25.ธรรมะบรรยาย 22-05-59_2/2

 

ตอนที่ 1 มิจฉาทิฏฐิ

เรากำลังเปลี่ยน “มิจฉาทิฏฐิ” ให้เป็น “สัมมาทิฏฐิ” อันนี้เป็นหัวใจของการปฎิบัติธรรม

แต่สัมมาทิฏฐินี้ไม่ใช่ว่าเราได้มา หรือเราเสียมิจฉาทิฏฐิไป…ไม่ใช่แบบนั้น

คือ เราไม่ได้อะไรมา ไม่ได้เสียอะไรไป เราแค่เข้าใจมันเฉยๆ ว่าเราเคยมีมิจฉาทิฏฐิเพราะมัน “มีเราอยู่

แล้ววันนึงสัมมาทิฏฐิเกิดขึ้น มันก็รู้ว่าสัมมาทิฏฐิเป็นแบบนี้เฉยๆ

มิจฉาทิฏฐิเป็นความมืด…ความมืดมีสองแบบ มืดดำไปเลยนี่เรารู้จักดีก็เป็นกิเลสตัวเป้งๆทั้งหลาย

และมืดสีขาวนี้ เราไม่ค่อยรู้จักเท่าไหร่ ที่มันแนบเนียนที่สุดก็คือ “ความดี” มันดีเหมือนกัน แต่มันยังไม่ “เหนือดี” อีกทีนึง

แต่มิจฉาทิฏฐิอีกแบบนึงที่น่าสนใจเหมือนกันก็คือว่า “พวกเราเชื่อความคิดตัวเอง

เราเชื่อตรรกะ เหตุผล ที่เรามีประสบการณ์ในอดีต หรือแม้กระทั่งโปรเจคไปในอนาคต ซึ่งมันก็มาจากอดีตนั่นแหละ มันเป็นสิ่งเดียวกัน เราจะใช้อดีตไปคิดอนาคต มันก็คืออดีตเหมือนกัน มันคือเรื่องเดิมๆเรื่องเก่าๆ

แล้วพอเรามีมิจฉาทิฏฐิ ในแบบที่เราเชื่อความคิดตัวเอง เราจะไม่เชื่อครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์บอกอะไรเราก็ ใช้ความคิด คิดตลอด คิดๆๆๆๆ

พอเราเชื่อความคิดตัวเอง เราจะไม่ไปตามคำแนะนำของครูบาอาจารย์ ชีวิตเราก็ เหมือนมีเข็มทิศแต่ไม่ใช้ เพราะเราเชื่อตัวเอง เราก็เชื่อความมืดของตัวเอง อันนี้ไม่รู้จะเรียกอะไร เรียกมิจฉาทิฏฐิเหมือนกัน

สมมติ ผมบอกว่าให้ไปขุดดินที่พิกัดจีพีเอส101101101 ให้ไปขุดตรงนั้น แล้วเราจะเจอทองคำ แต่พอเราฟังแล้วเห็นว่าพิกัดนั้นมันลำบาก มันไกล มันหายาก ทำไม่ได้หรอก ไม่อยากทำ ขุดดินหน้าบ้านแล้วกัน มันก็ดินเหมือนกัน

เค้าบอกให้เราไปขุดดิน นี่ก็ดิน ก็ขุดดินเหมือนกัน นี่มันเป็นแบบนี้

แบบนี้เรียกว่า เชื่อความคิดตัวเอง พอเชื่อความคิดตัวเอง มันก็ออกแรงขุดดินเหมือนกัน แต่มันไม่ได้ทอง

 

ตอนที่ 2 ครูบาอาจารย์

ครูบาอาจารย์ มีความสำคัญกับเราทุกคน แต่ต้องเป็นครูบาอาจารย์จริงๆนะ ไม่ใช่ครูบาอาจารย์ที่ยังไม่เข้าใจความจริง ยังไม่เห็นความจริง ยังไม่รู้จักความจริงทั้งเหนือโลกและในโลก

ครูบาอาจารย์ที่แท้จริงต้องเข้าใจทั้งหมดแหละ เรียกว่ามีความเห็นตรงแล้ว มีสัมมาทิฏฐิแล้ว ไม่อยู่ภายใต้ความเชื่ออะไรทั้งนั้น

เมื่อวานอ่านหนังสือเล่มนึงเค้าบอกว่า ตอนนี้มีโค้ชเยอะแยะในประเทศนี้ในโลกนี้ โค้ชให้เราประสบความสำเร็จในชีวิต แต่เค้าบอกประเด็นสำคัญก็คือว่า เราจะฟังโค้ชคนไหนเราต้องฟัง Result (ผลลัพธ์) ของโค้ชคนนั้นก่อนว่าเค้าเป็นยังไง

ใครๆก็พูดได้ธรรมะ อ่านเยอะๆคิดเก่งๆ ฟังเยอะๆ ก็พูดได้เหมือนกัน…เหมือนกันหมดทุกอย่าง เป็น Camouflage 2,3,4 ได้หมด ประเด็นนี้คือ เราต้องดู Result (ผลลัพธ์) ของคนที่เราให้เป็นโค้ชเราด้วย

เพราะฉะนั้น การมีครูบาอาจารย์จำเป็นกับทุกคน การสนทนาธรรมจำเป็นกับทุกคน การเลือกครูบาอาจารย์ให้ถูก เป็นความสามารถเฉพาะบุคคล อาศัยบุญ อาศัยกรรม อาศัยหลายอย่างที่จะทำให้คน 2คนนั้นจะมาเจอกันได้ มาถูกชะตากัน มายอมฟัง มายอมปฎิบัติตาม ไม่ใช่เรื่องง่าย

ลองสังเกตดูว่าชีวิตของพวกเราทุกคนนี้หักเหตลอด เราหักขึ้นหักลง หักขึ้นหักลงตลอดในชีวิตที่ผ่านมา จนเราเจอธรรมะ เราเจอชีวิต เราเจอเป้าหมายของการเกิดมา เรารู้แล้วว่าเราเกิดมาทำไม เรามีหน้าที่อะไร เราต้องทำอะไร

ชีวิตเรานี้หักเหมาจนถึงวันนี้แล้ว ถ้าเราเริ่มเดินทาง ชีวิตเรากำลังจะหักขึ้นไปตลอด มันเป็นเทรนขาขึ้น แต่มันอาจจะแปรปรวนบ้าง Turbulence เหมือนเราตกหลุมอากาศบ้าง แต่ถ้าเรามีครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์จะ Save ช่วยชีวิตเราได้ให้เราไม่ไปทางตกต่ำ

แต่ถ้าเราไม่มีครูบาอาจารย์ เราจะเชื่อความคิดตัวเอง เราก็จะไปทางเสื่อมได้ง่าย หรือแม้กระทั่งคนที่มีครูบาอาจารย์ แต่ไม่เชื่อ ก็ไปทางตกต่ำอยู่ดี

ชีวิตทุกคนก็หักเหขึ้นมาจนถึงวันนี้ มันก็ดีมากแล้ว ทางเดินที่เหลืออยู่นี้มันมี แต่เราต้องเดินไปเฉยๆ

 

ตอนที่ 3 สัปปายะ

ถ้าเราปฎิบัติธรรมมาก ปฎิบัติธรรมเยอะๆจนมันลึกซึ้งเข้าไปในจิตในใจเรา ตัวปัญญาที่มันเกิดขึ้นจากใจเรา มันจะเป็นตัวรุกเร้ากระตุ้นเร้าเรา ให้เราเลือกที่จะทำชีวิตเราให้มันสัปปายะขึ้นเรื่อยๆ

