1.เมื่อแสงสว่างเกิดขึ้น ความมืดจะหายไปเอง

ตอนที่ 1 เหตุแห่งทุกข์

ทุกวันนี้เรายังทุกข์อยู่ก็เพราะว่าเรายังมีอวิชชา เรายังมีความยึดมั่นถือมั่นกับตัวเราของเรา  ซึ่งวิธีการปฏิบัตินี้มันก็เป็นเรื่องของสติ สมาธิ และปัญญาที่เราเคยเรียนรู้กันมา แต่ในการปฏิบัติธรรมมันง่ายกว่านั้น ก็คือว่า “เพียงแค่เราออกมาจากโลกของความคิด” ในขณะนั้น ก็เรียกว่า “นิพพานชิมลอง”

สังเกตว่าเมื่อไรที่เราคิดเราจะทุกข์ ใช่มั๊ย ถ้าเมื่อไรที่เราเฉยๆ  สบายๆ เป็นปกติ ไม่ได้คิดอะไร เราไม่ทุกข์ ใช่มั๊ย นั่นแหละ ก็คือเมื่อไรที่เราอยู่ในความคิดเราก็อยู่ในโลก พอเราอยู่ในโลกเราก็ต้องทุกข์ เพราะเมื่อไรมีความคิด ความเป็นตัวเป็นตน ความเป็นคนมันเกิดขึ้น

พอความเป็นตัวเป็นตน ความเป็นคนมันเกิดขึ้นนี้ มิจฉาทิฏฐิก็เกิดขึ้นทันที มิจฉาทิฏิฐิเกิดขึ้น  อนุสัยต่างๆที่อยู่ในจิตก็เหมือนเป็นตะกอนที่ถูกกวนให้มันขุ่นขึ้นมาทันที

เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปรังเกียจกับอนุสัย กับกิเลส ถ้าพูดง่ายๆก็กับสันดานตัวเอง เพราะมันสั่งสมมานานไม่ต้องไปรังเกียจมัน  เพียงแต่รู้จักมัน มันจะสอนเราว่าความทุกข์นี้มันเป็นสิ่งที่ถ้าเราไม่รีบที่จะพ้นทุกข์ไป เรายังต้องทุกข์แบบนี้ต่อไป เพราะด้วยความที่อวิชชายังอยู่ อนุสัยยังอยู่ ความเป็นตัวเป็นตนยังอยู่ มิจฉาทิฏฐิยังอยู่

ใช้ความทุกข์เป็นประโยชน์ในการที่จะกระตุ้นเราให้เราระลึกถึงว่าเรายังทำไม่พอนะ เรายังไปไม่ถึงไหนนะ ชีวิตเรายังไม่แน่นะว่าจะมีเวลาทำอีกนานเท่าไร  พี่ใช้ความทุกข์เป็นตัวกระตุ้นตัวเองแบบนั้น เพื่อให้เราไม่ประมาท

 

ตอนที่ 2 ความปกติ

การที่เราจะพ้นไปจากอวิชชา พ้นไปจากมิจฉาทิฐิ ทำอย่างไร?

ในความเป็นจริงก็คือ จิตของทุกคนนั้นเป็นพุทธะอยู่แล้วในตัว

ความเป็นพุทธะนี้เป็นอย่างไร ?ก็คือเป็น “ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน”

ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน คืออะไร?

“ผู้รู้” คือ รู้ทุกสิ่งตามเป็นจริง ในสภาวะรู้นั่นไม่มีคน เป็นสภาวะรู้ล้วนๆ เฉยๆ เรียกว่า “สักว่า สักว่า” นั่นแหละ เห็นก็สักว่าเห็น ได้ยินก็สักว่าได้ยิน

คำว่าสักว่านี้มันไม่มีการปรุงแต่งไปต่อ พอมันไม่ปรุงแต่งมันจะทุกข์ได้มั๊ย มันทุกข์ไม่ได้ “มันเห็นก็สักว่าเห็นเฉยๆ” ไม่ได้ปรุงแต่งว่ามีความชอบไม่ชอบ ไม่ได้มีตัณหา พอใจไม่พอใจ อยากไม่อยาก มันไม่มี พอมันไม่มีแบบนั้นมันมีทุกข์ไม่ได้ ในสภาวะของการเป็นผู้รู้แบบนั้น

สภาวะของความเป็น “ผู้ตื่น” คำว่าตื่นก็คือ ตื่นออกมาจากโลกของความคิด ไม่ได้อยู่ในโลกของความคิด อันนั้นเป็นโลกสมมติ โลกแห่งความปรุงแต่ง เป็นของไม่จริง ใครจะคิดอะไรก็ได้ จะคิดว่าตัวเองหล่อที่สุดสวยที่สุดในโลกก็ได้ ไม่มีใครว่าอะไร คิดเอาเอง ใช่มั๊ย

