23.เริ่มที่นี่…จบที่นี่

 

ตอนที่ 1 เริ่มที่ “สัมมาทิฏฐิ”

สัมมาทิฏฐิเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าพูดว่า เป็นเหมือนรอยเท้าช้างที่สัมมาที่เหลือจะลงมารวมกัน

ถ้ามีสัมมาทิฏฐิแล้ว สัมมาที่เหลือนี้มันเกิดเอง มันเป็นผลเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าเราไปทำมันนะ อย่างสัมมาสังกัปปะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ อะไรพวกนี้

คือพอเรามีสัมมาทิฐิ เราจะพูด จะคิด จะทำ “มันพูดคิดทำอยู่บนความว่าง บนความไม่มีตัวตน

เพราะฉะนั้น การพูด คิด ทำของเรามันก็เลยเป็นสัมมาตลอดสาย เพราะมันเริ่มจากสัมมาทิฏฐิไปแล้ว

พอเรามีสัมมาทิฏฐิ เราเห็นอะไรๆในโลก เราก็เข้าใจว่า อ๋อ…สัจธรรมในโลกนี้เป็นแบบนี้ มันตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ มันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา คุมไม่ได้ การเห็นแบบนี้มันเลยเป็น “การเห็นจริง

แต่ถ้าเราไม่ได้เริ่มจากสัมมาทิฏฐิก่อน เราก็ใช้ตัวใช้ตนไปเห็น…ถามว่าเห็นเหมือนกันมั๊ย ที่ผมบอก มันก็เห็นเหมือนกัน แต่มันเห็นไม่ถูก “มันรู้ แต่มันไม่เห็น” มันเป็นอย่างนี้ครูบาอาจารย์เลยไม่รู้จะใช้คำศัพท์ว่ายังงัยดี มันพูดว่ามันเห็น แต่สิ่งที่มันเห็น มันไม่ได้เริ่มจากสิ่งที่มันถูก

เพราะฉะนั้นจะเป็นสัมมาทิฏฐิได้อย่างไร? มันต้องเข้ามาเห็นจิตที่มันว่างนี้ก่อน เข้ามาเห็นสภาพเดิมแท้ เข้ามาเห็นสภาพปกติ รู้จักมันก่อน นี่แหละ…สัมมาทิฏฐิเกิดแล้วนึงขณะ

แล้วถ้าเราคิด พูด ทำอยู่บนพื้นฐานของความเป็นปกติ ความว่างได้ อริยมรรคเริ่มเกิดขึ้นแล้ว เริ่มดำเนินแล้ว เริ่มพัฒนาแล้ว มันถึงจะเกิดได้

 

ตอนที่ 2 ย่ำอยู่ที่ “สัมมาทิฏฐิ”

เรามีหน้าที่เข้าใจสภาพ สภาวะที่มันมีอยู่แล้ว สภาพสภาวะดั้งเดิม หรือที่เค้าเรียกว่าจิตเดิมแท้ ที่มันมีอยู่แล้ว พยายามรู้จักมัน เห็นมัน สัมผัสมันบ่อยๆ จนมันเป็นพื้นฐานของจิตใจ แล้วเราอยู่ในชีวิตประจำวัน เราคิด พูด ทำการงานอะไรก็ตาม มันเป็น “สัมมาตลอดสาย

พอเรามีข้อแรกที่มันถูกต้อง อย่างอื่นมันก็อัตโนมัติเป็นธรรมชาติของมันเอง ถ้าเราจะใช้สัมมาทิฐิเป็นตัวอธิบายการปฎิบัติธรรม มันก็จบที่สัมมาทิฐิเลย

เราไปเข้าใจว่ามันต้องฝึกหลายอย่างงัย เราคิดว่าการปฎิบัติธรรมนี้เป็นขั้นๆ อย่างหลวงปู่ดูลย์ หรือแม้กระทั่งฮวงโปเคยพูดเอาไว้ว่า การปฎิบัติธรรมมันไม่ใช่การปฎิบัติเป็นขั้นๆแล้วบรรลุธรรม ไม่ใช่แบบนั้น หมายความว่า มันไม่ใช่เรื่องเป็นขั้นเป็นตอน คือพอเรามีสัมมาทิฏฐิ ปุ๊บเนี่ย…มันถึงเลยครบทุกอย่าง มันไม่ต้องไปไหนต่อแล้วจริงๆแล้ว

