8.ก่อนจะถึงความเป็นเอง

ตอนที่ 1 เห็นอยู่ … แต่ไม่ต้องสนใจ

 

สมมติว่ามีผู้ชายมาจีบเรานี่ แต่จริงๆรู้ว่าไอนี้มันใช้ไม่ได้ ไอนี้มันเป็นคนใช้ไม่ได้ ไม่เอามันหรอกแน่นอน แต่มันก็ตามตื้อ…มันตามตื้อมันก็เดินอยู่ข้างๆเราเนี่ย คือมันอยู่ข้างๆเราตลอด

แล้วถามว่าเราเห็นมันมั๊ย ที่มันอยู่ข้างๆอ่ะ เราก็เห็น…ใช่มั๊ย แต่เราไม่สนใจมัน…ใช่มั๊ย

เราทำแบบนั้นกับกิเลสเหมือนกัน คือเราเห็นว่ามันอยู่ข้างๆเรานั่นแหละ แต่เราไม่สนใจมัน  ไม่ใช่เราหนีมันนะ เราไม่สนใจมันเฉยๆ แต่เราก็เห็นอยู่ ว่ามันมีอยู่

แล้วพอเราไม่สนใจมัน ถ้าเป็นผู้ชายจะเป็นอย่างไร เค้าก็เลิกตื้อใช่มั๊ย เค้าก็คงไปจีบคนอื่นดีกว่า ใช่มั๊ย กิเลส(ก็)เหมือนกัน “พอเราไม่ไปเติมเชื้อให้มัน คือเราไม่ต่อความคิด ต่ออะไรให้กับกิเลสนั้น มันก็ดับเอง” นี่แหละมันเหมือนกัน

เพราะฉะนั้นเรารู้ทุกสิ่งที่มันอยู่ เกิดขึ้น แต่เราไม่ต้องสนใจมัน พอเราไม่สนใจมัน มันก็ดับให้เราเห็นต่อหน้าต่อตาเลย

เราก็จะได้เข้าใจคำสอนพระพุทธเจ้าที่ว่า ทุกสิ่งเกิดแต่เหตุ ดับไปเมื่อเหตุหมดไป…นี่ชัดเจน ครูบาอาจารย์จะบอกว่าอะไร ก็จะบอกว่าอันนี้คือวิปัสสนา ใช่มั๊ย

แต่เราไม่ได้ทำอะไรเลย หน้าที่เราก็คือ “รู้สึกตัว พ้นออกจากโลกของความคิดให้ได้” แค่นั้น “แล้วเราก็ไม่หนี แล้วเราก็ไม่สู้

 

ตอนที่ 2 หน้าที่เราคืออะไร ?

 

จิตนี้เค้าจะเห็น เค้าจะเรียนรู้ของเค้าเอง จากการที่เราเห็นสภาวะใดๆที่มันผ่านมาแล้วก็ผ่านไป สิ่งที่เราทำอย่างเดียวคือ :

  • รู้” อะไรเกิดขึ้นก็รู้
  • แล้วก็ “กลับมารู้สึกตัว
  • แล้วก็ “ไม่ตามความคิดไป
  • แล้วถ้ามันเป็นปกติแล้ว เราก็รู้สึกอยู่กับเนื้ออยู่กับตัวดี แต่ไม่แน่ใจว่าหลงไปรึเปล่า ก็กลับมา “เช็คอารมณ์บ่อยๆ” ว่า ปกติมั๊ย อ่อ ปกติอยู่ แค่นั้น

คือเรารู้แต่อาการมันก็พอ ที่ผมบอกว่า รู้ว่ามันไม่ปกติแล้ว อันนี้มีความกระเพื่อมหวั่นไหวเกิดขึ้น ความกระเพื่อมหวั่นไหวนี้มันเกิดจากความปรุงแต่งของจิต เกิดการจับยึดของสิ่งที่มากระทบแล้ว

เพราะฉะนั้นเรามีหน้าที่ที่ต้องทำอะไร?  เราก็กลับมารู้สึกตัว แล้วเดี๋ยวมันก็ปล่อยเอง

เราไม่ใช่มีหน้าที่ปล่อยด้วย ปล่อยนี้ไม่ใช่หน้าที่เรา ความรู้สึกตัวนี่แหละจะพาให้เกิดการปล่อยเอง”