เพราะฉะนั้นการเป็นผู้ตื่นคือ ตื่นออกมาจากโลกของความคิด เมื่อตื่นออกมามันก็พ้นจากโลกของความคิดทันที มันก็เป็นพุทธะทันที

“ผู้เบิกบาน” คำว่าเบิกบาน คือ ในจิตในใจนี้มันไม่มีความขุ่นข้องหมองใจอะไร ไม่มีความซึมเซา ไม่มีความเป็นอะไรแบบนั้นมันไม่มี

สภาวะที่ง่ายที่สุดที่จะอธิบายผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน สภาวะร่วมกันอย่างนึงของผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ก็คือ “ความปกติ” ความปกตินี่แหละเป็นสภาวะที่พ้นจากความคิด พ้นจากความปรุงแต่งทั้งปวง เป็นสภาวะที่ไม่มีคน เป็นสภาวะที่ว่าง ว่างที่เค้าเรียกว่าว่างจากตัวตนบุคคลเราเขานั่นแหละ

เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่าทุกคนมีสภาวะที่เป็นปกติอยู่ในจิตในใจกันอยู่แล้วรึเปล่า (คำตอบคือ)มีอยู่แล้วทุกคน ถ้าไม่มีต้องเป็นบ้า เพราะว่าอะไร เพราะถ้าไม่มีสภาวะของความเป็นปกติอยู่เลยต้องคิดทั้งวัน คิดแบบไม่มีวันหยุดราชการเลย ถูกมั๊ย ที่เค้าเรียกว่าคิดจนบ้า จนเข้าศรีธัญญาเพราะว่ามันไม่มีความปกตินี้อยู่เลย แต่พอดีคนส่วนใหญ่จริงๆมี…มีทุกคนอยู่แล้ว

 

ตอนที่ 3 จุดไฟขึ้นเพื่อเห็นสัจธรรมสองสิ่ง

จิตของมนุษย์นี้เป็นจิตที่มีบารมีอยู่แล้วถึงได้เกิดมาเป็นมนุษย์ มันเป็นจิตที่เมื่อเราคิดอะไรบางอย่างที่มันคิดเยอะไม่ไหวแล้ว มันปวดหัว มันจะหยุดคิดเอง คล้ายๆมันไม่เอาแล้ว พอแล้ว แต่พอมันผ่อนคลายลง มันจะกลับมาคิดใหม่ เพราะอนุสัยเดิมยังอยู่

แต่ในทางปฏิบัติธรรม สมมติว่าอนุสัย อวิชชา มิจฉาทิฏฐิ อะไรต่างๆก็ตาม เราเปรียบเทียบมันเป็นความมืด เราไม่ได้มีหน้าที่ไปไล่ความมืด ความมืดไล่ไม่ได้ “เรามีหน้าที่จุดไฟขึ้นมา” จุดไฟนี้หมายความว่า การเห็นความเป็นปกติในจิตนี้แหละ

การเห็นจิตที่มีสภาพพ้นไปจากความปรุงแต่ง อันนี้เรียกว่าความปกติ การเห็นมันครั้งนึงก็คือการพ้นไปจากโลกแห่งความคิดไปครั้งนึง ก็เหมือนการจุดไฟไปครั้งนึงแล้ว แต่เดี๋ยวมันก็ดับไป เพราะเรายังจุดไม่ชำนาญ

แต่ถ้าเราจุดบ่อยๆ จุดแล้วจุดอีก จุดแล้วจุดอีก จุดอย่างต่อเนื่อง วันนึงไฟจะลุกโพลงขึ้นมา อันนี้ปัญญาจะเกิดจะเป็น “ปัญญาญาณ” เป็นปัญญาที่เราจะเห็นความจริงได้ชัดเจน

และทุกครั้งที่เราเห็นความเป็นปกติอยู่ ตอนนั้นไม่มีตัวเรา เพราะฉะนั้นในขณะที่เราเห็นความเป็นปกติอยู่ เราก็จะเห็นสิ่งอื่นๆที่เกิดขึ้น เช่น สภาวธรรมต่างๆที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ด้วย ไม่ใช่เราไม่เห็น มันเหมือนกับว่า เราเห็นสัจธรรมสองสิ่ง คือ “สัจธรรมแบบปรมัตถ์ แบบพุทธะก็คือความเป็นปกติอยู่” และอีกอย่างก็คือเห็น “สัจธรรมของสิ่งที่อยู่ในโลกก็คือว่ามันตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์”

