24.ธรรมบรรยาย 22-05-2559_1/2

ตอนที่ 1 Being ดำรงอยู่

ชีวิตที่แท้จริงของพวกเราทุกคน มันเป็นแค่ “ความรู้สึกเฉยๆ

ชีวิตที่แท้จริงก็คือ ความรู้สึก หรือ Feeling ล้วนๆ ไม่มีการให้คุณค่า ให้ความหมาย
กับสิ่งใดๆเลย

ที่ผมจะพูดตลอดว่า เราแค่ Being (ดำรงอยู่) หรือที่เค้าเรียกกันว่า Human Being หมายความว่า เรา Being (ดำรงอยู่) เฉยๆ เราเป็นอยู่ในธรรมชาตินี้เฉยๆ

ถึงแแม้ว่า เราจะรู้ว่านี่มันเป็นร่างกาย นี่มันเป็นแขน นี่เป็นขา มันก็ไม่เป็นไร แต่หมายความว่า เราไม่ใช่ต้องไปจับจ้องหาความหมาย หาถูกผิดอะไรในสิ่งๆนี้ที่เรามีอยู่ หรือที่เรากำลังเป็นอยู่นี้

ถ้าเราไปจับจ้องหาความหมาย เราจะเริ่มแปลกแยกออกจากธรรมชาติ เราจะเริ่มแยกว่า นี่เรา นี่เขา นี่ของเรา นั่นของเขา พอเราเริ่มแปลกแยก ความทุกข์ก็จะเริ่มเกิดขึ้น

แต่ถ้าเรา Being ได้ เป็นอยู่อย่างเป็นธรรมชาติ อะไรเกิดขึ้นเราก็…อืม…มันก็เป็นอย่างนั้นเอง

 

ตอนที่ 2 ประสบการณ์ชีวิต

เพราะฉะนั้น ผมเลยพูดตลอดว่า ชีวิตที่แท้จริงนี้ มันไม่ใช่หลักการ มันไม่ใช่หลักยึดอะไรทั้งนั้น มันเป็น “ประสบการณ์” ของชีวิตเฉยๆ ที่เราจะอยู่นี้ เราก็รู้ทุกสิ่งอย่างในชีวิตแบบนี้แหละ

แต่การตัดสินใจของเรานี้มันไม่ขึ้นอยู่กับหลักการ ไม่ขึ้นอยู่กับอะไร ถ้าเรามีหลักการนั้นอยู่ เราก็จะทุกข์เพราะหลักการนั้น

มีคนถามพระพุทธเจ้าบอกว่า สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนอันนี้เป็นหลักการรึเปล่า?

พระพุทธเจ้าตอบว่า ไม่ได้เป็นหลักการ พระพุทธเจ้าบอกว่า เป็นแค่ประสบการณ์เฉยๆ

พอมันเป็นแค่ประสบการณ์ มันหมายความว่าทุกคนต้องผ่านประสบการณ์นั้นด้วยตนเอง มันไม่ใช่ใครจะให้ประสบการณ์นี้กับใครได้ ทุกคนจะต้องเดินผ่านประสบการณ์ที่จะพบชีวิตที่แท้จริงนี้ได้ด้วยตนเอง

 

ตอนที่ 3 ศิลปะ

ผมจะพูดตลอดว่าการปฎิบัติธรรมของเราทุกคนนี้เป็น “ศิลปะ

ศิลปะมันไม่มีหลักการ อย่างผมบอกคนนี้ต้องทำอย่างนี้ คนนั้นต้องทำอย่างนั้น คนโน้นต้องทำอีกอย่างนึง คนฟังด้วยกันอาจจะ…อ้าว..ทำไมผมบอกคนนี้อย่างนี้ คนนั้นบอกอย่างนั้น สับสนเหมือนกันว่าทำไมมันไม่เหมือนกัน…

ก็มันไม่เหมือนกัน เพราะว่าเหตุปัจจัยแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราทุกคนมีกรรมไม่เหมือนกัน มีสถานะ ณ ตรงนั้นไม่เหมือนกัน

เพราะฉะนั้น คำแนะนำต่างๆ มันเป็นเฉพาะบุคคลและเฉพาะตอนนั้นด้วย

แต่ถึงเวลานึง ถ้าเรารู้เองไม่ได้ เราต้องถามครูบาอาจารย์ คล้ายๆว่าครูบาอาจารย์ให้ราวบันไดเราเอาไว้ จับไว้ก่อน…จับไว้ก่อนแบบนี้ แล้วเราก็จับเอาไว้

แล้วเราก็นึกว่า รู้แล้วว่าทำแบบนี้ แล้วเราก็ไม่ไปคุยอีกเลย ไม่ไปสนทนาธรรม ไม่ไปอะไร…อีกเลย นึกว่ารู้แล้ว จับเอาไว้…จับจนตายก็ได้แค่นั้น

แต่พอถึงวันนึงก็ “ต้องปล่อย” พอเราไม่รู้เราก็ไม่ยอมปล่อย ยึดเอาไว้ จับไว้ เราก็ไม่ปล่อย เราก็ไปต่อไม่ได้

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าสอน ศีล สมาธิ ปัญญา ทั้งหมดนี้ก็เหมือน “ราวบันได” มันเป็นสิ่งที่พาเราไป แต่สุดท้ายเรา “ต้องทิ้ง” มันไปเหมือนกัน ไม่ใช่เราไปทิ้งไปแบบนั้น ไม่ใช่ไปทิ้งแบบ Dump มันลง…ไม่ใช่

คำว่า ทิ้ง หมายถึงว่า เราไม่ยึดติดกับมัน เพราะ “เราเป็นมันไปแล้ว” เราไม่ต้องยึดติดกับมันแล้ว

 

ตอนที่ 4 หยุด !!!

