หัวใจที่พร้อมจะรับเคล็ดวิชาสูงสุด


อาจารย์ : ศาสนาพุทธเป็นสากล ไม่ใช่เรื่องพิสดาร ไม่ใช่เรื่องแบบที่เราคิดว่า โอ้ย เรานั่งทำสมาธิไม่ได้ เรามีสติไม่ได้ เราไม่มีสติ เราหลงเยอะ …เข้าใจมั้ย ไม่ใช่เรื่องแบบนั้น ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องอุดมคติที่เราจะไปถึง ซึ่งนั่นไม่ใช่

เราอยากจะเปลี่ยนตัวเอง…เราถามตัวเองว่าเราจะเปลี่ยนตัวเองจากที่นี่ไปที่นั่นได้ยังไง และการปฏิบัติธรรมน่าจะช่วยเราได้ ที่เราจะไม่เป็นอย่างนี้ เราจะดีกว่านี้ เข้าใจมั้ย นี่คือสิ่งที่นักปฏิบัติธรรมหรือคนที่จะเข้ามาปฏิบัติธรรมคิดว่า การปฏิบัติธรรมจะให้เราแบบนั้น

ผมถามว่า ถ้ามันไม่ใช่แบบนั้นล่ะ เราจะปฏิบัติธรรมมั้ย?

เอ : สำหรับหนู หนูก็จะปฏิบัติธรรมค่ะ

อาจารย์ : เพราะอะไร?

เอ : หนูก็ไม่รู้ค่ะ แต่หนูก็จะปฏิบัติค่ะ

อาจารย์ : ถ้าการปฏิบัติธรรมจะไม่ได้เปลี่ยนเราให้ดีกว่านี้เลย เราก็จะปฏิบัติธรรมหรอ?

เอ : หมายถึงว่าเปลี่ยนไปในทางที่แย่ลงหรอคะ

อาจารย์ : ไม่ใช่แย่ลง หมายถึงไม่เปลี่ยนเลย สมมติว่าไม่เปลี่ยนเลย เป็นแบบนี้แหละ

เอ : ถ้าไม่เปลี่ยนเลย เราก็ไม่ปฏิบัติดีกว่า

อาจารย์ : นั่นคือแปลว่าเราปฏิบัติธรรมเพื่อหวังจะได้อะไรใช่มั้ย?

เอ : เอิ่มมม ใช่ค่ะ

อาจารย์ : เรามีความอยากจะได้อะไรใช่มั้ย? นั่นใช่การปฏิบัติธรรมมั้ย?

เอ : ไม่ใช่ค่ะ

อาจารย์ : เพราะฉะนั้น ก่อนที่เราจะปฏิบัติธรรม เราต้องเข้าใจว่าการปฏิบัติธรรมคืออะไรกันแน่

เอ : ค่ะ เพราะว่าหนูยังไม่เข้าใจ หนูยังไม่เคลียร์ ยังมองภาพรวมไม่ออกว่ามันคืออะไร พอยังมองภาพรวมไม่ออก และถ้าเราเดินต่อ ความเข้าใจเรามันก็จะผิด

อาจารย์ : โอเค ถ้าการปฏิบัติธรรมคือการที่ไม่ได้ไปต่อ…จะเป็นยังไง ลองคิดดูว่า ไม่ใช่การเดินไปข้างหน้า ไม่ใช่การเดินต่อ …มันจะเป็นยังไง

เอ : หมายถึงว่าถ้าการปฏิบัติธรรมไม่ใช่การเดินต่อใช่ไหมคะ งั้นนนน…มันก็ต้องมีทางอื่น

อาจารย์ : ทางอื่นเรียกว่าเดินต่อเหมือนกัน

เอ : งั้นก็ต้องอยู่กับที่สิคะ

อาจารย์ : อืมใช่ อยู่กับที่ อยู่กับที่แล้วจะเหลืออะไร?

เอ : อยู่กับที่…มันก็ต้องไม่มีอะไร ผลลัพธ์มันก็ต้องเท่าเดิม…รึเปล่าคะ มันไม่มีมากขึ้น ไม่มีน้อยลง

อาจารย์ : อืม เพราะฉะนั้น ถ้าเราอยู่กับที่ เห็นมั้ยว่าสมองเราคิดไม่ออกว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราคิดออกได้แต่ว่า ถ้าอยู่กับที่ก็ไม่มีความก้าวหน้า ไม่มีการเจริญขึ้นในทางที่ดี และก็ไม่ใช่จะไม่ดีด้วยถ้าอยู่กับที่ สมองเราคิดตรรกะในเชิงนั้นออก ถูกมั้ย

สมองเราคิดไม่ออกว่าในความเป็นจริงแล้วการอยู่กับที่นั้นจะเกิดอะไรขึ้น และนั่นคือการที่ทำไมนักปฏิบัติธรรมถึงไม่ยอมอยู่กับที่ เพราะเขาคิดไม่ออกว่ามันจะไปต่อยังไง เจริญก้าวหน้ายังไง เขาจึงไม่ยอมอยู่กับที่ และเขาจึงเลือกที่จะปฏิบัติธรรมในเชิงที่เขาจะเปลี่ยนตัวเองจากที่นี่ไปที่นั่น และนั่นทั้งหมดไม่ใช่การปฏิบัติธรรม…งงมั้ย?