ในขณะที่เรามีความเป็นปกติอยู่เป็นพื้นฐานที่เราเห็นอยู่ สมมติว่าอารมณ์ความกังวลเกิดขึ้นมา เราก็เห็นเหมือนกันว่าความกังวลเกิดขึ้น แต่คล้ายๆว่าเราก็ฉลาดพอที่เราจะไม่เข้าไปปรุงแต่งต่อ

ในขณะที่เราเห็นความเป็นปกติอยู่ เรากำลังมองสภาวะต่างๆที่เกิดขึ้นในจิตในใจเราผ่านเลนส์ของความไม่มีตัวเรา เมื่อเรามองผ่านเลนส์ของความไม่มีตัวเรา เราจะได้เห็นความจริงของสภาวะต่างๆที่เกิดขึ้นไม่ว่าเป็นสภาวะดีหรือไม่ดีก็ตาม ล้วนตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์

และทุกครั้งที่เราเห็น พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติออกมาว่า อย่างนี้เรียกสตินะ การเห็นแว๊บนึงซึ่งเป็นการเห็นบนพื้นฐานของความไม่มีตัวเรา อันนี้ท่านเรียกว่า “สัมมาสติ” แต่พอเราเห็นบ่อยๆ สัมมาสติที่พระพุทธเจ้าตั้งชื่อให้ มันเปลี่ยนเป็น “สัมมาสมาธิ”

คล้ายๆเหมือนกับพี่ให้ชิมเศษเสี้ยวของเกล็ดน้ำตาล เราจะไม่รู้รสใช่มั๊ยเพราะเกล็ดมันเล็กมาก อันนี้ก็เหมือนกันกับสัมมาสติที่เกิดขึ้นแว๊บนึง เราคงเข้าใจไม่ได้ว่า เอ๊ะ…ความจริงที่พระพุทธเจ้าสอนคืออะไร มันยังไม่ชัด

แต่ถ้าพี่ให้ชิมเศษเสี้ยวเล็กๆทุกวินาทีเลย ชิม ชิม ชิม ของเก่ายังไม่ละลายของใหม่ก็เข้าไปอีก มันจะเริ่มเป็นก้อนใหญ่ เราจะเริ่มรู้สึกนิดนึงแล้วว่าเหมือนมันมีความหวานหน่อยๆ นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราต้องต่อเนื่อง เพราะความต่อเนื่องจะทำให้เกิดสัมมาสมาธิ มันเปลี่ยน … มันปลี่ยนจากสัมมาสติเป็นสัมมาสมาธิ

 

ตอนที่ 4 มันเป็นเช่นนั้นเอง

พอเรามีสัมมาสมาธิเป็นพื้นฐาน เราจะเห็นอะไรได้ชัดเจนขึ้น เห็นความจริงทั้งสองสิ่งที่พี่บอก ไม่ว่าจะเป็นความปกติของจิตที่มีอยู่แล้วในคนทุกคน และเห็นสิ่งที่อยู่ในโลกล้วนตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ มันจะเห็นควบคู่กันไปตลอด

แล้วเมื่อเราเห็นได้อย่างต่อเนื่อง เห็นได้เป็นประจำมากเข้า มากเข้า มากเข้า สัมมาสมาธิจะเกิดขึ้นเป็นภาชนะรองรับมรรคทั้ง 7 ตัว หรือจะเรียกว่าเป็นกุศล หรือว่าเป็นอะไรก็ได้ แล้วมันจะเปิดตาที่สามของเราขึ้นมา อันนี้เรียกว่าเป็นปัญญาญาณแล้ว มันเหมือนรวมพลังกันเกิดปัญญาญาณขึ้นมา

เราก็จะได้เห็นความจริงที่แท้จริง ว่าโลกนี้เป็นเหมือนโรงละครใบใหญ่ ความเป็นจริงมันไม่มีอะไร มันเป็น “ความว่าง” มันว่างจากทุกสิ่ง ว่างจากตัวตน บุคคล เรา เขา มันเป็นสภาวะที่สรุปไม่ได้ว่ามันจะมี หรือจะไม่มี เลยมีธรรมะของหลวงปู่มั่นที่พูดถึงว่า “มี ไม่มีนั้นเป็นธรรมที่ล้ำลึก” เพราะมันเป็นสิ่งที่เหนือคำพูด