พอเราเดินจงกรม ช่วงแรกๆเราจะฟุ้งซ่านเยอะ เพราะเป็นผลจากตอนก่อนเรามาเดิน นึกออกมั๊ย? เราไปทำงานทำการอะไรมา เราก็ฟุ้งอยู่ แล้วก็…อ้าวถึงเวลาเดินจงกรมแล้ว แล้วเราก็มาเริ่มเดิน

พอเริ่มเดิน จิตใจนี่มันฟุ้งเยอะ ความคิดมันเยอะ ผมถึงบอกว่า เราต้อง “หยุด” ก่อน

แม้กระทั่งก่อนเราจะเริ่มเดิน ต้นทางของทางจงกรม เราก็ยืนสบายๆก่อน ให้มันผ่อนคลายก่อน แล้วเราก็ค่อยเริ่มเดิน เดินแล้วเราก็หยุด หยุดแบบที่บอก

พอหยุดแบบที่บอกปุ๊บ สบาย….นี่มีความเป็นปกติขึ้นมา แล้วค่อยเดิน

เดินไปเดินมา ความเป็นปกติมันเริ่มครอบคลุมแล้ว ระหว่างเดินก็ปกติเหมือนกัน ทีนี้พอมันปกติเหมือนกัน หยุดกับเดินมันเท่ากัน เราก็ไม่ต้องหยุดนานขนาดที่เราเป็นตอนแรกแล้ว

การหยุดมันช่วยให้ทุกสิ่งมันหยุด ความฟุ้งซ่านที่มันคล้ายๆกับมันฟูอยู่ก็กลับมา

พอมันกลับมาแล้ว ความรู้สึก ความปกติ มันอยู่กับเราแล้ว

แต่เดี๋ยวเดินไปเดินมา เราหยุดน้อยลง…ฟุ้งซ่านคิดอีกแล้ว พอคิดอีกแล้วก็ต้องหยุด

หยุดเพื่อจะให้ทุกสิ่งมันหยุดอีกครั้งนึง เพราะจิตใจเราทุกคนนั้นมันอยู่ในความฟุ้งซ่าน จิตใจเรามีแต่โมหะครอบจิตครอบใจเราอยู่ตลอดเวลา พอมันมีเชื้ออย่างนั้นอยู่ มันก็พร้อมที่จะฟูฟ่องออกไปเป็นเรื่องเป็นราวตลอด

 

ตอนที่ 5 อยู่อย่างสัปปายะ

เราทำงานอยู่ในสังคม มีปฎิสัมพันธ์กับคนมากมาย…เหล่านี้นี่เป็นสิ่งที่บันทึก Memory อยู่ในสัญญาเรา มันเป็นกรรมอย่างนึงเหมือนกัน สิ่งเหล่านี้มันก็จะขึ้นมารบกวนเราบ่อยๆ เนืองๆ

มันคือสาเหตุที่ว่า ทำไมพระพุทธเจ้าถึงบอกเราว่าการปฎิบัติธรรมเราจำเป็นต้องไปอยู่ในที่สัปปายะ

สัปปายะ” ไม่ใช่ลำบาก สัปปายะหมายถึง มันเอื้อต่อการปฎิบัติธรรม สัปปายะมีอยู่ 7 ข้อ แต่หลักๆก็คือเราไม่ได้ไปทรมานตัวเอง

การอยู่สัปปายะหมายความว่า ถ้ามันสบายเกินไป มันสุขเกินไป เราต้องผ่อน เราต้องไม่ติดกับความสบายหรือความสุขแบบนั้น อะไรก็ตามที่นำเราไปสู่ “ทางแห่งความเสื่อม” เราต้องหลีกหนีจากมัน

เราจะทำอะไรเราต้องรู้ เหมือนกับเรากินมากเกินไปมันง่วง อะไรแบบนี้ อย่ากินให้มันเยอะเกินไป รบกวนการปฎิบัติธรรม

เรานอน…ที่นอนที่สบายเกินไปเค้าเรียกว่า เตียงดูดวิญญาณ ลุกไม่ขึ้นอะไรอย่างนี้ พระพุทธเจ้าสอนเราให้นอนพื้นไม้ นอนฟูกไม่เกิน 1 นิ้ว มันไม่สบายเท่าไหร่เดี๋ยวมันก็ตื่นแล้ว มันจะนอนต่อก็ไม่สบายเดี๋ยวมันก็ต้องตื่น มันก็จะลุกขึ้น

เราต้องเข้าใจว่า เราอยู่ในสภาวะแบบไหน แล้วถ้าเราจะเข้มงวดกับตัวเองซักหน่อย มันไม่ใช่หมายความว่าเราทรมานตัวเอง เรารู้ว่าตอนนี้ เราควรจะทำอะไร อะไรที่มันเหมาะกับเรา

 

ตอนที่ 6 รู้สึกตัว หรือ “คิดว่า”รู้สึกตัว?

ในขณะที่เรากลับมาดูใจตัวเองว่าปกติมั๊ย? ขณะนั้นใจก็ว่าง ใจที่ว่างก็ไม่มีความคิด เป็นการเห็น เห็นเฉยๆ เห็นมันเป็นยังไง?

มีคำถามจากผู้ฟัง : อยากจะทราบว่า ที่ตัวเองรู้สึกนี่คือ รู้สึกตัว หรือ คิดว่ารู้สึกตัว?