สัปปายะ” มี 7ข้อ สัปปายะ หมายความว่า ไม่สบายเกินไป ไม่ลำบากเกินไป

เช่น สถานที่ ที่อยู่อาศัย มีแอร์แต่ไม่ต้องเปิดแอร์ทั้งวันก็ได้ อยู่ให้เหมือนแบบ Being บ้างก็ได้ นอนและตื่นเป็นเวลา มีวินัย

ถ้าเป็นพระเค้าบอกให้อยู่ใกล้สถานที่บิณฑบาตรได้ เพื่อจะได้ไม่ลำบากญาติโยมจะมาถวายอาหาร ตัวเองไปบิณฑบาตรเลี้ยงตัวเองได้ ไม่ลำบากทางอาหาร

อากาศก็เป็นอากาศที่เหมาะสมกับเรา…เหมาะสมกับเราไม่ใช่ต้องเหมาะสมกับเค้า บางคนชอบอยู่ในป่าชื้นๆ เราอยู่ไม่ได้ เราก็ไม่ต้องไปอยู่กับเค้า เราต้องรู้สัปปายะของตัวเองว่ามันเป็นยังไง

เพราะฉะนั้น เราปฎิบัติธรรมมากเข้ามากเข้า ใครที่ปฎิบัติธรรมแล้วยิ่งออกนอกลู่นอกทางนี่ต้องระวังตัวเอง อันนี้กำลังประมาทแล้ว

แต่ถ้าเราปฎิบัติมากเข้ามากเข้า เราจะยิ่งค้นหาว่าอะไรที่มันเป็นสัปปายะกับเรา อะไรที่มันจะเกื้อกูลกับการปฎิบัติธรรมให้มันยิ่งๆไปกว่านี้ ที่มันจะช่วยเรามากกว่านี้

อันนี้ชีวิตเรากำลังอยู่ในลู่ในทาง อยู่ในทางที่เค้าเรียกว่า เข้าทางสายกลางมากขึ้นๆๆ

 

ตอนที่ 4 ชีวิตที่เรียบง่าย

จิตใจนี้เป็นกลาง แต่มันเป็นเอง

เราจะปรับให้มันอยู่ในลู่ในทางของความเรียบง่าย ความไม่ซับซ้อน ความไม่ยุ่งเหยิง

พ่อพระพุทธเจ้าก่อนตายก็บอกว่าชีวิตที่เรียบง่าย อันนี้เป็นชีวิตที่ดีที่สุด

ชีวิตที่เรียบง่าย ไม่มีอะไรต้องคิดเยอะ เราจะคิดในเรื่องที่เราต้องคิด จะไปกินข้าวที่ไหน ที่บ้านขาดเหลือของใช้ชีวิตประจำวัน เราจะไม่มีความคิดเรื่องที่มันเป็นส่วนเกินทั้งหลาย

ท่านเขมานันทะเคยพูดประโยคนึงว่า เมื่อก่อนนี้เป็นคนชอบไปจุ้นจ้านกับที่บ้าน ครอบครัวตัวเอง พ่อ แม่พี่น้องคนอื่น

แต่พอตั้งแต่รู้จักหลวงพ่อเทียน รู้จักความรู้สึกตัว ก็เริ่มที่จะเลิกจุ้นจ้านกับคนอื่น พอเราเลิกจุ้นจ้านกับคนอื่น คนอื่นก็สบายขึ้น ตัวเองก็เลยสบายขึ้นด้วย ก็หมายความว่า ทุกคนก็เลยมีชีวิตที่เรียบง่าย โดยอัตโนมัติ

ถ้าเราเป็นนักปฎิบัติธรรม เราจะรู้ว่าทุกคนมีหน้าที่อะไร ดูตัวเอง ไม่ใช่ไปดูคนอื่น ถ้าเราดูคนอื่น เราจะมีแต่เรื่อง เห็นอะไรก็ไม่พอใจไปหมด

แต่ถ้าเราไม่พอใจเราดูตัวเองจะเห็นว่า ตัวไม่น่าพอใจ ตัวกูนี่แหละ ไม่พอใจไปซะทุกเรื่อง ตัวที่น่าเกลียดน่ากลัว ตัวเราเองนี่แหละ

 

ตอนที่ 5 อัตตา

คนในโลกส่วนใหญ่เป็นคนดี ไม่อย่างนั้นประเทศในโลกนี้อยู่ไม่ได้ เราเชื่อว่าเราทำตามกฎหมาย ไม่ไปทำอาชญากรรมอะไรที่มันดูรุนแรงมากนี่ เราก็ถือว่าเป็นคนดีแล้ว อันนี้เป็นใช้ได้แล้ว ไม่ไปรุกรานใคร คือไม่ไปล้ำสิทธิ์ใคร เราก็โอเคแล้ว

แต่มันก็เลยมีความเชื่อว่า เพราะฉะนั้น สิทธิ์ของเรา เราทำอะไรก็ได้ หรือที่เรียกว่าสิทธิส่วนบุคคลที่เราพูดกัน อันนี้คือในโลกเป็นแบบนั้น

แต่ในทางธรรม เราไม่ได้วัดกันที่ตัวบทกฎหมาย เราไม่ได้วัดกันตรงนั้น ทางธรรมนี้เราวัดกันที่กิเลส กิเลสตัวใหญ่สุดคือ “อัตตา” ภาษาบาลีไม่พูดอัตตา เค้าเรียก “อัสมิมานะ” คือ ความรู้สึกว่ามันมีตัวเรา

อัตตานี่ไม่ผิดกฎหมาย คนในโลกทั้งคนดีและคนเลวมีอัตตาทุกคน ไม่มีใครว่าคนที่มีอัตตาเป็นคนไม่ดี

แต่ในทางธรรม คนมีอัตตา อันนี้เป็นคนที่ต้องทุกข์ เป็นคนเห็นแก่ตัว เป็นคนทำทุกอย่างเพื่อตัวเอง ในทางธรรม อัตตาเลยเป็นสิ่งที่ น่าเกลียด เป็นสิ่งที่น่าขยะแขยง

เพราะฉะนั้น ชีวิตของนักปฎิบัติธรรม เราวัดกันที่กิเลส เราวัดกันที่เรามีความเป็นตัวตนขนาดไหน

เราอาจจะคิดว่าสิ่งที่เราทำนี้มันไม่ผิด เป็นสิทธิ์ของเรา เราทำอะไรก็ได้ที่ไม่รบกวนคนอื่น…มันมีสิทธิ์แต่มันไม่มีจิตสำนึก เราทำอะไรตามใจกิเลส ตามใจตัวเอง ตามความคิด

 

ตอนที่ 6 เริ่มต้นที่สัมมาทิฏฐิ

นักปฎิบัติธรรมต้องเริ่มจากสัมมาทิฏฐิ คือ เริ่มจากจิตที่มันว่าง จิตที่มันปกติ จิตเราปกติเราจะทำอะไรที่มันรบกวนคนอื่น ทำตามใจตัวเอง ทำตามกิเลสแบบนั้นได้รึเปล่า?.. ทำไม่ได้ เราจะมีความดิ้นรนทะยานอยากจะทำสิ่งที่ผิดปกตินี่…ไม่มีทาง มันทำไม่ได้

