4.ทำไม…ศีล

 

 

ตอนที่ 1 ศีล คือความเป็นปกติ

จะต้องเข้าใจว่าพระพุทธเจ้าสอนเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา พระพุทธเจ้าตั้งศีลขึ้นมาก็เพื่อให้เราเป็นปกติมากที่สุด “ศีลนี้ คือความเป็นปกติ

อย่างพระอริยะก็มี “อริยกันตศีล” คำว่าอริยกันตศีลนี้ก็คือว่ามีความเป็นปกติเป็นเครื่องอยู่เลย เพราะฉะนั้น“ศีลจึงเป็นจุดเริ่มต้น”ที่พระพุทธเจ้าพยายามที่จะบอกให้เราเข้าใกล้ความเป็นปกติมากที่สุด พระพุทธเจ้าจึงตั้งศีลขึ้นมา

ในขณะเดียวกัน“ศีลก็เป็นจุดสุดท้ายด้วย” ที่เรากำลังปฏิบัติเพื่อไปให้ถึงความเป็นปกติโดยสิ้นเชิงอย่างสิ้นเชิงโดยสมบูรณ์ ก็คือไม่มีความกระเพื่อมหวั่นไหวอีกแล้ว

เพราะฉะนั้นศีลหรือความเป็นปกติอันนี้สำคัญมาก มันเป็นการเริ่มต้นที่สำคัญมากในการปฏิบัติธรรม สมมติว่าเราพูดว่าใครไม่ดี นินทาใครอย่างนี้ (หรือ)ไม่ต้องนินทาหรอก เราไปพูดกับใครซักคนนึงแล้วเรารู้สึกว่าเราพูดไม่ดีกับเค้า ไปวิจารณ์เค้าหรือไปอะไรกับเค้า แล้วเราก็รู้สึกไม่สบายใจ กลัวเค้าจะ(รู้สึก)ไม่ดี อะไรอย่างนี้ เราก็จะรู้สึกว่าไม่สบายใจแล้ว นี่แหละเราไม่ปกติแล้ว

ทำไมเราไม่ปกติ…เพราะเราผิดศีลงัย

 

ตอนที่ 2 ดำเนินชีวิตบนความหลงผิด

พระพุทธเจ้าถึงตั้งศีลขึ้นมาเพื่อจะให้คน(มีความเป็น)ปกติ พอคนมีความเป็นปกติมากที่สุด การปฏิบัติก็คือการที่เรารู้จัก เราจะเห็นความเป็นปกตินั้น ในขณะนั้นเราจะรู้สึกว่าเราสบาย ถูกมั๊ย ไม่มีความร้อนรน ไม่มีความทุกข์อะไร ไม่มีความกังวลอะไร สภาวะแบบนั้นนี่แหละที่เค้าพูดกันว่าเป็นนิพพานระหว่างวัน (หรือ)นิพพานชิมลองอะไรก็ตามที ที่มันมีอยู่แล้วในคนทุกคน จริงๆแล้วมันมีอยู่แล้ว

แต่คนเรามัน “สูญเสียความเป็นปกติไปเพราะความคิด” พอมันมีความคิดปึ๊บมันก็จับความคิดนั้นว่าเป็นของเราด้วยมิจฉาทิฏฐิของตัวเอง แล้วมันก็ปรุงกิเลสตัณหาต่อ ความไม่เป็นปกติ(ก็)เกิดขึ้นตลอดวันตลอดคืนตลอดชีวิต โดยที่เราเข้าใจว่านี่แหละเป็นความปกติของมนุษย์ … จริงๆไม่ใช่

พวกเราเข้าใจผิดกันตลอดว่าสิ่งที่ผิดปกตินี้เข้าใจว่าเป็นความปกติ ทั้งที่มันคือหัวใจสำคัญของการที่จะไปอยู่เหนือโลกได้ คือ“ความเป็นปกติ พ้นออกจากโลกของความคิด” นี่แหละ

แต่เราถูกสอน สังคมสอนเราว่าเราต้องคิด แล้วพอเราคิดปุ๊บเราเลยเข้าใจว่า อ้อ การคิดนี่แหละเป็นเรื่องปกติ การที่เราต้องทุกข์ต้องสุข การที่มีกิเลส มีความอยาก มีความทะเยอทะยานที่จะ achieve target (สำเร็จตามเป้าหมาย)ของชีวิต นี่แหละเป็นเรื่องปกติ

เราเข้าใจผิดตลอดชีวิต เพราะสังคมสอนเรา อันนี้เป็นความผิดพลาดอันใหญ่หลวงของการเกิดมาของมวลมนุษยชาติเลย

แต่พระพุทธเจ้าก็บอกทางว่า ความเป็นปกติที่พ้นจากความคิดปรุงแต่งนี้เป็นกุญแจดอกสำคัญ

 