ตอบ : อันนี้คือเราสงสัยแล้ว ถ้าเราสงสัย อย่างแรกเราต้องเห็นก่อนว่าเราสงสัย

เราเห็นว่ามีความสงสัยนี้เกิดขึ้นแล้ว ในขณะที่เราเห็นความสงสัยเกิดขึ้น ความสงสัยนี้มันจะดับไป ความคิดมันดับไปแล้ว ความสงสัยคือความคิดนั่นแหละ

ความสงสัยดับไป ความคิดดับไป มันก็ปกติ มันก็ไม่มีอะไร มันก็รู้สึกตัวอยู่…อัตโนมัติเลย

แล้วถ้าเราสงสัยอีกก็ให้รู้ว่าเราสงสัย แล้วมันก็จะกลับมาที่นี่…มันไปไหนไม่ได้ มันไปได้แค่ 2 ที่ คือ “หลงกับรู้” มันมีแค่นั้น

ถ้าเราไม่หลงไป เราก็รู้อยู่ แต่ถ้าเรารู้อยู่แล้ว เราไม่ต้องสงสัยว่า รู้อยู่แล้วรึเปล่า?…มันจะไม่จบ

มันเหมือนงูกินหาง ถ้าเรารู้ว่าเราไม่ได้หลงนั่นคือเรารู้แล้ว ไม่ต้องสงสัยว่าเราคิดอยู่ หรือเรารู้สึกจริงๆ

ถ้าเมื่อไหร่ที่สงสัย ลองทำแบบนี้ ก็คือว่าเมื่อไหร่สงสัยให้กลับมาดูว่าตอนนี้จิตใจปกติมั๊ย?

ในขณะที่เรากลับมาดูใจตัวเอง มันไม่มีความคิดแล้ว แล้วถ้าอยากจะเช็คเบิ้ลอีก ก็ให้หลับตาแล้วยกมือขึ้นช้าๆ เอาขึ้น เอาลงช้าๆ

สมมติหลับตาแล้วยกมือขึ้นลงช้าๆ…เรารู้สึกถึงการเคลื่อนไหวใช่มั๊ย? ตอนนั้นไม่มีความคิด

ถ้าในขณะที่เราลองแบบนี้แล้วเรารู้ถึงการเคลื่อนไหวอยู่ กับเมื่อกี้นี้ที่เราสงสัย…แล้วมันมีความรู้สึกเท่ากัน นั่นคือเรารู้สึกตัวอยู่ ไม่ใช่เราคิดไปเอง

ถ้ามันเท่ากันมันก็เท่ากัน มันเป็นสภาวะเท่ากัน มันก็ไม่มีอะไร

แต่สำคัญที่สุดคือ เราต้องเห็นว่าเราสงสัย ไม่ใช่เรามัวแต่คิดว่าเรารู้สึกตัวรึยัง เค้าเรียกว่า “ปัจจุบันธรรม

ตอนที่ 7 หน้าที่ 3 อย่าง

ตอนที่ 7 หน้าที่ 3 อย่าง

เรามีหน้าที่ 3อย่างที่ผมบอก

  1. รู้สึกตัว
  2. เราไม่หลงเข้าไปในโลกของความคิด
  3. กลับมาดูใจว่าปกติมั๊ย

3ปัจจัยนี้เป็นสิ่งที่เป็นหน้าที่เรา ที่เราจะต้องระลึกไว้ในใจว่า มันเป็นหน้าที่ของเรา

ตั้งแต่เราตื่นจนหลับ เรามีหน้าที่ 3อย่างนี้ ที่จะต้องรู้สึกตัว ไม่หลงเข้าไปในความคิด แล้วกลับมาดูใจเราปกติมั๊ย

พอจนถึงวันนึงที่มันก็อยู่ตัวแล้ว มันไม่ต้องกลับมาดูว่ามันปกติมั๊ย เพราะมันปกติแล้ว

แต่เราจะเห็นอะไร? เราจะเปลี่ยนฝั่ง…เราจะเห็นว่าพอมันไม่ปกตินี่ เราจะเห็นเลยว่ามันไม่ปกติแล้ว มันผิดปกติแล้ว

มันเหมือนเราฝึกจนใจเรานี้เป็นผ้าขาวแล้ว พอมีจุดดำหน่อยนึงเราเห็นชัดเลยทีนี้ เราไม่ต้องคอยมาดูมันว่ามันขาวมั๊ย มันขาวมั๊ย

 

ตอนที่ 8 ความสงสัย

เหมือนราวบันไดแบบที่ผมบอก แต่ละคนก็จะมีอะไรให้ศึกษาไปเรื่อยๆ

ที่ผมบอกการปฎิบัติธรรมมันไม่ใช่เป็นขั้นเป็นตอน การย่ำอยู่กับสัมมาทิฐินี่แหละคือไม่มีไปไหนแล้ว

แต่ผลของการปฎิบัติ มันดูเหมือนเป็นขั้นเป็นตอน หมายความว่ามีการพัฒนาเป็นขั้นเป็นตอน

แต่วิธีปฎิบัติไม่มีขั้นมีตอน เริ่มก็คือถึงเลย แต่ที่เหลือคือใช้เวลาเฉยๆ แค่นั้น

คือให้เราเข้าใจว่า ความสงสัยเป็นสิ่งที่หลอกเรา พาเราไปคิด พาเราไปอยู่ในโลกของความคิด เราอยากจะทำให้ถูก มันก็เลยพาเราเข้าไปอยู่ในโลกของความคิด