สภาวะความจริงอันนั้น เราจะเรียกมันว่าสัจธรรมก็ได้ เราจะเรียกมันว่าสุญญตาก็ได้ หรือจะเรียกนิพพานก็ได้ แล้วแต่ใครจะเรียก แต่มันเป็นความจริงอันเดียวกัน ที่มันเหนือคำพูด เหนือการอธิบาย แต่ว่าคำอธิบายทั้งหมดที่พูดก็อธิบายไม่ได้ “ต้องเห็นเอง”

เมื่อเราเห็นความจริงแบบนั้นแล้ว ต่อไปจะเข้าใจสิ่งที่เหนือกว่านั้นอีก คือจะเข้าใจความเป็นเช่นนั้นเอง เราเคยได้ยินคำว่า “ตถตา” ใช่มั๊ย ตถตานี้เราได้ยินท่านพุทธทาสพูดบ่อย คำว่าตถตานี้คือ “การเห็นสักว่าเห็น” คือมันไม่มีการปรุงแต่งต่อ พอมันเห็น…“มันก็เป็นเช่นนั้นเอง มันเป็นเช่นนั้นเอง” มันจะเข้าใจว่าคนนี้มีนิสัยแบบนี้ ก็เพราะว่ากรรมเค้าเป็นแบบนั้น

ตถตานี่เป็นระดับด็อกเตอร์สมมติ อันนี้เรากำลังอยู่ในระดับประถม เราจะไปเข้าใจสิ่งนั้นไม่ได้ แต่เราคล้ายๆสอนตัวเองได้ว่า ด็อกเตอร์เค้าสอนเราแบบนี้นะ ว่าทุกอย่างมันเป็นเช่นนั้นเอง ถ้าเราจะทุกข์กับคนคนนึง เราก็ใช้อันนี้มาคิดสอนตัวเราเองก่อน เพื่อให้ความทุกข์ทั้งหลายมันบรรเทาลง

แต่ทางเดินไปสู่ตถตา ก็คือ ต้องทำแบบที่บอก ต้องเรียนรู้ ต้องรู้จักอยู่กับความปกติ พ้นออกมาจากโลกของความคิด มีสติที่จะเห็นสภาวธรรมต่างๆเกิดขึ้นโดยที่ไม่มีตัวเราเข้าไปเกี่ยวข้องกับมัน เห็นมันเฉยๆ มันขึ้นมาแล้วเดี๋ยวมันก็จะผ่านไป จะเกิดความเข้าใจธรรมะที่สูงขึ้น มากขึ้น ลึกซึ้งขึ้นเรื่อยๆเอง โดยที่เราไม่ได้ทำอะไรเลย

สิ่งที่เราทำแค่อย่างเดียวก็คือ เราหมั่นที่จะมีสติ รู้สึกตัว มีสภาวะอะไรเกิดขึ้น เราก็เห็นมัน

 

ตอนที่ 5 กลับมารู้สึกตัว

ในการเริ่มต้นของคนเพิ่งเริ่มปฏิบัติ สมมติว่ามีความกังวลเกิดขึ้นในจิต แต่จิตเองเนื่องจากเพิ่งเริ่มต้น จิตเองนั้นยังมีสมาธิไม่พอ พอมีความกังวลแล้วมันไม่เห็นความกังวล มันเห็นเหมือนกันแหละความกังวล แต่มันคล้ายๆจะเข้าไปกังวลด้วย มันจะไม่เห็นเฉยๆ

ทีนี้วิธีการที่บอกก็คือ เมื่อเราเห็นความกังวล แล้วเรารู้ว่ากำลังสมาธิเราไม่พอที่จะเห็นเฉยๆ ให้รีบ “กลับมารู้สึกตัว” เมื่อไรที่เรารู้สึกตัว ความคิดจะเกิดไม่ได้ แล้วเราไม่ต้องไปเห็นความกังวลนั่นแล้วนะ เรากลับมารู้สึกตัว อยู่กับความรู้สึกตัวเอาไว้ แล้วเดี๋ยวความกังวลที่ว่านี้มันจะคลายไปเอง

เหมือนเรื่องความมืดกับความสว่าง ความกังวลนี้เป็นความมืดของอวิชชาเพราะเรามีอวิชชา มีอนุสัยอยู่ เราไม่ต้องไปไล่มัน เราเพียงแต่จุดความสว่างขึ้นมา ก็คือจุดสติขึ้นมา จุดปัญญาขึ้นมา จุดความเป็นพุทธะขึ้นมาได้ ก็คือการพ้นจากโลกของความคิด จะพ้นยังไง? … รู้สึกตัว

“เมื่อไรที่เรารู้สึกตัวขึ้นมา ความสว่างก็เกิดขึ้น ความมืดมันหายไปเอง” ในขณะเดียวกันที่เราอยู่กับความรู้สึกตัว เรามีความเป็นปกติอยู่ เราพ้นออกจากโลกของความคิด ในขณะนั้นเราก็มีสติและเราก็กำลังมีสมาธิด้วย