เพราะฉะนั้น ก้าวแรกของการเริ่มปฎิบัติธรรม มันต้องเริ่มจากความเป็นปกติ แล้วเราจะรู้ว่าการใช้ชีวิตของเรา ที่ถูกที่ควรมันควรจะเป็นยังไง เราจะไม่เป็นศรีธนญชัย เราจะไม่เจ้าเล่ห์เพทุบายกับตัวเอง เราจะมีความเป็นปกตินี่แหละเป็นเหมือนหางเสือ ที่จะนำพาชีวิตเราให้มันไปสู่ความเป็นปกติอย่างสมบูรณ์

ถ้าเราไม่เริ่มที่ความปกติ เราจะใช้แต่ความคิด บนพื้นฐานของความมีตัวตน บนพื้นฐานของกิเลส ตัณหา บนพื้นฐานของความเห็นแก่ตัว แล้วเราก็ไปทำอะไรๆของเรา นั่นก็คือชีวิตเรากำลังดำดิ่ง จม เรากำลังสะสมความมืด

ถ้าชีวิตเราสะสมแต่ความมืด ตอนเราตาย…จะเป็นอย่างไร กรรมนี่ไม่ใช่ว่าวัดกันที่ถูกกฎหมาย หรือสิทธิส่วนบุคคล Human Right ไม่ใช่แบบนั้น มันไปตามกรรม ตามความมืด เพราะชีวิตมีแต่มืด มีแต่ตัวตน มันจะไปตามสิ่งที่ตัวเองทำนั่นแหละ อันนั้นคือความยุติธรรมสูงสุดของธรรมชาติ

เรื่องจิตดวงสุดท้ายเป็นเรื่องที่หลายคนรู้สึกว่า มันไม่ยุติธรรมเลย ทำดีมาทั้งชีวิตนะแล้วจิตดวงสุดท้าย เผลอ ผิดปกติ หรือมีโทสะ มีกังวลอะไร ไปอบายเลย ไม่ยุติธรรม…

อันนี้แหละ ยุติธรรม “ยุติตามธรรมชาติ” อันนี้เรียกยุติธรรมนั่นแหละ ยุติทุกสิ่ง ยุติตามธรรมชาติ ธรรมชาติเป็นแบบนี้ ต้องไปแบบนี้

เพราะฉะนั้น วิธีปฎิบัติธรรมต้องเริ่มให้ถูก นี่คืออย่างแรก แต่ถ้าคนที่ยังไม่เริ่มปฎิบัติธรรมเลย ต้องเข้าใจมิจฉาทิฏฐิให้ถูกว่าอะไรบ้างที่มันเป็นมิจฉาทิฏฐิกับชีวิตเราบ้าง

อย่างที่บอกว่าตัวตนนี้เป็นสิ่งที่ ไม่มีใครบอกว่าผิดกฎหมาย แต่มันเป็นต้นเหตุที่พาเราไปสู่ความทุกข์ตั้งแต่เล็กน้อยจนความทุกข์มหาศาล ก็เพราะไอ้ตัวตนนี่แหละ

ตัวตนนี้มันก็ไม่ได้มีอยู่จริง มันเป็นความเข้าใจผิดเฉยๆ ว่าร่างกายกับจิตใจนี้มันเป็นตัวเรา เราเป็นเจ้าของมัน

 

ตอนที่ 7 สร้างอุปนิสัยใหม่

พวกเราจำเป็นที่จะต้องใช้เวลาของเรา ใช้เวลาของครูบาอาจารย์ให้มันเกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ให้ชีวิตจิตใจของพวกเราให้มันคลุกเคล้า เคล้าเคลีย อยู่ในทางของธรรมะ อยู่ในทางของกัลยาณมิตร อยู่ในทางของครูบาอาจารย์ อยู่บนทางของความเป็นปกติ

ชีวิตที่อยู่บนทางแบบนี้ มันจะค่อยๆขัดเกลา มันจะค่อยๆสร้างอุปนิสัยใหม่ สร้างอนุสัยใหม่ ให้กับจิตใจของเรา

เมื่อก่อนเรามีความทุกข์ โศกเศร้า กังวล ผู้ชายก็ไปกินเหล้า ไปเที่ยว ผู้หญิงก็ไปเม้าท์กับเพื่อน โทรศัพท์หาเพื่อน คุยกับเพื่อน ไปช็อปปิ้ง ไปอะไรๆต่างๆ พวกเรากำลังสร้างอุปนิสัยที่ผิดให้กับตัวเองตลอดที่ผ่านมาในชีวิต

สัญญานี้มันจำได้ มันก็จำแต่เรื่องทุกข์ จำแต่เรื่องเม้าท์ จำแต่เรื่องวิพากษ์วิจารณ์ จำเรื่องไม่เป็นเรื่องตลอดชีวิต เพราะฉะนั้นตอนตายมันก็ไปตามนั้นแหละ

แต่ถ้าเราสร้างอุปนิสัยใหม่ของเรา ชีวิตเราดำเนินอยู่ในทางธรรม ดำเนินอยู่ในแวดวงของกัลยาณมิตร ครูบาอาจารย์ จิตใจนี้ก็จะถูกปลูกฝังคุณธรรม ถึงแม้จะมีความทุกข์อะไรเข้ามา เราไม่ไปทำแบบเดิมแล้ว เราจะคิดถึงครูบาอาจารย์ คิดถึงธรรมะ คิดถึงการฟังธรรม คิดถึงเข้าวัด คิดถึงความเป็นปกติ จิตใจก็วนเวียนอยู่ตรงนี้แหละ

พอวนเวียนอยู่ตรงนี้ คนเราพอจะตาย มันก็ไปตามสิ่งที่มันมี Trend (แนวโน้ม) จะไปทางไหนมากกว่ากัน ถ้าเรามี Trend ไปทางนี้ เช่น วันๆนึงถ้าเราจะนึกถึงฟุ้งซ่านอะไร นึกถึงวัด นึกถึงพระ นึกถึงครูบาอาจารย์ นึกถึงธรรมะ อย่างนี้ถ้าวันๆเรานึกอะไร ก็เป็นเรื่องของธรรมะได้เนี่ย โอเคแล้ว แปลว่าจิตใจเรานี้มันไม่ลืมแล้ว มันอยู่ในทางของธรรม

 

ตอนที่ 8 หาประสบการณ์

ผมอยากจะบอกทุกคนให้ใช้เวลา ให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล เสาร์อาทิตย์ ไม่ใช่ไปดูหนัง ไปช็อปปิ้ง ไปหาอะไรกินแปลกๆ คิดที่เที่ยว

อย่างที่ผมบอกตลอดว่าให้ใช้เวลาที่กำลังมีอยู่ ที่ทุกสิ่งกำลัง Active อยู่…ทุกสิ่งก็คืออะไร…ครูบาอาจารย์ยัง Active อยู่ ตัวเองยัง Active อยู่ และใช้ให้มันเต็มที่

จนวันนึงถ้าเป็นพระโสดาบันแล้วจะไปเที่ยวไหนค่อยไป ไปแบบปลอดภัย ไปแบบไม่โง่แล้ว การไปเที่ยวนี้จะเป็นการไปหาประสบการณ์ ไปเจอประสบการณ์เฉยๆ ไม่ใช่การหาความสุข