แต่ที่ผมบอกว่า เรามีหน้าที่อยู่กับชีวิตที่แท้จริง คือความรู้สึกตัว…แค่นั้น

ถ้าเราสงสัย เราจะหลุดจากชีวิตที่แท้จริง เรากลายเป็นคนขึ้นมา

เราสงสัย เพราะเราอยากจะได้สิ่งที่มันดีกว่าปัจจุบัน เราไม่แน่ใจ เรากลัวจะผิด อะไรอย่างนี้ มันมีเบื้องหลังหลายอย่าง

เพราะฉะนั้น ความสงสัยจะพาเราไปเกิดอะไรหลายอย่าง ให้เรารู้ทันว่าตอนนี้เรากำลังสงสัยแล้ว แล้วเราก็รู้ทันว่า อ้อ เราสงสัย แล้วกลับมารู้สึกตัว

 

ตอนที่ 9 ไม่เอาอะไรเลย

ท่านพุทธทาสบอกว่า การปฎิบัติธรรมคือการไม่เอาอะไรเลยในชีวิต

เพราะฉะนั้น เราปฎิบัติธรรมไม่ได้เอาความรู้เหมือนกัน ไม่ได้เอาถูกเอาผิด เอาแค่เข้าถึงสภาพที่แท้จริงของชีวิตเฉยๆ ชีวิตนี้เป็นสมมติเหมือนกัน

ผมเคยบอกว่าเราปฎิบัติธรรม “ไม่ใช่เพื่อจะมีชีวิตอิสระ แต่เพื่อเป็นอิสระจากชีวิตอีกทีนึง

ถ้าเราเป็นอิสระจากชีวิตอันนี้ได้ เราก็เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ เราก็ไม่ต้องตะเกียกตะกายโหยหา ไม่เป็นทาสของกิเลสตัณหา แล้วก็สบายไม่ทุกข์

เคยฟังท่านเขมานันทะเล่าว่า จักรพรรดิจีนให้นักปราชญ์ไปเขียนอารยธรรมของมนุษย์มาหน่อยว่า มนุษย์ที่มีอารยธรรมมายาวนานนี้สรุปลงได้ว่าอะไร?

(ไม่รู้ว่าเรื่องจริงรึเปล่า) นักปราชน์จีนก็เขียนไว้สั้นๆเองว่า อารยธรรมของมนุษย์คือ ชีวิตที่เต็มไปด้วยตัณหา แล้วก็ดิ้นรนที่จะพ้นทุกข์ แล้วก็ตาย…แค่นั้น

ชีวิตเรามีแค่นั้น!! สั้นๆแต่สะเทือนใจ

 

ตอนที่ 10 ชีวิตที่ประเสริฐ

เราเกิดมา ที่เรียกว่า เรามีชีวิตอันประเสริฐ ….

แต่เรายังประเสริฐไม่ได้ ถ้าชีวิตเราอยู่ภายใต้ตัณหา อยู่ภายใต้ราคะ อยู่ภายใต้ความเพลิดเพลินกับสิ่งในโลก เราไม่ต่างจากสัตว์ทั่วไป เราประเสริฐไม่ได้ เราแค่มีอำนาจมากกว่ามันเฉยๆ แต่จิตใจเราไม่ต่างกับมัน…เท่ากัน

แต่มนุษย์มีศักยภาพที่จะเป็นผู้ประเสริฐได้จริงๆ หลุดพ้นได้จริงๆ ซึ่งต่างจากสัตว์ตรงนี้

ตอนนี้เรามาถึงตรงนี้ได้ก็ถือว่าประเสริฐพอสมควรแล้ว อย่างเสาร์ อาทิตย์จะหาคนใช้เวลามาฟังธรรม เข้าวัดหาครูบาอาจารย์ ตั้งใจปฎิบัติธรรม…ไม่ค่อยจะมี ดูเพื่อนเรากันเองก็ได้จะมีสักกี่คน

อย่างเราแชร์ Facebook ถ้าเราแชร์ว่าเราไปเที่ยว เราไปกินอาหารอิตาเลี่ยน เพื่อนจะมา Like ประมาณ 100 คน แต่ถ้าเราแชร์คลิปธรรมะ Camouflage จะได้ 2 Like

ท่านเขมานันทะเคยพูดประโยคอันหนึ่งก็ดีมาก บอกว่าคนเรานี้ ถ้ามันไม่ซาบซึ้งในธรรมะ มันต้องไปซาบซึ้งในโลกแน่ๆ คำว่าซาบซึ้งในโลก ก็คือหลงโลก

จิตใจเราถ้าไม่สนใจเรื่องธรรมะ มันก็สนใจแต่โลก

โลกก็คือกิเลส กิเลสก็จะสร้างความทุกข์ในที่สุด

 

ตอนที่ 11 มงคลชีวิต

วันก่อนส่งเรื่องมงคลชีวิตให้กลุ่มผู้ปฏิบัติธรรม อันนี้เป็นหลักง่ายๆ ที่ให้เราตรวจตราตัวเองว่า ชีวิตเรามันมีมงคลซักกี่ข้อ

ข้อแรกเลย จงอย่าเข้าไปเป็นพวกกับคนโง่เขลา จงทำความสนิทสนมกับบัณฑิต ข้อต่อมา จงศึกษาทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งไม่ประกอบด้วยโทษ, จงมีนิพพานที่มุ่งหมายของจิตอยู่เสมอ, จงซักซ้อมสนทนาธรรม, จงอย่าโศกเศร้า ทำได้มั๊ยอย่าโศกเศร้า, จงอย่ากำหนัด แปลง่ายๆอย่าอยากนั่นแหละ ความอยากนี่แหละพาให้เราไปเป็นทุกข์ ข้อสุดท้าย จงปกติ

