15.พลิกของคว่ำให้หงาย

ตอนที่ 1 ตรงไหนก็ได้ที่มันเป็นตัว

การนับเนี่ย เรากำลังคิดอยู่ มันอยู่ในความคิดตลอด

สิ่งที่ผมสอนคือ ให้พ้นจากความคิด ให้พ้นจากความปรุงแต่งทั้งปวง อันนี้เป็นทาง

ทางของความคิดนี่ไปไหนไม่ได้ ยังอยู่ในโลกของความคิดตลอด

อย่างถ้าสมมุติว่า เราเคี้ยว เราก็รู้ถึงอาการขยับของปาก…ฟังให้ดีนะ ไม่ใช่หมายความว่าเราไปจดจ้องอยู่กับการเคี้ยว หรือกับอาการเคี้ยวนะ เราไม่จำเป็น

เรารู้ทั่วๆ รู้หลวมๆ รู้สบายๆ เราจะลืมการเคี้ยวไปก็ได้ แต่การลืมการเคี้ยวไป บางทีเรามารู้สึกอยู่ที่ก้นเรา บางทีเรารู้สึกอยู่ที่มือที่เอื้อมไปหยิบอันนี้ รู้สึกถึงขาเราที่ขยับนิดหน่อย อันนี้โอเคเหมือนกัน

มันไม่เกี่ยวกับว่าเราต้องรู้อยู่ที่ที่เดียว เรารู้ทั่วๆ รู้ตามที่จิตมันไปรู้ ก็คือรู้สึกตัวอยู่ มันจะรู้ที่ไหนก็ได้ เราก็รู้สึกตัวอยู่

ผมจะพูดตลอดทุกคลิป ผมจะบอกว่า ทางของการปฎิบัติธรรม ทางสายเอกเลยก็คือว่า “การพ้นไปจากการปรุงแต่งทั้งปวง”

จะพ้นได้งัย? …ต้องรู้สึกตัว แต่รู้สึกตรงไหน? …ตรงไหนก็ได้ที่มันเป็นตัว

ตอนที่ 2 รู้อาการ

คำว่ารู้สึกตัว ถ้าผมจะย่อยลงไปอีก มันก็คือหมายความว่ารู้สึกถึงอาการของมัน เช่น ปากขยับ  รู้อาการใช่มั๊ย? อย่างเราพูดเนี่ย เราก็รู้อาการขยับอยู่ใช่มั๊ย?

มันเป็นแค่อาการเฉยๆ อย่างที่บอกว่าหลับตาแล้วยกมือขวาขึ้นช้าๆ ไม่ต้องมองก็รู้ว่ามันเคลื่อนอยู่ใช่มั๊ย? นั่นแหละคือ อาการมัน

คำพูดคำว่า “รู้สึกตัว” หมายถึง รู้ถึงอาการของร่างกาย อาการเคลื่อน อาการ Movement ของมัน มันมีอาการอยู่ อาการนั่นคือ “ปรมัตถ์” อาการนั้นไม่มีสมมุติ มันเป็นแค่อาการ เรารู้แค่นั้น

เรารู้แค่มันเป็นอาการ เค้าเรียกว่าเรารู้บางสิ่งบางอย่าง แต่เราไม่รู้มันคืออะไร อันนี้เรียกอาการ เรารู้ปรมัตถ์ เรากำลังรู้ปรมัตถ์อยู่

แต่การที่เราไป(รู้) กี่คำ เคี้ยวกี่ที ข้าวกี่คำ ตรงนี้เป็นอะไร ตรงนั้นเป็นอะไร นั่นเราอยู่ในความคิดตลอดเลย ถึงเราจะเข้าใจก็เป็นการเข้าใจในความมืดอย่างที่ผมบอก

 

ตอนที่ 3 เห็นให้ถูกที่

จิตนี้จะพัฒนาเจริญขึ้นมาได้ ไม่ใช่การที่เราไปเห็นกิเลสเยอะๆ เห็นความอยาก หรือเห็นอะไรเยอะๆ ไม่ใช่แบบนั้น แต่ว่าทางที่จิตจะเจริญได้ ต้องเห็นความเป็นปกติที่มีอยู่แล้วนี้ให้เยอะๆ ให้บ่อยๆให้มันต่อเนื่อง ทางนี้เป็นทางเจริญ