 

ตอนที่ 3 ศึกษาให้ถูกก่อน

 

คำอธิบายมากมายของคนที่สอนปฏิบัติธรรมนี้ มันเป็นคำอธิบายที่บางทีมันซับซ้อนเกินไป จนคนก็สับสนว่าจะต้องทำนี่ ต้องทำโน่น ต้องรู้นี่ ต้องรู้นั่น ต้องอย่างงี้ ต้องอย่างงั้น อะไรอย่างนี้

มันก็เหมือนดาบสองคม มันทำให้เข้าใจทางความคิดมากขึ้น แต่ว่าพอปฏิบัติจริงก็สับสน

ถึงว่าไง ว่าการปฏิบัติธรรมนี่ ถ้ามันเริ่มถูก คือหมายถึงว่าศึกษามาดีแล้ว รู้ว่าต้องไปอย่างไรแล้ว แล้วค่อยปฏิบัติ อันนี้ก็จะถือว่าเพอร์เฟคที่สุด แต่ต้องเข้าใจว่าไม่ใช่ทุกคนจะเจอครูบาอาจารย์ หรือผู้แนะนำที่จะสามารถจะแนะนำตัวเองได้พอดีพอดี

ที่รู้สึกว่าเข้าใจแล้ว(จากการฟังYouTube) ลองไปฟังใหม่แล้วต้องปฏิบัติธรรมด้วย อันนี้ก็จะเข้าใจใหม่อีก

สิ่งที่ผมพูดนี้เป็นสิ่งที่เป็นความรู้ของผมที่พูดออกมา อันนี้เป็นความรู้จากนามธรรม ผมพูดมาสู่เป็นภาษา ไม่ใช่เรื่องที่จะเข้าใจง่ายๆ ในครั้งเดียว เพราะฉะนั้นการฟังบ่อยๆ แล้วก็ปฏิบัติธรรมไปด้วย

“จิตที่ยกระดับขึ้นจะเข้าใจสิ่งที่ผมพูดลึกซึ้งขึ้นไปเรื่อยๆเอง”

 

ตอนที่ 4 จุดเริ่มต้นต้องถูกต้อง

 

ความตั้งมั่นเป็นกลางนี้มันเกิดขึ้นได้อย่างไร…มันเกิดขึ้นได้ก็เพราะว่า เราฝึกที่จะรู้สึกตัวก่อน ฝึกที่จะพ้นออกจากโลกของความคิดให้ได้ก่อน อย่างต่อเนื่อง อย่างเป็นนิสัย สม่ำเสมอ แล้วสภาวะอะไรมันเกิดขึ้นมา เราก็เห็นมันเฉยๆ ได้จริง แต่ว่าถ้าเรายังไม่มีพื้นฐานตรงนี้เลย เราเห็นอะไรเราก็เป็นไปกับมันเลยทันที

เพราะฉะนั้น “จุดเริ่มต้องถูกต้องก่อน” แต่คนส่วนใหญ่ที่พลาด ก็เพราะว่าเค้ายังไม่ได้เริ่มตรงนี้เลย แต่เค้าไปเอาตรงนั้นเลย เค้าข้ามขั้นตอนไป เค้ายังไม่ได้มีสภาพจิตที่พร้อมที่จะไปเห็นอะไรแบบนั้น พอเค้ายังไม่ได้เตรียมจิตให้มันพร้อม เค้าก็ไปดูเลย เค้าก็เสร็จหมด

การปฏิบัติธรรมมันประณีต มันละเอียดตรงนี้แหละ เป็นสิ่งที่ผมเข้าใจว่าตอนนี้นักปฏิบัตินี่พลาดขั้นตอนนี้ไปกันเยอะมาก “มันดูเหมือนไม่ได้ดู!”

