2.ประตูสู่พุทธะ

ตอนที่ 1 จุดร่วมคำสอน

จริงๆแล้วแต่ละองค์ก็มีจุดร่วม สิ่งที่เป็นจุดร่วมของแต่ละองค์ก็คือ จุดที่เรามีสติ(รู้สึกตัว) นั่นแหละ

พอเรามีสติ มันพ้นออกจากโลกของความคิด ในขณะนั้นก็มีความเป็นปกตินิดนึงแล้ว พอเราชำเลืองมอง ทำงานทำการอะไรไปก็แวบมาดูจิตเป็นยังไง จังหวะที่เราชำเลืองมองดูจิตเรา อันนี้นี่แหละคือสติ ก็คือรู้สึกตัวแล้ว จิตมันก็ว่าง

การชำเลืองมอง การเช็คอารมณ์ว่าเป็นอย่างไร ดูจิตปกติมั๊ย อันนี้เป็นสิ่งเดียวกันหมด ในระหว่างที่เราทำสิ่งนี้ เราก็หลุดออกจากความคิดแล้ว

ลองสังเกตดู ถ้าเราจะดูจิตตัวเอง เราต้องรู้สึกตัว พรึ่บ ขึ้นมาเลยทันที ถึงจะดูจิตตัวเองได้ ไม่อย่างนั้นจะดูไม่ได้

(ในขณะที่ดูนี้ก็เป็นแค่แวบเดียว แต่ถึงจะเป็นแค่แวบเดียว) มันก็จะสะสม เหมือนที่เคยบอกว่าเป็นเกล็ดน้ำตาลเล็กๆ จึงต้องชำเลืองมองทั้งวัน ดูบ่อยๆ บ่อยเท่าไร…เท่าที่ดูได้

เพราะในจิตแต่ละคนมีระดับการฝึกมาไม่เท่ากัน คนที่ฝึกมาบ่อยก็เห็นได้ต่อเนื่อง อีกคนนึงเพิ่งเริ่มก็เห็นได้แวบๆ ได้นานๆที ก็เป็นธรรมดาเพราะมันสะสมมาไม่เท่ากัน

ทั้งหมดนี้ก็เป็นจุดเดียวกัน ลองสังเกตคำสอนของครูบาอาจารย์ ถ้าเราตัดบางคำพูด บางองค์ชอบใช้คำศัพท์นี้ บางองค์ไม่ชอบใช้คำศัพท์นี้แต่ทุกองค์จะมารวมเหมือนกันตรงที่ให้พ้นจากโลกของความคิด ก็คือ“ความรู้สึกตัว” นี่แหละ

 

ตอนที่ 2 พุทธะคืออะไร?

จุดนี้แหละมันจะพัฒนาไป มันพัฒนาจากความรู้สึกตัว พอพัฒนาจากตรงนี้แล้ว บางองค์ก็มองไปมุมไตรลักษณ์ บางองค์ก็มองไปมุมของความว่าง ให้พัฒนาจุดนี้ให้เห็นมันเอาไว้ ให้เห็นมันอยู่บ่อยๆจนเห็นมันตลอด เพราะว่าความหมายสั้นๆของพุทธะก็คือ “การพ้นไปจากความปรุงแต่งทั้งปวง” นี่แหละ เรียกว่าเป็นพุทธะแล้ว

เพราะฉะนั้นการเห็นความเป็นปกติอยู่นี้สำคัญที่สุด เพราะในพุทธะนั้นไม่มีอะไร มันไม่มีอนิจจัง ไม่มีทุกขัง ไม่มีอนัตตาด้วย แต่จะว่าไม่มีก็ไม่ใช่อีก  เพราะอนัตตาก็คือไม่มีคน ในพุทธะก็ไม่มีคน มันเป็นคำศัพท์ เป็นคำศัพท์เฉยๆ

เมื่อไรที่เรารู้สึกตัวนั้น ความเป็นปกติได้เกิดขึ้นแล้วแต่มันเล็กๆ เราก็หมั่นที่จะรู้สึกตัวบ่อยๆ จิตก็จะไม่ค่อยสนใจกับความปรุงแต่งเท่าไร เพราะมันรู้ว่าความปรุงแต่งมันเป็นเหมือนความมืด มันจะรู้สึกมัวๆ รู้สึกอึมครึม มันทำให้เป็นทุกข์ได้ มันเป็นคำเปรียบเทียบ สมมติเวลาทุกข์ มันจะรู้สึกขมุกขมัว มันเป็นความรู้สึกแต่มันไม่ได้เห็นขมุกขมัวนั้นนะ มันรู้สึกว่ามันไม่โปร่งโล่ง

