะไปสู่จุดนั้น เนี่ยมันทุกข์แล้ว จิตใจนี้ไม่ปกติแล้ว

ความผิดปกติมันพาเราไปทำสิ่งผิดๆตลอด ผมเลยบอกว่าเวลาเราไม่ปกติเราต้องเห็นมัน รู้จักมันว่า อ้อ มันเป็นแบบนี้ แล้วเดี๋ยวมันปกติเราค่อยไปคิดทำการทำงาน

 

ตอนที่ 8 ชีวิตที่แท้จริง

ผมสอนอะไรไปนี้ คือหมายความว่า ไม่ได้ให้ใครเชื่อ แต่ว่าให้ทุกคน ไปลองทำดู อันนี้เป็นสิ่งที่อยากจะกระตุ้นที่สุดคือ “ให้ทุกคนไปลองทำดู ไม่ใช่มานั่งเชื่อ” ถ้าเชื่อแล้วไม่ทำ ไม่มีประโยชน์ ไม่รู้จะพูดทำไมเหมือนกัน

ผมจะบอกบ่อยๆว่าคนที่จะมานั่งฟังผมพูดอย่างนี้ ถ้ามานั่งฟังแล้วไม่ทำ ไม่ต้องมาฟัง แล้วถ้าเราอยากจะฟังธรรม สบายใจเฉยๆ ไปฟังที่ไหนก็ได้ ไปวัดดีกว่า ร่มเย็นกว่าด้วย

เพราะฉะนั้น “ฟังธรรม แล้วมันต้องทำ” ทำแล้วมันก็มีผลการปฎิบัติ มีความก้าวหน้า เราก็จะรู้ว่าชีวิตเราก็เจริญขึ้นจริง เรามีชีวิตที่แท้จริง

ท่านพุทธทาสบอกว่า โลกนี้มีแต่คนบ้า แต่คนในโลกนี้ก็มองว่า พวกเราเป็นคนบ้าเหมือนกัน ต่างคนต่างมองว่าบ้า

แต่จริงๆที่ชัดกว่านั้นก็คือว่า คนในโลกนี้เป็นเหมือน “ซอมบี้

ซอมบี้ก็คือมันเดินได้ แต่มันไม่มีชีวิต คำว่าไม่มีชีวิตก็คือ ไม่มีชีวิตที่แท้จริง

ชีวิตที่แท้จริงนี้อธิบายยาก มันเป็นอาการ…นี่ก็หาคำยาก เราจะรู้สึกว่าชีวิตเราทุกวันทุกเวลามันเป็นของ “สดใหม่” “เป็นชีวิตที่สด” เหมือนปลาสดๆ ไม่ใช่ปลาตายแล้ว มันมีคำว่าสดอยู่

คำว่า สด มันคือ “มีชีวิต มันมีชีวิตชีวา” วันๆมันไม่จมอยู่ในทุกข์ จมอยู่ในความกังวล จมอยู่ในความคิด จมอยู่ในวังวนของกิเลส การจมอยู่ในนั้นนี้เราเป็นเหมือนปลาตาย ปลาตายนี้มันลอยตามน้ำไปเรื่อยๆ มันลอยตามน้ำไป มันไม่มีชีวิต มันลอยของมันอยู่อย่างนั้นตามกระแส

พวกเรามนุษย์ทุกคนก็ลอยอยู่ในกระแสของกิเลส เราก็ตามมันไป มันเรียกเราไปไหน เราก็ไปด้วย มันอยากจะทำอะไร เราก็ทำทันที เราอยากจะกินอะไร เราก็ไปทันที เราอยากอะไรขึ้นมา ขอให้เรามีความสามารถ เราจะทำทันที เราไม่เคยหยุด เราไม่เคยหยุดเลยที่จะทวนกระแส

 

ตอนที่ 9 ทวนกระแส

พระพุทธเจ้าสอนให้ “ทวนกระแส” คำว่าทวนกระแสนี้ในความเป็นจริง เราไม่ใช่ไปออกแรงทวนมัน ถ้าเราไปออกแรงทวนมัน มันเหมือนกับว่าเราจะต่อต้านกิเลส เรากำลังจะกระทำบางอย่างกับกระแสนั้น

แต่จริงๆคำว่าทวนนี้คือเป็นคำพูดเฉยๆ ให้คนเรารู้ว่าตัวเองนี่กำลังตามอยู่ กำลังหลงวนเวียนอยู่ แต่กิริยาจริงๆของการทวนกระแสก็คือ การที่เราอยู่ข้างบนอีกทีนึง คือ “เราไม่ตามมันไป