เพราะฉะนั้น ปกติเป็นสิ่งเดียวที่จะทำให้เราอยู่ในทางที่สมบูรณ์ที่สุด

ความอยากนี่ก็พาเราไปสู่ความทุกข์ได้ทุกสถานการณ์ไม่ว่าเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่

สมมติเราอยากไปวัดแต่ไปไม่ได้ ทุกข์แล้วใช่มั๊ย เราอยากปฎิบัติธรรม แต่ที่บ้านไม่เห็นด้วย เราก็ต้องทุกข์อีกเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ความอยากอันนี้เป็น ไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี เป็นทุกข์ทั้งหมด

พระพุทธเจ้าสอนให้เราอยู่เหนือสิ่งทั้งสอง ทั้งดีและชั่ว พอเราอยู่เหนือดีและชั่ว เราจะเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่าง

แล้วเราจะเห็นความเป็นเช่นนั้นเองของสิ่งต่างๆในโลก

เวลากระทบผัสสะ มันก็ไม่มีใครทุกข์ มันก็รู้ อ้อ…เป็นอย่างนี้

ก็เป็นอย่างนี้ไปทั้งชีวิต มันก็ไม่ทุกข์

ตอนที่ 12 อิสระจากความกลัว

ตอนนี้ทุกคนมีชีวิตที่สมบูรณ์ มีชีวิตที่สบาย มีชีวิตที่ปลอดภัย เพราะทุกคนมีทุกสิ่งทุกอย่างพร้อม เราคิดว่าอันนี้ดีแล้ว

แต่เรายังไม่เคยมีชีวิตที่ไม่มีอะไร ถ้าเราไม่มีเงิน ไม่มีรถ ไม่มีสิ่งของในครอบครองอะไรเลย เราจะได้ความรู้สึกสบายอีกอย่างหนึ่ง เราจะปลดเปลื้องพันธนาการที่มันเคยอยู่กับเรา แม้ว่าสิ่งนั้นมันจะดีก็ตาม

เราลองคิดดูว่า สมมติเราเป็นพระ เราเป็นแม่ชี เราคิดว่าเราจะบวชตลอดชีวิต ใจเราก็ทิ้งทุกอย่างที่เราสร้างมาทั้งหมดแล้ว เราจะเป็นอิสระขนาดไหน

ชีวิตเรา…เราจะพ้นจากความกลัวที่เราไม่มี ทุกวันนี้ทุกคนกลัวไม่มีเงิน เรามีเยอะ เรามีพอใช้ เรามีเท่าไหร่ก็ตาม เหล่านั้นมันเหมือนฝ้าบางๆ ที่เราคิดว่าเราโอเคแล้ว แต่ในความเป็นจริงเราลองไม่มีเราจะกลัวมาก เราจะรู้สึกว่าชีวิตเราไม่ปลอดภัย เราจะรู้สึกว่าเราอยู่ไม่ได้ ถ้าไม่มีแบบนี้ที่เรามีอยู่

เพราะฉะนั้น อันนี้เป็นพันธนาการที่มันดี แต่มันเป็นพันธนาการที่เหมือนกับหลอกเราอยู่เหมือนกัน

พระพุทธเจ้าก็เคยพูดบอกว่า ถ้าเราไม่มีสิ่งใดในครอบครอง เราจะได้พบกับ “ความอิสระ”…อิสระจากความกลัวอีกทีนึง

ความกลัวนี้ที่มันเกิดขึ้นเพราะ “เรามีตัวตน”…เรารักตัวเอง

เรารักตัวเอง เราก็เลยปกป้องตัวเอง ต้องมีอย่างนั้นต้องมีอย่างนี้ ต้องจัดการ (Cover) ทุกอย่างให้อยู่ในความควบคุม (Control) ของเราได้ พอเราจัดการ (Cover) ไม่ได้เราก็ทุกข์

ตอนที่ 13 เนื้อนาบุญ

แต่ถ้าวันนึง เราไม่ต้องมีอะไรเลย ชีวิตมีแต่หน้าที่อย่างเดียว เช่น เป็นพระ เป็นแม่ชี มีหน้าที่ทุกวัน มีหน้าที่ที่จะต้องทำตามข้อวัตรปฎิบัติ

หน้าที่ของพระ ของแม่ชี เป็นหน้าที่ที่มีคุณค่ามาก เพราะเป็นหน้าที่ที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์ เป็นเหมือนการสืบต่อศาสนา เป็นเหมือนความร่มเย็นที่คนเห็นพระเห็นแม่ชีที่ปฎิบัติดีอยู่ในข้อวัตรปฎิบัติ จิตใจก็จะอ่อนโยน จิตใจก็เป็นกุศล

เราใช้คำว่า “เนื้อนาบุญ”…บางคนก็บอกว่าต้องใช้กับพระอริยะอย่างเดียว แต่ความเห็นผมถ้าเราปฎิบัติดีแล้ว เราเป็นเนื้อนาบุญเหมือนกัน เราทำหน้าที่เป็นหน้าที่เรียกว่าเป็นลูกพระพุทธเจ้า

เพราะฉะนั้น ในเพศของพระของชีอันนี้ เป็นหน้าที่อันยิ่งใหญ่ เราเป็นเหมือนตัวแทนของพระพุทธเจ้า

พระอยู่ที่วัดนี่เหมือนกับว่าเป็นคนนั่งรอ เมื่อไหร่ที่คนมีทุกข์ยังมีทางนี้อยู่ ยังมีคนทางนี้อยู่จะช่วย แค่เดินเข้ามาก็พอ แต่ถ้าไม่มีพระเลย สมมติพระไปอยู่ในบ้านหมด เค้าจะรู้ได้ไงว่าจะหาใคร ต้องมีคนบอกว่าให้ไปหาที่นั่นๆ ใช่มั๊ย?

