7.”รู้” บนวิถีแห่งสัมมา

ตอนที่ 1 อุบายต่างแต่หลักต้องถูก

การที่เราจะพูดธรรมะออกมาได้จริงๆนี้ เราต้องพูดออกมาจากใจตัวเอง เพราะฉะนั้นธรรมะที่พูดตามคนอื่น จะเป็นอีกแบบนึง ธรรมะที่พูดจากใจตัวเอง มันจะเป็นภาษาของตัวเอง

แต่ถ้าคนฟังเป็น คนปฏิบัติธรรม แล้วมีประสบการณ์ ก็สามารถเข้าใจได้ว่ามันก็สิ่งเดียวกันแต่คนละภาษาเฉยๆ

คล้ายๆองค์แต่ละองค์ จะมีประสบการณ์ มีอุบาย มีวิธีการที่จริงๆ แต่ละองค์ก็ไม่เหมือนกัน(ใน)ทางที่มา บางองค์ต้องไปอดข้าว บางองค์ต้องไปทรมานตัวเอง

อย่างสายที่ผมพูดให้ฟังนี่ เป็นสายสุขาปฏิปทาหมด อันนี้ไม่ต้องไปทรมานทรกรรมอะไรตัวเอง เพราะฉะนั้น อุบายใครก็เป็นอุบายคนนั้น ไม่เกี่ยว ไม่ใช่ว่าทุกคนต้องทำแบบเดียวกัน “แต่หลักการปฏิบัติธรรม มันต้องถูกก่อน

 

ตอนที่ 2 ที่ว่ารู้…รู้จริงรึเปล่า ?

เราจะเห็นคนที่ปฏิบัติธรรม เยอะๆแยะๆ ปฏิบัติมานานๆ แล้วรู้สึกว่ายังเหมือนเดิมตลอด เค้าก็รู้สึกว่าไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร รู้สึกว่าอะไรกระทบ…ก็กระเทือนเหมือนเดิม คนพวกนั้นจริงๆจะต้องสังเกตแล้วว่า ที่ทำอยู่นี่ทำถูกรึเปล่า เพราะว่าถ้าปฏิบัติธรรมมานาน แล้วไม่มีอะไรก้าวหน้าหรือไม่ได้อะไรเลย อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ต้องกลับไปมองตัวเองแล้วว่ากำลังทำอะไรอยู่ สิ่งที่ทำอยู่มันถูกมั๊ย

เดี๋ยวนี้ก็มีคำสอนเยอะ ถ้าเราจะถามนักปฏิบัติที่รู้จักก็ได้ ถามว่าปฏิบัติธรรมคือทำยังไง ทุกคนก็จะตอบเหมือนกันว่า  “รู้” ใช่มั๊ย “รู้อย่างที่มันเป็น” ทุกคนก็จะตอบเหมือนกันหมด

แต่ “รู้ที่ว่านี้มันรู้จริงรึเปล่า?” เหมือนถ้าไปถามคนข้างๆที่เค้าไม่ได้ปฏิบัติธรรม หรือถามเพื่อนที่ไม่ได้ปฏิบัติธรรม ไปถามเค้าว่า เวลาโกรธแล้วรู้มั๊ย ทุกคนก็จะตอบว่า รู้สิ! ทำไมจะไม่รู้…ใช่มั๊ย?

เราลองเทียบกับตัวเองว่าเวลาเราโกรธแล้วเรารู้นี้ มันต่างกันกับเค้ารู้รึเปล่า ถ้าไม่ต่างกันนี่ต้องสังวรนิดนึงแล้วว่า เอ๊ะ…ทำไมเราปฏิบัติธรรมแล้ว รู้กับเค้ากับรู้เรา ทำไมมันเหมือนกันเปี๊ยบเลย…ใช่มั๊ย?

เพราะว่าคนส่วนใหญ่ก่อนที่จะไปรู้นี่ “เค้าไม่ได้เตรียมจิต เรียกว่าไม่ได้ศึกษา

เตรียมจิตอย่างไร?  คนส่วนใหญ่ในโลกนี้ เค้าก็รู้เหมือนกัน ไม่ใช่เค้าไม่รู้ เค้าจะข้ามถนนเค้าก็รู้เหมือนกัน เค้าโกรธเค้าก็รู้เหมือนกัน เค้าดีใจเค้าก็รู้เหมือนกัน