การที่เราไปเห็นกิเลสเยอะๆ เห็นความคิดเยอะๆ เห็นอาการทางจิตเยอะๆ เหล่านี้มันเกิดขึ้นได้เพราะ จิตนี้มันมีโมหะเยอะ การที่ไปตามดูอาการเหล่านั้น ไม่ได้กลับมาที่ต้นตอของจิตนี้ เรากำลังไปดูอาการของจิตที่มีโมหะอีกทีนึง

แต่การที่ผมบอกว่าจิตจะเจริญได้ต้องเห็นความเป็นปกตินี้อยู่บ่อยๆ อยู่อย่างต่อเนื่อง ให้มันเป็นฐานขึ้นมา ขณะที่เราเห็นจิตที่เป็นปกตินี้ ในขณะนั้นไม่มีความปรุงแต่ง ในขณะนั้นจิตกำลังมีสติ จิตกำลังมีสมาธิ เป็นสติและสมาธิที่เค้าเรียกว่า “สัมมาสติ สัมมาสมาธิ

พอจิตนี้มีสัมมาสติ มีสัมมาสมาธิเป็นปกติอยู่ เราเห็นบ่อยๆ มันจะขยายฐานนี้ออก เป็นฐานของความเป็นปกติ ฐานที่เป็นปกติอยู่นี้ ไม่มีกิเลส ไม่มีโมหะ และถ้าฐานนี้มันแน่นหนา มันมั่นคง อาการของจิต เช่น ความอยาก หรือว่าความคิด หรือว่ากิเลสต่างๆ ถามว่ามันจะเยอะขึ้น หรือน้อยลง? …มันต้องน้อยลง

เพราะฉะนั้น การที่เราไปเห็นมันเยอะๆ ไม่ใช่แปลว่า เราปฎิบัติธรรมดี แต่มันหมายความว่าจิตนี้ยังไม่มีพื้นฐานของความเป็นปกติเลย มีแต่โมหะอย่างเดียว มันถึงมีของออกไปเยอะขนาดนั้น

 

ตอนที่ 4 รู้ทัน มันกลับมาเอง

เวลาเราเห็นจิตมันทะยานไป เราไม่ใช่ไปดึงมันกลับมา การดึงเนี่ยมีเราเข้าไปกระทำบางสิ่งบางอย่างแล้ว

สมมุติว่าเราดึงมันสำเร็จ จิตที่มีตัวเรา มีอัตตา แล้วมีการดึงมันกลับมา จิตนี้เองมันจะสร้างความรู้ขึ้นมาใหม่ในจิตว่าเราจัดการทุกอย่างได้ แต่ในความเป็นจริงทุกสิ่งเป็นอนัตตา “คุมไม่ได้” เท่ากับว่าถ้าเราไปดึงมันกลับมาได้ จิตนี้จะถูกตอกย้ำมิจฉาทิฐิลงไปว่า คุมได้ แต่เราไม่ทันรู้ เราไม่ได้ไปรู้…จิตไปรู้

เพราะฉะนั้น เวลามันไป ไม่ใช่ว่าเราไปดึงมันกลับมา เรารู้ทันว่ามันไปแล้ว พอเรารู้ทัน มันกลับมาเอง

ถ้าเรามีฐานตัวนี้ที่ผมบอก มันจะกลับมาเอง มันจะกลับมารู้เนื้อรู้ตัวนี้เอง โดยที่เราไม่มีการดึงไม่มีการทำอะไร เราแค่รู้เฉยๆว่า อ้อ..มันไป

อย่างบอกว่า มันไปแล้วจนเรียกว่าสร้างเรื่องแล้ว ปรุงไประดับนึงแล้ว เราค่อยมารู้…อย่างนี้ แต่ถ้าเรามีฐานของความเป็นปกตินี้อย่างแน่นหนา มันแค่ขยับ เราก็รู้แล้ว นี่…มันยังไม่ทันไปไหนเลย