ทุกวันนี้ไปเที่ยวอยากจะได้ความสุข ไปเจอสิ่งใหม่ๆ ที่ใหม่ๆ เบื่อที่บ้าน ไปทีโน่น ไปที่โน่นเบื่อกลับบ้าน อยู่ไหนนานไม่ได้เบื่อหมด มีแต่การหนีความเบื่อเฉยๆ ไม่ใช่เป็นการไปหาประสบการณ์ ไปเจอประสบการณ์…ไม่ใช่แบบนั้น

แต่วันนึงถ้าเราไปเฉยๆ อันนี้เป็นการไปมีประสบการณ์ ประสบการณ์แต่ละอันก็จะสอนเรา…สอนว่าเราปกติมั๊ย เราไปเจออย่างนี้ เจออย่างนั้น เจออย่างโน้น มีเรื่องไม่น่าพอใจ…ปกติมั๊ย หรือว่าไม่พอใจ ดิ้นรน มันเป็นตัวบอกเรา

แต่ถ้าเราอยู่ใน Safety Zone อยู่ในสิ่งคุ้นเคยของเราตลอด เราก็ปกติดี ปกติดี อยู่บ้านตลอด ไม่ได้เจออะไร

เพราะฉะนั้น ประสบการณ์นี้เป็นสิ่งจำเป็นที่จะใช้ในการทดสอบตัวเราเฉยๆ แต่ไม่ต้องอ้างอยากหาประสบการณ์ในการไปเที่ยวนะ…นานๆที…พอ

 

ตอนที่ 9 ใช้เวลาให้คุ้มค่าที่สุด

ทุกคนมีเวลาจำกัด ขาดไปนาทีนึงอาจเป็นพระโสดาบันก็ได้ เราอาจจะตายก่อน อันนี้ไว้เตือนใจเฉยๆ ให้เรารู้ว่า เราจะไม่ทิ้งเวลาไปในสิ่งไร้สาระ ในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ในสิ่งที่เป็นความมืด เราจะไม่เสียเวลาไปในสิ่งที่จะพาเราตกต่ำ

ถ้าเราใช้เวลาได้ดีที่สุดแล้ว เราก็ปล่อยวางในผลลัพธ์ เราได้ทำดีที่สุดแล้ว เราจะไม่เสียใจภายหลัง

มงคล ๓๘ มีข้อนึงเขียนว่า อย่าทำอะไรที่สุดท้ายเราจะรู้สึกเสียใจในภายหลัง อย่าทำแบบนั้น ถ้าเราไม่ทำอะไรที่เราต้องเสียใจในภายหลัง แปลว่าเราทำผิดไม่ได้ มันอยู่ในทาง

หลวงพ่อเคยพูดว่า ถ้าเราอยู่ในเพศของสมณะ ชีวิตเราปลอดภัยขึ้นเยอะแล้ว เพราะว่ามันมีศีล มีข้อวัตรต่างๆ ปกป้องไม่ให้เราไปทำผิด มีครูบาอาจารย์ที่ดูเราอยู่ ทำผิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นมันเลยเป็นเพศที่ปลอดภัยที่สุด แล้วก็เหมาะแก่การปฎิบัติธรรมมากที่สุด

 

ตอนที่ 10 รู้รอบ ทั้งกายและใจ

รู้รอบ” คือ การรู้กายใจ

จริงๆ รู้มันพรึ่บเดียว…ก็รู้หมดแล้ว

อย่างที่บอกว่าความเป็นปกติเป็นฐาน มันเหมือนมันเป็นผิวหนังเราไปแล้ว เราไม่ต้องดูแล้วว่ามันอยู่มั๊ย แต่พอเราเป็นแผล เราโดนบาด เราจะรู้ทันทีว่าผิดปกติแล้ว มันเป็นอย่างนี้ มันจะสลับกันกับตอนแรกที่ปฏิบัติ

อันนี้เป็นขั้นเป็นตอน เป็นผลของการปฎิบัติ มันก็จะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ก็เป็นแบบนั้น

แรกๆนี้เราต้องเช็คความปกติหน่อย เพราะเราไม่รู้จักความเป็นปกติ ไม่รู้จักก็ต้องเช็คก่อน ปกติมั๊ย ปกติมั๊ย ให้มันรู้จัก

มีประเด็นสำคัญว่า ทำไมเรารู้สึกตัวอย่างเดียวแล้วเราเจริญไม่ได้? เพราะเราไม่ได้มารู้ใจเรา เรารู้แต่กาย ไม่รู้ใจ นักกีฬานี้ต้องเร้าความรู้สึกตัวตลอดเวลา

ทำไมเค้าไม่เป็นพระอรหันต์ซะที เพราะว่ามันเร้ากายขึ้นมา แต่มันไม่เคยดูใจ มันไม่รู้จักความเป็นปกติ

เพราะฉะนั้น 3 Factor สำคัญทุก Factor คือ

1)รู้สึกตัว

2)ไม่เข้าไปในโลกของความคิดปรุงแต่ง

3)กลับมาดูใจปกติมั๊ย

กลับมาดูใจปกติมั๊ย เพื่ออะไร?…เพื่อให้เรารู้จักจิตใจ ให้รู้จักความเป็นปกติ ให้จิตใจมันรู้จักสภาพที่มันไม่เกิดไม่ดับ สภาพที่มีอยู่แล้ว ให้มันได้รู้จักอันนี้บ่อยๆ พอมันรู้จักอันนี้บ่อยๆ มันก็เรียกว่าควบคู่กันไป มันก็ไปได้

ถ้าเรารู้สึกตัว รู้สึกตัว รู้สึกตัวอย่างเดียว ไม่มาเรียนรู้จิตใจตัวเองด้วย มันก็ช้า

แต่พอมารู้ความเป็นปกติด้วยมันก็เข้าล็อคเลย มันจะสมดุลพอดีทุกอย่าง จะเกิดความก้าวหน้า

ความก้าวหน้าวัดอย่างไง? ก็ความทุกข์น้อยลง ถ้าเราปกติอยู่ เราจะทุกข์ยังไง…ทุกข์ไม่ได้

ถ้ามันมีความทุกข์ขึ้นมา เราก็ได้เคยเรียนรู้ รู้จักความเป็นปกติแล้ว จิตใจนี้มันก็รู้ว่าจะกลับบ้านยังไง

แต่ถ้าเราไม่รู้จักความเป็นปกติเลย เราทุกข์เราก็จมอยู่ในทุกข์ ไม่รู้จะทำยังไง ไม่รู้จะกลับบ้านที่แท้จริงยังไง…บ้านไหนไม่รู้ มันก็เลยไปผิดที่ผิดทาง หนีความทุกข์ไปเรื่อยๆ ไม่ได้กลับบ้านที่แท้จริง พอเราเข้าบ้านที่แท้จริง ความเป็นปกตินี้มันก็มันช่วยชีวิตเราขึ้นมาเอง

เพราะฉะนั้น กายใจทั้ง ๒อย่างต้องควบคู่กัน ควบคู่กันจนมันเป็นหนึ่งเดียวกัน

มันเป็นหนึ่งเดียวกัน นี่มันไม่ได้เลือกอะไรแล้ว วันนี้เรายังต้องรู้สึกเลือกอยู่ เรายังต้องรู้สึกตัว เดี๋ยวมาดูใจ รู้สึกตัว เดี๋ยวใจเป็นยังไง อะไรอย่างนี้

พอถึงวันนึงที่มันเป็นหนึ่งเดียวกันแล้ว ไม่ต้องเลือกอะไรทั้งนั้น มันเป็นเองของมัน เป็นอย่างนั้นของมัน