คนปฏิบัติธรรมนี่มีความต่างของการรู้ ก็คือว่า “เรารู้บนพื้นฐานของความไม่มีตัวตน” แต่ไอที่เค้ารู้นี่ เค้ารู้บนพื้นฐานของความมีตัวเรา มีตัวตนเต็มๆเลย พอสภาวะอะไรมาเค้าก็บอกว่าเค้ารู้เหมือนกัน “แต่ว่าเค้าเข้าไปเป็นกับมันด้วย” เข้าไปอยู่ในอารมณ์ อารมณ์นั้นกลืนกินเค้าเข้าไปเรียบร้อยแล้ว แต่นักปฏิบัติเรา เรารู้บนพื้นฐานของความไม่มีตัวตน บนพื้นฐานของความว่าง บนพื้นฐานของความเป็นปกติ

 

ตอนที่ 3 รู้…อย่างไร ?

เราจะรู้บนพื้นฐานแบบนั้นได้อย่างไร? เราก็ต้องมี How to มีวิธีการก็คือ “เราก็ต้องฝึกจากความรู้สึกตัว” ผมพูดแบบนี้…ความรู้สึกตัวนี่ก็เป็นสิ่งที่ละเอียดอีก จะมีคนจะพูดในทางละเอียด เช่นว่า คนในโลกเค้าก็รู้สึกตัวกันอยู่ ไม่ใช่เค้าไม่รู้สึก ทำไมเค้าจะไม่รู้สึกตัว … ใช่มั๊ย … ก็เป็นแบบนั้นอีก

เพราะฉะนั้นความรู้สึกตัวของนักปฏิบัตินี่ “ขณะที่เรารู้สึกตัว เราไม่มีความคิด ขณะที่เรารู้สึกตัวนี้ เราอยู่บนพื้นฐานของความที่เราพ้นจากความปรุงแต่งทั้งปวง เราอยู่บนพื้นฐานของสภาวะแห่งความราบเรียบ แห่งความเงียบเชียบ อันนี้ก็ไม่มีอะไรเกิด ไม่มีอะไรกระเพื่อมหวั่นไหว บนความรู้สึกตัวนั้น

เหมือนถ้าผมบอกว่า ตอนนี้ลองนั่งสบายๆ ลองนั่งผ่อนคลายนั่งเฉยๆ เหมือนเราไปทำงานมาหรือเราไปออกกำลังกายมา แล้วเราก็พักเหนื่อย เรามานั่งเฉยๆ จากที่เคยกำลังฟุ้งซ่านอยู่นี้   สภาพสภาวะของจิตมันก็ค่อยผ่อนคลายใช่มั๊ย มันค่อยๆระงับลงใช่มั๊ย จนมันเงียบเชียบ นั่นแหละ แบบนั้นแหละคือมันปกติแล้ว

 

ตอนที่ 4 รู้จักบ่อยๆจนเป็นพื้นฐานของชีวิต

เราก็ต้อง “รู้จักสภาพสภาวะของความเป็นปกติแบบนั้นไว้   รู้จักมันบ่อยๆ”   คนที่ปฏิบัติธรรมใหม่ๆนี่ เราเลยต้องมีการทำในรูปแบบ เพราะว่าเราต้องการให้เกิดการรู้จักสภาพสภาวะนี้ให้มันบ่อย ให้มันเคล้าเคลียกับสภาพสภาวะแบบนี้

พอเราทำในรูปแบบเป็นประจำทุกวัน   มีวินัยทำทุกวัน บ่อยเข้า บ่อยเข้า บ่อยเข้า ความเป็นปกติที่เรารู้จักมันนี้(เหมือน)จิตมันได้รู้จักของดี  ได้รู้จักของที่สะอาดสะอ้าน ได้รู้จักของที่ประณีต มันก็อยากจะรู้จักทั้งวันนั่นแหละ แต่เราต้องคล้ายๆฝึกมันก่อนให้มัน เฮ้ย… รู้จักไว้นะ

เหมือนกับเราสอนให้รู้จักกับคนๆนึง เราก็เริ่มรู้จักเค้าทีละนิดทีละนิดทีละนิด พอเรารู้จักว่าเค้าเป็นคนดีนะ เค้าเป็นคนน่ารัก เค้าเป็นคนนิสัยดีนี่ เราก็อยากรู้จักเค้ามากกว่านี้ เราอยากจะอยู่กับเค้าเลยว่าง่ายๆ … ใช่มั๊ย นั่นแหละพอเรารู้จักความเป็นปกติได้เรื่อยๆ บ่อยๆแบบนั้น  จิตมันอัตโนมัติเอง