ในความเป็นพุทธะนั้นไม่มีความสว่างหรือมืดหรอกในความเป็นจริง ความว่างมันก็อยู่อย่างนั้นของมันนั่นแหละ ไม่มีสว่างไม่มีมืด “มันเป็นภาวะนึงที่ไม่มีอะไร ปกติ ราบเรียบ ไม่มีขึ้นไม่มีลง” ไม่ใช่ว่ามันสว่างหรือมันมืด

แต่ก่อนก็ฟังไม่รู้เรื่องหรอกคำว่าเต็มโลกธาตุ ก็คือเมื่อไหร่ที่เข้าถึงความว่าง เป็นหนึ่งเดียวกับความว่าง นั้นแหละคือ “เต็มโลกธาตุ ไม่มีไปไม่มีมา

ในพุทธะไม่มีสว่างไม่มีมืด มันเป็นอย่างงั้นของมัน ดวงอาทิตย์เกิดขึ้นมันก็สว่าง เพราะมันอยู่ในทุกสิ่ง ทุกสิ่งมันเป็นหนึ่งเดียวกันได้อย่างไร…มันเป็นหนึ่งเดียวกันบนความว่างนี้แหละ รูปนามหมุนอยู่ต่อเนื่องตลอดเวลา สิ่งของต้องแก่ต้องเก่าก็เพราะมันมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มันเป็นของมันแบบนั้นแต่ทุกอย่างก็หมุนอยู่บนความว่างนี้แหละ

พอเราเข้าถึงความว่าง “ทุกอย่างเลยเป็นเอกภาพเดียวกัน”เพราะมันเป็นหนึ่งเดียวกัน เพียงแต่ว่าสิ่งต่างๆที่ตั้งอยู่บนความว่างมันเป็นเหมือนอาการ เป็นเหมือนต้นไม้ที่มีกิ่ง มีใบ ถ้าถามว่าทั้งหมดคืออะไร ทั้งหมดก็คือต้นไม้ แต่เราจะเรียกอันนี้ว่าใบ เรียกอันนี้ว่ากิ่ง เรียกอันนี้ว่าราก แต่จริงๆมันคือต้นไม้…ความว่างก็เหมือนกัน

 

ตอนที่ 3 ปล่อยสภาวธรรม ไม่ใช่ปล่อยพุทธะ

สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นมันเป็นอาการ แต่ตอนนี้อาจจะยังไม่ต้องเข้าใจแบบนั้นก่อน คือมันต้องรู้จักความว่างก่อน อย่างเช่นที่หลวงพ่อเทียนสอนว่า “รู้จำ รู้จัก รู้แจ้ง รู้จริง

รู้จำ ก็คือตอนนี้ได้ยินได้ฟังก็จำเอาไว้ก่อน

รู้จัก คือเห็นเองเช่น สมมติเห็นความว่างนี้แล้ว

รู้แจ้ง คือเห็นเหมือนเดิมนี่แหละ แต่ว่าเห็นมันเข้มข้นขึ้น เห็นมันจนรู้จักทุกแง่ทุกมุม

รู้จริง ก็คือรู้แน่นอนแล้ว ชัวร์ ไม่มีพลาดแล้ว สิ่งที่รู้นี้รู้จริงๆแน่นอน ไม่มีใครจะมาโกหกได้หรือหลอกเราได้อีกแล้ว

ในการปฏิบัติธรรมนั้น เรารู้สิ่งๆเดียวแต่มันลึกซึ้งขึ้น มากขึ้น มากขึ้น มากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งนั้นก็คือ“ความว่าง” นี่แหละ

การที่เรามุ่งจะเห็นสิ่งต่างๆเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เราจะเห็นตรงนั้นได้ เราต้องเริ่มฝึกจากความรู้สึกตัว พอเรารู้สึกตัว เราเห็นสภาวะโกรธเกิดขึ้น เราก็มีสติ ขณะนั้นเรารู้สึกตัว เราแวบออกมาจากความโกรธได้หน่อยนึง นั่นคือเราพ้นจากความปรุงแต่งได้นิดนึงแล้ว

แต่แทนที่เราจะอยู่กับความปกติ ความรู้สึกตัวตรงนี้ที่เราออกมาจากความโกรธได้แล้ว คนที่จิตยังไม่ตั้งมั่นพอ ยังไม่เป็นกลางกับความโกรธนั้น บังเอิญความโกรธไม่ได้ดับ กลายเป็นเลยไปมองมันว่าเมื่อไหร่มันจะดับ ทำไมมันไม่ดับ ก็ไหนเค้าบอกกันว่ามันต้องเกิดแล้วดับ