พอเรารู้ปุ๊บ มันก็คล้ายๆ…มันช็อก แอ๊กกกก!!!…ตายๆๆ ไปไหนไม่ได้ คล้ายๆโดนสต๊าฟ…ตายเลย ไปไหนไม่ได้ แบบนี้

ทำไมมันเป็นแบบนั้นได้? เพราะจิตมีกำลังที่แท้จริง ก็คือมีฐานของความเป็นปกติ ฐานของความไม่มีตัวตน เพราะความเป็นปกตินี้มันมีอยู่แล้ว มันเหมือนดวงจันทร์ที่มันมีอยู่แล้ว แต่เมฆหมอกมันปกคลุมมันไว้

 

 ตอนที่ 5 ให้ความสำคัญผิดที่

เวลาเราไปดูอาการของจิต เหมือนเราไปดูเมฆหมอก เรายังไม่เห็นดวงจันทร์ซักทีนึง…เป็นแบบนั้น

เพราะฉะนั้น เรามัวแต่ดูเมฆหมอก เมฆหมอกก็ออกมาเรื่อยๆ ใช่มั๊ย? เพราะจิตนี้ก็ผลิตเมฆหมอกออกมาให้ดูเรื่อยๆ เราไม่ย้อนกลับเข้ามาถึงดวงจันทร์ซักทีนึง ใช่มั๊ย? แต่เมื่อไหร่เราย้อนเข้าถึงดวงจันทร์ เมฆหมอกหายไป

เราไปดูแต่ของที่ถูกผลิตออกมาอย่างเดียว แล้วเราก็นึกว่าเรากำลังปฏิบัติธรรมอยู่…ไม่ใช่แบบนั้น ถ้าจิตยังผลิตแต่ของออกมาได้ แสดงว่าจิตนี้มีแต่โมหะ มันถึงผลิตออกมาได้

ทุกคนมีโมหะเยอะหมด แต่ด้วยการที่คนจำนวนมากไปให้ความสำคัญกับการดูอาการของจิต แต่ไม่ให้ความสำคัญกับการมาดูความเป็นปกติของจิต พอมันให้ความสำคัญผิดที่ มันก็เลยกลายเป็นผิดที่ผิดทางหมด จะเจริญก็เลยเจริญไม่ได้

คนเราเข้าใจผิด คิดว่าเห็นกิเลสบ่อยๆเจริญ…ไม่ใช่แบบนั้น อันนี้เป็นจุดที่ไม่มีใครชี้ให้ละเอียดขนาดนี้ ว่าเราผิดพลาดกันอยู่ที่ตรงไหน

 

 ตอนที่ 6 แค่เปิดขึ้นมาเฉยๆ

ตอนนี้ลองนั่งสบายๆ มองออกไปไกลๆ แล้วลองหายใจเบาๆ ไม่ต้องไปรู้ลม การหายใจของเรา มันหายใจเข้า-ออก ไม่ต้องลึก ไม่ต้องยาว ไม่ต้องสั้น “เอาธรรมชาติ

พอเราหายใจเข้าหายใจออก บางทีตอนเราหายใจออก มันสุดลมหายใจออก มันไม่ต้องการลมหายใจเข้า มันจะมีสภาวะที่มัน “หยุด” อยู่ ตอนลมหายใจมันหยุด ร่างกายเราก็หยุดอยู่ เพราะเรานั่งอยู่เฉยๆ

พอมันหยุดอยู่ตรงนั้น จะสัมผัสว่าสภาวะที่ทุกอย่างมันหยุด มันปกติ มันราบเรียบ มันเงียบอยู่ข้างใน นุ่มนวล ไม่มีความรู้สึก มันอั้น มันกลั้น มันไม่รู้สึกมีอะไรที่มันอึดอัดเลย ผ่อนคลาย สงบ ความรู้สึกแบบนี้แหละ มันเป็นความเป็นปกติ