แต่การที่เราเข้าไปเห็นความกังวล แล้วเข้าไปดูว่าเมื่อไรมันจะดับ ไหนบอกมันจะเปลี่ยน ไม่เห็นมันเปลี่ยน … มันเปลี่ยนไม่ได้เพราะมีตัณหาตลอด ในขณะนั้นมีตัวเราเกิดขึ้นตลอด เรากำลังใช้ความมืดคือความมีตัวเรา ไปมองความมืด มันไม่มีอะไรดีขึ้น

แต่ถ้าเรากลับมารู้สึกตัว ในขณะนั้นไม่มีเรา ในขณะเดียวกันนั้นเราก็เห็นความกังวลอยู่ด้วย แต่เราเห็นผ่านเลนส์ของความไม่มีตัวเรา มันเปรียบเสมือนเรามีความสว่างเกิดขึ้น เดี๋ยวความมืดมันจะหายไปเอง ไม่ต้องไปทำอะไรมันเลย

แต่ในช่วงแรกๆ ความกังวลหรือกิเลสต่างๆที่มันเกิดขึ้น มันมีกำลังมาก เราอาจจะต้องหันหลังให้มันเลย ไม่ต้องไปดู อันนี้กลับมาอยู่กับความรู้สึกตัว

 

ตอนที่ 6 มีความปกติเป็นพื้นฐาน

การปฏิบัติธรรมนี้ต้องใช้“โยนิโสมนสิการ” เราต้องรู้ตัวเองว่าเรามีสถานการณ์เป็นอย่างไร ต้องมีอุบายอย่างไร อย่างตอนนี้เราตัวเล็กกว่าเค้า เราสู้เค้าไม่ได้ เราต้องหนีก่อน เหมือนกับเรารู้ว่าสมาธิเรายังไม่แข็งแกร่ง เราหนีก่อน เรากลับมาฝึกก่อน เดี๋ยวค่อยเจอกันใหม่ ยังไงมันต้องมา เพราะอวิชชามันยังอยู่ ไม่ต้องรีบ ไม่ต้องรีบสู้

ไม่ว่าจะเหตุการณ์อะไรก็ตาม ถ้ามันยังสร้างความทุกข์ให้เราอยู่ ให้เรากลับมารู้สึกตัว ให้เรารู้ว่าเราต้องรีบเร่งที่จะปฏิบัติธรรม แต่เราจะคบไม่คบ เราจะอะไร หลังจากนั้นเราค่อยคิด หลังจากที่จิตเราปกติแล้ว หลังจากที่มันมีความเป็นปกติแล้ว เราค่อยใช้ความคิด ไม่ให้ความคิดมาใช้เรา ถ้าเมื่อไหร่ความคิดมาใช้เรา มันจะมีอารมณ์ร่วมเสมอ แล้วมันจะไม่ใช่คำตอบที่ดีตลอด

เพราะฉะนั้นก็คือ ฝึกให้มีความเป็นปกติเป็นพื้นฐานอยู่ในจิต และก็เห็นสภาวะต่างๆ อารมณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในจิตนี้ ก็เพียงแต่ว่าเห็นมันเกิดขึ้นเฉยๆ และถ้าทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ต่อไปความเป็นปกติ หรือความเป็นพุทธะที่พูดถึงมันจะเป็นพื้นฐานของจิต เป็นเหมือนกำลังหลักของจิตเลย แล้วต่อไปความทุกข์ต่างๆ หรือกิเลสต่างๆมันจรมา แต่มันทำอะไรเราไม่ได้

เพราะเราเข้าใจความเป็นจริงว่า สิ่งต่างๆเหล่านั้น มันผ่านมาแล้วมันก็จะผ่านไป แล้วมันก็ไม่มีสาระสำคัญอะไรกับชีวิต แต่ถ้าเหตุการณ์นั้นจำเป็นจะต้องคิด เราก็จะรู้จักคิดอยู่บนความว่าง หมายถึงว่าเป็นความคิดที่อยู่บนความไม่มีตัวเรา ว่าเราควรจะปฏิบัติอย่างไร ควรทำอย่างไรถึงจะเหมาะสม ถึงจะสอดคล้อง ถึงจะเป็นประโยชน์กับตัวเองและคนอื่น มันจะเป็นการแก้ปัญหาที่เหมาะสมไม่ใช่ดีที่สุด เหมาะสมกับสถานการณ์ตอนนั้น “ปัญญาไม่ใช่เรื่องของดี ไม่ใช่เรื่องของไม่ดี เป็นเรื่องของเหมาะสม ณ ตอนนั้น”