ทุกคนรู้สิ่งนี้ได้ เพียงแต่ว่าขอให้เริ่มเดินให้ถูก

 

ตอนที่ 5 ความเข้าใจเกิดขึ้นจากประสบการณ์ตรง

 

การปฏิบัติธรรมนี้ อย่างเพิ่งคิดว่าเราจะสามารถเข้าใจอะไรได้ทุกอย่างภายในการคุยครั้งเดียว ฟังครั้งเดียว “ความเข้าใจทุกอย่างจะเกิดขึ้นเองจากประสบการณ์ตรง” ไม่ใช่จากการฟัง ไม่ใช่จากการอ่าน  ไม่ใช่จากการที่เราไปเชื่ออะไรอะไรมา มันจะเกิดความเข้าใจลึกซึ้งจากประสบการณ์ตรงของตัวเอง

เพราะฉะนั้นในระหว่างปฏิบัติธรรมนี้ เรามีความจำเป็นที่จะต้องฟังธรรม ต้องสนทนาธรรม เหล่านี้จะช่วย

คนที่เป็นผู้รู้ คนที่เป็นครูบาอาจารย์จะช่วยเขี่ยเรา บางทีเราติดนี่อยู่ ติดนั่นอยู่ ติดสงสัยอยู่ จะช่วยเขี่ยเราหลุดออกมา เราจะไม่ติดนาน อย่างนี้หละ ครูบาอาจารย์ก็จะมีประโยชน์ต่อเราแบบนี้

 

ตอนที่ 6 ทุกขณะสมบูรณ์แบบ

 

อย่าตัดสินตัวเอง” ไม่ว่าสภาวะอะไรเกิดขึ้น แล้วเราก็ไปตัดสินตัวเองแล้วว่าเราแย่ ให้รู้ทันเลยว่ากำลังตัดสินตัวเองแล้ว

ไม่มีการตัดสินอะไรทั้งนั้น การตัดสินเมื่อไรคือเท่ากับมีตัวเราเข้าไปแล้ว เพราะเราไม่พอใจกับสภาวะนั้น เราเลยตัดสิน นั่นตัวเราเกิดขึ้นอีกแล้ว เราต้องรู้ทันว่าตอนนี้ตัวเราเกิดขึ้นอีกแล้ว เราไปตัดสินอีกแล้ว “ทุกขณะสมบูรณ์แบบอยู่แล้ว

ทุกขณะสมบูรณ์แบบ ในขณะนั้นๆเรามีอวิชชาเท่านั้น เพราะฉะนั้นเราต้องเป็นแบบนั้น เราต้องเข้าไปในอารมณ์นั้น สมบูรณ์แบบแล้วเพราะเราเป็นแบบนั้นตอนนั้น

ความสมบูรณ์แบบนั้นกำลังแสดงให้เราเห็นว่า ทุกอย่างเป็นปัจจัยทำให้เกิดผลแบบนี้ เราต้องยอมรับมันว่า ตอนนี้เป็นแบบนี้ “ไม่ใช่ตัดสิน เราต้องยอมรับว่าตอนนี้เป็นแบบนี้

เหมือนใครเค้าจะมาว่าเราว่า ปฏิบัติธรรมอย่างไร ยังโกรธเหมือนเดิม สมมตินะ เราต้องยอมรับว่า ใช่เราเป็นแบบนั้น ก็ตอนนี้เราเป็นแบบนี้อยู่ เราเป็นอนุบาลอยู่ เราไม่ใช่เข้าไปวัดวันแรกเราต้องเป็นด็อกเตอร์เลย เป็นพระอรหันต์เลย มันไม่ใช่แบบนั้น

เราอยู่บนเส้นทางของการเรียนรู้ เราอยู่บนเส้นทางของการถอดถอนความเห็นผิดอยู่ เพราะฉะนั้นเราต้องให้เวลาตัวเอง อย่าตัดสินตัวเอง ให้เวลาตัวเองที่จะดำเนินอยู่บนเส้นทางของมรรค

เมตตาตัวเอง……แบบนั้น

 

ตอนที่ 7 ความเป็นเอง

 

ทุกอย่างที่ผมพูดในYouTubeหรือที่พูดในวันนี้ มันจะเกิด “ความเป็นเอง เป็นเอง เป็นเอง เป็นเอง” มากขึ้นเรื่อยๆ ต่อไปจะรู้สึกว่ามันกระทบแต่มันเข้าไปเอานิดนึงแล้วมันก็ปล่อย มันก็ “กลับมารู้สึกตัวเอง” อีกเหมือนกัน