ความเป็นปกตินี้ เราไม่ได้สร้างมันขึ้นมา มันมีอยู่แล้ว เพียงแต่การนั่งเฉยๆ สบายๆ ผ่อนคลายของเราเนี่ย มันเท่ากับเราแหวกเมฆหมอกของความฟุ้งซ่าน ของความอึดอัด ความสับสนออกไป

พอเมฆหมอกมันถูกแหวกออกไป ความเป็นปกติ มันก็เกิดขึ้น มันไม่ใช่เกิดขึ้นแบบว่าเราไปทำให้มันเกิด มันมีอยู่แล้ว เพียงแต่เราแหวกเมฆหมอกไป เราก็เห็นได้

เหมือนพระพุทธเจ้าจะพูดว่า เราเพียงแค่พลิกของคว่ำให้มันหงายขึ้นมาเฉยๆ ทุกสิ่งก็เปิดออก สิ่งเป็นจริงก็เปิดออก…มีแค่นั้น แล้วเราพอมันเปิดออก เราก็เห็นของจริง อ๋อ…มันมีแค่นี้ มันง่ายแค่นี้เอง เราไม่ได้ไปทำอะไรเลย เพียงแต่เราเปิดมันขึ้นมาเฉยๆ

 

ตอนที่ 7 ก้าวแรกสู่ความเป็นหนึ่ง

เพราะฉะนั้น การปฎิบัติธรรมนี้หลายคนเข้าใจผิด คิดว่าต้องไปทำอย่างนี้ ทำอย่างนั้น ทำอย่างนู้น จริงๆไม่ใช่ เราแค่ให้โอกาสที่จะให้ของที่มันมีอยู่แล้วเปิดออกมา พอมันเปิดออกมาเราก็เห็นมัน เราก็รู้จักมัน สังเกตุมัน สัมผัสมัน

ในตอนที่เราเริ่มสัมผัสรู้จักมัน แรกๆเราก็ได้แค่ฝึกจากการทำในรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการนั่งสบายๆอย่างที่ผมบอก หรือไม่ก็เดินจงกรมแล้วก็หยุด เพื่อจะสัมผัสมัน

พอเราทำไปทำไปทำไปบ่อยๆในชีวิตประจำวัน ความเป็นปกตินี้ที่เราได้รู้จักได้สัมผัสมาแล้ว มันจะกลายเป็นฐาน มันจะกลายเป็นฐานที่มั่นคง ที่มันแข็งแรง ที่มันหยั่งรากลึกลงไปในจิตในใจเรานี้แหละ

แล้วต่อไป เราหันกลับมาเมื่อไหร่ เราก็เห็นว่ามันปกติอยู่…เราหันกลับมาเมื่อไหร่ เราก็ยังเห็นว่ามันเป็นปกติอยู่ มันจะอยู่กับเราตลอดชีวิต

เพียงแต่ว่าเราเริ่มรู้จักมัน จากการที่เราทำในรูปแบบนี่แหละ เริ่มรู้จักมันทีละนิด จนในที่สุดเรากับมันก็เป็นหนึ่งเดียวกัน เราก็เป็นหนึ่งเดียวกับความเป็นปกติ เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ เป็นหนึ่งเดียวกับนิพพานนั่นแหละ…แค่นั้น

เดี๋ยวพอทำบ่อยๆ มันชำนาญขึ้น มันจะได้สัมผัส… แต่บางคนก็สัมผัสได้ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อม ขึ้นอยู่กับขณะนั้นจิตเป็นอย่างไร แต่ทุกคนสัมผัสได้เหมือนกัน แต่ความลึกซึ้งไม่เหมือนกัน

ถ้าเราได้เริ่ม…เราก็มีโอกาส ถ้ามีก้าวแรก มันจะต้องมีก้าวต่อไป…มันต้องมีก้าวแรกก่อน

 

Camouflage

14-Feb-2016

 

ถอดไฟล์เสียงจาก YouTube : https://youtu.be/QCbULFJT0w4

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของคุณ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c