เราไม่ใช่ต้องไปทวน เราอยู่ข้างบนของกระแสอีกทีนึง กระแสมันก็อยู่อย่างนั้นของมัน แต่เราไม่เข้าไป เหมือนเราไม่เข้าไปในความคิด เราไม่เข้าไปในกระแสของโมหะ

พอเราไม่เข้าไปในกระแสของโมหะ โลภะ โทสะ เกิดไม่ได้ มันเกิดไม่ได้เลย

เพราะฉะนั้นมันถึงดับทุกข์ มันถึงพ้นทุกข์ เพราะเราอยู่เหนือกระแสทั้งหมดแล้ว
เวลาเราตกเข้าไปในกระแส ความเป็นคนนี้ก็เกิดขึ้นทันที ความเป็นเรานี้เกิดขึ้นทันที

พอ”เรา” เกิดขึ้นแล้ว ถ้าเราเบรคไม่ทัน มันก็ไปตามวงจรปฏิจจสมุปบาททั้งหมด สุดท้ายเราก็ทุกข์

เพราะฉะนั้นเราต้องรู้ทางที่ถูกต้อง อันนี้ต้องท่องไว้ในใจเลยว่า ทางแห่งการปฎิบัติธรรมคือ “การพ้นไปจากความปรุงแต่งทั้งปวง

ถ้าวิธีการปฎิบัติแบบไหนที่มันยังพาเราไปคิดได้อยู่ อันนั้นเท่ากับว่าเรากำลังหลงทาง หรือไม่เราก็กำลังหยุดอยู่ เรากำลังไปซ่อนอยู่ที่ไหนก็ได้

เพราะฉะนั้น การตามความคิดไม่ว่ามันจะดีแค่ไหนก็ตาม เรายังอยู่ในความคิดเหมือนเดิม แล้วความคิดจะพาเราไปไหนไม่ได้ มันจะพาเราวนอยู่ในกระแสนั้น
กระแสของความคิดมันเป็นกระแสเชี่ยวกราก เราโตขึ้นมา เราต้องคิดไปไม่รู้กี่ล้านๆเรื่อง เป็นกระแสที่เราไม่เคยขึ้นมาจากมันได้เลย

เพราะตั้งแต่เราโตขึ้นมาเราก็ถูกสอนให้เราเชื่อด้วยว่าเราต้องคิด เราต้องรู้จักคิด เราต้องคิดให้เป็น ถ้าไม่คิดจะไม่ฉลาด ต้องรู้จักคิดให้มันซับซ้อน เพราะฉะนั้นเราเลยโดนหลอกตั้งแต่เกิดจนโต จนมีอายุมากขึ้น

เราจะโดนหลอกแบบนี้ต่อไปไม่ได้ ไม่อย่างนั้นเท่ากับเราจะเป็นซอมบี้ตลอดจนเราตาย

 

ตอนที่ 10 เติมน้ำใส

ในวันที่เรายังไม่พบกับความสดใหม่ของชีวิต เราจะไม่รู้สึกว่าความรู้สึกตัวที่แท้จริง หรือว่าชีวิตที่แท้จริงนี้มันเป็นยังไง

แต่เมื่อไหร่ที่เรารู้จักความปกติ รู้จักสภาพที่มันไม่มีความคิด มันรู้สึกตัวอยู่ เราจะรู้สึกว่า “โอ้ นี่เป็นชีวิตที่แท้จริง” เรากำลังได้ทำสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดให้กับชีวิตที่เกิดมาครั้งนี้แล้ว

แต่เมื่อไหร่ที่เราหลงไป เราก็หายไป จมลงไป ความทุกข์ก็เกิดขึ้น กรรมก็เกิดขึ้น หลายอย่างก็เกิดขึ้น

กรรมนี้แหละเป็นตัวต่อสังสารวัฎให้เรา ให้มันยาวออกไปเรื่อยๆ มันยาวออกไปไม่มีที่สิ้นสุด

เหมือนกับว่าเราเติมน้ำใสช้อนนึง หรือถ้วยนึง เติมน้ำดำถังนึง นี่เป็นแบบนี้ มันก็ไม่ใสซักทีนึง

เพราะฉะนั้น คนที่มีความสามารถ มีศักยภาพพอ เค้าถึงไม่วนจมอยู่ในโลก เพราะเค้าขี้เกียจไปสร้างกรรม ขี้เกียจไปเติมน้ำดำเป็นถังทุกวัน เค้าก็เอาเวลาไปเติมน้ำใสดีกว่า ยิ่งเราเติมน้ำใสจากเป็นถ้วยเปลี่ยนเป็นเติมเป็นถัง มันก็ต่อเนื่อง มันก็เร็วขึ้น