ในชีวิตประจำวันนี้ มันก็จะเริ่มหันกลับมาที่จะชำเลืองดูจิตบ่อยๆว่า ปกติอยู่มั๊ย พอมันมีอารมณ์กระทบแทนที่มันจะวิ่งพรวดเข้าไปกระทบ มันก็คล้ายๆ(ว่า)อันนี้ก็ไม่อยากจะเข้าไปแบบนั้น มันจะกลับมาอยู่กับความเป็นปกติดีกว่า ลักษณะนี้แหละที่เรียกว่าจิตก็มีกำลังแล้ว   ลักษณะนี้ก็เป็นเรียกว่าจิตมีสัมมาสมาธิแล้ว คือจิตมันไม่เอากับความปรุงแต่ง มันก็จะอยู่กับความเป็นปกตินี้

 

ตอนที่ 5 เริ่มให้ถูก … แล้วทุกอย่างจะเป็นความเป็นเอง

เพราะฉะนั้นพอเรามีความเป็นปกตินี้อยู่เป็นพื้นฐานของชีวิตเรา อะไรมากระทบ อะไรเข้ามาในชีวิตเรา ทุกอย่างก็จะเข้ามา แล้วเราก็จะเห็นมันผ่านเลนส์ของความไม่มีตัวเรา “พอเรามีพื้นฐานของความเป็นปกติ ก็คือผ่านเลนส์ของความไม่มีตัวเรา มันก็ไม่มีการเข้าไปจับไปยึดอารมณ์เหล่านั้นเอง เราไม่ได้ต้องว่าไปผลักไสไล่ส่งมันเลย หรือถ้ามันจะเอามันก็เอานิดเดียว มันก็ปล่อยแล้ว มันไม่เอาแล้ว

ทุกอย่างจะเป็นความเป็นเองโดยที่เราไม่ต้องไป “กด” “ข่ม” “บังคับ” ”ห้าม” ไม่มีแบบนั้นเลย แต่ถ้าเราไม่ได้มีความเป็นปกตินี้เป็นพื้นฐาน อารมณ์อะไรเข้ามา แล้วเราก็บอกว่าเรารู้  แต่มันรู้บนความมืด ความมีตัวตนนี้เป็นความมืด เรารู้อยู่บนความมืดตลอดทาง ต่อให้เรารู้ไปอีกสิบปียี่สิบปี มันก็ยังอยู่ในความมืดอยู่ดี มันจะออกมาเจอความสว่างไม่ได้เลย

แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เราเริ่มที่จะรู้จักความเป็นปกตินี้ไว้ และรู้จักมันจนเป็นพื้นฐานของชีวิต  ก้าวแรกที่เราเริ่มรู้จักความเป็นปกติ พ้นจากความปรุงแต่ง เราเริ่มรู้จักความไม่มีตัวตนแล้ว ก้าวแรกของแสงสว่างที่เกิดขึ้น จะพาเราไปสู่ก้าวต่อไปของแสงสว่างที่ต่อเนื่องขึ้นไปอีก

จนในที่สุดเราจะไปถึงสุดทางก็คือ เราเป็นหนึ่งเดียวกับทุกสิ่งทุกอย่าง เราก็เป็น…เป็นก็คือไม่เป็นอะไรเลย เป็นความไม่เป็นอะไรเลย เราเป็นหนึ่งเดียวกับทุกสิ่งทุกอย่างนั่นแหละที่เค้าว่าหลุดพ้น หลุดพ้นจากทุกสิ่งทุกอย่าง

เริ่มจากก้าวเล็กๆ…เพราะฉะนั้นการเริ่มให้ถูก เป็นสิ่งสำคัญมาก

 

ตอนที่ 6 สมาธิบนความตื่นรู้

ขณะที่เรารู้สึกตัวขึ้นมาหนึ่งขณะนี่ ในขณะนั้นอันนี้เป็นสัมมาสติแล้ว ถ้าผมจะถามว่าตอนนี้ตั้งแต่ปฏิบัติธรรมมา รู้สึกมั๊ยว่าเรามีความอยู่กับเนื้อกับตัวมากกว่าสมัยก่อนที่เรามีแต่หลงไปในโลก หลงไปในความคิดทั้งวัน การที่เรามีมากขึ้นนี่แหละ สัมมาสติกำลังก่อตัวเป็นสัมมาสมาธิอยู่ อยู่นิดหน่อยแล้ว