สภาวะบางที เคยเจอคนนี้ มันเข้ามา ก็โกรธระดับสิบ วันนี้เหลือระดับแปดสมมติ หรือต้องโกรธนานๆสิบนาที แต่เอ๊ะ ทำไมเดี๋ยวนี้โกรธนิดนึงแล้วก็ โอ้ว ไม่เอาแล้ว นี่มันจะเป็นเอง

เราจะรู้สึกเองว่าเราก้าวหน้า จากนี่แหละ จากการที่เราเจอสิ่งที่เราเคยกระทบแล้วมันกระเทือนแบบนี้ แล้วทำไมมันไม่เหมือนเดิม นี่มันจะเป็นแบบนั้น

แต่ทั้งหมดทั้งสิ้นที่ผมพูด ก็ “อย่าคาดหวัง” ไม่มีการคาดหวังอะไรทั้งนั้น เรามีหน้าที่สร้างเหตุอย่างเดียว อะไรจะเกิดเป็นเรื่องของเหตุที่ทำ ผลนี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามเหตุ เราไม่ต้องคาดหวังอะไร ถ้ามันยังไม่เกิดอะไร ก็คือยังไม่เกิดอะไร เราไม่ต้องไปตัดสินอะไร…แค่นั้น

ชีวิตเราก็สบายขึ้นเยอะแล้วถ้าเราไม่ตัดสินอะไร ถ้าเราไม่ตัดสินอะไร สบายมั๊ย สบายจะตาย ทุกวันนี้เราทุกข์เพราะเราตัดสิน เราตัดสินคนโน้น เราตัดสินคนนี้ เราตัดสินตัวเอง เราไม่ได้เห็นเฉยๆ “การไม่ตัดสิน ก็เป็นเองอีกอยู่ดี” เป็นเองอีกเหมือนกัน ไม่ใช่ว่า เราจะ อ่อ…เราไม่ตัดสิน ไม่ใช่แบบนั้น ….. มันเป็นเอง

เพราะฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างที่เวลาฟังเทศน์ฟังธรรมฟังครูบาอาจารย์ ทุกอย่างส่วนใหญ่เป็นผลหมด ไม่ใช่เราไปทำขึ้นมา มันเป็นผลจากที่เราสร้างเหตุแบบนี้แหละ เพราะฉะนั้นรู้หน้าที่ อันนี้เรามีหน้าที่สร้างเหตุที่ถูกต้องแค่นั้น

 

ตอนที่ 8 ความประมาท

 

ความประมาทในการที่เราตามความคิดไป เช่น เอ้ย…อันนี้นิดเดียว ขอคิดนิดนึงเหอะ ไม่เป็นไรหรอก เพราะเราก็ปฏิบัติมา วันนี้ไม่ค่อยคิดอะไรแล้ว จะคิดไอนี่หน่อย ขอคิดหน่อยนึง คงไม่เป็นไรหรอก

อันนี้แหละที่เป็นความประมาท เป็นความประมาทที่จะทำให้อนุสัยเดิมๆนี่มันค้างอยู่ มันไม่หมดออกไปซะทีนึง พอมันค้างอยู่อย่างนั้นเราแล้วก็เข้าไปให้อาหารมันอีก เราก็คล้ายๆโดนหลอก

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าเลยมีโอวาทครั้งสุดท้ายใช่มั๊ย ท่านบอกว่าจงยังชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท

เล็กๆน้อยๆเหล่านี้เป็นความประมาททั้งนั้น มันจะทำให้เราช้าลง มันจะทำให้เราติดอยู่ ถึงแม้มันดูเหมือนจะติดนิดเดียว ติดไม่นาน หรือว่านานๆที ที่จะเข้าไปทำแบบนั้น (แต่)ทั้งหมดจะพอกพูนอนุสัยที่พร้อมจะตามกิเลสไปแม้ว่ามันจะนิดเดียวก็ตาม

เพราะฉะนั้นตรงนี้สำคัญ ต้องอย่าประมาท อันนี้เป็นจุดอ่อนของนักปฏิบัติที่คิดว่าตัวเองโอเคแล้ว ตรงนี้เป็นกับดักสำคัญเลย “เพราะว่าประมาทเลยไปต่อไม่ได้

 

Camouflage

24 – Sep – 15

ถอดไฟล์เสียงจาก YouTube : https://youtu.be/pN0dBVR9kfw

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของคุณ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com

5) Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c