 

ตอนที่ 11 รู้เท่าที่รู้ได้

คำว่า “ต่อเนื่อง” นี้มีปัญหาเยอะเหมือนกัน บางคนฟังว่าต่อเนื่องก็ไปเพ่ง บางคนฟังว่าต่อเนื่องก็ตั้งใจเกินไปอีก

ฉะนั้น คำพูดที่น่าจะดีสุดก็คือ “ให้เรารู้เท่าที่เรารู้ได้” แค่นี้

พื้นฐานของจิตใจเราทุกคนที่สนใจปฎิบัติธรรมนี้ ทุกวันมันมีอยู่แล้วว่าให้ต้องรู้สึกตัว ต้องรู้จักความเป็นปกตินี้ไว้ เราจะไม่ไหลเข้าไปในความคิด อันนี้เหมือนสอนตัวเองทุกวันอยู่แล้ว อย่างนี้เรียกว่า “ฉันทะ” เรามีฉันทะที่จะทำแบบนี้ในชีวิตเราตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

พอเรามีฉันทะขึ้นมาทุกวัน มันจะพาให้เกิดการนึกขึ้นได้เอง นึกขึ้นได้ว่าเรามีหน้าที่แบบนี้ แล้วเรารู้ได้แค่ไหน เอาแค่นั้น

การสื่อสารธรรมะนี้มันลำบาก มันก็เลยต้องมีการสนทนาธรรมว่าปฎิบัติมาเป็นยังไง จะได้แนะเพิ่ม แนะเพิ่มเพื่อปิดช่องโหว่ทั้งหลายของภาษานี้ให้มันชัดเจนขึ้น

 

ตอนที่ 12 ไม่มีขั้นมีตอน

การปฎิบัติธรรมไม่มีขั้นไม่มีตอน แต่จะพูดว่ามีขั้นมีตอนก็ได้เหมือนกัน แต่มันเป็นคนละเรื่องกัน

ไม่มีขั้นมีตอน หมายความว่า ถ้าเราถึงความปกติ…จบแล้ว ธรรมชาติที่เหลือจะทำงานเอง

แต่คำว่ามีขั้นมีตอน หมายความว่า พอเราปฎิบัติไป เราก็มีสภาวะแบบนี้ เรามีสภาวะแบบนั้นเกิดขึ้น จิตมันเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างนี้อย่างนั้น มันเหมือนกับมีขั้นมีตอนของมันเหมือนกัน

ขั้นตอนนี้เป็นผลของการปฎิบัติ ส่วนวิธีปฎิบัติไม่มีขั้นตอน

เซนเลยพูดว่า ไม่มีขั้นไม่มีตอน ไม่มีการบรรลุอะไรถึงอะไร เพราะเมื่อเราก้าวเข้าไปถึง มันก็ถึงเลย

ปฏิจจสมุปบาท ไตรลักษณ์ หลักๆ 2 อันนี้เป็นคำสอนที่พยายามพูดให้คนทั้งหลายเข้าใจว่า โลกนี้มันเป็นทุกข์ โลกนี้มันอยู่ในสภาพไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา พูดถึงธรรมชาติที่แท้จริงแล้วลองไปสังเกตดูว่าใช่มั๊ย

พอคนเริ่มไปสังเกตดู เออ…จริงด้วย เราก็เป็นอย่างนี้ อย่างนี้ วนไปวนมาตลอด แล้วธรรมชาติก็เป็นแบบนี้ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ คุมอะไรไม่ได้ แก่ก็ต้องเหี่ยว ทำอะไรไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องตาย

เริ่มคิดตาม คิดตาม ก็เริ่มรู้ว่าพุทธะพูดของจริง แล้วก็ค่อยศิโรราบ ก็เกิดศรัทธา แล้วก็ยอมไปฟัง คำว่ายอมไปฟัง หมายถึง จิตใจนี้ปกติแล้ว ไม่ดิ้นรนที่จะต่อต้าน ไม่ดิ้นรนที่จะวิ่งหนี มันปกติลง ใจนี้มันเปิด

พอใจมันเปิด พระพุทธเจ้าแสดงธรรม ก็บรรลุ!!