 

ตอนที่ 11 หลอมรวมคุณธรรม

สติ สมาธิ ปัญญาทั้งหลายเป็นเหมือนกับเป็นเรือ เหมือนเราขึ้นเรือข้ามฝั่ง

พระพุทธเจ้าบอกว่า ทางของพระพุทธเจ้า “ไม่ใช่หลักการเป็นประสบการณ์เฉยๆ” เหมือนกับว่า ประสบการณ์ที่เราจะข้ามฝั่งจากฝั่งนี้ไปฝั่งโน้นเราต้องอาศัยเรือ

พระพุทธเจ้าก็สอนว่า มันมีเรือ ก็คือ สติ สมาธิ ปัญญา แต่พอเราข้ามไปแล้วเราก็ไม่ต้องเอาเรือแบกขึ้นหัวไปด้วย ก็ทิ้งเรือไป เราก็ข้ามฝั่งสำเร็จแล้ว

เพราะฉะนั้น คำพูด องค์ธรรม คุณธรรม ทั้งหลายที่เราอาศัยในตอนนี้ เช่น เรามีศีล จนวันนึงเราเป็นศีล เราก็ไม่ต้องมีศีล เพราะเราเป็นมันไปแล้ว…อย่างนี้

มันก็ไม่มีการจับยึดอะไรทั้งนั้น เพราะมันจะกลายเป็นความเข้าใจที่มันหลอมรวมเข้าไปในใจนี้ ไม่ว่าความเข้าใจสูงสุด สัจธรรมสูงสุด มันก็หลอมรวมเข้าไปในจิตใจดวงนี้

เมื่อจิตใจนี้เป็นปกติอยู่ ความเป็นปกตินี้มันเป็นความว่างจากตัวตนด้วย มันเลยเป็นสัมมาทิฏฐิด้วย แล้วสัมมาทิฏฐินี้เปรียบเสมือนรอยเท้าช้างที่สัมมาที่เหลือนี้บรรจุอยู่ในนั้นอีกทีนึง

เพราะฉะนั้น ความปกติหรือความว่างจริงๆแล้วมันเต็มไปด้วยคุณธรรมมากมาย แต่คุณธรรมนั้นจริงๆก็ว่างเหมือนกัน…มันพูดยาก พูดเป็นภาษาคนก็ต้องพูดว่า มันมีอยู่แต่มันไม่มี…ไม่รู้จะพูดยังไง

เราจะสังเกตใช่มั๊ยว่า ครูบาอาจารย์ทั้งหลายที่เราเชื่อว่าเป็นพระอริยเจ้าแล้ว ทุกองค์ก็มีคุณธรรม มีศีล มีธรรม มีคุณธรรมต่างๆนานา การแสดงออกมามันสื่อสารให้เรารู้สึกแบบนั้นนะ แปลได้แบบนั้น

แต่จริงๆภายในว่าง ไม่มีอะไร ไม่ได้ยึดอะไร แต่รู้ว่าต้องทำอะไร รู้อะไรเป็นอะไร รู้จักสมมติ รู้จักปรมัถต์ รู้กาละเทศะ รู้อะไรเป็นอะไรหมด…แต่ว่าง

ไม่มีความอหังการ หยิ่งผยอง เช่น จะรู้สึกว่าชั้นเป็นครูบาอาจารย์นะ พูดแบบนี้กับชั้นไม่ได้ อะไรอย่างนี้ เป็นพระอรหันต์แล้วนี่ไหว้ใครไม่ได้ ต้องให้คนไหว้เรา มันจะไม่มีอะไรแบบนั้น ไปตามสมมติเฉยๆ

จะรู้จักว่า ต้องทำอะไรในสถานการณ์ไหน สถานการณ์ที่ต้องอ่อนน้อมก็ต้องอ่อนน้อม ต้องเป็นลูกไล่ ก็ต้องเป็นลูกไล่ ต้องแสดงความเป็นผู้นำตัดสินใจก็ต้องแสดง มันเป็นเรื่องยากที่คนอื่นจะเข้าใจได้

 

ตอนที่ 12 ซื่อสัตย์ต่อตัวเอง

นักปฎิบัติธรรมทุกคนต้องซื่อสัตย์กับตัวเอง เราคนเดียวที่รู้ตัวเราเองว่าเป็นยังไง เรายังมีกิเลสขนาดไหน เรายังเหลืออะไรขนาดไหน เราเองรู้ตัวเอง ประเมินตัวเอง ไม่เป็นศรีธนญชัย ไม่หลบเลี่ยง ไม่หลีกเลี่ยง

ความเป็นปกติ เป็นคำตอบของทุกการกระทำของเราว่าสิ่งที่เราทำนี้มันเป็นสัมมาทิฏฐิรึเปล่า

บางทีเราเอาศีล ๕ข้อ ห้ามพูดโกหก ถ้าอย่างงั้นไม่พูด หรือพูดไม่หมด หรืออะไรก็ว่าไป…อะไรก็ได้ คนเรามันศรีธนญชัยได้ทุกอย่าง ถ้ามันอยากจะหลีกเลี่ยง

เพราะฉะนั้น เราเอาความปกตินี้เป็นตัววัดจิตใจเรา ความเป็นปกติอันนี้จะช่วยเราง่ายที่สุด

ความปกติเป็นศรีธนญชัยไม่ได้ มันมีปกติกับไม่ปกติ มีแค่นั้น

 

ตอนที่ 13 รู้รอบอย่างสมดุล

คำว่า รู้รอบ ไม่ใช่ว่าจะไปนั่งพูดกันเรื่องขณะเดียว อะไรแบบนั้น…ไม่ใช่

รู้รอบ คือ รู้หมด อะไรเป็นอะไร แค่นั้นเอง คือเรารู้อยู่ในกายในใจเรา เราก็ไม่ไปข้างนอก แล้วเราก็ไม่ได้เพ่งอะไรไว้ เราก็อยู่กับตัวเรานี่แหละ

คุณธรรม องค์ธรรม สติ สมาธิ อะไรต่างๆมันก็เหมือนกับว่ามันกำลังเติบโตอยู่ ก็คือหมายความว่า “รู้รอบ” ไม่ใช่หลบเข้าไปข้างในอย่างเดียว ไม่ใช่ออกนอกไปเลย ลืมไอ้นี่ไปเลย ไม่ใช่แบบนั้น

ให้มันสมดุล Balance คือ “เห็นอยู่ แต่ก็รู้ด้วย” อย่างนั้น แต่ไม่ใช่เราไปเพ่ง ที่ผมจะพูดตลอดว่า เรารู้เท่าที่รู้ได้ แค่นั้น

 

 ตอนที่ 14 Don’t Do Anything!!

การปฎิบัติธรรมนี้ เราไม่ได้ทำอะไร ตั้งแต่เริ่มต้นเลย เป็นสิ่งที่ไม่ต้องทำอะไรเลย Completely Don’t Do Anything

เราสังเกตดีๆว่าเรารู้สึกตัวขึ้นมาได้ยังไง ลองสังเกตดู อยู่ดีๆ เรารู้สึกตัวขึ้นมาได้ยังไง?

