กระจ่างชัด



เราบอกว่าเรารู้สึกเข็ดกับความทุกข์ แล้วเราก็สร้างหลักการขึ้นมาอันนึงเช่น เราจะไม่ทำแบบนี้อีก เพราะว่ามันจะส่งผลให้เราทุกข์แบบนั้นเหมือนเดิม

หลักการนี้ดูดีมั้ย?…ก็ดูดีนะ

แต่เราไม่รู้ว่า มันเป็นเพียงแค่การสร้าง safety zone ของเรา

ถ้าผมถามว่า เราสามารถที่จะเข้าใจความรู้สึกทุกข์ หรือความรู้สึกที่มันเข็ด หรือความรู้สึกที่มันบีบคั้น จนทุกข์แบบนี้ ด้วยความกระจ่างชัดในกระบวนการทั้งหมดที่เป็นอยู่ได้มั้ย???

กระจ่างชัดกับกระบวนการทั้งหมดว่าทำไมมันถึงดึงดูดให้เราเป็น ให้เราทำแบบนี้อีก นี่คือ หน้าที่ของเรา

เราเข้าใจความอยากมั้ย??
ในการที่เราอยากจะทำอะไรซักอย่างนึง โดยส่วนใหญ่แล้วสิ่งนั้นจะเป็นความสุข

เมื่อสิ่งที่เราอยากทำส่วนใหญ่เป็นความสุข ชาวพุทธเรามักจะมักง่ายโดยการละความอยากซะเลย เราทำที่นี่เลย คือการละตัณหา ละความอยากนั้น หรือละกิเลสในใจตอนนี้เลย

แทนที่เราจะเข้าใจว่าสิ่งที่เราจะไปทำนั้น มันใช่ความสุขจริงมั้ย

เราไม่เคยพิจารณาเลยว่าความสุขคืออะไร เราอยู่แต่ที่ความคิดตื้นๆตรงนี้ ตรงที่จะละกิเลสเลย จะทำลายมัน จะไม่อยากมีมัน

พระพุทธเจ้าท่านสอนให้แจ่มแจ้งในอริยสัจ4 คือแจ่มแจ้งในทุกข์ แจ่มแจ้งเหตุของมัน แจ่มแจ้งในความไม่มีทุกข์ และหนทางว่าคืออะไร

ความแจ่มแจ้ง คือ อะไร?
คือกระจ่างชัด

เพราะฉะนั้นอะไรก็ตามที่ยังไม่ถูกเข้าใจอย่างกระจ่างชัด
หัวใจของเรามันก็ยังคงอยากจะเข้าไปในนั้นอยู่ตลอดเวลา เช่น เรื่องไสยศาสตร์ หมอดู อิทธิฤทธิ์บางอย่าง สิ่งเหล่านี้เมื่อเป็นสิ่งที่เมื่อเรายังไม่กระจ่างชัด มันก็ดึงดูดเราได้เรื่อยๆ

เพราะฉะนั้น เราต้องเข้าใจความอยาก…ว่ามันคืออะไร
เพราะถ้าลำพังเราแค่จะละความอยาก มันก็เป็นแค่ไอเดียที่ดีเฉยๆที่เราคนนี้ไม่อยากทุกข์

และความกระจ่างชัดต้องไม่ใช่วิธี
ไม่ใช่ว่านี่คือวิธีใหม่ ที่เปลี่ยนจากวิธีที่จะละความอยาก เป็นวิธีการกระจ่างชัดอีก

ต้องไม่มีไอเดียใดๆ ในหัวใจ
แต่มีความกระจ่างชัดว่านี่คือชีวิตที่แท้จริง มันมีอยู่แล้ว มันเป็นอยู่ของมันอย่างนี้ มันเป็นหน้าที่นี้

ความกระจ่างชัดนำมาซึ่งปัญญาญาณ นำมาซึ่งความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งในกองทุกข์ และในกองสุขด้วย

ซึ่งความกระจ่างชัดนี้เท่านั้นเป็นตัวส่งผลให้ความอยากนี้หมดไปได้

เมื่อก่อนผมเคยพูดตลอดว่า การจะได้ผลลัพธ์บางอย่างในการปฏิบัติธรรมนั้น ไม่ใช่การไปทำอะไรตรงๆ เช่น ถ้ามี “ความอยาก” แล้วเป็นทุกข์…งั้นเราก็ละมันเลย มันไม่ใช่การทำอะไรตรงๆ แบบนั้น

วิถีของพระพุทธเจ้าเป็นวิถีของเหตุปัจจัยและปัญญา

แต่ชาวพุทธเราไม่เข้าใจ เราหยิบทุกอย่างที่ดีมาทำ ละความอยากก็ดีหนิ…ใช่ก็ดี แต่มันดีชั่วคราว

เพราะฉะนั้น เราต้องกระจ่างชัดในความอยาก หรือในสิ่งที่เราอยากจะไปทำ ว่าทั้งหมดคืออะไร และเมื่อกระจ่างชัดหมด มันก็ละเอง

Camouflage
28-05-2565