เพราะฉะนั้น พระ แม่ชีมีหน้าที่สำคัญแสดงตัวพร้อมจะช่วยเหลือ ทุกคนที่มีทุกข์

 

ตอนที่ 14 หน้าที่แห่งปัญญา

คนในโลกสมัยนี้ก็ไม่เข้าใจบทบาทของพระ บทบาทของแม่ชี เค้าคิดว่าก็อยู่วัดสบาย เป็นแม่ชีสบาย ไม่ต้องทำอะไร เพราะเค้าไม่รู้ว่าหน้าที่ที่สำคัญของพระกับแม่ชีอยู่ตรงไหน

แต่จริงๆพระ…จะเรียกว่าสมณะแล้วกันรวมทั้งหญิงและชาย มีหน้าที่สำคัญที่สุดก็คือ “ฝึกตัวเอง” ฝึกจนถึงวันนึงก็จะรู้ว่าตัวเองก็มีหน้าที่ที่จะช่วยคนอื่นต่อ แต่หน้าที่แบบนี้ไม่ใช่หน้าที่แห่งความทะยานอยากจะไปช่วยเค้า

อันนี้เป็นหน้าที่แห่งปัญญา เป็นหน้าที่ของ “ความเหมาะสมของเวลา” เรียกว่ากาละ กาล สถานที่ บุคคล เหล่านี้พร้อม ช่วยได้ก็ช่วย ช่วยไม่ได้ก็ไม่ต้องช่วย เราไม่ใช่ว่าช่วยดะแบบนั้น

เราต้องรู้จักภาชนะด้วย ภาชนะมันรับได้มั๊ย ภาชนะมันรับไม่ได้นี่ หลวงปู่มั่นเคยพูดบอกว่าให้ธรรมะคนที่รับไม่ได้ เหมือนกับว่าเอาน้ำกะละมังนึงสาดเทใส่หลังหมา หมามันก็สะบัดปุ๊บๆทิ้ง…แป๊ปเดียวหายหมด เสียดายน้ำ

เพราะฉะนั้น ธรรมะไม่ใช่เป็นเรื่องของการที่จะไปเร่ขายให้ใคร เป็นเรื่องของคนที่พร้อมแล้ว แล้วก็รับฟัง คนเค้าถึงจะพร้อมสอน ที่บอกว่านักเรียนพร้อมอาจารย์ถึงจะปรากฎได้ ถ้านักเรียนไม่พร้อมอาจารย์ก็ไม่ปรากฎเหมือนกัน ต่อให้อยู่ต่อหน้าก็ไม่ปรากฎ เพราะไม่สอน…ไม่รู้จะพูดทำไม

 

ตอนที่ 15 ความรักที่แท้จริง

ช่วงนี้เรื่องความรักมีเยอะ มีผู้หญิงคนนึงโทรมาบอกว่า ตัวเองนี่ไปชอบผู้ชายคนนึง ผู้หญิงก็มีสามีแล้วด้วย ผู้ชายก็มีเมียแล้วด้วย ผู้หญิงชอบผู้ชายคนนี้แต่เด็กๆ แล้วไม่ได้เจอกันอีกเลย จนวันหนึ่งมาเจอกัน

ผู้หญิงแก่แล้วด้วยอายุ 50 ปี ไม่เคยคิดว่าชีวิตจะไปชอบอะไรผู้ชายได้อีก มันเลยจุดนั้นมาเนิ่นนานนมนานมาแล้ว

แต่วันนึงก็เจอผู้ชายคนนี้ แล้วก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ก็คุยกันนุ๊งนิ้งๆ ด้วยความชอบเดิมอยู่แล้ว

ผู้ชายมีเมียสองคนแปลว่าอะไร…เจ้าชู้มาก คารมดีมาก อะไรแบบนี้ เลยติดและชอบ

ทีนี้ก็เป็นทุกข์มาก อยู่ในสภาวะแบบนี้ ตัวเองก็มีแล้ว เค้าก็มีแล้ว แถมมีเยอะด้วย

สาเหตุเพราะอะไร???

เพราะจิตใจนี้มันไม่มีหลักยึด มันไม่มีศีล

ศีลนี่มาจากภาษาบาลี คือ ศิลา

ศิลานี่มันหนักแน่น มันแข็งแกร่ง มันไม่ให้อะไรมาโดนอะไรทำลายง่ายๆ แต่เพราะคนมันไม่มีศีล

กิเลส ตัณหา ราคะ นี่มันเข้ามาในใจมันลากไปเลยทีเดียว พอมันลากไปแล้วลงไปแล้วมันขึ้นยากแล้ว

จิตใจนี่ก็วนเวียนอยู่ในความคิด ของกิเลส ตัณหา ราคะ แบบนั้น ชีวิตก็มีแต่ความทุกข์อย่างเดียว

จนวันนึงผู้หญิงคนนี้ก็เข้าใจว่า สิ่งที่เค้าหลงทั้งหมดไปกับผู้ชายคนนี้ ที่เค้าคิดว่านี่เป็นความรัก วันนึงเค้าตาสว่างขึ้นมา เค้าเลยรู้ว่าทั้งหมดที่เกิดขึ้นอันนี้เป็นความใคร่ไม่ใช่ความรัก