และถ้าเรามีมันได้อย่างต่อเนื่องทั้งวัน  หมายถึงว่าหลงน้อยมาก อยู่กับเนื้อกับตัวทั้งวัน  วันนี้…สมมุติกลับมาทบทวนว่าแทบจะไม่หลงเลยก็รู้สึกว่าอยู่กับเนื้อกับตัวตลอด  จะพูดจะคุยจะอะไรอยู่ก็รู้สึกไม่ได้หลงไปกับกิจกรรมนั้นๆจนลืมเนื้อลืมตัวไป ไม่ได้เป็นแบบนั้น อันนี้กำลังมาถูกทางแล้ว อันนี้แหละสมาธิกำลังเกิดขึ้น เป็นสมาธิที่เราเรียกว่าสัมมาสมาธิ

สัมมาสมาธินี้จะพาเราไปสู่อริยมรรคได้ เราไม่ต้องไปกังวลเรื่องสมถะวิปัสสนาเลยด้วยซ้ำ  เพราะในขณะที่เรามีสัมมาสมาธินี้ สัมมาสมาธิ เป็นสมาธิของความตื่นรู้

คำสอน หรือคำพูดที่ว่าถ้าไม่เห็นไตรลักษณ์ก็ไม่ได้เจริญวิปัสสนานะ   ไม่ต้องกลัวเลยเพราะว่าสัมมาสมาธิอันนี้เป็นสมาธิบนความตื่นรู้อยู่แล้ว   บนความตื่นรู้นี้เราก็เห็นทุกสิ่งทุกอย่าง   เราไม่ใช่ว่าไปหลบอยู่ที่ไหน เราไม่ได้หลบเราก็เห็นทุกสิ่งทุกอย่าง

แต่เราเห็นบนพื้นฐานของความที่ไม่มีตัวตน ไม่มีตัวเรา เพราะพื้นฐานของจิตเรานั้นเป็นปกติอยู่   ไม่ได้กระเพื่อมหวั่นไหว ถึงมันกระเพื่อม เราก็รู้ทันว่า อ้อ…ตอนนี้จิตไม่ปกติแล้ว

จริงๆเราดูแค่คู่เดียวก็พอแล้ว ปกติกับไม่ปกติ  พอไม่ปกติ เราก็รู้ว่า โอ้…ไม่ปกติแล้ว  พอมันไม่ปกติแล้วเราจะทำยังไง?

เมื่อก่อนเราก็เข้าไปอยู่กับมันเลย เพราะว่าเราโดนกิเลสลากไปง่าย พอเดี๋ยวนี้เราเริ่มอยู่กับเนื้อกับตัวมากขึ้น ความเป็นปกติเริ่มขยายแผ่มากขึ้น พอมันกระเพื่อมนิดนึง เราก็เห็นว่า อ้อ…ตอนนี้กระเพื่อมแล้ว พอมันเห็นปุ๊บมันก็ตัดความปรุงแต่ง  มันก็ไปต่อไม่ได้  คือกิเลสมันลากไปต่อไม่ได้

พอเราเห็นมันกระเพื่อมปุ๊บ เราเห็นว่าอ้อมันกระเพื่อมแล้ว  แล้วเราก็กลับมาอยู่กับความรู้สึกตัว(รู้สึก)การเคลื่อนไหวอะไรของเราก็ไปต่อ แต่เราไม่คิด เราไม่เข้าไปคิดอีกกับสิ่งที่มากระทบนั้น ถ้าเราเข้าไปคิดอีก เท่ากับเราตามไป… โดนกิเลสลากไปอีกแล้ว

 

ตอนที่ 7 หลงไปรึเปล่า ?

สุดท้ายมันจะเป็นธรรมชาติเอง ความรู้สึกนี้มันอยู่กับเนื้อกับตัว นักปฏิบัติในช่วงเริ่มต้นในช่วงกลาง พอมันเริ่มอยู่กับเนื้อกับตัว บางที่ไม่แน่ใจ เอ๊ะ…หลงไปรึเปล่า?