จุดนี้แหละทำให้คำสอนที่บอกให้มองถึงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันเลยเป็นจุดที่ทำให้คนหลงไปติดกับสภาวธรรมนั้นๆ แล้วแทนที่จะหลุดออกมา กลับจมเข้าไปในนั้น ทำให้ติดอยู่ตรงนั้นเสียเวลา

แทนที่เราจะปล่อยสภาวะความโกรธนั้น แม้ว่ามันจะไม่ดับก็ตาม เพราะว่ามันคือความปรุงแต่ง มันเกิดขึ้นจากความปรุงแต่ง แต่เราไปดูมัน แทนที่เราจะปล่อยมันไปแล้วกลับมารู้สึกตัวเพราะความรู้สึกตัวนี้มันบริสุทธิ์ในความรู้สึกตัวมันไม่มีความหมาย เราให้ความหมายกับความรู้สึกตัวไม่ได้เลย เพราะมันคือพุทธะ

ในพุทธะมันพ้นจากความปรุงแต่ง พ้นจากบัญญัติทั้งหลาย แทนที่เราจะอยู่กับความรู้สึกตัวนี้ “เรากลับไปอยู่ในสภาวธรรม เท่ากับว่าเราก็ปล่อยพุทธะไปแล้ว

ในความเป็นจริงจะพ้นอย่างไร?   วิธีก็คือต้องรู้สึกตัว

ชำเลือง”การชำเลืองนั้นก็คือการรู้สึกตัวนั่นแหละ การชำเลืองก็ต้องรู้สึกตัว ถ้าไม่รู้สึกตัวจะชำเลืองได้อย่างไร มันต้องรู้สึกตัว มันต้อง … กึ้ง! … รู้สึกขึ้นมาก่อน มันถึงจะชำเลืองได้ ถ้าอยู่ในความคิดแล้วจะชำเลืองก็เป็นไปไม่ได้ มันเหมือนจมอยู่ในน้ำจะให้มองบนบกได้อย่างไร

จะต้องเข้าใจว่า หลวงพ่อแต่ละองค์จะมีคำศัพท์ของตัวเองที่ไม่เหมือนกัน แต่รวมลงแล้วอย่าลืมประเด็นสำคัญ รวมลงแล้วคือความรู้สึกตัวนี่แหละ เราปฏิบัติทุกวันนี้เพื่อจะเข้าถึงความเป็นพุทธะ ฉะนั้นต้องรู้ก่อนว่าพุทธะคืออะไร พุทธะคือสภาวะที่พ้นออกจากความปรุงแต่งทั้งปวง จะทำอย่างไรก็ได้ให้พ้นจากความปรุงแต่งทั้งปวง แต่มันมีแค่ทางเดียวนี้แหละ ก็คือ “รู้สึกตัว” ไม่มีทางอื่น

ในขณะที่รู้สึกตัว เราก็ชำเลืองมอง ดู สังเกต รู้จักสภาวะแห่งความรู้สึกตัวนั้นมันเป็นอย่างไร มันไม่มีความคิด มันโล่ง มันเบา มันเรียบๆ ไม่ขึ้นไม่ลง อย่างนี้แหละเราก็จะได้รู้จักว่าความเป็นพุทธะหรือความรู้สึกตัวนี้มันเป็นอย่างไร แล้วพอเรารู้จักมันเรื่อยๆ มันก็จะเปลี่ยนจากรู้จำเป็นรู้จัก พอรู้จักมากขึ้นก็เป็นรู้แจ้ง รู้เยอะ รู้ต่อเนื่อง จนรู้ถาวร…ก็รู้จริง

 

ตอนที่ 4 สภาวะที่แท้จริงของตัวเองคืออะไรกันแน่?