แต่สิ่งที่เราไปไหนต่อมันหมายความว่า เราก็เดินอยู่ในทางนี้แหละ…ทางของสัมมาทิฏฐิ จริงๆมันย่ำอยู่กับสัมมาทิฐิเฉยๆ มันย่ำอยู่กับสัมมาทิฏฐิแหละ มันไม่ได้ไปไหน มันถึงแล้ว

แต่หมายความว่า ถึงตรงนั้นนี่ มันคล้ายๆว่ามันถึงแบบไม่ขาดสะบั้น มันถึงแบบไม่สมบูรณ์ เราก็มีหน้าที่ย่ำจนมันสมบูรณ์นั่นแหละ

คนโบราณเค้าปลูกข้าวก็ย่ำข้าวเปลือก เหมือนเราโม่แป้ง คนโม่แป้งก็โม่อยู่ตรงนั้นแหละ ก็โม่หมุนอยู่ตรงนั้น นึกออกมั๊ย มันไม่ได้ไปไหนซะหน่อย มันก็อยู่ตรงนั้นของมันนั่นแหละ แป้งก็ออกมาเป็นผงให้กินได้ ข้าวเราก็เหยียบๆๆจนเมล็ดมันแตกออกแตกออก มันก็ไม่ได้ไปไหน มันก็อยู่ตรงนั้นนั่นแหละ

คำว่า Keep going Keep walking คืออะไร? คืออยู่ที่เดิมแหละ แต่ทำให้มันต่อเนื่อง มันไม่ได้มีการว่าจะต้องไปทำอย่างนี้ต่อ ไปทำอย่างนั้นต่อ มันไม่ใช่ อันนี้ทำอย่างเดียว

ถ้าคนปฎิบัติธรรมเข้าใจอริยมรรคให้ถูกแบบนี้นะ จะปฎิบัติธรรมง่าย จะไม่ต้องรู้สึกซับซ้อน ไม่ต้องรู้สึกว่าการปฎิบัติธรรมนี้เป็นเรื่องยากเลย จะไม่รู้สึกแบบนั้นเลย

 

ตอนที่ 3 เริ่มที่นี่…จบที่นี่

มันเป็นจุดเริ่มต้น แล้วก็เป็น “จุดเดียว” นี่แหละที่จะต้อง “เดิน

ตั้งแต่แรกที่ผมบอกว่า นักปฎิบัติเราส่วนใหญ่ไปเข้าใจว่า เราต้องฝึกสติ ฝึกสมาธิ จนมีปัญญา แต่สิ่งที่ผมพูดวันนี้ ผมบอกว่าสิ่งเหล่านั้น “เป็นผล” หมดเลย เราไม่ได้ฝึกมัน

แต่เรา “มีหน้าที่เข้าใจสัจธรรมสูงสุด” เข้าใจสัจธรรมสูงสุดอันนี้ก็เพียงพอแล้ว เข้าใจสภาพเดิมแท้นี้ เข้าใจสภาพไม่เกิด ไม่ดับนี้ เข้าใจสภาวะที่มันมีอยู่แล้วนี้ แล้วพอเราเข้าใจตัวนี้ได้ สิ่งอื่นๆจะเกิดขึ้นเอง ตามมาเอง

จิตใจเราปกติอยู่ เราว่างอยู่ เราทำร้ายคนอื่นได้มั๊ย? ไม่ได้ใช่มั๊ย เราจะคิดไม่ดีกับคนอื่นได้มั๊ย? ไม่ได้ใช่มั๊ย ศีลเกิดมั๊ย? เกิดแล้วอัตโนมัติ ครบหมดเลยในขณะเดียวที่เราเห็นความเป็นปกติ ที่จิตมันเป็นปกติอันนี้