เพราะเราเริ่มสนใจปฎิบัติธรรม ครูบาอาจารย์สอนเราบอกว่า ให้รู้สึกตัว

สมมติสอนให้รู้สึกตัว เราก็ไม่คิดอะไรเยอะ ตื่นมาก็จำได้ แปรงฟันอยู่ก็ ไปคิดโน่นแล้ว นี่รู้แล้วว่าหลงใช่มะ…จำได้ ครูบาอาจารย์สอนให้รู้สึกตัว ก็เลยรู้สึก มันรู้สึกตัวเอง ใช่มั๊ย

เพราะฉะนั้น ความรู้สึกตัวนี้เกิดจากการไม่ได้ทำอะไร มันเป็น “สัญญา” จำคำสอนได้ มันก็เลยรู้สึกตัว ปึ๊บขึ้นมาเองโดยธรรมชาติ

ตั้งแต่ก้าวแรกที่เราเริ่มปฎิบัติธรรม เราไม่ได้ทำอะไร ทุกสิ่งทุกอย่างมันมีเหตุปัจจัยของมัน ส่งผลมาเรื่อยๆ

ถ้าเราอยู่บนทางของการที่เราไม่ได้ทำอะไร อันนั้นถูกทางแล้ว ผมเลยบอกว่าพอเรารู้สึกตัวขึ้นมาได้ สติเกิด…เกิดเองจากรู้สึกตัว รู้สึกตัวบ่อยๆ สติสะสมเป็นสมาธิ สมาธิมากๆๆเป็นปัญญาเกิด อริยมรรคเกิด

ไม่มีใครเข้าไปทำอะไร ไม่ว่าในขั้นตอนไหนทั้งนั้น มันเป็นเองหมดทุกอย่าง

เพราะฉะนั้น ภาษามันก็เลยยาก ที่ผมจะบอกว่า เราไปเข้าใจว่าการที่เราจะบรรลุธรรม เราต้องไปฝึกสติ ฝึกสมาธิ ฝึกอะไร เราไม่ได้ฝึก มันเป็นเอง

มันไม่ได้เป็นเองแค่สติ มันเป็นเองตั้งแต่ความรู้สึกตัวแล้ว สัญญานี้นึกขึ้นได้เองเหมือนกัน ถูกมั๊ย? เราบังคับสัญญาให้มันนึกไม่ได้ ใช่มั๊ย? มันนึกขึ้นได้เอง แล้วเราก็…เอ้อ ต้องรู้สึกตัว

 

ตอนที่ 15 เส้นทางไถ่บาป

เส้นสายของธรรมชาตินี้เอง มันขัดเกลาจิตใจเราจนมันสะอาด จนมันหมดสิ้นกิเลส

เส้นสายของธรรมชาติของอวิชชาก็เหมือนกัน มันก็ทำงานของมัน มันทำบนพื้นฐานของความมีตัวตน มันก็ทำงานสมบูรณ์ในหน้าที่ของมันเหมือนกัน

เราแค่เปลี่ยนเส้นทางเฉยๆ ว่าเราจะอยู่ในเส้นทางนี้ เส้นทางที่จะชำระล้างกิเลส

ในหนังพระพุทธเจ้าก็พูดคำนึงว่า เราจะพาทุกคนไปสู่เส้นทางแห่งการไถ่บาป

เส้นทางนี้คือ “เส้นทางแห่งการไถ่บาป” …ก็พ้นจากตัวตน พออยู่บนเส้นทางนี้ จิตใจก็ถูกชำระล้างแล้ว หมดกิเลส หมดอวิชชา…เส้นทางนี้ก็ไม่มีแล้ว มีไม่ได้
เพราะมันไม่มีเหตุของมันคือ “อวิชชา” มันก็เลยจบ เป็นพระอรหันต์…ก็แค่นั้นเอง

เพราะฉะนั้น การปฎิบัติธรรมเราไม่ได้มีเป้าหมายที่จะฝึกเพื่อจะได้อะไรทั้งนั้น เรามีหน้าที่แค่รู้เส้นทาง เดินอยู่บนเส้นทาง และมีประสบการณ์กับเส้นทางนี้แค่นั้น ไม่ได้ทำอะไรเลย

การปฎิบัติธรรมนี้มันเลยง่าย ง่ายจนไม่รู้จะง่ายยังไง…

 

ตอนที่ 16 รหัสทางเดินของพระพุทธเจ้า

เส้นทางไถ่บาปนี้มีอยู่ แต่ไม่ใช่ทุกคนจะเดินได้ มันเป็นเรื่องของเหตุปัจจัยหลายอย่าง กรรม มิจฉาทิฏฐิ ความคิด ที่ลากเราเอาไว้ ผูกเราเอาไว้

สมมติว่าเรื่องทิ้งลูกทิ้งภรรยาไปของพระพุทธเจ้าจะเป็นเรื่องโกหกก็ตาม แต่ถ้าเป็นเรื่องโกหกจริงๆก็เป็นเรื่องโกหกที่ดีมาก แปลว่าคนสมัยนั้นต้องการจะบอกกับคนทุกคนในโลกนี้ว่า “ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าการไปทำให้ตัวเองพ้นทุกข์

สิ่งที่เราคิดว่าสำคัญที่สุดเป็นหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของเรา พระพุทธเจ้าไม่ทำ!! แต่พระพุทธเจ้าไปหาทางพ้นทุกข์ เป็นการตอกย้ำรหัสให้คนในโลกนี้เห็นว่า สิ่งที่เราเชื่อว่าเราทิ้งไปไม่ได้หรอก เราทำแบบนี้ไม่ได้หรอก

พระพุทธเจ้าทำให้ดู

แต่พระพุทธเจ้าไม่พูดตรงๆ เค้าเลยมีคำศัพท์ว่า ครูบาอาจารย์ทำให้ดู อยู่ให้เห็น…คิดเอาเอง!!

ทุกอย่างจะพูดหมดไม่ได้ พอพูดหมดแล้วมันฝืน…มันฝืนความเชื่อคนมากเกินไป รับไม่ได้

เพราะฉะนั้นก็คือว่า ไม่ให้ใครขวางทางนี้ทั้งนั้น เพราะทางนี้เป็นเส้นทางสูงสุด เป็นเส้นทางแห่งการไถ่บาปสูงสุด

ถ้าเราไปเห็นความจริงแล้ว เราจะรู้ว่า ก็มันไม่มีอะไร พระพุทธเจ้าก็เราเองนั่นแหละ พุทธะมันอยู่ในตัวทุกคนอยู่แล้ว

ทำตัวเองให้เป็นพระพุทธเจ้า

หลวงพ่อเทียนเคยพูดว่า ปฎิบัติธรรมนี่ปฎิบัติไปจนถึงวันนึงที่เรากราบตัวเองได้ ถ้าวันที่เรากราบตัวเองได้เราเองเป็นธรรมะแล้ว

 

ตอนที่ 17 ความเชื่อผิดๆ

สังโยชน์ข้อนึงของพระโสดาบัน คือ สีลัพพตปรามาส คือการเชื่ออะไรผิดๆ ความงมงายในศีลพรต ต่างๆ

ความเชื่ออะไรผิดๆ มันไม่ใช่แค่เรื่องความเชื่อแบบมิจฉาทิฏฐิไปเลยแบบนั้น…ก็ไม่ใช่ ทางนั้นเรารู้อยู่แล้ว เช่น ไปเชื่อไสยศาสตร์ เชื่ออะไรอย่างนั้น