เอ : ไม่งงค่ะ

อาจารย์ : มนุษย์ทุกคนจะทำทุกอย่างตามเหตุผลที่ตัวเองคิดออกเท่านั้น เพราะฉะนั้น ที่ผมถามว่า ถ้าปฏิบัติธรรมแล้วไม่มีอะไรเปลี่ยนเลย…จะทำไหม?

ถ้าเราบอกว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนเลย สมองจะบอกว่าเราไม่ได้อะไรเลย เราจะไม่ทำ

เพราะฉะนั้น กระบวนการปฏิบัติธรรมของมนุษย์เราอยู่ภายใต้เงื่อนของตรรกะและเหตุผลตลอดเวลา

เราจึงไม่เคยได้ปฏิบัติธรรมกันเลย เราไม่ได้ทำสิ่งที่เรียกว่าปฏิบัติธรรมจริงๆ เราแค่ทำกิจกรรมที่คล้ายๆ สิ่งที่เรียกว่าการปฏิบัติธรรมเฉยๆ

การมีชีวิตที่สิ้นหวัง การใช้ชีวิตที่ไม่มีความหวังใดๆเลย คือหัวใจที่พร้อมจะรับเคล็ดวิชาสูงสุด

หัวใจที่สิ้นหวังคือหัวใจแห่งปัจจุบัน เป็นหัวใจที่พร้อมจะเปิดรับธรรมะสูงสุด คืออริยสัจ 4

แต่ถ้าเรามีทางไปต่อ นั่นคือทุกก้าวในทุกวันของเรา…มีหวัง

เพราะฉะนั้น หัวใจนั้นเราได้มันหรือยัง?…เราไม่ได้ เราเข้ามาในวัด เข้ามาในสำนัก มีแต่คนบอกให้เราไปทำแบบนี้แล้วเดี๋ยวจะดีกว่านี้ ไปฝึกแบบนี้แล้วเดี๋ยวสติจะเร็วกว่านี้ ทำอย่างนี้แล้วเดี๋ยวจะมีสมาธิได้ดีขึ้น ทำอย่างนี้แล้วเดี๋ยวจะไวขึ้น รู้ทันมากขึ้น

ทุกอย่างให้อนาคตกับเรา และหัวใจที่อยู่ในอนาคตคือหัวใจที่ปิด

เพราะฉะนั้น ที่เมื่อกี้ผมถามว่า ถ้ามาปฏิบัติธรรมแล้วไม่ได้ไปไหน ไม่ได้ไปต่อ ไม่ได้อะไร แล้วจะยังปฏิบัติไหม?

เอ : ก็ยังปฏิบัติค่ะ

อาจารย์ : เพราะอะไร?…เพราะน่าจะได้ไป ใช่มั้ย? ถูกมั้ย ลึกๆ เรารู้สึกอย่างนั้น ก็อาจารย์บอกแล้วนิ ถ้าหัวใจเราไม่ไปต่อเนี่ย เดี๋ยวเราจะได้แน่ๆ ได้เคล็ดลับวิชาสูงสุด ถูกมั้ย

คำตอบที่ทุกคนรู้แล้ว หรือทุกคนก็รู้แล้วแต่ลืมไปแล้ว ผมจะพูดใหม่…ต่อให้ไม่ได้อะไร เราก็ยังปฏิบัติธรรม ก็เพราะว่า การปฏิบัติธรรมนั้นคือชีวิตที่แท้จริง…มันเป็นจริง มันเป็นชีวิตจริงๆ ไม่ใช่ชีวิตลวงๆ ที่อยู่ภายใต้ความคิด การตัดสิน ของคู่ทั้งหลาย

เมื่อเรารู้จักชีวิตจริงๆ เรากลับไปใช้ชีวิตลวงๆไม่ได้ เราจึงจำเป็นจะต้องปฏิบัติธรรม แม้ว่าจะไม่ได้อะไรก็ตาม

เพราะฉะนั้น เรารู้แล้วว่า 43 ปีที่ผ่านมานั้นไร้สาระ การที่เราจะมีพลังใจที่จะมีชีวิตจริงๆ เราต้องรู้จักว่าชีวิตที่เป็นอยู่ไม่มีสาระ…เราต้องแยกออก ทันทีที่เราแยกออก เราจะรู้เลยว่าชีวิตต้องการอะไร ชีวิตต้องอยู่แบบไหน ต้องทำอะไร

เรื่องเหล่านี้จะต้องใช้ปัญญาของเราเอง ไม่ใช่การโน้มน้าวชักชวน หรือไปตามบรรยายกาศของกลุ่มหรือของใครก็ตาม เพราะนั่นจะเป็นเรื่องชั่วคราว

แต่ถ้าเรารู้จักว่ามันคือชีวิตจริงๆ
มันจะไม่ชั่วคราวอีกต่อไป

Camouflage
15-05-2565