เดี๋ยวอารมณ์อะไรผ่านเข้ามาในจิตใจเรา ปึ๊บ เราก็สามารถเห็นมันเฉยๆได้ เพราะเรายังมีสังโยชน์อยู่ เรายังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ กิเลสยังต้องมีโผล่มาแว๊บๆมาให้เรา มันมาปึ๊บเราก็เห็นมันเฉยๆ แล้วเดี๋ยวมันก็ผ่านไป

เราจะเข้าใจว่า อ๋อ…มันเป็นแบบนี้ มันผ่านมาแล้วก็ผ่านไป มันเกิดแล้วมันก็ดับ มันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เราเข้าใจได้ยังไง? ก็เพราะเรามีจิตที่เป็นปกตินี้ เรามีจิตที่มันว่างเป็นพื้นฐาน เรามีจิตที่เป็นสัมมาทิฏฐิ

เพราะฉะนั้น “มันเริ่มที่ตรงนี้ และก็จบที่ตรงนี้นี่แหละ มันไม่ได้ไปไหน

 

ตอนที่ 4 เข้าไปในใจ หรือเข้าสมอง

สิ่งต่างๆที่มันเกิดมาเป็นขบวนปึ๊บๆๆ  จนเรามีความรู้ว่า อ๋อ…สิ่งในโลกเป็นไตรลักษณ์เป็นแบบนี้ สิ่งเหล่านี้จะรู้ด้วยใจ เพราะการที่เราเห็นมันเฉยๆ บนพื้นฐานของความว่าง เราเห็นสภาวะต่างๆเฉยๆ เห็นมันเฉยๆ ได้ยินเฉยๆแล้ว สภาวะนั้นความรู้สึกที่จิตเข้าไปเห็นนั้น มันเป็นความบริสุทธิ์ มันจะเกิดความเข้าใจ คือ “เข้าไปในใจ” นี้เลย

แต่ถ้าเรายังไม่มีสภาพว่างนี้อยู่ เราก็มีตัวตน ถูกมั๊ย? จิตที่เราไม่ปกติเราก็มีตัวตน เราไปเห็นมัน มันก็เปรียบเสมือนว่าเรามีกำแพงของตัวตนขวางกั้นสภาพความจริงที่เราเห็น เช่น ไตรลักษณ์

ความเป็นตัวตนนี้มันขึ้นมาขวางกั้น แทนที่ความเข้าใจนี้จะแทงทะลุเข้ามาที่ใจได้ แต่มันโดนกำแพงของตัวตนนี่มาขวางกั้น เพราะฉะนั้นความรู้นี้เข้าที่ไหน? มันเข้าสมองแทน เพราะว่าความเป็นตัวตนมันรับข้อมูลนี้เข้าไปแทน

มันเลย “เข้าไปไม่ถึงใจ” พอมันเข้าไปไม่ถึงใจ ผมเลยถามว่ามันเข้าใจไตรลักษณ์มั๊ย? เข้าใจ แต่มันเข้าใจที่ “สมอง”ไม่ใช่เข้าไปใน “ใจ” จริงๆ…มันไม่เหมือนกัน

 

ตอนที่ 5 มันเป็นเอง

ข้อมูลต่างๆที่เรารับมา ในการปฎิบัติธรรม ไม่ว่าจะเป็นอริยมรรคมีองค์ 8 ไม่ว่าจะเป็นปฎิจจสมุปบาท ไม่ว่าจะเป็นไตรลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นอิทัปปัจจยตา เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี ไม่ว่าจะเป็นเกิดดับ

ถามว่าสิ่งเหล่านี้ เราไปทำอะไรกับมันรึเปล่า?…เราไม่ได้ทำอะไร เราไปสร้างอะไรกับมัน เราไปฝึกเพื่อจะเห็นรึเปล่า?…เปล่าเลย…มันเห็นเอง มันเป็นไปเองหมดทุกอย่าง

เพราะฉะนั้น มันเริ่มจากที่เดียว…เรามีหน้าที่แหวกเมฆหมอก และค้นพบดวงจันทร์

ดวงจันทร์นี้มีอยู่แล้ว เราค้นพบมัน รู้จักมัน จนเราเป็นนึงเดียวกับมัน แล้วเราจะเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างในโลก และเหนือโลกได้หมดทุกอย่าง