แต่มันหมายถึง แม้กระทั่งนักปฎิบัติทั้งหลาย เราก็เชื่ออะไรบางอย่างที่เรานึกว่ามันดี เช่น เราเชื่อว่า ถ้าเราอยากกินไอ้นี่เราต้องไม่กินมัน เราเชื่อว่าเราต้องฝืนกิเลส ถ้าเราไม่ชอบกินอันนี้เราจะกินมัน เราจะรู้สึกว่าเราได้ต่อสู้กับกิเลส

มันไม่ต่างจากการกระทำตนให้ลำบาก หรืออัตตกิลมถานุโยค มันไม่สัปปายะ จริงๆถ้าคนเราเข้าใจว่า เราฝืนกิเลส เพื่อจุดประสงค์อะไร มันจะไม่ใช่สีลัพพตปรามาส

การฝืนกิเลสดีเหมือนกัน แต่ต้องรู้ว่าฝืนทำไม เช่นอย่างที่บอก เตียงดูดวิญญาณ ใช่มั๊ย ถ้าเตียงมันดูดวิญญาณ เราก็ไปนอนพื้นบ้าง อะไรอย่างนี้

คือเราต้องรู้เป้าประสงค์ของเป้าหมายที่เราทำว่าอะไรที่มันส่งเสริมให้มีวินัย มีสติ มีเวลาในการปฎิบัติธรรมมากขึ้น เราก็ไปทำอย่างนั้น แต่ไม่ใช่ทำเพราะว่า…เฮ้ย ถ้าไม่ลำบากแล้วจะบรรลุธรรมได้ยังไง อะไรแบบนี้

คนเราทำเหมือนกันนะ แต่คิดไม่เหมือนกันนี่คนละเรื่องเลย เราไม่รู้เป้าหมายของสิ่งที่เราทำเนี่ยมันเป็นคนละเรื่องเลย

สมมติอยากจะทำ ต้องรู้ว่าทำทำไม ไม่ใช่ทำเพื่อเอาชนะกิเลส แต่ทำเพื่อทดสอบดูว่าจิตใจเป็นยังไง อันนี้โอเค

เราต้องรู้ว่าทำไปเพื่ออะไร ทำแล้วมันได้อะไร แต่ถ้าทำเพื่อเอาชนะกิเลส จะชนะยังไง กิเลสมันเกิดจากอะไรยังไม่รู้เลย ใช่มั๊ย

มันเหมือนกับว่ากิเลสนี้เป็นผลจากอวิชชามาตั้งเยอะแล้ว ก็มีกิเลสตัวนี้อยู่

เหมือนประตูบ้านเปิดทิ้งไว้อยู่ แล้วฝุ่นมันก็พัดเข้าตลอด แล้วเราก็คอยกวาด…กวาดแล้วก็กวาด

แทนที่จะปิดประตู มันก็จบ ไม่อย่างนั้นมันต้องกวาดทั้งวัน

คนที่ทำแบบนี้เรียกว่า มีสีลัพพตปรามาส คือมีความเชื่อผิดๆว่าทำแบบนี้จะดี มันเป็นลักษณะเหมือนกับว่า เรามัวไปกวาดบ้าน แต่ไม่เดินไปปิดประตูบ้านซะทีนึง

มันก็กวาดทั้งวันไม่จบซะที เพราะมันไม่รู้ว่าต้องไปแก้ที่ไหน

 

ตอนที่ 18 ไม่ได้สู้กิเลส

เหมือนที่ผมพูดตลอดว่า เราไม่ได้สู้กิเลส วันนึงที่จิตใจมันตื่นขึ้นมาแล้ว มันไม่มีกิเลสให้สู้

ตอนนี้มีคนเข้าใจว่า พระอรหันต์มีกิเลส เช่น ยังโกรธอยู่แต่ไม่เอา พอมันเข้าใจอย่างนั้น ปุ๊บ มันก็เลยรู้สึกว่า เราต้องฝึกที่จะเอาชนะกิเลสให้ได้ คือถ้ามีขึ้นมาปึ๊บ เราก็ละได้ทันที ไม่เข้าไปเป็นกับมัน อะไรแบบนี้

พอมันเชื่อแบบนี้ มันเลยฝึกที่จะต้องรีบละให้ไว ต้องรีบปล่อยให้ไว ต้องรีบอะไรแบบนั้น ซึ่งมันเป็นความเชื่อผิดๆ

พวกนี้ก็จะอ้างคำหลวงปู่ดูลย์ที่พูดเรื่องนี้ แต่ไม่ค่อยอ้างเรื่อง “ว่าง สว่าง บริสุทธิ์ หมดความปรุงแต่ง หมดการแสวงหา หมดกิริยาอาการของจิต ไม่มีอะไรเลย ไม่เหลืออะไรซักอย่าง” อันนี้ไม่พูด สภาวะที่แท้จริงมันเป็นแบบนั้น มันไม่ใช่แบบที่เอาแค่ประโยคนั้นมาพูด

อย่างที่ผมบอกว่า มันมีเส้นทางของการพ้นทุกข์ และเส้นทางของอวิชชา ถ้าเส้นทางแห่งการพ้นทุกข์นี้สมบูรณ์แล้ว เส้นทางอวิชชานี้มันไม่มี มันไม่มีเลย แล้วกิเลสจะมาจากไหน ก็มันไม่มี

คำว่า สีลัพพตปรามาส แปลง่ายๆก็คือว่า ไม่เชื่ออะไรที่ไม่ใช่ทางแล้ว ละเอียดขนาดนั้นก็รู้ว่าไม่ใช่ทาง

 

ตอนที่ 19 อ้อ…ตอนนี้เป็นแบบนี้

สังเกตมั๊ยระหว่างทางพวกเราก็จะรู้สึก เราเชื่อว่าอย่างนี้ดี ทำอย่างนี้ดีกว่า เป็นอย่างนั้น หรือ ปกติ วันนี้ชัด เมื่อวานไม่ชัด แบบมันไม่ดีเท่าเมื่อวานนี้ หรืออะไรแบบนี้

คือเรากำลังไปให้ค่า ไปตัดสิน ไม่เป็นกลางกับสภาวะที่มันกำลังเป็นอยู่

แต่การ Being (ดำรงอยู่) คือ มันเป็นยังไงก็รู้

อ้อ … ตอนนี้เป็นแบบนี้

คราวก่อนที่ผมบอกว่าอยากให้ทุกคนเปลี่ยนคำบริกรรมซะหน่อย อะไรจะเกิดขึ้นก็ตามให้บริกรรมว่า “อ้อ…ตอนนี้เป็นแบบนี้” แค่นี้พอ เราจะสบายขึ้น

คำว่า อ้อ…ตอนนี้เป็นแบบนี้ เราไม่ต้องตัดสินอะไร เราไม่ต้องรู้สึกว่ามันดีหรือมันไม่ดี จะดีก็ได้ ไม่ดีก็ได้ แต่รู้ อ๋อ ตอนนี้เป็นแบบนี้

แล้วเราไม่ต้องไปยุ่งกับมัน ไม่ต้องสนใจมัน เราก็ “รู้สึกตัว” ไปก่อน

พอเรา อ้อ ก็เป็นแบบนี้ มันก็จบ…ไม่มีอะไร

อย่าไปต่อเติม อย่าไปปรุงแต่งเพิ่ม อย่าไปสร้างอะไรเพิ่ม แล้วเราจะอยู่ในเส้นทางนี้แหละ เราจะไม่ออกนอกเส้นทาง