ในการเห็นสภาวะนั้นเปรียบเหมือนเราอยู่บนฝั่ง สมมติว่าเราอยู่บนฝั่งนี้ปลอดภัยแล้ว เราก็เห็นสิ่งต่างๆนี้ลอยไป มันลอยมาแล้วก็ลอยไป มันลอยมาแล้วก็ลอยไป แต่ถ้าถามว่าสภาวะที่แท้จริงของตัวเอง ณ ตอนนั้นใช่การเห็นสิ่งเหล่านั้นลอยมาแล้วลอยไปรึเปล่า… ไม่ใช่

แต่สภาวะตัวเองคือ นั่งบนบกอยู่ “ปกติอยู่” ปลอดภัยแล้ว อันนี้ต่างหากเป็นสิ่งที่ต้องรู้จัก ต้องรู้จักว่าอย่ากระโดดลงไปในนั้นนะ อย่ากระโดดลงไปในน้ำนะ ไม่อย่างงั้นมันเปียก พอมันรู้จักว่าสภาวะบนบกมันแห้ง สบายดี ไม่มีอะไร ปลอดภัย ไม่ต้องกระโดดให้เปียก สกปรก แล้วเรื่องอะไรมันจะกระโดด ใช่มั๊ย เหมือนมันมีความโกรธเกิดขึ้น มันก็ไม่โง่เข้าไปในนั้นแล้ว ก็มันรู้แล้วว่ามันทุกข์ ก็สภาวะตอนนี้ก็สบายดีหนิ ทำไมจะต้องเข้าไปในนั้น เพราะว่า “จิตมันคุ้นเคยแล้ว

คล้ายๆเหมือนเราโตขึ้นมาอยู่ในบ้านที่สะอาด แล้วพอวันนึงมีคนพาให้ไปอยู่สลัม เราก็ไม่อยู่ ใช่มั๊ย เพราะมันชินกับความสะอาดแล้ว แต่ถ้าวันนึงเราอยู่สลัมอยู่แล้วก็มีคนลากให้ออกมาถนนใหญ่หน่อย เราก็ตกใจ อุ้ย!ถนนใหญ่ ไม่เอาอ่ะ แล้วก็วิ่งไปอยู่ในสลัมเหมือนเดิม เพราะว่าเรายังไม่รู้จักดี เรายังไม่รู้จักว่าที่ถนนใหญ่นั้นสะอาดกว่านะ แต่ถ้าเรารู้จักว่ามันสะอาดกว่านะ เราก็ไม่เอาสลัมแล้ว มันก็เป็นแบบนั้น

ถ้าจิตมันคุ้นเคยกับสิ่งที่ดีกว่า มันไม่เอาสิ่งนั้นเอง คือพอมีจิตที่ตั้งมั่นเป็นกลางแล้ว มันอยู่ในความปกติแล้ว แล้วก็จะเห็นสิ่งในโลกเป็นแบบนั้นเฉยๆ “เห็นนะมันไม่ใช่คิด”มันเป็นสภาวะของการเห็น อ๋ออันนี้เกิดปึ๊บเห็นปึ๊บ พอเห็นสภาวะนี้เกิดปึ๊บ ก็ดับปั๊บ ก็ผ่านไปเลยจบ ไม่ได้เข้าไปคิดต่อว่า อ้อ…ทุกสิ่งเกิดแล้วดับ ไม่ใช่เป็นแบบนั้น หรือไม่ใช่ไปติดอยู่ด้วย ก็เหมือนเห็นอะไรผ่านมาแล้วก็ผ่านไปเลย ผ่านมาแล้วก็ผ่านไปเลย มันไม่ได้ติดอะไรเลย

ถ้าเราได้รู้จักความเป็นปกตินี้อยู่เป็นส่วนใหญ่ของชีวิตแล้ว เวลาตายก็อาจจะตกกระไดพลอยโจนก็ได้ ในขณะที่จิตดวงสุดท้าย พอดีมันปกติ มันไม่ได้จับอะไร มันก็อยู่กับความว่างนี้ มันก็อัตโนมัตินิพพานเลย ไม่จำเป็นต้องเป็นพระอรหันต์ก็ได้ ก็ไม่เกิดแล้ว นี่แหละที่ท่านพุทธทาสชอบพูดเรื่องตกกระไดพลอยโจนคือแบบนี้ แต่หมายความว่าเรา“ต้องรู้จักความเป็นปกตินี้อยู่เป็นพื้นฐานแล้ว

 

ตอนที่ 5 ความสุขที่แท้จริง

ชีวิตที่ผ่านมามันมีแต่ความดิ้นรนของจิตตลอด มันไม่เคยมีสภาวะของจิตที่ราบเรียบ เป็นปกติ ไม่มีความต้องการอะไร ไม่มีความอยากได้อะไร มันเต็ม มันอิ่ม มันมีความสุขที่ราบเรียบ ไม่ใช่ขึ้นๆ สูงๆ มันเหมือนมีความสุขหล่อเลี้ยงแล้วทำให้มันพอ