ความใคร่คือ Sex ล้วนๆ Sex นี่ก็เป็นสิ่งที่เป็นเบื้องหลังของการที่ทำให้คนคนนึงทำได้ทุกอย่าง ต่อให้จะผิดยังไงก็ตาม

เพราะฉะนั้น เราทุกคนที่มีคู่ หรือกำลังจะมีคู่ หรือไม่มีคู่ก็ตาม เราต้องเข้าใจความรักกับความใคร่ให้ดี

ความรักที่แท้จริงคือ “ความเมตตา” มันคือการให้ อยากจะเห็นอีกคนหนึ่งมีความสุข โดยที่ไม่ได้มีเงื่อนไขว่าเราจะต้องได้อะไร เหมือนที่กำลังพูดอยู่ให้คน 20 คนฟังอยู่นี้ ถ้าจะพูดเป็นภาษามันก็เป็นความรักก็ได้ ไม่ได้หวังอะไร

แต่ความใคร่นี้มันประกอบด้วย กิเลส ตัณหา ประกอบด้วยเงื่อนไขมากมาย ทำเพื่อจะได้อะไรบางอย่าง แล้วสุดท้ายมันก็สร้างทุกข์ให้เราในที่สุด เพราะว่าอะไร…เพราะว่าชีวิตเราถูกไฟแห่งกิเลส ตัณหา ราคะ มันเผาลนอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่เราได้ จะเป็นความสุขไม่ได้

เหมือนโค้กกินเฮือกแรกก็สดชื่น แต่ทุกคนรู้ว่ามันมีโทษเยอะกับร่างกาย แต่เราก็ชอบกินโค้ก เพราะฉะนั้น มันเป็นความสุขที่เหมือนลูกอมอาบยาพิษ จริงๆแล้วมันเป็นพิษ

ความรักนั้นไม่ใช่เฉพาะเป็นคู่หนุ่มสาวเท่านั้น เหมือนพ่อแม่ลูกก็เป็นความรักเหมือนกัน ต้องเป็นความรักที่แท้จริงเหมือนกัน

ถ้าเราไม่มีความรักที่แท้จริง เราจะตั้งความหวังกับอีกฝ่ายตลอด

ถ้าทุกคนรู้หน้าที่ เราจะรู้จักความพอดี รู้จักความรักที่แท้จริง

เพราะฉะนั้น ในมุมของความรัก พวกเราต้องเข้าใจให้ถูก เราอย่าไปเข้าใจในมุมของความใคร่…มันไม่ใช่

ตอนที่ 16 กัลยาณมิตร

พระพุทธเจ้าเคยพูดว่า พระพุทธเจ้าก็มีความรักให้คนทั้งโลก ไม่อย่างนั้นเมื่อตรัสรู้แล้วจะไม่เดินไปทั่ว เพื่อจะไปสอนคน พระพุทธเจ้าก็มีหน้าที่เหมือนกัน พอรู้แล้วอันนี้ต้องบอกคนอื่น

ดูอย่างในหนังพระศาสดาโลก ตอนที่พระพุทธเจ้ากลับไปที่เมือง ตอนนั้นพระนางยโสธรายังเรียกพระพุทธเจ้าว่าสิทธัตถะอยู่

พระนางบอกว่า สิทธัตถะจะทิ้งเรากับลูกเราไปเหรอ

พระพุทธเจ้าบอกว่า จะให้ความเศร้าใจของคนสองคนเป็นอุปสรรคขวางกั้นความตื่นรู้ของคนทั้งโลกเหรอ

พระพุทธเจ้าบอกว่า พระพุทธเจ้านี่เป็นสมบัติของโลกไปแล้ว ไม่ใช่ของยโสธรากับราหุลแค่นั้น

เพราะฉะนั้น ความรู้ที่พระพุทธเจ้ามีนี้ยิ่งใหญ่มาก จนพระพุทธเจ้าต้องสละตัวเองเป็นของคนทั้งโลก

ทุกวันนี้เราเป็นคนดี เราอยากจะช่วยโลก เราช่วยแบบนี้คือ “ช่วยตัวเองก่อน

ช่วยตัวเองแล้ว อย่าให้ตัวเองเป็นอุปสรรคกับคนอื่น เหมือนที่นางยโสธราเสียสละ พระราหุลเสียสละ ท่านเสียสละตัวเองเหมือนกัน ที่จะไม่เป็นอุปสรรคต่อเจ้าชายสิทธัตถะที่จะไปช่วยโลก หรือแม้กระทั่งเสียสละที่จะให้เจ้าชายสิทธัตถะออกบวชจนวันนึงตื่นขึ้นมา

พระพุทธเจ้าบอกว่าเป็นหนี้บุญคุณครั้งใหญ่กับความอดทนของพระนางยโสธรา ที่ให้พระพุทธเจ้าออกไปจนตรัสรู้ขึ้นมา อันนี้เป็น “กัลยาณมิตร”

กัลยาณมิตรไม่คิดถึงตัวเอง ไม่เอาประโยชน์เข้าตัวเอง อันนี้เป็น “ความรัก

เพราะฉะนั้น มันเป็นสิ่งสำคัญมาก พวกเราทุกคน…นอกจากเราจะต้องฝึกตัวเองแล้ว เราจะต้องไม่เป็นอุปสรรคกับคนอื่นด้วย

เมื่อไหร่ที่เราเป็นอุปสรรคกับคนอื่น ในแง่นึงเรากำลังสร้างกรรม

สมมติว่าคนนี้ควรจะเป็นพระอรหันต์อยู่อีกห้าวัน แล้วเราก็ไปขวางมันไว้ ไปดึงมันไว้ แล้วก็ไปทำอะไรมันไว้ คิดในแง่ของกรรมนี้เราจะรับกรรมขนาดไหน?