แต่ถ้าเราไม่ อ้อ…ก็เป็นแบบนี้ เราจะตัดสิน เฮ้ย…ทำไมมันเป็นแบบนี้นะ จะแก้ไขอีก อยากจะให้มันเป็นแบบเดิม

เท่ากับตอนนี้เราออกนอกเส้นทางแล้ว แต่เรานึกว่าเรากำลังทำดีอยู่ เรานึกว่าเรากำลังปฎิบัติธรรม กำลังเพียร เพ่งเพียรเผากิเลส

ไฟนี้มันมีคุณ แต่มันก็มีโทษ มันเผาตัวเองเหมือนกัน คำพูดมันลำบาก คำสอนครูบาอาจารย์อาจจะไม่ได้ตั้งใจ แต่มันต้องใช้คำพูดแบบนี้ แต่การแปล มันแปลได้หลายอย่าง

เพียรเพ่งเผากิเลส มันก็คือว่า ถ้าเราอยู่ในความเป็นปกตินี้มันไม่มีกิเลส มันเท่ากับมันเผามันอยู่แล้ว

แต่มันเป็นคำพูดเฉยๆ ธรรมชาติขัดเกลาด้วยตัวมันเอง ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้นเลย

 

ตอนที่ 20 ซาบซึ้งทางธรรม

ความว่าง ความเป็นปกติ อันนี้เป็นสิ่งเดียวที่จะทำให้ทุกคนหลุดพ้นได้ ความเป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่งกับธรรมชาติ มันไม่มีหลักยึด ไม่มีหลักเงื่อนไขอะไรทั้งนั้น มันรู้สึกเหมือนมัน Feel Free (อิสระ) นะ

คือแค่เรา Being (ดำรงอยู่) เราก็งานเยอะแล้วนะ…ถ้าจะพูดถึง

เพราะฉะนั้น คนที่มีแผนจะเลิกทำงาน จะออกมาปฎิบัติธรรม ใช้เวลา ใช้ Result ทรัพยากรที่ตัวเองมีอยู่ที่จะปฎิบัติธรรม “อยู่อย่างว่างๆ”เนี่ย ไม่ต้องกลัวว่ามันจะน่าเบื่อ เรามีงานต้องทำเยอะ กวาดบ้าน ถูบ้าน ล้างจาน กินข้าว เข้าห้องน้ำ ขับรถไปซื้อของ อุ้ย…งานหนัก ต้องไปนวดอีก…ลำบาก (หัวเราะ)

เราลองใช้ชีวิตในแบบที่เราไม่มีแม่บ้าน ไม่มีพี่เลี้ยง ไม่มีคนใช้ เราจะรู้ว่าชีวิตไม่น่าเบื่อหรอก มีเรื่องต้องทำเยอะ

แต่ชีวิตเรามันน่าเบื่อ เพราะว่าเราว่างเกินไป เจอพวกว่าง มีเงิน ไม่รู้จะทำอะไร ก็อยากจะหาเด็กๆ ชีวิตเจอแต่แก่ๆ ก็อยากหาเด็กๆ

เพราะว่าสาเหตุมันเกิดจากอะไร?…มันเกิดจากไม่รู้จักว่าชีวิตนี้เกิดมาเพื่อจะทำอะไรกันแน่ แทนที่ตัวเองนี้ว่างแล้ว Retired แล้ว เอาเวลานี้มาพัฒนาจิตใจ รู้ว่าเป้าหมายชีวิตที่เหลือจะทำอะไรดี…มันไม่รู้

พอไม่รู้ มันก็ไม่รู้จะทำอะไร มันไม่รู้จะไปทางไหนดี

อย่างที่เคยบอกว่า ถ้าไม่ซาบซึ้งทางธรรม มันต้องไปซาบซึ้งทางโลกแทน เพราะมันซาบซึ้งทางธรรมไม่ได้ มันก็จะไหลไปในแบบนั้น สมมติ ไปมีเมียน้อยสำเร็จจริงๆ…แล้วเป็นยังไง สุดท้ายบ้านแตก

เราจะเห็นว่า ถ้าจิตใจเราไม่มีธรรมะ กิเลสจะลากเราไปได้ทุกเวลา ทุกขณะ แค่เราเลือกเดินทางผิดแค่ก้าวเดียว บังเอิญก้าวนั้น ปุ๊บ ตกหลุมเลย เราจะขึ้นมาไม่ได้เลย

ชีวิตนี่มันบอบบาง ชีวิตที่เลือกทางผิดแค่ครั้งเดียว บางคนโชคดีเลือกผิดแล้วยังกลับได้ มีทางถอยกลับได้ ยังไม่ตกไปเยอะ แต่บางคนมันเลือกผิดปุ๊บ ตกพรวดลงไป ขึ้นไม่ได้เลย มันก็มีเยอะแยะ ที่เห็นๆ

เพราะฉะนั้น ทุกคนต้องซาบซึ้งในธรรมเยอะๆ ถ้าจิตใจเราซาบซึ้งในธรรม เราจะไม่ซาบซึ้งในโลก

ถ้าเราไม่ซาบซึ้งในโลก กิเลสจะครอบงำเราไม่ได้

พอกิเลสครอบงำเราไม่ได้ เราก็จะมีแต่ทางเจริญอย่างเดียว

 

ตอนที่ 21 อย่าเชื่อความคิดตัวเอง

สุดท้ายก็คือว่า เราอย่าเชื่อความคิดตัวเอง จนกว่าที่ความคิดของเรามันจะเป็น “ปัญญา” แล้ว…จะปลอดภัยที่สุด

อันนี้เป็นเรื่องของปัญญาญาณ เราทุกคนมีโอกาสนี้เหมือนกันที่จะมีขึ้นมาเป็นช็อตๆได้ แต่ขอให้จิตใจมันปกติ มันว่าง

เราคิดเรื่องๆนึงเอาไว้ คิดเอาไว้ว่าเราต้องหาคำตอบเรื่องนี้ แล้วก็ปล่อยไป…ไปเดินจงกรมแทน เราจะได้คำตอบที่ดีที่สุด

ทุกคนน่าจะเคยเจอเหตุการณ์แบบนี้อยู่แล้ว เราคิดเรื่องงานเรื่องการ…เรานั่งอยู่ในร้าน อยู่ในออฟฟิศ อยู่ในที่เดิมๆของเราที่มันยุ่งเหยิงวุ่นวาย คิดไม่ค่อยออกหรอก

แต่ถ้าลองขับรถไปกินข้าว ขับไปเที่ยวเสาร์-อาทิตย์ ….อ้อ ออกแล้ว ต้องทำแบบนี้ !!

นี่แหละ ความผ่อนคลาย…จิตมันผ่อนคลายแล้ว มันก็ออกมาได้ Solution ทางแก้ปัญหาที่เหมาะสมที่สุดจะออกมา มันจะไม่อยู่บนพื้นฐานของความกังวล

แต่ถ้าเราคิดอยู่บนความไม่ปกติ…มันจะกังวล เราคิดทางนี้ปุ๊บ เอ๊ะ…หรือทางโน่น หรือเอ๊ะ..เอ๊ะ..เอ๊ะ มีแต่เอ๊ะอย่างเดียวนี่ มันจะมั่วแล้วทีนี้…มันจะไม่ดีเท่าไหร่

 

Camouflage

08-Jun-2016

 

ถอดไฟล์เสียงจาก YouTube : https://youtu.be/LWEDSsKeMm8

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของคุณ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c