 

ตอนที่ 7 เราจะใช้ความคิด ไม่ใช่ความคิดใช้เรา

อันนี้ต้องเข้าใจแล้วว่ามันเป็นเหมือนขบวนรถไฟแล้ว มันไปเป็นหนึ่งเป็นสองเป็นสามเป็นสี่เป็นห้าเป็นหก เพราะฉะนั้น วิธีการคืออะไร … เมื่อไหร่ที่เริ่มเห็นแล้วว่ามันกำลังก่อตัวแล้ว แล้วรู้ว่าสู้ไม่ได้ให้รีบกลับมาอยู่กับความรู้สึกตัว ให้รู้ว่าตอนนั้นจิตใจอ่อนล้าอ่อนแอ ไม่มีสมาธิ ให้รีบกลับมาอยู่กับความรู้สึกตัว ไม่ต้องสนใจอะไรทั้งนั้น

เมื่อไหร่ที่จิตเป็นปกติแล้วจำเป็นต้องคิดแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน เรื่องส่วนตัว เรื่องอะไรก็แล้วแต่ ค่อยทำ ทำบนพื้นฐานของความไม่มีเรา บนพื้นฐานของความว่าง บนพื้นฐานของความปกติ แล้วความคิดนั้นมันจะบริสุทธิ์ “เราจะใช้ความคิดได้ ไม่ใช่ความคิดใช้เรา”

คนในโลกมีแต่ถูกความคิดใช้ พอมันมีความคิด มันก็มีตัณหา มันก็มีกิเลส มันก็โดนใช้มาตลอดทั้งชีวิต มันก็เลยต้องทุกข์ แต่คนในโลกก็ไม่รู้เรื่องก็คิดว่าตัวเองเป็นเจ้าของชีวิต จริงๆแล้วไม่ใช่! ตัวเองถูกกิเลสใช้งานตลอดชีวิตแต่ไม่รู้ ทุกคนต้องมีความทุกข์เป็นครู ที่จะสอนให้รู้จักว่าต้องรีบเร่งที่จะปฏิบัติธรรม

ตอนที่ 8 ปฏิบัติเหมือนเป็นอาหารของชีวิต

อย่างไปทำงาน … สิ่งที่สำคัญที่สุดที่พี่บอกก็คือ “ความต่อเนื่อง”

สิ่งที่บอกให้รู้สึกตัว ให้มีสติ ให้เห็นความเป็นปกติของจิตบ่อยๆ มันต้องทำตั้งแต่ตื่นจนหลับ ไปทำงานก็ต้องรู้ต้องเห็นสิ่งๆนี้อยู่ด้วย สังเกตให้ดีเวลาทำงาน เรานั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์เราไม่ได้คิดตลอดเวลาหรอก บางทีเราขยับเขยื้อนเราก็รู้สึก แต่ว่าเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับมันเท่าไร เราต้องให้ความสำคัญกับมัน

การที่เราขยับเขยื้อนนี้จริงๆแล้วมันเป็นการที่เรากำลังบำบัดทุกข์อยู่ เรากำลังได้ความสุขจากการขยับเขยื้อนแบบนั้นอยู่ แต่เราล่วงเลยไป เราไม่เห็นสิ่งที่เป็นจริงแบบนั้นอยู่ ให้เราเห็น พอเราเห็นกายเห็นจิตอยู่เป็นประจำ สติและสมาธิจะก่อตัวขึ้น แต่ถ้าเราลืมกายลืมจิตไปทั้งวันแล้วกลับมานั่งสมาธิครึ่งชั่วโมง มันจะไม่ได้อะไรเลย เราจะบอกว่าเราปฏิบัติมาแล้วสิบปียี่สิบปี มันจะไม่ได้อะไรเลย มันจะเหมือนเป็นการแค่พักผ่อนเฉยๆ เหมือนแทนที่เราจะไปเที่ยวทะเลเราก็นั่งสมาธิแทน

แต่การที่เราจะให้มันได้มรรคได้ผล ได้ประโยชน์จากการปฏิบัติธรรม “เราต้องทำมันเหมือนมันเป็นอาหารของชีวิตเลย” เราขาดไม่ได้ เหมือนเราปลูกต้นไม้เราก็ต้องรดน้ำทุกวัน เราไม่ได้รดน้ำปีละครั้ง ไม่ใช่แบบนั้น