ตอนที่ 3 เราจะปกติได้อย่างไร

เราจะปกติได้อย่างไร ก็คือ ศีล

พอมีศีลปุ๊บเราไม่ทำผิด 5ข้อนี่ เราก็(มีความเป็น)ปกติขึ้นเยอะแล้ว ถูกมั๊ย แต่ทีนี้ว่าเรายังมีความคิดอยู่เยอะอยู่ด้วย(เพราะ)จิตนี้มีหน้าที่คิด

เราจะทำอย่างไรให้พ้นจากความคิด เพราะเมื่อไหร่เราคิดนี่เราก็ไม่ปกติเหมือนกัน

การที่เราจะพ้นจากความคิดได้ก็คือ “เรารู้สึกตัว” เมื่อไหร่เรารู้สึกตัว เราก็พ้นออกจากโลกของความคิด ความเป็นปกตินี้เกิดขึ้นแล้วนิดนึง พอเรารู้สึกตัวให้ต่อเนื่อง ความเป็นปกติก็ต่อเนื่อง แล้วจิตจะเคล้าเคลียคุ้นเคยในสภาวะปกตินั้น…..อ๋อในสภาวะปกตินี้ ไม่มีความคิด

อันนี้เป็นสภาวะเรียบๆ เฉยๆ เป็นจิตที่ไม่มีความดิ้นรน ไม่มีความร้อนรน อะไรเลย พอจิตมันรู้จัก เหมือนจิตมันอยู่ในความผิดปกติเหมือนอยู่ในน้ำคลำ อยู่ในสลัมมานาน พอมันได้มาอยู่คฤหาสน์ ได้อาบน้ำสะอาดๆ มันจะรู้ความแตกต่างแล้ว จิตมันจะรู้เองว่า อ้าว อันนี้มันดีกว่านี่หน่า ไอ้การที่ไม่ต้องคิดอะไร การที่จิตมันเป็นปกติดีมันดีกว่านี่หน่า นั่นแหละ กว่าจิตจะรู้แบบนี้ได้หนะ ก็มาจากการที่เราฝึกมัน ฝึกมันผ่านความรู้สึกตัวนี่แหละ

 

ตอนที่ 4 ไร้นิยามทั้งในเบื้องต้น และเบื้องปลาย

ความรู้สึกตัว ในสภาวะเป็นปกติหรือที่เรียกว่าพุทธะ หรือที่เรียกว่านิพพาน หรือที่เรียกว่าสุญญตา ลองนิยามนิพพาน สุญญตา ความว่าง สิ่งเหล่านี้มีนิยามอย่างนึง ที่เหมือนกันคือ “นิยามไม่ได้ มันไม่มีนิยาม” อันนี้คือจุดสุดท้าย(มัน)เหมือนกัน

ทำไมความรู้สึกตัวมันถึงนำพาเราไปถึงจุดนี้ได้?ความรู้สึกนี้ให้นิยามความรู้สึกตัว พูดได้มั๊ย ความรู้สึกตัวคืออะไร? พูดไม่ได้เหมือนกัน มันอธิบายไม่ได้ มันเป็นสิ่งที่“ชี้ให้เห็นได้อย่างเดียว

เช่นบอกว่า อ้าว…ลองหลับตา แล้วยกมือขึ้น รู้สึกมั๊ยว่ามือมันเคลื่อน อะไรอย่างนี้ พอบอกว่าหลับตาแล้วยกมือขึ้น รู้สึกมั๊ยมือมันเคลื่อนนี่ คนนั้นจะรู้สึก รู้ได้ทันทีเลยว่า อ๋อ…ความรู้สึกตัวคืออะไร รู้แล้ว เข้าใจมั๊ย แต่จะให้พูด เขียนเป็นคำพูด นิยามของมัน เขียนไม่ได้

เพราะฉะนั้นทางเข้าไปสู่สุญญตา นิพพาน หรืออะไรก็ตามที่มันไม่มีนิยาม มันเข้าทางเดียวกัน เข้าผ่านความรู้สึกตัวนี่แหละ เพราะในความรู้สึกตัวมันไม่มีนิยามเหมือนกัน ถ้าเข้าทางอื่นมันก็เข้าไปไม่ถึงทางนี้ เพราะมันเข้าคนละประตู

เพราะในความรู้สึกตัวเป็นสิ่งเดียวที่ไม่มีความคิดในนั้น เพราะมันนิยามไม่ได้ ถูกมั๊ย ถ้าเรานิยามมันได้แปลว่ามีความคิดเข้าไปในความรู้สึกตัว แต่จริงๆ“ความรู้สึกตัวที่บริสุทธิ์มันนิยามไม่ได้” ต่อให้พยายามอธิบายก็อธิบายไม่ได้ มีแต่ชี้ให้เห็นได้อย่างเดียว

