20.สมอเรือ

 

ตอนที่ 1 เวลาดีตี 4

ตอนตี 4 เป็นเวลาก่อนรุ่งสาง ไม่ใช่เวลาธรรมดา มันเป็นเวลาที่สัตว์ต่างๆหลับใหลอยู่เหมือนกัน เรียกว่าสิ่งมีชีวิตทั้งหลายนั้นหลับใหลอยู่ พอมันหลับใหลอยู่ สิ่งแวดล้อมมันจะเป็นพลัง (Energy) ของความสงบ จิตเราก็สงบง่ายๆ มันจะเข้าสู่ความเป็นปกติง่ายๆ นี่คือในแง่ของสิ่งแวดล้อม

แต่ในแง่ของตัวเราเอง ยิ่งเราตื่นเช้าเท่าไหร่ จิตใจจะไม่มีความกังวลไปถึงในอนาคตอีกไม่กี่ชั่วโมงว่าเดี๋ยวจะต้องไปทำนี่ ต้องไปทำนั่น มันจะไกลจากกันเยอะ เราเลยไม่ต้องกังวล จิตนี้จะไม่ค่อยกังวล

แต่สมมุติถ้าเราตื่น เช่น 6 โมง จวนจะถึงเวลาที่บางทีเราต้องไปทำโน่นทำนี่แล้ว พอถึงตี 5:45 เราเริ่มกังวลแล้ว เดี๋ยวเสร็จนี่ต้องไปทำนี่ทำโน่น มันจะเกิดความกังวลขึ้น

แต่ถ้าเราตื่นตี 4 ถึงตี 5 ระหว่างตี 5 ถึง 6โมงยังไม่มีอะไร ยังไม่ต้องไปกังวลอะไร ยังเหลือเวลาอีกเยอะ เพราะฉะนั้นที่เรามีเวลาชั่วโมงนึงนี่มันจะเต็มเต็ม มันจะไม่มีความกังวลเข้ามาด้วย อันนี้เป็นแง่ของตัวเราเอง

เพราะฉะนั้นทั้ง 2 แง่นี้ผนวกกัน เราจะได้รับประสิทธิภาพ100% มันเลยเป็นเวลาที่ดี ถ้าเราทำได้มันเป็นเวลาที่ดี

การสวดมนต์ก็เป็นอุบายเหมือนกัน ที่จะทำให้จิตใจนี้รวมลงสู่ความเป็นปกติ

 

ตอนที่ 2 ประเด็นสำคัญ…ไม่ใช่ความสุข

ผมเคยอธิบายแบบนี้กับหลายคนว่า ที่ผมพูด ปกติๆๆ บ่อยๆนี้ พูดบ่อยเพราะมันสำคัญมาก

เราลองไปดูว่าตั้งแต่เราเกิดมา หรือดูในชีวิตประจำวันของเรานี้ก็ได้ ตั้งแต่เป็นเด็กก็เดินชนโต๊ะ เปรี้ยง…ร้องไห้ แม่ก็ตีโต๊ะ บอกว่า “นี่แม่ตีให้แล้ว” เด็กก็ดีใจ ทำไมแม่ต้องทำอย่างนั้น? เพราะว่าอยากให้ลูกกลับมาเป็นปกติ อยากให้ลูกหยุดร้องไห้ คือจิตใจกลับมาเป็นปกติ

เวลาเพื่อนเราอกหัก เพื่อนเราเสียใจ เราก็เข้าไปปลอบใจเพื่อน พูดโน่น พูดนี่ พูดนั่น สารพัดสารเพ หาคำพูดมากมายมา เราทำทุกอย่างเพื่อให้เพื่อนกลับมาเป็นปกติ

เราอยู่ในโลกเราก็รู้สึกทุกข์ เราอยากจะหาความสงบจิตสงบใจบ้าง ก็ไปหาหนังสือธรรมะ แล้วเราก็ปกติขึ้น