มันต้องอยู่ให้ได้กับทุกอิริยาบท แต่ว่าเราไม่ใช่ไปบังคับมันนะ ลักษณะว่าฟังพี่ไว้ แล้วมันจะอยู่ในจิต ถ้าตัวเองมีฉันทะ มีความพอใจ มีความตั้งใจที่จะรู้ว่าต้องไปทางนี้ ต้องรู้กายรู้ใจอย่างที่พี่บอก ความมีฉันทะนั้นมันจะอยู่ในจิตแล้วมันจะระลึกบ่อยๆว่า ต้องรู้สึกกายบ่อยๆ รู้สึกร่างกายเอาไว้จะได้มีกำลัง อ่อ … ความกังวลมาละ ถ้ายังสู้ไม่ได้ ให้กลับมารู้สึกตัว

อันนี้ คล้ายๆสิ่งที่พี่สอนไปมันจะอยู่ในจิต แล้วตัวเองด้วยความมีฉันทะว่าจะเอาจริง ทำจริง ไม่ใช่ฟังเพลินๆ มันก็จะระลึกเองว่าต้องรู้สึกตัว ต้องรู้สึกตัว ขยับเขยื้อนอะไรก็รู้สึก รู้สึก มันจะรู้สึกเอง

แต่เราไม่ใช่ตั้งใจที่จะไปทำเหมือนเป็นหุ่นยนต์ รู้สึกเป็นหุ่นยนต์ ไม่ใช่แบบนั้น มันจะคล้ายๆระลึกขึ้นได้เองว่าต้องรู้สึกนะ เดี๋ยวมันจะรู้สึก ไม่กี่วินาทีเดี๋ยวมันลืม แล้วเดี๋ยวมันก็ เอ้ย…ต้องรู้สึกตัว นี่…มันจะเป็นแบบนั้น

นั่งโต๊ะคอมพิวเตอร์เวลาจะเลื่อนเม้าส์ พอดีขยับปุ๊บ มันก็รู้สึกปั๊บ ความคิดก็ดับวูบเลย แบบนี้ความเป็นปกติก็เกิดขึ้นแว๊บนึงแล้ว พอมันเกิดแว๊บแบบนี้บ่อยๆเข้า มันเหมือนเราจุดบนกระดาษ จุด จุด จุดถี่ขึ้นมันก็เหมือนเป็นเส้น ถ้าเราจุดห่างๆมันก็เป็นเส้นไม่ได้ แต่ถ้าเราจุดถี่ๆๆๆมองไกลๆก็เหมือนเป็นเส้น อันนั้นแหละเรียก สมาธิ

เพราะฉะนั้นความต่อเนื่องเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้เกิดผลขึ้นมาได้ เกิดความก้าวหน้าขึ้นมาได้ ถ้าไม่มีความต่อเนื่องไม่ต้องหวังเลย

ถ้าตัวเองยังไม่มีฉันทะที่จะรู้ว่านี่เป็นงานหลักของชีวิต ทำงานนี้เป็นการส่งเสริมให้มีปัจจัยที่พออยู่ได้ สะดวกสบายพอสมควร เป็นงานรองของชีวิต ถ้าไม่คิดแบบนี้ไม่มีทางที่ทำได้อย่างต่อเนื่อง

ตอนที่ 9 ไม่ทุกข์เก่งกว่า

เราไม่ต้องเก่งในทางโลก สมมติว่าเราอยากจะเก่งในทางโลก จะเก่งเท่าไรที่เรียกว่าเก่งพอ สมมติว่า เราเก่ง แต่พี่บอกว่าไม่เก่ง แต่อีกสิบคนบอกว่าเก่ง แล้วจะเชื่อใครถ้าเป็นอย่างนี้

ในความเป็นจริงแล้วมันเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง มันเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงในโลก ในโลกของความคิดของคน แต่มันไม่มีอยู่จริงในสัจธรรม มันเป็นความปรุงแต่งทั้งนั้น

เก่ง ไม่เก่ง ดี ไม่ดี อะไรพวกนี้ มันเป็นความปรุงแต่งทั้งนั้น เพราะในความเป็นจริงมัน “ไม่มีคน!”