 

ตอนที่ 17 ชีวิตแบบซอมบี้

ชีวิตพวกเราที่อยู่สุขสบายทุกวันนี้ เราอย่าไปคิดว่าชีวิตข้างหน้าเราจะเป็นแบบนี้ คนในโลกที่เศรษฐีในโลกนี่ เจ๊งเยอะจากการทำธุรกิจ

พระพุทธเจ้าสอนเราเรื่อง “อนิจจัง” ไม่แน่ ไม่มีอะไรแน่

ถ้าตอนนี้เรามั่นใจอะไรเต็มๆอยู่ ให้เผื่อใจเอาไว้บ้าง อะไรจะเกิดขึ้นก็ได้

ถ้าวันนึงที่อะไรมันเกิดขึ้น แล้วจิตใจเราไม่มีภูมิต้านทานเลย ลองคิดดูชีวิตเราจะเป็นยังไง…ที่ชีวิตเราไม่มีอะไรเลย

ชีวิตที่ไม่มีอะไรเลยโดยที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนเลย มันน่ากลัวมาก จากเคยมีอะไรแล้วไม่มีอะไร

ไม่ต้องเอาทรัพย์สมบัติที่เรากำลังมีอยู่หรอก เอาแค่แฟนทิ้งก็พอ เคยเจอทุกวัน…ถ้าไม่เจอเลยจะเป็นอย่างไร เรื่องเล็กๆน้อยๆนี่เป็นความทุกข์มหาศาล

เพราะฉะนั้น อันตรายมันมีอยู่รอบตัวเรา ความทุกข์มันมีอยู่รอบตัวเราตลอดเวลา ถ้าเราคงยัง “ประมาท” เรายังคงไม่เห็น “คุณค่าของเวลา” ที่เรากำลังมีอยู่ตอนนี้ ชีวิตเราก็เหมือน “ผีดิบ” (ซอมบี้) เราเคลื่อนไหวได้แต่ไม่มีชีวิต

ชีวิตที่เราวันๆคิดแต่เรื่องกิเลส ทำตามใจกิเลส ทำตามใจตัวเอง ชีวิตแบบนี้ไม่ต่างกับหมาแมวก็เท่ากัน

คนที่มีชีวิตตามกิเลส ใช้ชีวิตตามกิเลส มันต่างกับหมาแมวตรงแค่ว่ามันหาได้มากกว่ามันเท่านั้นเอง

เรามีเงิน มีรถ มีความสามารถ เราก็หาได้มากกว่ามันแค่นั้นเอง แต่พื้นฐานของจิตใจเราเท่ากับมัน!!

 

ตอนที่ 18 ละบาป

ชีวิตเราที่อยู่ในการปฎิบัติธรรมแล้ว เราควรที่จะระแวดระวังการทำกรรมไม่ดี

เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเริ่มปฎิบัติธรรม แล้วจิตใจเราเริ่มละเอียดขึ้น กรรมไม่ดีต่างๆที่เราเคยทำ ที่เราเคยรู้สึกว่าไม่เป็นไร…สุดท้ายแล้วมันจะกลับมาทำให้เราละอายใจทีหลัง

เพราะว่าคนที่ปฎิบัติธรรมจนถึงระดับนึงแล้ว “หิริโอตัปปะ” นี่มันเกิดขึ้นในใจเรา

หิริโอตัปปะคือ ความละอายชั่วกลัวบาป คุณธรรมนี้มันเกิดขึ้นในใจเรา เดี๋ยวสัญญาเก่าๆที่เราเคยทำไม่ดีมันจะกลับมา

มันเหมือนของสะอาดมากๆ มันเหมือนเราอยู่บ้านสะอาดมากๆ แล้ววันนึงคนเอาขยะเทในบ้านเรา เรากลับมาจะรู้สึกเหม็นมาก มันจะสร้างความทุกข์ให้เราในที่สุด

แต่ถ้าเราสกปรกอยู่แล้ว เราก็สกปรกแบบเดิม มันก็ไม่รู้สึกอะไรใช่มั๊ย? มันก็เท่ากัน

เราอยู่บนเส้นทางแห่งการถอดถอนมิจฉาทิฏฐิ เส้นทางแห่งความถอดถอนความเป็นตัวเป็นตน จิตใจเราจะละเอียดขึ้น ละเอียดขึ้น

เพราะฉะนั้น เราเลือกที่จะอยู่บนเส้นทางนี้แล้ว เราอย่าทำสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่ให้ทำ พระพุทธเจ้าสอนเราตั้งแต่ข้อแรก คือ “ละบาป” ไม่ใช่ทำดีเป็นข้อแรกนะ

ละบาปก่อนแล้วค่อยบำเพ็ญบุญ แล้วก็ทำจิตใจให้มันผ่องแผ้ว

ถ้าข้อแรกเรายังทำไม่ได้ เราจะเดินไปไหนได้อย่างไร? เราไปไหนไม่ได้ ต้องทำข้อแรกให้ได้
Camouflage

31-May-2016

 

ถอดไฟล์เสียงจาก YouTube : https://youtu.be/Wm9pP3lBjGc

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของคุณ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c