ถ้าความไม่แน่ใจแบบนั้นเกิดขึ้น อันดับแรกก็ “รู้ทันอันนี้ สงสัยเกิดขึ้นแล้ว” พอรู้ทันสงสัยเกิดขึ้น “ก็กลับมาดูอารมณ์เป็นยังไงตอนนี้ ปกติมั๊ย

สมมุติกลับมาเช็คอารมณ์  อ้อ…ปกติอยู่ไม่มีอะไร ไม่ได้หลงไปในอารมณ์ไหนไม่มี  ไม่ได้ว่ามีความรู้สึกหลงไปในความสุขหรือหดหู่ไปในความทุกข์ มันปกติเงียบเชียบเหมือนเดิม ไม่มีอะไร สภาวะนี้ยังอยู่ยังเห็นอยู่  นี่แปลว่าไม่ได้หลง แปลว่ายังปกติอยู่

นิสัยเรามันเคยหลงไง ทุกคนมันเคยหลง มันก็ชักแปลกใจ เอ๊ะ…ตกลงตอนนี้รู้ หรือหลงนะ เพราะฉะนั้นเมื่อไรที่เราสงสัย ไม่ต้องคิดว่าผิดปกตินะ นี้เป็นปกติของนักปฏิบัติทุกคน ให้เรารู้ทันว่า โอ้…เราสงสัย มีสงสัยเกิดขึ้นแล้วก็กลับมาดูอารมณ์ตัวเองปกติมั๊ย แค่นั้นเอง  ถ้ามันปกติอยู่ก็โอเค ถ้ามันไม่ปกติอยู่ก็โอเคเหมือนกัน ก็คือรู้ว่าไม่ปกติ เท่ากันหมด เพราะมันรู้เหมือนกัน  “รู้อะไรก็ได้ ถ้ารู้อยู่ ก็คือแปลว่าไม่ได้หลง

 

ตอนที่ 8 ความเฉยที่ไม่ใช่เวทนา

คือเฉยๆ นี่มันไม่ใช่เราเฉยๆ เหมือนผมกำลังพูดอยู่แบบนี้ ผมพูดอยู่นี่จะเป็นน้ำเสียงที่ดูกระตือรือร้นใช่มั๊ย Alert(ตื่นตัว)ที่จะบอกธรรมะ แต่ภายในผมนี้เฉยๆ

ความเฉยๆนี้ หรือความเป็นปกติ มันมีตลอดกัลปาวสาน มันไม่เคยเกิดขึ้น มันเลยไม่เคยดับไป มันมีอยู่แล้วของมัน

แต่ เราเฉยๆนี่มันเป็นเวทนา เราเฉยๆคือคล้ายๆซื่อบื้อ เฉยแบบซื่อบื้อ สมมุติว่ามีคนที่เราชอบเข้ามาคุยกับเรา(แต่)เราก็ทำอือ..อือ…เหมือนเป็นต้นไม้และก้อนหินอย่างนั้น   อันนี้เรียกว่าเราเฉยๆ…อันนี้ไม่ใช่…อันนี้เรากำลังทำเฉยอยู่

แต่ “ความเฉย หรือความเป็นปกติอันนี้ ไม่ใช่เวทนา” อันนี้เป็นการพยายามอธิบายสภาพสภาวะของพุทธะ หรือของนิพพาน  แต่พยายามอธิบายออกมาเป็นคำพูดให้คนเข้าใจได้ ที่ใกล้เคียงที่สุด ก็คือ “ปกติอยู่ ราบเรียบ เงียบเชียบอะไรแบบนั้น แต่ตื่นรู้” เป็น “ความตื่นรู้บนความเป็นปกติอยู่

เราจะมีสภาพสภาวะร่าเริงเหมือนคนในโลกทั่วไปเลย แต่ข้างในเรามีพื้นฐานอยู่บนความไม่มีตัวเรา พอมันไม่มีตัวเรามันก็ปกติอยู่ เพราะว่าถ้ามันมีตัวเราอยู่ มันจะเป็นพื้นฐานของตัณหา มันพร้อมจะกระเพื่อมหวั่นไหวตลอดเวลา

ยังไม่ต้องไปกังวลเรื่องว่าเป็นเราเฉยๆเป็นเวทนา หรือว่าเราเห็นความเป็นเฉยๆ หรือความเป็นปกติอยู่ ยังไม่ต้องเข้าไปสับสนกับอันนี้อย่าเพิ่ง วันนึงจะรู้เอง วันนึงที่เข้าใจอะไรลึกซึ้งมากขึ้นจะรู้เองว่ามันแตกต่างกันยังไง วันนี้อธิบายด้วยคำพูดมันยาก แล้วยิ่งจะไปคิดอีกเดี๋ยวจะยิ่งฟุ้งซ่านเลย อันนี้จะสับสนกว่าเดิม

 

Camouflage

24 – Sep – 15

 

ถอดไฟล์เสียงจาก YouTube :https://youtu.be/HrEEvvjModw

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของคุณ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com

5)Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c