เพราะฉะนั้น เนื้อหาทั้งหลายทั้งแหล่มันมีประโยชน์ แต่นักปฎิบัติส่วนใหญ่ได้ผ่านจุดนั้นมาแล้ว ผ่านจุดที่เราศิโรราบแล้ว เราขอวิธีปฎิบัติหน่อย

ส่วนใหญ่เราไม่ค่อยถึงวิธีปฎิบัติกัน เราก็วนอยู่ในสิ่งที่ทำให้เราศิโรราบนั่นแหละ วนไปวนมานั่นแหละ เราไม่ออกมาจากมันซะที มันก็เลยไปไหนไม่ได้ คนก็เลยติดอยู่

ฉะนั้น หนังสือมีประโยชน์ แต่เราต้องรู้ว่ามันมีขอบเขตของมัน
ถ้าเราติดอยู่กับมัน เหมือนเราติดราวบันได ถ้าเราไม่ปล่อยมือ เราขึ้นต่อไม่ได้เหมือนกัน

พอเรารู้หนังสือเสร็จแล้วเราก็ปล่อย ต้องปล่อยถึงจะไปต่อได้ ถึงจะเดินไปต่อ

 

ตอนที่ 13 เชื่อประสบการณ์ตัวเอง ไม่ใช่เชื่อหนังสือ

แต่บางทีหนังสือก็มีเนื้อหาเพี้ยนๆนะ เล่าคนนี้ต่อ คนนี้ไปเล่าต่อ คนนี้ไปเล่าต่อ กลับมาอีกทีเป็นคนละเรื่องกันเลย มันก็มีเยอะแยะ

พระพุทธเจ้าตายไป 450 ปี เค้าถึงสังคายนากัน พวกเราแค่พูดกันในชีวิตเดียวนี่แหละมันยังเปลี่ยนเรื่องได้เลยในเรื่องเดียวกัน

เพราะฉะนั้น หลวงพ่อเทียนนี้เลยเป็นครูบาอาจารย์ที่แข็งขันมากกับเรื่องนี้ว่า “เชื่อประสบการณ์ของตัวเอง

หลวงพ่อเทียนเคยพูดว่า ถ้าหลวงพ่อพูดตามตำรา หลวงพ่อไม่รู้ว่าใครเป็นคนเขียน หลวงพ่อไม่รู้ว่าพระพุทธเจ้าพูดอย่างนี้จริงรึเปล่า ก็คือหลวงพ่อไม่มีหน้าที่ที่จะต้องไปรับรองหนังสือที่หลวงพ่อไม่รู้ว่าใครเขียน ไม่มีหน้าที่ไปรับรองความรู้ของคนอื่น

หลวงพ่อไม่ได้ปฏิเสธว่าจริงหรือไม่จริง มันอาจจริงบ้างก็ได้ แต่หลวงพ่อไม่มีหน้าที่ไปรับรองความรู้ใคร หลวงพ่อพูดแต่สิ่งที่หลวงพ่อรู้ มันจะไม่ตรงหนังสือก็ไม่เป็นไร แต่ก็เป็นสิ่งที่หลวงพ่อรู้

เช่นเดียวกันกับท่านเขมานันทะ ท่านเคยบอกว่าผมพูดตามความรู้สึกตัวเอง แม้ว่าบางทีคนอาจจะบอกว่าผิดก็ได้

สิ่งที่มันอยู่นอกเหนือหนังสือเป็นสิ่งจริง เป็นผลการปฎิบัติ เป็นความรู้สึกของเรา เป็นสิ่งที่เราผ่านมาด้วยตนเอง

ฉะนั้น ประสบการณ์การปฎิบัติธรรมของแต่ละคนนี้จะทำให้ตัวเองนี้เชื่อเอง
พระพุทธเจ้าไม่ได้เชื่อใคร เชื่อประสบการณ์ตัวเอง พระพุทธเจ้าก็ไม่เคยให้ใครเชื่อเหมือนกัน มีแต่บอกว่า “จงมาลองดูเถิด” ก็พูดแค่นั้น

เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดว่าคำสอนที่เราได้รับมามันเป็นสิ่งที่ทำได้จริง เกิดประโยชน์
จริง เราเองก็จะศิโรราบกับประสบการณ์ตรงของตัวเองว่ามันเป็นจริงๆ

แล้วพอเราได้เจอประสบการณ์แบบนั้น มันก็ไม่มีอะไรจะหยุดยั้งเราได้… ไม่มีอะไรจะหยุดยั้งการปฎิบัติธรรม ไม่มีอะไรหยุดเราได้เลยในการที่จะพาจิตใจดวงนี้ให้มันไปถึงที่สุดแห่งทุกข์