เพราะฉะนั้นมันบริสุทธิ์มันเป็นสิ่งเดียวกันกับสุญญตา เป็นสิ่งเดียวกับนิพพาน แต่เพียงเพราะว่าพวกเราเห็นว่ามันเป็นสิ่งไร้ค่า ไม่สนใจมัน เราสนใจว่าความคิดเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เราเลยลืมมันไป

 

ตอนที่ 5 ถ้ายังไม่ปกติ ก็เป็นทางไม่ได้

หลักสำคัญก็คือว่า“เราต้องเดินผ่านความเป็นปกตินี่แหละ” เราไม่ใช่ว่าไปใช้ความคิดโน้นนี่นั่น มันเดินผ่านความเป็นปกติที่ “มันมีอยู่แล้วในคนทุกคนนั่นแหละ

พอมีความเห็นตรงว่า อ๋อ…วิธีการคือแบบนี้นะ “ต้องเห็นความเป็นปกติ พ้นออกมาจากโลกของความคิด แล้วก็รู้สึกตัวนี่นะ” พอเรามีความเห็นตรงแล้ว โอเค พอจิตมันเข้าถึงความเป็นปกติปึ๊บ แล้วเราก็เห็นความเป็นปกตินั้น จิตนั้นก็พ้นจากความคิด พอจิตพ้นออกมาจากความคิด แล้วก็เห็นความเป็นปกตินั้นอยู่นี่ ทุกครั้งที่เราเห็นนี้สัมมาสติก็เลยเกิดขึ้นได้ เพราะความเป็นปกติมันเกิดขึ้นแล้ว แล้ว“พอเราเห็นอย่างต่อเนื่องสัมมาสตินี้แหละมันเปลี่ยนเป็นสัมมาสมาธิ

ความเป็นปกติมันสำคัญมากที่จะนำไปสู่สัมมาสติและสัมมาสมาธิ “เพราะมันเป็นสติและสมาธิบนพื้นฐานของความไม่มีเรา

ในขณะที่เรามีความเป็นปกตินี้ เราเหมือนผ้าขาว ผ้าขาวที่เวลามีจุดดำขึ้นมานิดหน่อย นิดเดียวเราก็จะเห็นแล้วว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นแล้ว แต่ถ้าเราไม่มีความเป็นปกติอยู่เลยนี้ เราเป็นเหมือนผ้าสีดำ สีดำมาแต้มเราก็ไม่เห็นอยู่ดี เพราะเราเป็นสีเดียวกับมัน

เพราะฉะนั้น “ถ้าเรายังไม่ปกติมันก็เป็นทางไม่ได้” เราจะเห็นอะไรไม่ได้เลย เพราะเรารวมเป็นสิ่งเดียวกับมัน

ให้มีความเป็นปกตินี้เป็นพื้นฐานแล้วก็พ้นออกมาจากโลกของความคิด รู้สึกตัวนี้เป็นทางหมด

ความรู้สึกตัวก็ทำให้เกิดการพ้นออกจากโลกของความคิด พอพ้นออกจากโลกของความคิด ความเป็นปกติก็เกิดขึ้น ความเป็นปกติเกิดขึ้นในขณะนั้นก็มีสัมมาสติเกิดขึ้น “ในขณะที่มีสัมมาสติเกิดขึ้น ถ้าเราเห็นมันอย่างต่อเนื่อง ก็กลายเป็นสัมมาสมาธิ พอวันนึงที่มันเต็มมันอิ่ม ปัญญาญาณก็เกิดขึ้น อริยมรรคก็เกิดขึ้นได้” นี่เป็นแบบนี้

เพราะในความเป็นจริงแล้ว ในความเป็นพุทธะนี้ ไอ้กิเลสต่างๆ ไอ้ราคะ โทสะ โมหะที่เราพูดกันทุกวันว่า โกรธเกิดขึ้นนะเดี๋ยวมันก็ดับมันไม่เที่ยงหรอก มันเป็นทุกข์ มันเป็นอะไรอย่างนี้ คือในความเป็นพุทธะมันไม่มีพวกนี้ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง เมื่อไหร่ที่เข้าถึงความเป็นพุทธะ ในขณะนั้นไม่มีกิเลสแล้ว กิเลสมันไม่มีอยู่ในความเป็นพุทธะ

 

Camouflage

26 – Jun – 15

 

ถอดไฟล์เสียงจาก YouTube : https://youtu.be/n6Nh8WB5G9c

คลิปเสียงธรรมะทั้งหมดของคุณ Camouflage : https://goo.gl/RDZFMI

======================

5 ช่องทางการอ่านและฟังธรรม

1) Facebook : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
http://www.facebook.com/sookguysookjai

2) Line : @camouflage.talk
https://line.me/R/ti/p/%40camouflage.talk

3) YouTube : สุขกาย สุขใจ SookGuySookJai
https://goo.gl/in9S5v

4) Website: https://camouflagetalk.com

5)Podcast : Camouflage – Dhamma Talk
https://itun.es/th/t6Mzdb.c