เหล่านี้ทั้งหมดที่เรากำลังทำอยู่ เพื่อเราจะได้กลับไปเป็นปกติ แล้วเราจะรู้สึกมีความสุข เพราะฉะนั้นประเด็นสำคัญ (Point) คือไม่ใช่ความสุข

ประเด็นสำคัญ (Point) คืออะไร? …คือ “ความปกติ

 

ตอนที่ 3 กลับไปสู่ความเป็นปกติ

พวกเราทำทุกอย่างตั้งแต่เด็กจนโตจนถึงทุกวันนี้ เพื่อจะได้รับความเป็นปกตินี้แหละ แล้วเราจะได้มีความสุข

แต่เราไม่รู้ เราไม่ได้สนใจมัน แม้กระทั่งคำสอน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พระพุทธเจ้าสอนสิ่งเหล่านี้ให้คนเข้าใจว่าโลกเป็นแบบนี้ โลกนี้มันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันเป็นอนัตตา พระพุทธเจ้าสอนให้เรารู้ว่า ธรรมชาติเป็นแบบนั้น เราจะได้ปล่อยวาง ให้รู้ว่าเราทำอะไรไม่ได้ มันเป็นแบบนี้นะ ถ้าเราอยู่ในโลก

พอคนไปศึกษา คนไปฟังเรื่องแบบนี้ เค้าก็ปลงลง คนทุกข์อยู่ก็เริ่มปลง พอเราเข้าใจว่า อ๋อ พระพุทธเจ้าที่เป็นศาสดาของโลก ท่านบอกไว้แบบนี้ เราก็เริ่มยอมรับความจริงใช่มั๊ย เรายอมรับความจริงแล้วเราเป็นอย่างไร? ปกติใช่มั๊ย?

เพราะฉะนั้น คำสอนทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นคำสอนแนวจิตวิทยา ที่ให้มองโลกแง่ดี แม้กระทั่งคำสอนไตรลักษณ์ มันรวมลงไปที่ให้ทุกคนกลับมาสู่ความเป็นปกติ แล้วจะได้มีความสุข

แต่การที่จะพัฒนาไปสู่ความเป็นปกติ โดยสมบูรณ์100% ไม่กระเพื่อมหวั่นไหวอีกแล้ว พระพุทธเจ้ามีทางที่จะบอกให้เราทำ บอกให้เราเดินตาม แต่เราไม่สนใจสิ่งที่เราควานหามาทั้งชีวิต มันมีแค่นี้เอง

 

ตอนที่ 4 ไม่ต้องสร้างตัวตน

ถ้าโลกนี้เข้าใจแบบนี้ ก็ไม่ต้องมีใครทะเลาะกันแล้ว นักปฎิบัติก็ไม่ต้องทุกข์แล้ว

ผมเห็นนักปฎิบัติเยอะแยะทุกข์ ปฎิบัติไปก็ทุกข์  ทุกข์เรื่อย ทุกข์ไม่หยุดเลย เพราะเค้าปฎิบัติไม่ถูก เค้าไม่เข้าใจว่าปฎิบัติไปเพื่ออะไร? เป้าหมายในการปฎิบัติคืออะไร? เราต้องเห็นอะไร? เราต้องรู้อะไร? เราต้องรู้จักอะไรกันแน่ !

เรามัวแต่ไปคิดปรุง (Create) อย่างโน้น อย่างนี้ อย่างนั้นขึ้นมา เรากำลังสร้างตัวตนใหม่ขึ้นมาตลอด เราไม่ได้เห็นเฉยๆ ไม่ได้ค้นพบความจริง เรากำลังสร้างตัวตนใหม่ๆ ตัวตนของนักปฎิบัติ ตัวตนของคนที่ต้องดูขรึม ดูมีภูมิธรรม ดูเป็นนักปฎิบัติ…ไม่ใช่แบบนั้น

ในเวลาที่เราไม่สบายมากๆ แล้วเราจะปฎิบัติธรรมอย่างไร?