ถ้าเรามีบางอย่างหยุดเราได้ แปลว่า เรายังไม่รู้จักคุณค่าที่แท้จริงของความพ้นทุกข์

 

ตอนที่ 14 ประสบการณ์…หาซื้อไม่ได้

ศาสนาพุทธเป็นศาสนาเดียวที่ทำให้เราเข้าถึงความพ้นทุกข์โดยสิ้นเชิง ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่เป็นสากล ต่อให้ไม่มีศาสนาพุทธ ความจริงนี้ก็มีอยู่แล้ว

แต่เราได้พระพุทธเจ้าช่วยชี้แจงแถลงไขโดยผ่านตัวหนังสือมานั่นแหละ ถ้าจะว่าหนังสือไม่มีประโยชน์ก็ไม่ได้ อย่างที่บอกมันมีประโยชน์ มันมีถูกมีผิด แต่ไม่ใช่หน้าที่เราที่จะไปรับรอง เราก็อ้างเฉพาะส่วนที่ประสบการณ์เรามันเข้าถึง

ประสบการณ์เป็นสิ่งที่เราจะได้รับจากการปฎิบัติธรรม มันเป็นสิ่งที่หาซื้อไม่ได้ มันเป็นสิ่งที่มันเกิดขึ้นได้จากการที่เรามุ่งมั่นที่จะอยู่บนเส้นทางนี้

อาจจะไม่กี่ปี เราก็ไม่ต้องทุกข์กับเค้าแล้ว มันจะมีความคุ้มค่ากว่าทรัพย์สมบัติใดๆในโลกนี้เลย

นั่นแหละมันก็เป็นการเปรียบเทียบให้เห็นว่าเป็นพระเจ้าจักรพรรดิก็ยังสู้เป็นพระโสดาบันไม่ได้ แต่ในความเป็นจริงมันก็ไม่ได้เทียบหรอก

 

ตอนที่ 15 ตายก่อนตาย

ความพ้นทุกข์นี้เป็นคำง่ายๆ ที่มันดูเหมือนฟังจนเพลินแล้วซะแล้ว เพลินจนเหมือนจะเข้าถึงไม่ได้ด้วยซ้ำ มันฟังผ่านๆ แต่เราก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับมันเท่าไร

แต่ความพ้นทุกข์นี้เป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิตของคนทุกคน ไม่มีอะไรจะมีค่าไปกว่าการที่คนๆนึงเกิดมาแล้วก็มีชีวิต อยู่บนโลกนี้แล้วไม่ต้องทุกข์ ถ้าเราพ้นทุกข์ไปได้โดยสมบูรณ์ อันนี้ก็เรียกว่า “ตายก่อนตาย

คำว่า ตายก่อนตาย ไม่ใช่ให้เราไปฆ่าตัวตาย แต่หมายถึงตายจากความเป็นคน เราตายจากมิจฉาทิฏฐิ ตายจากความเห็นผิด ตายจากความเชื่อว่ามีเราจริงๆ เป็นเจ้าของชีวิตนี้อยู่

วันนึงถ้าเราตายก่อนตาย หรือรู้จักความรู้สึกของการตายก่อนตาย เราก็จะรู้สึกได้ว่าคำว่าชีวิตนี้ก็ไม่มีเหมือนกัน มันเหมือนมันเป็นอยู่อย่างนั้นเฉยๆ ร่างกายนี้ก็เป็นอยู่อย่างนั้นเฉยๆ เป็นไปตามกระแส (Flow) ของธรรมชาติว่ามันก็เป็นอยู่แบบนี้ มันไม่รู้สึกจะเรียกด้วยว่ามันเป็นชีวิต คล้ายๆกับว่ามันก็ทำหน้าที่ของมันไปตามที่มันจะต้องทำ

เราฝึกปฎิบัติธรรมนี้ไม่ได้จะมีชีวิตอิสระ เพราะการมีชีวิตอิสระมันหมายความว่าเรากำลังไปทำตามกิเลสได้ เราไปทำตามใจได้ ทำอะไรก็ได้ถ้าเรามีทรัพยากรพอ
แต่ความเป็นจริงก็คือว่า “เราอิสระจากชีวิตอีกทีนึง” เราอิสระจากมันเลย เพราะเราไม่ได้ให้ค่าว่ามันเป็นชีวิตด้วย

มันอัศจรรย์มาก มันเป็นสิ่งที่อธิบายได้ไม่ทุกมุมหรอก มันเป็นแค่ความเชื่อมต่อของปรากฎการณ์เฉยๆ ที่มันทำให้เรารู้สึกขึ้นมาถึงสภาพสภาวะอะไรต่างๆว่ามันเป็นยังไง แล้วก็พยายามถ่ายทอดมันออกมาเฉยๆ