เหมือนเวลาเรากินข้าวแล้วอิ่ม สบายอยู่ในห้องแอร์ ไม่มีความอยากจะไปเที่ยวไหนเพราะมันมีความสุขอยู่แล้ว  มันจะเป็นสภาวะแบบนั้น สภาวะแบบนี้แหละคือมันเป็นความเป็นปกติอยู่ มันไม่มีความดิ้นรน ตอนนั้นที่ผมพูดได้คำเดียวชัดๆเลยคือ “จิตไม่มีความดิ้นรนแล้ว” ในสภาวะนั้น

แต่ในขณะที่เรายังอยู่ในสภาวะเดิมๆนี้ มันจะเป็นจิตที่ เดี๋ยวแป๊บๆก็จะทำอะไรดี จะหาอะไรทำ เบื่อ ไปทำนี่ ทำโน่น คิดจะไปทำนี่ คิดจะไปทำโน่น คิดจะ…คิดจะ…อยู่ตลอดเวลา แทบจะอยู่นิ่งไม่ได้

 

ตอนที่ 6 รู้แล้วผ่านเลย

หลวงพ่อเทียนเคยพูดกับท่านเขมานันทะ ท่านเขมานันทะในสมัยที่เป็นพระท่านเทศน์เก่ง ท่านเทศน์ให้นักศึกษาฟัง แล้วมีประโยคนึงเทศน์ว่าให้อยู่กับปัจจุบัน พอเทศน์เสร็จหลวงพ่อเทียนบอกว่า “อยู่กับปัจจุบันนี้ก็ติดอยู่ ให้พ้นไปจากปัจจุบัน” คำสอนนี้ลึกซึ้งมาก

การอยู่กับปัจจุบันนี้ บางคนไปอยู่กับปัจจุบัน จนเลยไป ไปอยู่กับอดีตแล้ว เหมือนกับเห็นโกรธเกิดขึ้นแล้วก็ติดเลย นั่นแหละ เรียกว่าอยู่กับปัจจุบันแบบติดแล้ว มันไม่ได้พ้นออกไปจากปัจจุบัน

การอยู่กับปัจจุบันแบบพ้นไปนี้ คำศัพท์อีกคำหนึ่งของหลวงพ่อเทียนคือ “รู้แล้วผ่านเลย” คำนี้สำคัญมาก รู้แล้วผ่านเลย ผ่านไปไหน ปล่อยมันผ่านไปแล้วกลับมาอยู่กับความรู้สึกตัว นี่…ความเป็นพุทธะก็เกิดขึ้นอีกแล้ว เห็นมันอยู่

 

ตอนที่ 7 มุ่งสร้างเหตุ ไม่ใช่สร้างผล

เพราะฉะนั้นจุดสำคัญก็คือการอยู่กับความรู้สึกตัว แล้วรู้จักความเป็นพุทธะนี้เอาไว้ รู้จักสภาพสภาวะนี้ไว้ ความเป็นปกตินี่แหละ

จิตตั้งมั่นและเป็นกลางนี้ ก็คือการที่เราเข้าถึงพุทธะไปแล้ว คือความเป็นปกติอยู่

จิตจะตั้งมั่นได้ จิตนั้นต้องมีความเป็นปกติอย่างต่อเนื่อง มันถึงจะมีสมาธิแบบตั้งมั่น ได้

ตอนนั้นเราได้เข้าถึงความเป็นพุทธะก่อนแล้ว เราถึงค่อยเห็นอันนั้น(ไตรลักษณ์)พอเห็นเราก็มีการมาสรุปว่า อ้อสภาวะใดๆที่เกิดจากจิตนี่ล้วนเกิดแล้วดับ ล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นคำสอนจากจิตคือพุทธะนั่นแหละ เป็นคำสอนจากการที่เราได้รู้จักพุทธะแล้ว

แต่เรามุ่งที่จะไปดูผล(มุ่งไปดูไตรลักษณ์) เราไม่มุ่งที่จะอยู่กับเหตุที่เราจะเห็นผลนั้น มันเลยเป็นปัญหาทุกวันนี้

คนที่มีจิตตั้งมั่นแล้ว มันก็มีความเป็นปกติอยู่แล้วแบบ 80-90%ของชีวิต เพราะฉะนั้นอะไรเกิดขึ้นก็เห็นมันอยู่ภายใต้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอัตโนมัติเลย

 

Camouflage

15-May-15

 

ถอดไฟล์เสียงจาก YouTube : https://youtu.be/ulc3mBpBeCg

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของคุณ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

#5ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com

5)Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c