สัจธรรมเป็นความว่าง สิ่งทั้งหลายในโลกนี้ล้วนเป็นความปรุงแต่ง ท่านพุทธทาสพูดว่าเป็นโรงมหรสพใบใหญ่ ที่วันนึงเมื่อเข้าถึงสัจธรรม จะเห็นว่ามันเหมือนความฝัน มันไม่ใช่ความจริง มันเป็นสิ่งที่อวิชชาปรุงแต่งขึ้นมาให้เป็นอย่างโน้น อย่างนี้ อย่างนั้น แล้วก็พอใจ แล้วก็ไม่พอใจกับสิ่งที่ตัวเอง ที่สังคมปรุงแต่งขึ้นมาเองด้วย

มันเหมือนคนบ้า บ้ากับสิ่งที่ตัวเองปรุงแต่งขึ้นมา แล้วก็ลืมไปว่าอันนี้ตัวเองปรุงแต่งขึ้นมาเอง แล้วก็ไปคิดพอใจ ไม่พอใจแล้วก็บ้าอยู่คนเดียว แต่นี้มันไม่ใช่บ้าคนเดียว มันบ้าทั้งสังคม เพราะมันคิดเป็นจริงเป็นจังไปหมด มันเลยต้องทุกข์กันงัย

เพราะฉะนั้นถ้าจะพูดว่า จะเอาเก่งทางโลก ไม่ต้องเก่งทางโลก เอาให้ “ไม่ทุกข์เก่งกว่า” พี่ไม่เห็นคนเก่งๆในโลกคนไหน ไม่ว่าจะเป็นบิล เกตต์, วอเรน บัพเฟต หรือว่าใครก็ได้ที่คนในโลกยกย่องว่าเก่งในโลกนี้ แล้วจะไม่ทุกข์เลย เก่งแค่ไหนก็ยังทุกข์เหมือนกัน ยังมีความกังวล ยังมีความกลัว ยังมีความต้องการความปลอดภัยเหมือนกัน

เราโตขึ้นมา บางคนก็สอนบอกให้เราต้องเป็นสส. ต้องเป็นรัฐมนตรี เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องเก่งเหมือนเจ้าสัวซีพี ต้องเก่งเหมือนบิล เกตต์ ต้องเก่งเหมือนสตีฟ จ็อบ แต่พระพุทธเจ้านี่ เป็นศาสดาเอกของโลกไม่เห็นมีพ่อแม่คนไหนบอกให้เก่งเหมือนพระพุทธเจ้าเลย ไม่มีใครยอมให้เก่งเหมือนพระพุทธเจ้าเลยซักคนเดียว เพราะอะไรรู้มั้ย … เพราะการเก่งแบบพระพุทธเจ้ามันทวนกระแสโลก มันทวนกระแสกิเลส แต่เก่งแบบคนดังๆในโลกนี้ มันสนองกิเลส คนเค้าเลยชอบ เค้าเลยอยากให้เราเก่งแบบนั้น เพราะมันสนองกิเลสของเค้าเอง สนองกิเลส สนองอัตตา สนองค่านิยมในสังคมที่เชื่อว่าเป็นแบบนั้น

ตอนที่ 10 อิสระ

พี่เคยพูดเสมอๆว่า ความจริงแล้วคนเราในโลกนี้ไม่เคยมีชีวิตเป็นของตัวเอง เรามีชีวิตบนลมปากของคนอื่นตลอดเวลา เราเลยไม่เคยมีความสุข แต่พี่จะบอกสิ่งที่ซับซ้อนกว่านั้น ก็คือว่า บางคนจะพูดว่า ถ้าอย่างงั้นต้องมีชีวิตที่ตัวเองชอบใช่มั๊ย? คำตอบคือยังไม่ใช่ เพราะว่าการมีชีวิตที่ตัวเองชอบ ถึงแม้เราจะไม่แคร์คนอื่นเลยแต่เราก็ยังทุกข์อยู่ เรายังสนองกิเลสตัวเองอยู่ เรายังเป็นทาส เมื่อก่อนเราเป็นทาสของเสียงคนอื่น ทาสของสังคม แต่พอเรามีชีวิตเป็นของตัวเอง เราก็ยังเป็นทาสของกิเลสอยู่

เพราะฉะนั้นสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน อันนี้เป็นสิ่งที่เป็น “อิสระ” Free (อิสระ) จากทุกสิ่ง Free (อิสระ) จากความเป็นตัวเป็นตน ความเห็นผิด … นี่คือทาง

ทุกคนทำทุกอย่างในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นคนดี คนเลว ทุกคนทำทุกอย่างเพื่อจะได้ความสุข แต่ทุกคนไปผิดทางหมด เพราะมันมีทางเดียว มันต้อง“จุดความสว่างขึ้นมา ความมืดมันจะหายไปเอง” มันมีทางเดียวคือทางนี้ แต่คนส่วนใหญ่มักจะไปไล่ความมืด มักจะวิ่งหนีความมืด มักจะไปทำความเข้าใจความมืด…

 

Camouflage

29–Mar-15

 

ถอดไฟล์เสียงจาก YouTube : https://youtu.be/Nl39Njwjqwo

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของคุณ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

#5ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com

5)Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c