 

ตอนที่ 16 ละอกุศล

บางคนคิดว่าเราปฎิบัติธรรมแล้วเราจะไม่โกรธ ความโกรธนี้เป็นสังโยชน์ที่พระอนาคามีละแล้ว ไม่มีปฎิฆะแล้ว

ปฎิฆะนี้เป็นความขุ่นเคือง ขุ่นเคืองก็ทำให้โกรธได้ ในขณะที่พวกเรากำลังปฎิบัติธรรมกันอยู่นี่ ไม่ใช่ว่ามีความโกรธแล้วเราก็จะไปดับมัน หรือคิดว่าเราต้องไม่โกรธ มันไม่ใช่แบบนั้น

หน้าที่ของเราเวลาโกรธเกิดขึ้นมา เราแค่รู้ว่าตอนนี้เป็นแบบนี้ เราไม่ได้มีหน้าที่จะเอาสภาวะไม่โกรธ เราไม่ได้มีหน้าที่ไปขับไล่อะไรมันด้วย เราเพียงแต่รู้ว่า มันเป็นอย่างนี้อยู่ตอนนี้ แล้วเราก็กลับมารู้สึกตัว เคลื่อนไหว

แล้วถ้ามีความคิดที่จะนำพาให้เราโกรธอีก เราต้องไม่ตามเข้าไป เราต้องไม่เข้าไปคิดกับมัน พอมันจะไปจะไปต้องรู้สึกตัวไว้ บางคนก็กำมือ เหยียดมือ อะไรอย่างนี้

แต่เราต้องอดทนที่จะไม่เข้าไปในความคิด สักพักนึงมันจะจางคลายไปเอง เพราะเราไม่ไปเพิ่มเชื้อให้มัน เราไม่ไปใส่ความปรุงแต่งเพิ่ม ถ้าเราใส่ความปรุงแต่งเพิ่ม สังสารวัฏก็เพิ่ม มันก็เลยต้องโกรธเพิ่มอีก มันก็จะไม่จบซะทีนึง

เราต้องอดทนชั่วระยะนึง อย่าเพิ่งยอมแพ้มัน ความบีบคั้นนั้นมันก็จะลดลง พอมันลดลงปุ๊บเราก็ ไม่รู้สึกว่าเราต้องไปเติมมันแล้ว มาอยู่กับความรู้สึกตัวดีกว่า โกรธมันก็คลายไปเอง

แต่ทีนี้ มันโยงมาถึงว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ ข้อที่เค้าให้ละอกุศล เป็นปัญหาแบบนี้ว่าพอเราโกรธ เราก็ไปจำหนังสือมาว่าต้องละอกุศล เป็นเรื่องเลยทีนี้

เพราะว่าโกรธมันเกิด เราก็จะหาทางทำทุกทางเพื่อที่จะละมัน มันก็มีตัวมีตนตลอดเวลา ดิ้นรนที่จะทำอะไรตลอดเวลา

เราต้องการจะเสียสละอย่างนึง ต้องการจะทิ้งอย่างนึง แต่จะเอาอย่างนึง เราไม่ได้เห็นมันเฉยๆ ไม่ได้ “รู้” แล้วก็ “อ้อ ตอนนี้มันเป็นแบบนี้

เพราะฉะนั้น คำบริกรรมที่ทุกคนควรจะมีไว้ในใจบ่อยๆ ก็คือว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในจิตในใจของเราให้เรา “รู้ แล้วก็ อ้อ ตอนนี้เป็นแบบนี้” พูดกับตัวเอง “อ้อ ตอนนี้เป็นแบบนี้

หลังจากนั้น เราก็ทำหน้าที่เราเหมือนเดิม “รู้สึกตัว ไม่ตามเข้าไปในความคิด พอมันปกติก็รู้มันปกติแล้ว ให้รู้จักความปกติเอาไว้

 

ตอนที่ 17 ดูใจ

การรู้จักความปกติ เป็นสิ่งสำคัญ บางคนก็ รู้สึกตัว รู้สึกตัว รู้สึกตัว อย่างเดียว รู้สึกตัวอย่างเดียวมันก็โอเค แต่มันไม่โอเคเท่าที่ควร

คล้ายๆสมมติว่า100%ที่เราควรจะได้ผลลัพธ์จากขณะนั้นที่เรารู้สึกตัวหรือในวันนั้น เราก็อาจจะได้ผลสัก 50% เวลาเรารู้สึกตัวนี้คือ รู้สึกร่างกายอยู่ที่ตัว แต่เราไม่รู้ใจตัวเอง