ในความเป็นจริงแล้วที่ผมบอกว่า นาทีทองของนักปฏิบัติธรรมคือเวลาที่เราปกติอยู่ เพราะฉะนั้น เราต้องใช้ช่วงเวลานี้ฝึกปฎิบัติธรรม ฝึกให้เห็นความเป็นปกตินี้ไว้ จนวันนึงความเป็นปกติมันเป็นพื้นฐาน เป็นรากฐานของจิตใจ แล้วเมื่อความทุกข์มันเข้ามา จิตใจมันก็ยังเป็นปกติอยู่ มันมีความทุกข์ แต่ว่าจิตใจนี้ ไม่มีปัญหา ไม่ผิดปกติ แม้ว่าร่างกายนี้จะเป็นทุกข์ก็ตาม

 

ตอนที่ 5 ไม่ต้องทำอะไร

คนเราจะไปทำทางสายกลางเลยมันทำไม่ได้ สายกลางมันเกิดขึ้นจากที่เราไปซ้ายหน่อย ไปขวาเยอะ มันค่อยๆปรับเอง จนมันมาอยู่ตรงกลาง

ความที่มันอยู่ตรงกลางนี้คือ “มันเป็นเองแล้ว” มันกลางได้ “เพราะไม่ได้ทำอะไร

ถ้ามันยังมีทำอะไรหน่อย ก็แปลว่ามันยังเหลือเพ่งนิดนึง มันยังเหลืออะไรหน่อยนึง เค้าเรียกว่ามันยังไม่กลางพอดี

แต่พอมันเป็นเอง…คำว่า “เป็นเอง” คือ ออโต้ (Auto) คือ ไม่มีการกระทำ ไม่มีการกระทำมันก็ต้องอยู่ตรงกลาง เพราะมันไม่มีเบี่ยงแบนเลย ซ้ายขวาไม่มี เพราะมันไม่มีใครทำอะไร เป็นธรรมชาติ

แต่ในช่วงที่ยังต้องมีการทำอยู่ มันก็เลยต้องมีนิดนึง นิดหน่อยคล้ายๆว่าหาสมดุล มันจะเรียนรู้ มันจะหาสมดุลของมันเอง

“การปฎิบัติธรรมในที่สุด มันไม่ได้ทำอะไร”

 

ตอนที่ 6 หนักแน่นดั่งสมือเรือใหญ่

ถ้าเราปฎิบัติธรรมไปเรื่อยๆ ในช่วงแรกนี้เหมือนเราต้องปฎิบัติธรรม เหมือนเราจะต้องมีการทำอะไรบางอย่าง เช่น เรารู้สึกว่า เราจะต้องหมั่นคอยรู้สึกตัว เราจะต้องหมั่นคอยเช็คอารมณ์ว่าปกติอยู่มั๊ย เราจะต้องหมั่นคอยเดินจงกรม นั่งสมาธิ

แต่พอถึงวันนึงที่ความปกติมันกลายเป็นเหมือนผิวหนังเราแล้ว มันเป็นเลือด เป็นเนื้อเราไปแล้ว เราไม่ต้องทำอะไรแล้ว มันเป็นเองของมัน มันเป็นแบบนั้น

เพราะฉะนั้น เวลามีการกระทบ หรือมีความทุกข์อะไรเข้ามา จิตใจที่มันหนักแน่นจะเปรียบเสมือนเรือที่มันมีสมอเรือใหญ่ๆ เมื่อก่อนเรามีสมอเรือเล็กๆ ลมพัดมาตู้ม…เรือก็คว่ำเลย ก็เหมือนเราเป็นทุกข์มากๆ เราก็สู้ไม่ได้ ปฎิบัติธรรมไม่ได้

แต่พอเราฝึกมากๆๆ จนทุกอย่างเป็นเอง มันเป็นเลือด เป็นเนื้อ เป็นชีวิตเราไปแล้ว มันก็เหมือนว่าเรามีสมอเรือใหญ่ๆที่มันถ่วงเรือนี้ไว้อยู่ มันก็ไม่มีอะไรทำเรือคว่ำได้ ทำไม่ได้แล้ว