แล้วองค์ความรู้ต่างๆ หรือแม้กระทั่งองค์คุณธรรมที่มันจะทำให้เกิดการบรรลุธรรมได้ มันเป็นเอง มันมาเอง มันสะสมเอง มันอยู่ในทางเอง

 

ตอนที่ 6 ธรรมชาติขัดเกลา

เปรียบเสมือนเราโม่แป้งอย่างที่ผมบอก หรือเราเหยียบข้าวเปลือกรวงข้าว เราเหยียบอยู่กับที่ เราโม่แป้ง เราก็หมุนอยู่กับที่ แต่กระบวนการกว่าจะออกมาเป็นแป้ง ข้างในนั้นเป็นธรรมชาติของกระบวนการนั้นใช่มั๊ย ?

ผมไม่ต้องอธิบายว่า เพราะว่าหินก้อนนี้เบียดกับก้อนนี้ เกิดแรงแบบนี้ ด้วยอัตตาเร่งแบบนี้ มันถึงออกมาเป็นแป้งแบบนี้ หรือเมล็ดข้าวแบบนี้ ด้วยการเหยียบแบบนี้

ธรรมชาติขัดเกลา ธรรมชาติดำเนินของมันเอง จนผลมันก็ออกมา แป้งก็ออกมา เมล็ดข้าวเปลือกก็หลุดออกมา เราไม่ได้มีหน้าที่จะต้องไปเพิ่มเติมอะไรมากกว่าจุดเริ่มต้น ซึ่งเป็นจุดเดียวด้วย ไม่ต้องไปไหนมากกว่านี้

การที่เราจะไปไหนมากกว่านี้ เช่น อยากจะรู้ชัด อันนี้เป็นปัญหาแล้ว เพราะว่ามันเคยได้ยินมาว่ารู้ชัด หรือมันเคยรู้สึกว่าเมื่อก่อนรู้ชัด มันอยากจะรู้ชัด…ทีนี้ปัญหาอยู่ที่ไหน? ปัญหาไม่ใช่ชัดกับไม่ชัด ปัญหาคือมีความอยาก แล้วก็ทุกข์เพราะความอยาก

ธรรมชาตินี้มันจะขัดเกลา ธรรมชาตินี้มันจะเป็นไปของมันเอง

 

ตอนที่ 7 วิปัสสนา

เราเข้าใจธรรมชาติ เข้าใจสัจธรรม เราเรียนรู้และเข้าใจมัน แล้วระหว่างทางเราก็ต้องให้ธรรมชาติเป็นคนจัดการ ไม่ใช่เราไปจัดการ ถ้าเราไปจัดการมันไม่ใช่ธรรมชาติแล้ว เรากำลังไปฝืนธรรมชาติบางอย่าง

คำว่าวิปัสสนา มันคือการเข้าใจสภาพที่มีอยู่แล้วนี้ เห็นสภาพที่มีอยู่แล้วนี้ แล้วพอเราเข้าใจ เราก็เห็นและก็สัมผัสสภาพที่มีอยู่แล้วนี้

วิปัสสนานี้จะไปเข้าใจ สัมผัสและก็เห็นสภาพในโลกได้จริง แล้วเราจะเข้าใจสัจธรรม 2สิ่ง คือ สัจธรรมเหนือโลก และสัจธรรมในโลก อันนี้แหละวิปัสสนา ไม่ใช่แค่เห็นไตรลักษณ์

แต่ถ้าเรายังไม่เห็นสัจธรรมที่มีอยู่แล้วอันนี้ สภาพที่ไม่เกิดไม่ดับ แล้วเราไปเห็นไตรลักษณ์และเราบอกว่าเราวิปัสสนา…ไม่ใช่ !! เราจะวิปัสสนาได้ยังไง เรายังมีตัวมีตนอยู่เต็มๆ จะวิปัสสนายังไง…

 

Camouflage

27-May-2016

 

ถอดไฟล์เสียงจาก YouTube : https://youtu.be/5qtnnDHBzs8

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของคุณ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c