การเรียนรู้ทุกข์ หรือการรู้ทุกข์ของพระพุทธเจ้า ที่มาจากอริยสัจ ๔ รู้ทุกข์ ทุกข์นี้คือ กายกับใจ กายกับใจตัวมันเองเป็นทุกข์ด้วยตัวมันเอง เพราะมันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นเราเลยมีหน้าที่ที่จะต้องรู้ทั้งกายและใจ เรารู้สึกตัวแล้วแล้วเราก็นึกขึ้นได้ว่าดูใจเราหน่อยเป็นไง…ปกติ!!

ถ้าเราฝึกที่จะกลับมาดูใจเราด้วยเพิ่มเติม การเดินทางของเรานี้มันจะเร็วขึ้น หรือจะใช้คำว่า เช็คอารมณ์ก็ได้ เริ่มจะมาเช็คอารมณ์ตัวเองว่าเป็นยังไง เช็คอารมณ์ปกติมั๊ย เราก็จะรู้สึกว่าความก้าวหน้าในการปฎิบัติธรรมอยู่ในอัตราเร่งที่ดีขึ้น

เพราะฉะนั้น ถ้าเรารู้กายแล้วเราไม่รู้ใจ ก็เท่ากับว่าเราไม่ได้ใช้ประสิทธิภาพในการฝึกปฎิบัติธรรมอย่างเต็มที่

จริงๆแล้วทุกคนก็ทำแบบนั้นอยู่แล้ว แต่มันก็มีความรู้สึกตัวที่ไม่ค่อยได้ดูใจเหมือนกัน มันก็เลยไม่ค่อยเวิร์คเท่าไหร่ ถึงแม้หลวงพ่อเทียนจะให้เราขยับ ๑๔ จังหวะ แต่หลวงพ่อเทียนก็จะพูดเหมือนกันว่า อย่างตอนนี้พวกเรานั่งฟังกันอยู่ จิตใจเป็นยังไง ปกติมั๊ย? ไม่มีอะไร ไม่มีบวกไม่มีลบ ไม่มีว่าไม่สบายกายไม่สบายใจ ทุกคนอยู่ในสภาพปกติอยู่แล้ว หลวงพ่อเทียนก็จะชี้ให้เรา คนที่นั่งฟังก็เห็นใจตัวเองว่าความปกตินี้มีอยู่แล้ว

 

ตอนที่ 18 นิพพานชิมลอง

ความสุขจากความเป็นปกตินี้มีอยู่แล้ว เราไม่ต้องไปหาที่ไหน เราแค่นั่งเฉยๆ จิตใจเราสงบระงับลงสู่ความเป็นปกติ เราเจอแล้ว เราเจอที่เค้าเรียกว่า “นิพพานชิมลอง” มันชิมลอง คือมันยังไม่ค่อยเหมือนนิพพานซักเท่าไหร่

การเข้าไปรับรู้อารมณ์นิพพานแบบนี้ คล้ายๆมันเปรอะเปื้อน เพราะว่าจิตใจนี้ยังมีความสกปรกของสังโยชน์อยู่

ถ้าสมมติเรามีสังโยชน์ ๑๐ เปรียบเสมือนเราใส่ถุงมือสิบชั้น แล้วเราลูบโต๊ะ เราก็รู้ได้ว่ามันเรียบ แต่เรียบแบบสิบชั้นกับเรียบแบบไม่มีชั้นเลยซึ่งคือถุงมือหายไปแล้ว มันไม่เหมือนกัน

เพราะฉะนั้น นิพพานชิมลองกับนิพพานที่แท้จริงมันคนละเรื่อง ไม่เหมือนกัน เพราะว่าสิ่งที่เข้าไปสัมผัสมัน รับรู้มัน มันยังไม่บริสุทธิ์ มันก็มีแค่นั้นเอง

 

ตอนที่ 19 เดินทางตรง ไม่สะเปะสะปะ

คนที่เข้าถึงความจริงแล้ว เข้าใจสัจจะของชีวิต หรือว่าเข้าถึงทางเดินที่แท้จริงแล้ว…จะไม่ไปสะเปะสะปะเลย