 

ตอนที่ 7 จริงๆแล้ว มันไม่ทุกข์

ผมถึงบอกว่าการปฎิบัติธรรมในช่วงนาทีทองที่แต่ละคนมีอยู่เป็นสิ่งจำเป็นมาก เราต้องคว้านาทีทองนี้เอาไว้

พอเราคว้านาทีทองนี้เอาไว้ เราฝึกมันจนมันเป็นฐาน เป็นเลือด เป็นเนื้อ เป็นขีวิตเรา แล้วความทุกข์อะไรเข้ามา มันก็ทำอะไรเราไม่ได้ เราไม่ต้องรู้สึกด้วยว่าเราจะต้องจัดการกับความทุกข์อะไร เพราะจริงๆแล้ว…มันไม่ทุกข์

ร่างกายไม่สบาย แม้ว่าหน้าเราจะบูดเบี้ยวกับเวทนาทางร่างกาย แต่จิตใจที่เหมือนสมอเรือ มันหนักแน่น มันปกติอยู่ มันไม่ทุกข์ไปกับสภาพของร่างกายที่ต้องรับทุกขเวทนาจากโรคภัย จากอะไรก็ตาม มันไม่กระเทือนไปกับมันด้วย

เพราะฉะนั้น คำถามว่า ถ้าเราไม่สบายเราจะทำอย่างไร? ในความเป็นจริง คือเราไม่ได้ทำอะไร เพราะว่าเรามีฐานของความปกติ

 

ตอนที่ 8 ถ้าไม่ฝึกภาวนา ตอนจะตายจะเป็นอย่างไร?

ถ้าเราไม่เคยฝึกมาเลย เวลาไม่สบายเราจะทำอย่างไร?

เหมือนคนกำลังจมน้ำ แต่ไม่เคยฝึกว่ายน้ำ ถามว่าจะทำอะไรได้? …ทำอะไรไม่ได้ ก็ไม่เคยฝึกว่ายน้ำก็ต้องจมน้ำ

เหมือนคนที่บอกว่า ตอนใกล้จะตายเค้าบอกให้ท่องพุทโธๆๆเอาไว้…เอาจริงๆนะ ตอนใกล้จะตาย มันมีปัญญาท่องพุทโธๆๆ หรอ นึกถึงพระ นึกถึงวัด นึกถึงบุญที่ตัวเองเคยทำมา…มันยังทำไม่ได้เลย จิตก็เบลอแล้ว มันคล้ายๆ จิตนี้ทำงานเองเลย ตัวเองควบคุมอะไรไม่ได้เลย

แล้วถ้าจิตมีนิสัยที่คิดเรื่องไม่ดี ทำแต่กรรมไม่ดี ทำอะไรพวกนี้นะ มันก็ไปตามกระแส (Flow) นั้นเลย…จะให้มา แหม…ก่อนตายจะพุทโธ นึกถึงพระอรหันต์ มันเป็นไปไม่ได้ มันจะโดนความมืดนี้ลากไปเลย ตามกรรมที่ตัวเองเคยทำมา เคยสะสมมา อันนี้เป็นธรรมชาติ ธรรมชาติเป็นแบบนั้น

เพราะฉะนั้น ถ้าเราสะสมแต่ปัญญา สะสมแต่ความว่าง ความเป็นปกตินี้ไว้ จิตนี้มันก็เป็นปกติ อันนี้เป็นธรรมชาติเหมือนกัน

เพราะฉะนั้น เรามีหน้าที่ฝึก แล้วทุกอย่างหรือจะมีอะไรจะเกิดขึ้น…เราก็ไม่ต้องทำอะไร…มันเป็นเอง

 

Camouflage

3-May-2016

 

ถอดไฟล์เสียงจาก YouTube : https://youtu.be/DhnyH3PwDeU

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของคุณ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c