ถ้าไปฟังครูบาอาจารย์ที่เค้าถือว่าเป็นพระอรหันต์แล้ว อย่างเช่น หลวงพ่อเทียนท่านจะไม่พูดเรื่องอื่นเลย พูดแต่รู้สึกตัวอย่างเดียว หลวงพ่อคำเขียนเปลี่ยนหลงเป็นรู้ เปลี่ยนหลงเป็นรู้ พูดอยู่เรื่องเดียว ไม่พูดเรื่องอื่นเลย คือท่านจะไม่ออกนอกทาง

ความรู้นอกทางมีอยู่มั๊ย? มี แต่ท่านไม่สอน ท่านจะสอนแต่สิ่งที่ทุกคนต้องใช้ สิ่งเดียวเท่านั้น ไม่พูดอย่างอื่น อย่างอื่นจะพูดก็ต่อเมื่อคนมาถามเฉยๆ แต่จะไม่เอาไปสอนเป็นการเป็นงาน ให้คนเอาไปคิดสงสัยว่า เอ๊ะหรือว่าโอเคเหมือนกัน อะไรแบบนี้ มันไม่รู้จะสอนทำไม เพราะมันพาให้คนไปเสียเวลาที่จะสงสัย

เหมือนกับที่ผมเคยพูดว่า พระโสดาบันเป็นผู้ที่พ้นจากความเชื่อทั้งปวง ไม่เชื่ออะไรอีกแล้ว โดยเฉพาะเรื่องงมงายด้วย ไม่เชื่อ สมมติมีคนชวนไปดูหมอดู ก็อาจจะไปขำๆได้ แต่ว่าไม่ใช่ใจเชื่ออะไร ไม่ใช่แบบนั้น

เพราะฉะนั้น เมื่อเราพ้นจากความเชื่อทั้งปวงแล้วเราจะสอนให้เค้าเชื่ออีกเหรอ มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะสอนให้เค้าเชื่ออะไรอีก มันเป็นไปไม่ได้

เราต้องเลือกจะฟังคำสอนด้วย เพราะว่าคำสอนหลายอย่างมันถูก แต่หลายอย่างไม่ถูกในคนคนเดียวกัน หรือแม้ว่ามันจะถูกแต่มันก็ไม่จำเป็นต้องสอน เพราะมันไม่ใช่ทางสู่ความพ้นทุกข์

ถ้าเรามีความเชื่อ เราจะติดความเชื่อนั้น แล้วสิ่งนั้นก็จะมีอิทธิพลต่อเรา

เวลาเราอยู่ในภาวะที่เราพ้นจากความเชื่อทั้งปวง เราจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เพราะว่ากระแสของธรรมชาตินี้ไม่ต้องเชื่ออะไร เรารู้ว่ากระแสของธรรมชาตินี้มันยุติธรรม สมบูรณ์ที่สุดแล้ว

 

ตอนที่ 20 ความไม่ Perfect คือ ความ Perfect

ความไม่สมบูรณ์ของสิ่งต่างๆนี่แหละ คือความสมบูรณ์ที่สุด

มนุษย์เรานี้พยายามหาความสมบูรณ์ แต่สิ่งต่างๆไม่สมบูรณ์ มันเลยสมบูรณ์

ถ้ามันสมบูรณ์นั่นไม่ใช่เป็นสิ่งที่เป็นธรรมชาติ เพราะธรรมชาตินี้มันไม่สมบูรณ์ มันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันเป็นอนัตตา มันเปลี่ยนแปลงอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา

แต่มนุษย์เราจะเอาความเที่ยง เอาความที่ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในสภาพเดิม เอาความที่ทุกอย่างควบคุมได้ บังคับได้ เราจะเอาแบบนั้นเราเรียกว่า Perfect
ธรรมชาติ ก็คือ ความไม่ Perfect แต่พอเราเข้าถึงความไม่ Perfect ตามความคิดของคน เราจะรู้ว่ามัน Perfect แล้ว

ทำไมเราเข้าใจว่ามัน perfect แล้ว? เพราะเรายอมรับตามธรรมชาติ ยอมรับกับความจริง เราเลยรู้ว่า อ๋อ…มันPerfect แล้ว มันเป็นแบบนี้ เพราะฉะนั้น อะไรจะเกิดขึ้นเราก็รู้ว่า “ก็มันเป็นอย่างนี้”

พอเราเข้าสู่ธรรมชาติ เราเข้าใจธรรมชาติ กฎเกณฑ์ธรรมชาตินี้เป็นสิ่งที่อยู่ในใจเราอยู่แล้ว มันต้องเป็นแบบนั้น

 

Camouflage
08-Jul-2016

 

ถอดไฟล์เสียงจาก YouTube : https://youtu.be/hDy1G8DYVw0

 

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของคุณ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c